พระพุทธเจ้า ประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน เมืองสาวัตถี
ได้ทรงแสดงสัญโญชน์ (กิเลสเครื่องร้อยรัด) เบื้องต่ำ ๕ คือ
๑. สักกายทิฐิ (ความเห็นเป็นเหตุยึดกายของตน)
๒. วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย)
๓. สีลัพพตปรามาส (การลูบคลำศีล)
๔. กามฉันทะ (ความพอใจในกาม)
๕. พยาบาท (ความคิดปองร้าย)
โดยทรงยกเอาตัวอย่างเด็กทารกนอนแบเบาะ มาเป็นตัวอย่างแห่งการเกิดสัญโญชน์ ซึ่งมองดูด้วยตาเปล่าไม่เห็น
แต่เป็นอนุสัย (กิเลสที่แฝงตัวตาม) มีอยู่ตลอดเวลา
ในตอนท้ายได้ทรงแสดงหนทางปฏิบัติ เพื่อละสัญโญชน์ ๕
เหมือนคนที่ต้องการตัดไม้แก่น แต่ต้องผ่านเปลือกและกะพี้ไม้ ก่อนที่จะถึงแก่นไม้ ไว้ดังนี้
“อานนท์! สัญโญชน์ ๕ เป็นของมีกำลัง ถ้าไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้รับคำแนะนำที่ดี ไม่มีอุบายที่ดี
ย่อมไม่สามารถจะละได้ ผู้ไม่อาศัยหนทางเพื่อละสัญโญชน์ ย่อมไม่อาจจะละได้
อานนท์! เปรียบเหมือนการตัดต้นไม้มีแก่น ต้องถากเปลือกและกะพี้ออกเสียก่อน จึงจะตัดแก่นไม้ได้ ฉันใด ?
ผู้ต้องการละสัญโญชน์เบื้องต่ำ ๕ ก็ต้องปฏิบัติไปตามลำดับขั้น ฉันนั้น”.
มหามาลุงโกยวาทสูตร ๑๓/๑๓๗
การปฏิบัติธรรมนั้น จะว่ายากก็เหมือนง่าย จะว่าง่ายก็เหมือนยาก คือถ้ามีอุบายที่ประกอบด้วยปัญญาแล้ว
การปฏิบัติธรรมก็ดูเป็นเรื่องง่ายดายไป แต่ถ้าขาดปัญญาเพียงตัวเดียว จะทำอะไรทุกสิ่งก็ดูมันจะยากไปหมด
นอกจากจะทำยากแล้ว บางทีก็อาจเกิดโทษเสียด้วย
พระสูตรตอนนี้ ทรงแสดงถึง “ขั้นตอน” แห่งการปฏิบัติธรรม เหมือนการตัดไม้ที่มีแก่น
ต้องผ่านเปลือกและกะพี้ไปตามลำดับ แล้วจึงจะเข้าถึงแก่นของไม้ได้ ฉันใด
ในการปฏิบัติธรรม เพื่อการดับทุกข์อย่างสิ้นเชิง ก็มีอุปมา ฉันนั้น
ทั้งนี้เพราะ กิเลสตัณหา ได้ถูกสะสมมานานจนกลายเป็น “สัญโญชน์” ไปแล้วนั่นเอง
แต่ไม่ว่ากิเลสประเภทใด ๆ ก็ตาม ถ้าคนเรามีความเพียรพยายามไม่ลดละ ก็ย่อมจะพิชิตมันแน่นอน
ต่างแต่ว่าจะช้าหรือเร็วเท่านั้น
สมตามพุทธภาษิตที่ตรัสตอบอาฬวกยักษ์ (๑๕/๒๙๘) ว่า คนจะล่วงพ้นความทุกข์ทั้งปวงได้เพราะความเพียร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น