วันศุกร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2553

พุทธวิธีแก้ความหวาดกลัว


พระพุทธเจ้า ประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน เมืองสาวัตถี
พราหมณ์ชาณุโสณี ได้เข้าไปเฝ้าและทูลถามปัญหาว่า
ภิกษุอยู่ในที่สงบสงัดในป่า หรือ ป่าเปลี่ยวและโดดเดี่ยว ยากที่จะอยู่ได้ หรือ ยากที่จะทำจิตให้เป็นสมาธิได้

พระพุทธเจ้าทรงเล่าความหลังของพระองค์ ครั้งเป็นพระโพธิสัตว์ก่อนที่จะได้ตรัสรู้ว่า
ทรงเคยอยู่ในป่าและป่าเปลี่ยวมาแล้ว แต่เพราะทรงมีกาย วาจา และใจ สะอาดสุจริต
มีราคะและนิวรณ์ ๕ สงบระงับแล้ว
จึงไม่มีความหวาดกลัวแล้ว หรือเกิดความหวาดกลัว เมื่ออยู่ในป่าหรือป่าเปลี่ยวเช่นกัน

ในตอนท้ายสูตร พระพุทธองค์ทรงเล่าเป็นเชิงแนะการแก้ความหวาดกลัวว่า

ถ้าความหวาดกลัวเกิดขึ้นในขณะที่กำลังเดินอยู่ จะไม่ทรงยืน ไม่ทรงนั่ง และไม่ทรงนอนเลย
จะทรงเดินจนกว่าความหวาดกลัวจะหายไป

ถ้าความหวาดกลัวเกิดขึ้นในขณะที่กำลังยืนอยู่ จะไม่ทรงเดิน ไม่ทรงนั่ง และไม่ทรงนอนเลย
จะทรงยืนจนกว่าความหวาดกลัวจะหายไป

ถ้าความหวาดกลัวเกิดขึ้นในขณะที่กำลังนั่งอยู่ จะไม่ทรงนอน ไม่ทรงยืน และไม่ทรงเดินเลย
จะทรงนั่งอยู่จนกว่าความหวาดกลัวจะหายไป

ถ้าความหวาดกลัวเกิดขึ้นในขณะที่กำลังนอนอยู่ จะไม่ทรงนั่ง ไม่ทรงยืน และไม่ทรงเดินเลย
จะทรงนอนอยู่จนกว่าความหวาดกลัวจะหายไป

ภยเภรวสูตร ๑๒/๒๖-๓๒


พระสูตรนี้ ทรงแสดงว่าผู้ที่ไม่มีความบริสุทธิ์ทาง กาย วาจา และใจ
เป็นผู้ทุศีล มีความปรารถนาลามก หวังลาภยศชื่อเสียง แล้วหลบเข้าไปอยู่ในป่าหรือป่าเปลี่ยว
เพื่อหวังความนิยมเป็นคนขลัง หรือเพื่อเรียกร้องศรัทธา

บุคคลประเภทนี้ ย่อมเรียกร้องความหวาดกลัว หรือภัยอันเกิดจากป่าและป่าเปลี่ยวได้ร้อยแปด

ส่วนผู้ที่มีจิตใจเสียสละ ลาภ ยศ สรรเสริญ ได้อย่างแท้จริงแล้ว ย่อมจะไม่มีความหวาดกลัวสิ่งใด ๆ เลย
แม้จะเกิดขึ้นบ้างบางครั้ง เพราะจิตยังไม่หลุดพ้น ก็สามารถจะระงับและข่มความหวาดกลัวได้
โดยอาศัยบารมีธรรมช่วย ที่ตนได้ประพฤติมาดีแล้ว เป็นต้น

การระงับความกลัว ด้วยวิธีหนามยอกเอาหนามบ่งคือ
เมื่อเกิดความหวาดกลัวขึ้นในอิริยาบถใด ๆ ก็ให้อยู่ในอิริยาบถนั้น ๆ จนกว่าจะหายหวาดกลัว
จึงค่อยเปลี่ยนไปอิริยาบถอื่น ถ้าไม่หายก็ไม่เปลี่ยน ผู้ที่มีความกลัวน่าจะลองเอาไปปฏิบัติดู

อันความกลัวใด ๆ ของมนุษย์ในโลกนี้ ที่จะยิ่งไปกว่าความตายเป็นไม่มีแล้ว
เมื่อคนเราสามารถปลงภาระในความตายของตนได้แล้ว ความกลัวในสิ่งอื่นย่อมจะหมดไปเอง
เพราะสิ่งใด ๆ ในโลกล้วนแต่สิ้นสุดลงที่ความตายทั้งสิ้น

ดังนั้น การเจริญมรณัสสติ คือการระลึกถึงความตาย
จึงเป็นอุบายหนึ่งในหลายอย่าง ที่จะช่วยบรรเทาความหวาดกลัวได้อย่างดี
ข้อสำคัญคือจะต้องทำให้จริงจัง และทำอยู่สม่ำเสมอ

เมื่อเรากำจัดความกลัวตายลงได้เพียงอย่างเดียว
ความกลัวสายอื่น ๆ ก็กลายเป็นเรื่องเล็กไปหมด เพราะความตายมันเป็นความสิ้นหวังของทุกสิ่งในโลก

ภิกษุอยู่รูปเดียว เป็นเหมือนพรหม
อยู่สองรูป เป็นเหมือนเทวดา
อยู่ด้วยกันมากกว่าสามรูปขึ้นไป เป็นเหมือนชาวบ้าน
ย่อมมีแต่ความโกลาหล มากขึ้น
ฉะนั้น ภิกษุจึงควรอยู่แต่ผู้เดียว

ยถา พฺรหฺมา ตถา เอโก ยถา เทโว ตถา ทุเว
ยถา คาโม ตถา ตโย โกลาหลํ ตตุตฺตรํ
ยโสชเถรคาถา ๒๖/๓๐๐

จาก พระไตรปิฏกฉบับ ดับทุกข์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น