วันศุกร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2553

มาร้ายไปดี


ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เย็นวันหนึ่ง คนเดินทางหมู่หนึ่ง
มาหยุดพักแถวเขตหน้าบ้านของครอบครัวมีอันจะกินครอบครัวหนึ่ง หัวหน้าครอบครัวมีจิตใจโอบอ้อมอารี
เห็นคนหมู่นั้นจะพักแรมในที่แจ้งเช่นนั้นกลัวว่าจะไม่ปลอดภัย เพราะสมัยนั้นมีสัตว์ร้ายชุกชุม
จึงเรียกให้เข้ามาพักบนบ้าน และสั่งคนในบ้านจัดอาหารมาเลี้ยงดูให้อิ่มหนำสำราญ
แล้วพูดสนทนาแสดงถึงไมตรีจิตอันดีของเจ้าบ้าน ซ้ำยังเชิญให้รับประทานอาหารเช้าก่อนออกเดินทางด้วย

พอรุ่งเช้า หมู่แขกก็ออกเดินทางไปแต่เช้าตรู่ยังไม่ทันสว่างดี พ่อบ้านสงสัยจึงไปดูในห้องที่ชายหมู่นั้นพัก
เห็นตัวหนังสือเขียนด้วยดินสอพองที่ข้างฝาว่า
ข้าขอลาท่านผู้ใจดีไปก่อน ข้าจะขอจดจำความดีของท่านตลอดไป

เจ้าของบ้านเห็นแล้วงง จึงซักถามคนในบ้าน ชายในบ้านคนหนึ่งนอนติดกับห้องของแขกแปลกหน้า
เล่าให้ฟังว่า ตอนดึกนอนไม่หลับได้ยินเสียงข้างห้อง เขาปรึกษากันถนัด
เสียงลูกน้องถามว่า เมื่อไหร่จะปล้น
ลูกพี่ตอบว่า เปลี่ยนใจแล้ว ทำไม่ลงเพราะเจ้าของบ้านต้อนรับเลี้ยงดูอย่างดี
แม้จะเคยปล้นมามาก ก็ล้วนแต่ปล้นคนชั่ว ถึงบาปก็ไม่หนักหนา
ถ้าปล้นคนดีบาปหนัก แถมยังถูกชาวบ้านสาปแช่งให้ฉิบหายตายโหง ต่อไปจะเลือกปล้นแต่คนที่ชั่วช้า
จากนั้นลูกพี่ก็เขียนหนังสือลาไว้ที่ข้างฝา แล้วพาพวกไปแต่เช้า

ประเด็นที่ควรกล่าวถึง มีดังนี้

๑. เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นข้อพิสูจน์ความจริงของพุทธภาษิตที่ว่า ผู้ให้ย่อมผูกไมตรีไว้ได้

๒. การให้อาหารและที่พักแก่บุคคลที่หิวโหยและเหน็ดเหนื่อย เป็นทานที่มีอานิสงส์มาก
เพียงได้เห็นบุคคลนั้นกำลังกินอาหารที่ให้อย่างเอร็ดอร่อย ผู้ให้ก็ปลื้มใจ (เป็นสวรรค์ในอก)
จัดเป็นบุญที่ให้ผลทันตาเห็นในชาตินี้ เดี๋ยวนี้ ไม่ต้องรอชาติหน้า

๓. แม้ไม่ได้ปล้น แต่พวกนั้นก็ได้ทำบาปแล้ว
เพราะการคิดปล้นเป็นบาป จัดเป็นมโนทุจริตคือ โลภอยากได้ของคนอื่นในทางมิชอบ

(กฎแห่งกรรม ของ ท. เลียงพิบูลย์ เล่ม ๓)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น