วันศุกร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2553

ลักษณะของ โลภะ โทสะ โมหะ



โลภะ

ลักษณะของโลภะ
..... โลภะมีอันยึดซึ่งอารมณ์ เป็นลักษณะดุจลิงติดตัง
มีความข้องเฉพาะเป็นรสดุจชิ้นเนื้ออันเขาทิ้งไปที่กระเบื้องร้อน มีอันไม่สละเป็นเครื่องปรากฏ
ดุจน้ำย้อมเจือน้ำมันสำหรับหยอด มีอันเห็นความแช่มชื่นในสังโยชนิยธรรมเป็นปทัฏฐาน

พึงเห็นว่าเมื่อโลภะเจริญอยู่โดยความเป็นแม่น้ำ คือ ตัวตัณหาย่อมพาไปสู่อบายถ่ายเดียว
ดุจแม่น้ำมีกระแสเชี่ยวพัดพาไปสู่มหาสมุทรฉะนั้นฯ

ที่มา วิสุทธิมัคค์ขันธนิทเทส


คนส่วนมากรู้ว่าเป็นโลภะก็ต่อเมื่อเป็นโลภะที่แรงกล้า แต่ไม่รู้เมื่อเป็นโลภะที่ไม่รุนแรง
เช่น เราอาจจะรู้ว่าเป็นโลภะ เมื่ออยากจะรับประทานอาหารที่อร่อยมากๆ หรือขณะที่อยากดื่มเหล้า หรือสูบบุหรี่

เรามีความผูกพันยึดมั่นในบุคคล และเป็นทุกข์เมื่อผู้เป็นที่รักตายจากไป
เมื่อนั้นเราก็จะรู้ว่าความผูกพันทำให้เกิดความทุกข์

บางครั้งความผูกพันยึดมั่นก็เห็นได้ชัด แต่โลภะก็มีหลายระดับขั้น โดยมากเราไม่รู้ว่าเรามีโลภะ

จิตเกิดดับอย่างรวดเร็วมาก
และเราอาจไม่รู้ว่าโลภะ เกิดขณะที่สภาพธรรมปรากฏทางทวารใดทวารหนึ่งใน ชีวิตประจำวัน
โดยเฉพาะเมื่อเป็นโลภะที่ไม่แรงกล้าถึงขั้นที่เป็นราคะหรือตันหา
ขณะใดที่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่าพอใจปรากฏ ขณะนั้นโลภะย่อมเกิดขึ้น

วันหนึ่งๆ โลภะเกิดขึ้นนับครั้งไม่ถ้วน
โลภะ ความผูกพันยึดมั่น ทำให้เกิดความทุกข์โทมนัส ถ้าเข้าใจความจริงข้อนี้อย่างถ่องแท้
เราคงปรารถนาที่จะกำจัดโลภะให้หมดไป แต่โลภะจะหมดไปในทันทีทันใดไม่ได้
เราอาจจะระงับโลภะได้เพียงชั่วคราว แต่โลภะก็จะเกิดอีกเมื่อมีเหตุปัจจัยที่ทำให้โลภะเกิดขึ้น

แม้จะรู้ว่าโลภะทำให้เกิดทุกข์โทมนัส โลภะก็ย่อมเกิดครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ก็มีวิธีที่จะกำจัดโลภะให้หมดไปได้
นั่นคือ ด้วยการอบรมเจริญปัญญาซึ่งประจักษ์สภาพธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริง

เมื่อ ศึกษาเรื่องจิตละเอียดขึ้น ก็จะทำให้เรารู้จักตัวเอง
เราไม่ควรรู้เพียงแต่โลภะขั้นหยาบเท่านั้น แต่ควรรู้โลภะขั้นต่างๆ ที่ละเอียดขึ้น

เราควรรู้โลภะที่ละเอียดขึ้นเมื่อชื่นชอบกลิ่นหอมหรือดนตรีเพราะๆ ด้วย
ดูเหมือนกับว่าจิตไม่เป็นอกุศลเมื่อไม่ได้ทำร้ายใคร แต่โลภะที่ละเอียดๆ ก็เป็นอกุศลด้วย

โลภะต่างกับอโลภะซึ่งเป็นกุศล เราไม่สามารถบังคับตัวเองไม่ให้มีโลภะ
แต่เราก็สามารถรู้ลักษณะโลภะได้ เมื่อโลภะเกิดปรากฏ

โลภะทุกระดับขั้น ไม่ว่าหยาบหรือละเอียด ย่อมเป็นเหตุของทุกข์
เราเป็นเหมือนทาส ตราบใดที่ยังเพลิดเพลินมัวเมาหลงติดในอารมณ์ที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
เราไม่เป็นอิสระเลย ถ้าความสุขของเราขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่เกิดกับเรา และการกระทำของคนอื่นต่อเรา

คนอื่นอาจดีกับเราขณะหนึ่ง แต่อีกขณะหนึ่งก็อาจไม่ดีก็ได้
ถ้าเรายึดถือในความชอบพอ รักใคร่ที่คนอื่นมีต่อเราอย่างมากมายเหลือเกินแล้ว
จิตก็จะหม่นหมองได้ง่ายและตกเป็นทาสของอารมณ์และความรู้สึกต่างๆ

เราจะเป็นอิสระขึ้นได้ ถ้ารู้ความจริงว่าทั้งตัวเราเองและคนอื่น
เป็นเพียง นามธรรมและรูปธรรมซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป

เมื่อใครพูดคำที่ไม่น่าฟังกะเรา ก็เพราะมีเหตุปัจจัยทำให้เขาพูดอย่างนั้น
และก็มีเหตุปัจจัยที่ทำให้เราได้ยินคำเหล่านั้น

การกระทำของคนอื่นและปฏิกิริยาของเราต่อการกระทำนั้นๆ
ล้วนเป็นสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยและไม่เที่ยง
ขณะที่กำลังคิดถึงสภาพธรรมเหล่านี้ สภาพธรรมเหล่านี้ก็ดับไปแล้ว
การอบรมเจริญปัญญาเป็นทางที่จะทำให้ ละคลายการยึดมั่นในการเปลี่ยนแปลงที่ เกิดขึ้นในชีวิต
เมื่อสติระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังเกิดปรากฏ การถือว่าการกระทำของคนอื่นต่อเราก็สำคัญน้อยลง

เมื่อโลภะฝังลึกในจิตอย่างเหนียวแน่นถึงเพียงนี้ การละโลภะต้องเป็นไปตามลำดับขั้น
มิจฉาทิฏฐิต้องดับหมดก่อน แล้วโลภะอื่นๆ จึงจะดับหมดสิ้นได้

พระโสดาบันบุคคล (บุคคลที่บรรลุโลกุตตธรรมขั้นที่หนึ่ง) ดับมิจฉาทิฏฐิเป็นสมุจเฉท
ท่านอบรมเจริญปัญญาซึ่งรู้ชัดว่า สภาพธรรมทั้งหลายเป็นนามธรรมและรูปธรรม ไม่ใช่ตัวตน
เพราะเหตุที่พระโสดาบันบุคคลละมิจฉาทิฏฐิได้แล้ว โลภมูลจิตซึ่งเกิดร่วมด้วยมิจฉาทิฏฐิจึงไม่เกิดอีกเลย

ดังที่ได้ศึกษาแล้วว่า โลภมูลจิต 4 ดวง เกิดร่วมด้วยมิจฉาทิฏฐิ (ทิฏฐิคตสัมปยุตต์)
และโลภมูลจิต 4 ดวง ไม่เกิดร่วมกับมิจฉาทิฏฐิ (ทิฏฐิคตวิปปยุตต์)
โลภมูลจิตที่ไม่เกิดร่วมกับมิจฉาทิฏฐิยังคงเกิดกับพระโสดาบันบุคคล
เพราะพระโสดาบันบุคคลยังไม่ได้ดับโลภะทั้งหมด พระโสดาบันบุคคลยังมีมานะ

มานะเกิดกับโลภมูลจิต 4 ดวงที่ไม่เกิดร่วมกับมิจฉาทิฏฐิ (ทิฏฐิคตวิปปยุตต์)
เมื่อเปรียบเทียบตัวเรากับคนอื่น ขณะนั้นเป็นมานะ เช่น ขณะที่คิดว่าเรามีปัญญามากกว่าคนอื่น เป็นต้น
เมื่อถือว่าตนเอง ดีกว่า เสมอกัน หรือ ด้อยกว่า คนอื่น นั่นเป็นการสำคัญตน
ขณะนั้นจึงเป็นมานะ ขณะที่คิดว่าตนเองด้อยกว่าคนอื่นนั้น ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นกุศล
อาจเป็นอาการหนึ่งของการถือตน
ฉะนั้นจึงเป็นมานะ มานะฝังลึกในจิตซึ่งจะดับหมด เป็นสมุจเฉทก็ต่อเมื่อบรรลุเป็นพระอรหันต์


โทสะ

ลักษณะของโทสะ
โทสะมีหลายขั้น อาจเป็นความขุ่นใจเล็กน้อยหรือรุนแรงขึ้นจนถึงกับโกรธเคือง
เรารู้จักโทสะขั้นหยาบ แต่เรารู้จักโทสะอย่างบางเบาบ้างไหม

การศึกษาพระอภิธรรมทำให้รู้ลักษณะของโทสะมากขึ้น โทสะ เป็น อกุศลเจตสิก เกิดร่วมกับอกุศลจิต
จิตที่มีโทสะเป็นมูล ภาษาบาลีเรียกว่า โทสมูลจิต ลักษณะของโทสะต่างจากลักษณะของโลภะ

โลภะ เกิดขณะใด จิตพอใจอารมณ์ขณะนั้น แต่ โทสะ เกิดขณะใด จิตไม่พอใจอารมณ์ขณะนั้น
ขณะ ที่โกรธใครๆ และกล่าวคำที่ไม่น่าฟังกับใครนั้น เรารู้ว่าเป็นโทสะ
แต่เวลากลัวอะไรก็เป็นโทสะเหมือนกัน เพราะไม่ชอบอารมณ์ที่เรากลัวนั้น
เรากลัวหลายอย่างในชีวิต กลัวอนาคต กลัวเจ็บป่วย กลัวอุปัทวเหตุและกลัวตาย
เราแสวงหาทางที่จะทำให้หายกลัว แต่ทางเดียวก็คือ อบรมเจริญปัญญาที่ดับโทสะได้หมดสิ้น

โลภะเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดโทสะ เราไม่อยากสูญเสียสิ่งซึ่งเป็นที่รัก
และเมื่อใดที่สูญเสียเราก็โศกเศร้า ความเศร้าโศกเป็นโทสะ เป็นอกุศล

เมื่อไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็ย่อมเห็นว่าคนและสิ่งต่างๆ ยั่งยืน
แต่คนและสิ่งต่างๆ นั้น เป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดแล้วก็ดับไปทันที
ชั่วขณะต่อมาสภาพธรรมนั้นๆ ก็เปลี่ยนแปลงไปแล้ว
เมื่อรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงก็จะคลายความเศร้าโศกลง
ไม่มีประโยชน์เลยที่จะโศกเศร้าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นและดับไปแล้ว

มี อกุศลเจตสิกอื่นๆ อีกซึ่งเกิดร่วมกับโทสมูลจิต ความเสียดาย หรือ ความกังวล ซึ่งภาษาบาลีเรียกว่า กุกกุจจะ
ก็เป็นอกุศลเจตสิก ซึ่งเกิดร่วมกับโทสมูลจิตขณะที่ได้กระทำสิ่งที่ไม่ดีหรือ ไม่ได้ทำสิ่งที่ดี
ขณะที่เสียใจนั้น เป็นขณะที่คิดถึงอดีตแทนที่จะระลึกถึงขณะปัจจุบัน
เมื่อได้กระทำผิดพลาดไปแล้ว ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะกังวลใจ

ความริษยา (อิสสา) เป็นเจตสิกอีกดวงหนึ่งที่เกิดกับโทสมูลจิต
เวลาไม่อยากให้ใครได้รับสิ่งที่น่ายินดีพอใจนั้น เป็นความริษยาขณะนั้นจิตไม่พอใจอารมณ์นั้น
ควรจะสังเกตว่าความริษยาเกิดบ่อยเพียงใด แม้ว่าเป็นความริษยาเพียงเล็กน้อยก็ตาม
นี่เป็นวิธีที่จะรู้ว่าเราใส่ใจคนอื่นหรือไม่ หรือว่าเราคิดถึงแต่ตัวเองเมื่อคบหาสมาคมกับคนอื่น

ความตระหนี่ (มัจฉริยะ) เป็นอกุศลเจตสิกอีกดวงหนึ่งซึ่งเกิดกับโทสมูลจิต
ขณะที่ตระหนี่นั้นมีโทสะด้วย ขณะนั้นไม่อยากให้คนอื่นมีส่วนในสมบัติที่เรามี

โทสะเกิดร่วมกับ ความรู้สึกไม่สบายใจ (โทมนัสเวทนา) เสมอ
คนส่วนมากไม่อยากมีโทสะเพราะไม่ชอบความรู้สึกที่ไม่สบายใจ
ขณะที่อบรมเจริญปัญญารู้สภาพธรรมมากขึ้นนั้น ก็ใคร่จะละโทสะ
ทั้งนี้โดยไม่ใช่เพราะไม่ชอบโทมนัสเวทนา แต่เพราะเห็นโทษภัยของอกุศล

โทสะเกิดขึ้นได้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
โทสะ เกิดได้เมื่อเห็นสิ่งที่ไม่น่ายินดีพอใจ ได้ยินเสียงหยาบกระด้าง ได้กลิ่นที่ไม่ดี ลิ้มรสที่ไม่ถูกปาก
กระทบสัมผัสสิ่งที่ทำให้กายเจ็บปวด และคิดนึกเรื่องที่ไม่พอใจ
เมื่อใดที่รู้สึกไม่สบายใจไม่ว่าจะเล็กน้อยเพียงใดก็ตาม ก็แสดงว่าขณะนั้นเป็นโทสะ
โทสะอาจจะเกิดบ่อยเมื่อกระทบอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ เช่น อากาศร้อนหรือเย็นเกินไป
เมื่อมีความรู้สึกที่ไม่สบายกายเพียงนิดเดียว โทสะก็เกิดได้แม้ว่าจะเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเอง

โทสะเกิดเมื่อมีเหตุปัจจัย โทสะเกิดได้เสมอตราบใดที่ยัง ติดข้อง ในกามอารมณ์ 5 ที่ปรากฏทางปัญจทวาร
ทุกคนอยากจะมีแต่อิฏฐารมณ์เท่านั้น และเมื่อไม่ได้อิฏฐารมณ์อีก โทสะก็จะเกิด

ปัจจัยอีกอันหนึ่งที่ทำให้โทสะเกิดก็คือ ความไม่รู้ไม่เข้าใจธรรม ถ้าไม่รู้เรื่องกรรม วิบาก เหตุและผล
โทสะอาจเกิดได้ง่ายๆ เมื่อกระทบกับอารมณ์ที่ไม่น่ายินดีพอใจทางทวารใดทวารหนึ่ง
ฉะนั้น โทสะจึงสะสมเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ ขณะประสบอารมณ์ที่ไม่น่ายินดีพอใจทางทวารใดทวารหนึ่งนั้น
เป็นอกุศลวิบากซึ่งเป็นผลของอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว
เช่น เมื่อขณะที่ได้ยินคำพูดที่ไม่น่ายินดีพอใจก็อาจโกรธคนที่พูด

แต่คนที่ศึกษาธรรมแล้วย่อมรู้ว่า การที่ได้ยินสิ่งที่ไม่น่ายินดีพอใจนั้น
เป็นอกุศลวิบากซึ่งไม่ได้เกิดจากการกระทำของคนอื่น แต่เป็นผลของอกุศลกรรมที่ตนได้กระทำแล้ว
วิบากจิตเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปทันทีไม่ดำรงยั่งยืน แต่เราก็มักจะครุ่นคิดถึงสิ่งที่ไม่ดีนั้นอยู่อีกไม่ใช่หรือ
ถ้าสติระลึกรู้สภาพธรรมขณะนี้ ก็จะคลายการคิดถึงอกุศลวิบากด้วยโทสะลงได้

บางครั้งเรารู้สึกว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะมีเมตตาแทนโทสะ เช่น
เมื่อคนอื่นทำไม่ดีกับเรา เราก็ไม่สบายใจและครุ่นคิดแต่เรื่องไม่สบายใจนั้น
เมื่อโทสะยังไม่ดับเป็นสมุจเฉท ก็ยังมีปัจจัยที่โทสะจะเกิดอีก
ขณะที่สติระลึกรู้สภาพธรรมทั้งหลายที่ปรากฏ ปัญญาจึงจะเจริญขึ้นจนสามารถดับโทสะได้

การละโทสะนั้นเป็นไปตามลำดับขั้น พระโสดาบันบุคคล (ผู้ที่บรรลุอริยสัจจธรรมขั้นต้น) ยังละโทสะไม่ได้

การบรรลุอริยสัจจธรรมขั้นต่อมาคือ ขั้นพระสกทาคามีบุคคล ก็ยังดับโทสะเป็นสมุจเฉทไม่ได้
ผู้บรรลุอริยสัจจธรรมขั้นที่สามคือ พระอนาคามีบุคคล ดับโทสะได้เป็นสมุจเฉท ไม่มีปฏิฆานุสัยกิเลสอีกเลย

แม้ว่ายังดับโทสะไม่ได้ แต่เมื่อโทสะเกิด สติก็สามารถระลึกรู้ลักษณะของโทสะว่าเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง
ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แต่เมื่อสติไม่เกิด ก็ดูราวกับว่าเกิดโทสะอยู่นาน และยึดมั่นโทสะว่าเป็นตัวตน
และไม่ได้สังเกตรู้นามธรรมและรูปธรรมอื่นๆที่ปรากฏ
การเจริญสติระลึกรู้สภาพนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏแต่ละขณะนั้น
จะทำให้รู้ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรมซึ่งไม่เที่ยง
และรู้ว่าโทสะเป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ไม่ใช่ตัวตน

เมื่อมีความรู้ความเข้าใจในสภาพธรรมต่างๆ ชัดแจ้งขึ้น ก็จะครุ่นคิดถึงอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจน้อยลง
เพราะเป็นเพียงนามธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเกิดแล้วก็ดับไป
และจะใส่ใจในขณะปัจจุบันมากขึ้น แทนที่จะคิดถึงอดีตหรืออนาคต

เราจะเล่าเรื่องร้ายๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเราให้คนอื่นฟังน้อยลง
เพราะรู้ว่าจะเป็นปัจจัยให้ทั้งตนเองและคนอื่นสะสมโทสะมากขึ้น
เมื่อคนอื่นโกรธเรา เราก็จะเข้าใจสภาพของเขาดีขึ้น เขาอาจจะเหนื่อยหรือไม่สบายก็ได้
คนที่ไม่ดีต่อเรานั้นสมควรได้รับความเมตตา เพราะเขาทำตนเองให้เป็นทุกข์

ความเข้าใจในสภาพธรรมต่างๆ จะทำให้เรามีเมตตากรุณาต่อคนอื่นมากกว่าอื่นใด แทนที่จะเกิดโทสะ


โมหะ

ลักษณะของโมหะ
โมหมูลจิตดวงที่สองเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนาประกอบด้วยอุทธัจจะ
โดยศัพท์ อุทธัจจะ หมายถึง สภาพไม่สงบ หรือ ฟุ้งซ่าน อุทธัจจะเกิดกับอกุศลจิต ทุกประเภท (ดวง)
ขณะใดที่จิตมีอุทธัจจะขณะนั้นไม่มี สติ สติเกิดกับโสภณจิตทุกดวง สติระลึกถึงสิ่งที่ดีงาม
สติไม่ได้เกิดเฉพาะกับวิปัสสนาเท่านั้น

ขณะให้ทาน รักษาศีล ศึกษาพระธรรม แสดงพระธรรม หรือเจริญสมถภาวนานั้น สติก็เกิดร่วมด้วย
แต่สติในการเจริญวิปัสสนาภาวนานั้น ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม

โมหะเป็นโทษเพราะเป็นมูลของอกุศลธรรมทั้งปวง
เมื่อไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง อกุศลก็จะสะสมมากขึ้น

โมหะเป็นปัจจัยให้เกิดให้เกิดโลภ
เมื่อไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็ย่อมเพลิดเพลินไปในอารมณ์ทั้งหลายที่ปรากฏทางทวารต่างๆ

โมหะเป็นปัจจัยให้เกิดโทสะด้วย เมื่อไม่รู้สภาพธรรมก็ย่อมจะโกรธเมื่อประสบกับอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ

โมหะเกิดกับอกุศลจิตทุกดวง และเป็นเหตุให้กระทำอกุศลกรรมบถ 10 ทางกาย วาจา ใจ

ขณะใดที่สติระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏทางทวารหนึ่งทวารใดใน 6 ทวารเท่านั้น
ปัญญาจึงจะเจริญขึ้นจนสามารถดับโมหะได้เป็นสมุจเฉท

อวิชชา ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง
ไม่รู้อริยสัจจ์ 4 เพราะอวิชชาจึงไม่รู้ในอริยสัจจ์ข้อที่หนึ่ง คือ ทุกข์อริยสัจจ์
ไม่ประจักษ์ว่านามธรรมและรูปธรรมไม่เที่ยงและเป็นทุกข์
ไม่รู้อริยสัจจ์ข้อที่สอง คือ ตัณหา ซึ่งเป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์
เพราะ ติดข้องในนามและรูป สังสารวัฏฏ์ จึงไม่สิ้นสุด ทุกข์จึงไม่สิ้นสุด
ไม่รู้อริยสัจจ์ข้อที่สาม คือ พระนิพพาน ซึ่งเป็นธรรมที่ดับทุกข์
ไม่ รู้อริยสัจจ์ข้อที่สี่ คือ อริยมรรคมีองค์ 8 ซึ่งเป็นหนทางปฏิบัติที่นำไปสู่ความดับทุกข์

อริยมรรคมีองค์ 8 จะเจริญขึ้นในการเจริญวิปัสสนาภาวนา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น