วันศุกร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2553
ทางที่มารหาไม่พบ
พระพุทธภาษิต
เตสํ สมฺปนฺนสีลานํ อปฺปมาทวิหารินํ สมฺมทญฺญา วิมุตฺตานํ มาโร มคฺคํ น วินฺทติ
คำแปล
มารย่อมหาไม่พบซึ่งทางของท่านผู้มีศีลสมบูรณ์, ผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาท ผู้หลุดพ้นเพราะรู้ชอบ
อธิบายความ ตามพระพุทธภาษิตนี้ ธรรมอันเป็นเหตุให้มาร ตามหาไม่พบ 3 ประการ คือ
1. ความมีศีลสมบูรณ์
2. การอยู่ด้วยความไม่ประมาท
3. ความหลุดพ้นเพราะรู้ชอบ
ในอุทเทส คือพระบาลีทั้งปวง เมื่อกล่าวถึงความเป็นผู้มีศีลของภิกษุก็จะให้ข้อความว่า
"เป็นผู้สำรวมในพระปาฏิโมกข์ (ศีลหลัก) เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยอาจาระและโคจร (ศีลส่วนปลีกย่อย หรือสมบัติผู้ดี)
มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย คือเห็นการล่วงสิกขาบทแม้เล็กน้อย เป็นสิ่งน่ากลัว
แล้วตั้งใจสำรวมอยู่ในสิกขาบทที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้"
อนึ่ง ในอุทเทสอื่นอีกเช่นใน อปริหานิยธรรมสูตร และสารานียธรรมสูตร
กล่าวถึงศีลอันบริสุทธิ์ ไม่ขาด ไม่ด่าง ไม่พร้อย วิญญูชนสรรเสริญอันตัณหาและทิฏฐิเข้าไปจับไม่ได้
และเป็นไปเพื่อสมาธิ คือทำให้เกิดสมาธิได้ง่าย
ความเป็นผู้มีศีลดีของภิกษุนั้น เป็นเหตุแห่งความเลื่อมใสของผู้ที่ยังไม่เลื่อมใส
ทำผู้เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสมั่นคงยิ่งขึ้น ทำปัจจัยที่ทายกถวายให้มีผลมาก เป็นอุบายรักษาพระศาสนาให้ยั่งยืน
ทำตนให้พ้นสังสารวัฏ และเป็นบันไดก้าวขึ้นสู่สวรรค์ และนิพพานอันเป็นสถานที่มารไม่สามารถหาให้พบได้
ความไม่ประมาท ได้อธิบายมามากแล้วในอัปปมาทวรรค
รวมความว่า การอยู่ด้วยความไม่ประมาทก็คือ อยู่ด้วยการมีสติอยู่ทุกเมื่อ ทุกอิริยาบถ
ความหลุดพ้นเพราะรู้ชอบ ความรู้ชอบนั้น คือรู้ตามเป็นจริงในสิ่งทั้งปวง ไม่ยอมให้สิ่งใดลวงได้
ตัวอย่างเช่น รู้สิ่งไม่เที่ยงว่าไม่เที่ยง รู้สิ่งอันเป็นทุกข์ว่าเป็นทุกข์ เป็นต้น
หากรู้แล้ววิปลาสไป เรียกว่ารู้ไม่ชอบ เมื่อรู้ชอบอยู่สม่ำเสมอย่อมหลุดพ้นได้
วิมุติ ความหลุดพ้นนั้น ท่านจำแนกไว้ 5 ประการ คือ
1. ตทังควิมุติ พ้นชั่วคราว เช่น จิตเป็นสมาธิชั่วคราว
2. วิขันภนวิมุติ พ้นด้วยอาการข่มไว้ เช่น ความพ้นของผู้ได้ฌาน
3. สมุจเฉทวิมุติ พ้นอย่างเด็ดขาด เช่น การพ้นของพระอริยบุคคล
4. ปฏิปัสสัทธิวิมุติ พ้นอย่างสงบระงับ (The Pacifier) เป็นความไปอย่างหนึ่ง
อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากสมุจเฉทวิมุติ ประการที่ 3 เหมือนไฟดับแล้วแต่ขี้เถ้ายังอุ่นอยู่
ส่วนประการที่ 4 นั้นคืออาการที่เป็นเสมือนขี้เถ้าซึ่งเย็นแล้ว
5. นิสสรณวิมุติ พ้นอย่างสลัดออก (The Departure) น่าจะหมายถึง การเสวยผลแห่งความหลุดพ้นไปจนตลอดชีวิต
ซึ่งก็เป็นผลของความหลุดพ้นประการที่ 4 นั่นเองสืบช่วงต่อกันลงมา
เปรียบให้เห็นอีกอย่างหนึ่ง สมุจเฉทวิมุติเหมือนอาการหายโรคเพราะยาเข้าไปตัด,
ปฏิปัสสัทธิวิมุติ เหมือนความเย็นกาย ความสบายของกายเพราะไม่มีโรคใดๆ เบียดเบียน
นิสสรณวิมุติ เหมือนการมีความสุขอันยั่งยืน เพราะไม่มีโรคใหม่ใดๆ เข้ามาเบียดเบียนอีก
อนึ่ง นิสสรณวิมุตินั้น น่าจะกินความไปถึงการดับขันธ์ของพระอริยบุคคลชั้นอรหันต์อีกด้วย
สลัดออกไปจากความทุกข์ทรมานในโลกนี้ทั้งปวง
วิมุติทั้ง 5 ประการนี้ 2 ประการแรกเป็นโลกียะ (mundane) ประการที่หนึ่งคนสามัญทั่วไปก็มีได้
ประการที่ 2 สำหรับท่านผู้ได้ฌาน ส่วน 3 ประการหลังเป็นโลกุตตระ (Supramundane) สำหรับพระอริยบุคคล
วิมุติทั้ง 5 นี้ บางทีเรียกว่า วิเวก (Seclusion) คำอธิบายเหมือนกันผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติ 3 ประการดังกล่าว
มารย่อมหาไม่พบ มารนั้นแปลว่า ผู้ล้างผลาญคุณความดี เช่น กิเลสมาร เป็นต้น
ในเรื่องนี้ พระศาสดาทรงปรารภการนิพพานของพระโคธิกะ แล้วมารเที่ยวตามหาวิญญาณของท่าน
มีเรื่องย่อดังนี้
เรื่องการนิพพานของพระโคธิกะ
สมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์
สมัยนั้น พระโคธิกะ ทำความเพียรอยู่ที่ถ้ำกาฬสิลา (หินดำ) ข้างภูเขาอิสิคิลิ
ท่านทำความเพียรจนได้เจโตวิมุติ (ความหลุดพ้น) เป็นครั้งคราวเช่น ตทังควิมุติ และวิขัมภนวิมุติ
แต่วิมุตินั้นต้องเลื่อนไปเพราะโรคอันเรื้อรังประจำสังขาร บางอย่างของท่าน, ถึงกระนั้นท่านก็พยายามเรื่อยไป
บางคราวยังฌานขั้นที่ 2 ที่ 3 ให้เกิดขึ้นแล้วเสื่อมไปอีกถึง 6 ครั้ง พอถึงครั้งที่ 7 ท่านคิดว่า
"เราเสื่อมจากฌานถึง 6 ครั้งแล้ว คติของผู้เสื่อมจากฌานเป็นของไม่แน่นอน
คราวนี้เราจะทำฌานให้เกิดขึ้น แล้วจักฆ่าตัวตายเพื่อมิให้ฌานเสื่อมไปเสียก่อน"
ดังนี้แล้ว นำมีดโกนมาวางไว้บนเตียงเพื่อจะตัดก้านคอ
มารเห็นอาการของพระโคธิกะเช่นนั้นจึงคิดว่า "ภิกษุนี้นำศัสตรามาเพื่อปลงชีวิตของตน
ภิกษุเช่นนี้ย่อมหมดอาลัยในชีวิต เธอเริ่มตั้งวิปัสสนาแล้ว อาจบรรลุอรหัตตผลได้
ถ้าเราจักห้ามเธอ เธอก็จะไม่เชื่อเรา อย่ากระนั้นเลย เราจักทูลให้พระศาสดาทรงห้าม"
ดังนี้แล้ว ปลอมตนเข้าไปเฝ้าพระศาสดา กราบทูลอย่างนี้ว่า
"ข้าแต่พระองค์ผู้แกล้วกล้า และมีบุญมาก ข้าพระองค์ขอถวายบังคมพระยุคลบาท
บัดนี้สาวกของพระองค์ชื่อโคธิกะ กำลังจะฆ่าตัวตาย ขอพระองค์ทรงห้ามเถิด
ข้าแต่พระองค์! สาวกนี้ของพระองค์เป็นผู้ยินดีในศาสนา ยังมิได้บรรลุธรรมอะไรเลย จะพึงทำกาละเสียกระไรอยู่
ขอพระองค์ทรงห้ามเถิด"
ขณะเดียวกันนั้น พระโคธิกะนำศัสตรามา ทำฌานให้เกิดขึ้นแล้วเจริญวิปัสสนา
ท่านได้บรรลุเป็นอรหัตน์พร้อมด้วยสิ้นชีวิต พระศาสดาทรงทราบโดยตลอด
และทรงทราบว่าผู้มาทูลพระองค์นั้นเป็นมาร จึงตรัสว่า
"ปราชญ์ทั้งหลายเป็นอย่างนี้ คือไม่อาลัยในชีวิต โคธิกะ ถอนตัณหาพร้อมทั้งรากขึ้นได้แล้ว ปรินิพพานแล้ว"
พระผู้มีพระภาคมีภิกษุสงฆ์เป็นอันมากแวดล้อม เสด็จไปสู่ที่อยู่ของพระโคธิกะ
ขณะนั้นมารเที่ยวแสวงหาวิญญาณของพระโคธิกะอยู่ว่า วิญญาณนั้นไปอยู่ที่ใด เมื่อไม่อาจแสวงหาให้พบได้
จึงแปลงเพศเป็นกุมารน้อยถือพิณสีเหลืองเข้ามาเฝ้าพระศาสดา และทูลถามว่า วิญญาณของพระโคธิกะอยู่ที่ใด
พระศาสดาตรัสตอบว่า
"ภิกษุชื่อโคธิกะ เป็นปราชญ์ มีศีลสมบูรณ์ ยินดีในฌาน มีความเพียรทั้งกลางวันกลางคืน ไม่ไยดีต่อชีวิต
ชนะเสนาแห่งมัจจุราชได้แล้ว ไม่มาสู่ภพนี้อีก เธอถอนตัณหาพร้อมทั้งรากได้แล้ว ปรินิพพานแล้ว"
มารได้ยินดังนั้น เสียใจเศร้าโศกหายไปแล้ว
พระศาสดาตรัสว่า "มารผู้ลามกต้องการอะไรด้วยวิญญาณของโคธิกะ
คนอย่างมารแม้ตั้งร้อยตั้งพันก็ไม่อาจแสวงหาที่เกิดของกุลบุตรเช่น โคธิกะได้" ดังนี้แล้วตรัสพระคาถาว่า
"เตสํ สมฺปนฺนสีลานํ" เป็นอาทิ มีนัยดังพรรณนามาแล้ว
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น