วันศุกร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2553

การตั้งจิตอยู่ในมรณสติ




หัวข้อที่ตั้งไว้ว่า มรณสติ ต้องมีคำว่าสติด้วย อีก 1 คำ จึงจะครบถ้วนบริบูรณ์

คำว่า มรณสติ หมายถึง ความมีสติระลึกเป็นความตาย
เพื่อความไม่ประมาท มรณสติ เป็นอนุสติ 1 ในอนุสติ 10 มีพุทธานุสสติ เป็นต้น

มีเรื่องเล่าไว้ในธรรมบทภาค 6 เรื่องการเจริญมรณสติของธิดาของนายช่างหูก ดังนี้

วันหนึ่งพวกชาวเมืองอาฬวี เมื่อพระศาสดาถึงเมืองอาฬวีแล้ว ได้ทูลนิมนต์ถวายทานแล้ว
พระศาสดาเมื่อจะทรงทำอนุโมทนาในเวลาเสร็จภัคกิจจึงตรัสว่า

“ ท่านทั้งหลายจงเจริญมรณสติ ดังนี้ว่า
ชีวิตของเราไม่ยั่งยืน ความตายของเราแน่นอน เราพึงตายแน่แท้ ชีวิตของเรามีความตายเป็นที่สุด
ชีวิตของเราไม่เที่ยงความตายเที่ยง ก็มรณะอันชนทั้งหลายใดไม่เจริญแล้ว
เมื่อกาลแห่งความตายมาถึง ชนเหล่านั้นย่อมสะดุ้ง หวาดกลัวตาย เหมือนผู้เห็นอสรพิษแล้วกลัวฉันนั้น
ส่วนบุคคลที่เจริญมรณสติเสมอแล้ว เมื่อความตายมาถึงย่อมไม่สะดุ้งกลัว
เหมือนผู้นั้นเห็นอสรพิษแต่ไกล แล้วก็เอาท่อนไม้เขี่ยทิ้งไปยืนอยู่ฉะนั้น เพราะฉะนั้นจึงควรเจริญมรณสติไว้

ในชนทั้งหลายที่ฟังธรรมเทศนาในวันนั้น มีธิดาของนายช่างหูกอายุ 16 ปีคนหนึ่งคิดว่า
ธรรมดาด้วยคำของพระพุทธเจ้าทั้งหลายอัศจรรย์
เราจึงควรเจริญมรณสติ แล้วก็เจริญมรณสติอย่างเดียวตลอดเวลา 3 ปีผ่านมา

วันหนึ่งธิดาของนายช่างหูกผู้นี้เข้าในข่ายพระญาณของพระองค์
ทรงทราบว่านางจะได้ประโยชน์จากการเสด็จแสดงธรรมของพระองค์
จึงเสด็จพร้อมภิกษุ 500 เป็นบริวารจากพระเชตวันไปสู่อัคคาฬววิหาร ชาวเมืองอาฬวี ทูลนิมนต์แล้ว
ฝ่ายนางธิดา ของนายช่างหูกก็ทราบการเสด็จมาด้วยความปิติเช่นเดียวกัน

ฝ่ายบิดาของนาง ก็ใช้ให้นางกรอด้ายหลอดให้ เพราะจะต้องทอผ้าที่ค้างอยู่ให้เสร็จ
นางจึงต้องกรอด้ายให้บิดาก่อน แล้วค่อยไปเข้าเฝ้าพระศาสดา
ฝ่ายชาวเมืองอาฬวี เมื่อเสร็จการถวายภัตตาหารแล้ว รออยู่เพื่อต้องการอนุโมทนา
พระศาสดาประทับนิ่งอยู่ ด้วยทรงปรารภการมาของธิดาช่างหูกนั้นอยู่

เมื่อธิดาช่างหูกกรอด้ายเสร็จใส่กระเช้า เพื่อนำไปให้บิดา ผ่านที่ท้ายสุดของชนทั้งหลายที่ประชุมกันอยู่
พระศาสดาทรงชะเง้อทอดพระเนตรนางนั้น นางจึงทราบโดยอาการของพระศาสดา
จึงวางกระเช้าด้ายหลอดเข้าไปสู่ระยะที่ใกล้ ถวายบังคมแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรข้างหนึ่ง

พระศาสดาตรัสถามนางว่า “ กุมาริกา เธอมาจากไหน ?
นางกุมาริกา ตอบว่า “ ไม่ทราบ พระเจ้าข้า ”
พระศาสดาตรัสถามอีกว่า “ เธอจักไปที่ไหน ?
นางกุมาริกา ตอบว่า “ ไม่ทราบ พระเจ้าข้า ”
พระศาสดาตรัสถามว่า “ เธอไม่ทราบหรือ ?
นางกุมาริกา ตอบว่า “ ทราบ พระเจ้าข้า ”
พระศาสดาตรัสถามว่า “ เธอทราบหรือ ?
นางกุมาริกา ตอบว่า “ ไม่ทราบ พระเจ้าข้า ”

พระศาสดาตรัสถามปัญหา 4 ข้อแก่นางกุมาริกานั้น
ขณะนั้นมหาชนทั้งหลาย โพทนา โวยวาย ตำหนิ ธิดานายช่างหูกนั้นว่า ตอบปัญหาอันไม่สมควรกับพระศาสดา
พระศาสดาทรงกระทำมหาชนให้เงียบเสียงแล้ว จึงตรัสถามนางว่า
“ กุมาริกา เมื่อเรากล่าวว่า มาจากไหน เพราะเหตุไร เธอจึงตอบว่า ไม่ทราบ

นางกุมาริกา ตอบว่า พระเจ้าข้า พระองค์ย่อมทราบความที่หม่อมฉันมาจากเรือนช่างหูก
เมื่อพระองค์ตรัสถามว่า เธอมาจากไหนนั้น ย่อมตรัสถามว่า เธอมาจากที่ไหน จึงเกิดแล้วในที่นี้
แต่หม่อมฉันไม่ทราบว่า มาแล้วจากไหนจึงมาเกิดในที่นี้....

พระศาสดาจึงประทานสาธุการเป็นครั้งแรกว่า ....ดีแล้ว.... ดีแล้วปัญหาอันเราถามแล้ว เธอได้แก้แล้ว
แล้วตรัสถามต่อไปว่า เมื่อเราถามว่า เธอจักไป ณ ที่ไหน เพราะเหตุไรจึงกล่าวว่า “ ไม่ทราบ ”

นาง กุมาริกา ตอบว่า พระเจ้าข้า พระองค์ย่อมทราบหม่อมฉันผู้ถือกระเช้าด้ายหลอด เดินไปยังโรงของช่างหูก
พระองค์ย่อมตรัสถามว่า ก็เธอไปจากโลกนี้แล้ว จักเกิดในที่ไหน
ก็หม่อมฉันจุติจากโลกนี้แล้ว ย่อมไม่ทราบว่า จักไปเกิดในที่ไหน ......

พระศาสดา ประทานสาธุการแก่นางเป็นครั้งที่ 2 ว่าปัญหาอันเราถามแล้วเธอได้แก้แล้ว
แล้วตรัสถามต่อไปว่า เมื่อเราถามว่า เธอไม่ทราบหรือ เพราะเหตุไรจึงตอบว่า “ ทราบ ”

กุมาริกา ตอบว่า
พระเจ้าข้า หม่อมฉันย่อมทราบภาวะ คือ ความตายของหม่อมฉันเท่านั้น เหตุนั้นจึงกราบทูลอย่างนั้น

พระศาสดา ประทานสาธุการแก่นางเป็นครั้งที่ 3 ว่าปัญหาอันเราถามแล้วเธอได้แก้แล้ว แล้วตรัสถามต่อไปว่า
เมื่อเป็นเช่นนั้น เมื่อเราถามว่า เธอย่อมทราบหรือ เพราะเหตุไรจึงพูดว่า “ ไม่ทราบ ”

กุมาริกา ตอบว่า หม่อมฉันย่อมทราบแต่ภาวะ คือ ความตายของหม่อมฉันเท่านั้น พระเจ้าข้า
แต่ย่อมไม่ทราบว่า จักตายในเวลา กลางคืน กลางวัน หรือ เวลาเช้า ในกาลชื่อโน้น เป็นต้น
เพราะเหตุนั้นจึงกราบทูลอย่างนั้น.........

พระศาสดา ประทานสาธุการแก่นางเป็นครั้งที่ 4 ว่าปัญหาอันเราถามแล้วเธอได้แก้แล้ว
แล้วตรัสเตือนบริษัทชุมชนทั้งหลายในที่นั้นว่า
พวกท่านย่อมไม่ทราบถ้อยคำชื่อมีประมาณเท่านี้ ที่นางกุมาริกานี้กล่าวแล้วย่อมโพทนาอย่างเดียวเท่านั้น

“ เพราะจักษุ คือ ปัญญาของชนเหล่าใดไม่มี ชนเหล่านั้นเป็นดุจคนตาบอดทีเดียว
จักษุ คือ ปัญญาของชนเหล่าใดมีอยู่ ชนเหล่านั้นเป็นผู้มีจักษุ ” ตรัสพระคาถานี้ว่า

“ สัตว์โลกนี้เป็นเหมือนคนบอด ในโลกนี้น้อยคนจะเห็นแจ้งได้
น้อยคนจะไปในสวรรค์เหมือนนกหลุดแล้วจากข่าย (ของนายพราน) มีน้อยฉะนั้น. ”

เมื่อธรรมเทศนาจบลง
นางธิดาของนายช่างหูกตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล มหาชนเป็นอันมาก ก็ตั้งอยู่ในประโยชน์แห่งตน

นางธิดาของนายช่างหูก ถือกระเช้าด้ายหลอดไปให้บิดา กระเช้าหลอดด้ายกระทบที่สุด ฟึมทำเสียงดัง
บิดาซึ่งกำลังหลับสะดุ้งตื่นก็ฉุดที่สุดฟึม (ฟึม = อุปกรณ์ทอผ้า)
ทำให้ที่สุด ฟึมนั้นมากระแทกที่หน้าอกของนาง กุมาริกาถึงแก่ความตายทันที บังเกิดในดุสิตภพ
บิดาของนางเห็นร่างนางมีแต่เลือดล้มลงตาย ก็เศร้าโศกมาก จึงไปหาพระศาสดากราบทูลเรื่องราวให้ทรงทราบ
พระศาสดาทรงปลอบเขาแล้วตรัสว่า
“ ท่านอย่าโศกเลย เพราะน้ำตาที่ไหลออกเพราะความตายแห่งธิดาของท่าน
ในสังสารวัฎอันหาที่สุดไม่ได้นี้มากกว่าน้ำในมหาสมุทรทั้ง 4 ทรงแสดงธรรมแก่เขา ทำให้มีความโศกเบาบาง
ทูลขอบรรพชากะพระศาสดา ได้อุปสมบทต่อมาไม่นานก็ได้บรรลุอรหัตตผล

จบเรื่องธิดาของนายช่างหูก จะกล่าวถึงการเจริญมรณสติจากวิสุทธิมัคโดยสังเขปดังนี้


บุคคลทั้งหลาย พึงระลึกถึงความตายโดยอาการ 8 อย่าง

1. โดยปรากฏดุจเพชฌฆาตที่ถือดาบจ่อที่คอยืนประชิดตัวอยู่ฉันใด ความตายก็ปรากฏฉันนั้นเหมือนกัน
เพราะความตายมันมาพร้อมกับความเกิด คือ สัตว์เมื่อเกิดมาก็เริ่มบ่ายหน้าไปสู่ความตาย

2. วิบัติแห่งสมบัติทั้งหลายในโลกนี้ จะงดงามอยู่ก็ชั่วเวลาที่ยังไม่วิบัติ
• ความไม่มีโรคทั้งปวง ย่อมมีความเจ็บไข้เป็นที่สุด
• ความหนุ่มสาว มีความแก่เป็นที่สุด
• ความเป็นอยู่ทั้งปวง มีความตายเป็นที่สุด

3. โดยการเปรียบเทียบตนกับคนที่ตายไปแล้ว โดยมียศมาก มีบุญมาก มีแรงมาก มีฤทธิ์มาก มีปัญญามาก
เช่น พระปัจเจกพระพุทธเจ้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นต้น

4. โดยอายุ (ชีวิต) เป็นของอ่อนแอของสัตว์ทั้งหลายผูกพันอยู่กับลมหายใจเข้าออก
อยู่กับอิริยาบถ ความเย็น ร้อน อาหาร จึงอ่อนแอ ดังนี้

5. ชีวิตหานิมิตไม่ได้ในธรรม 5 อย่าง
• ไม่รู้ว่าจะตาย เมื่อใด
• ไม่รู้ว่าจะตาย ด้วยโรคอะไร
• ไม่รู้ว่าจะตาย ในเวลาเช้า สาย บ่าย เย็น ค่ำ
• ไม่รู้ว่าจะตาย ที่ไหน
• ไม่รู้ว่าตายแล้วจะไปเกิดที่ไหน

6. โดยร่างกายเป็นสาธารณะแก่สัตว์และปัจจัยแห่งความตายมากมาย
เป็นสาธารณะแก่หมู่หนอน 80 พวก ที่อาศัยผิว หนัง เนื้อ กระดูก เยื่อในกระดูก กัดกิน
เหมือนบ้านเกิด โรงพยาบาล สุสาน ส้วมของพวกหนอนเหล่านั้น โรคอีกหลายร้อยอย่าง อาวุธจากภายนอก

7. โดยชีวิตมีกำหนดกาลอันเล็กน้อยเพียง 100 ปี หรือน้อยกว่านี้

8. โดยชีวิตมีขณะอันเล็กน้อยเพียงชั่วความเป็นอยู่ของอีกขณะเดียว จิตดวงเดียว
เมื่อดับไปย่อมกล่าวได้ว่า “ ดับไปแล้ว ” ดังนี้.


อานิสงส์ของมรณสติ

ผู้ประกอบเนือง ๆ ซึ่งมรณสติ ย่อมได้อานิสงส์ดังนี้
1. ย่อมเป็นผู้ไม่ประมาทเป็นนิตย์
2. ได้ความสำคัญในภพทั้งปวงว่าไม่น่ายินดี
3. ละความใคร่ในชีวิตได้
4. เป็นผู้ติเตียนบาป
5. ไม่ยากไปด้วยการสะสม
6. ปราศจากความตระหนี่อันเป็นมลทิน
7. ย่อมเสพคุ้นในอนิจจสัญญา แม้ทุกขสัญญา และอนัตตสัญญา ก็ย่อมปรากฏตามแนวอนิจจสัญญา
8. ย่อมเป็นผู้ไม่กลัวไม่หลง เมื่อใกล้ตาย
9. หากไม่ได้สำเร็จอมตธรรมในอัตตภาพนี้ เมื่อตายย่อมมีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า

เพราะเหตุนั้น ผู้มีปัญญาพึงทำความไม่ประมาทในมรณสติ อันมีอานุภาพมากอย่างนี้ทุกเมื่อเทอญ

จบธรรมโอสถในหัวข้อเรื่อง มรณสติ แต่เพียงนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น