วันศุกร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2553

ตาต่อตา กรรมลิขิต


พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน สมัยนั้นมีเศรษฐีสองพี่น้อง คนพี่ชื่อมหาปาละ คนน้องชื่อ จุลปาละ
วันหนึ่งมหาปาละ นั่งฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า แล้วคิดว่า บุตรธิดาหรือโภคทรัพย์ติดตามผู้ไปสู่ปรโลกไม่ได้
แม้สรีระก็ไปกับตัวไม่ได้ ประโยชน์อะไรด้วยการครองเรือน
พอเทศนาจบ ก็เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าทูลขอบวช พระองค์ตรัสให้ไปลาญาติพี่น้องก่อน

เขากลับไปเรือนมอบทรัพย์ของตระกูลให้น้องชายดูแล แล้วบอกน้องชายว่าจะบวช น้องบอกให้รอบวชเมื่อแก่
เขาตอบว่า มือเท้าคนแก่ไม่มีแรง ไม่อยู่ในอำนาจ จะประพฤติธรรมได้อย่างไร แล้วก็ไปบวช

เมื่อมีพรรษาครบห้าก็ไปทูลขอพระกรรมฐานจากพระพุทธเจ้า แล้วถวายบังคมลาพร้อมด้วยภิกษุอีก ๖๐ รูป
เดินทางไปถึงตำบลแห่งหนึ่ง เข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน พวกชาวบ้านเลื่อมใสจึงนิมนต์ให้อยู่จำพรรษาในวัด
หมอคนหนึ่งได้ปวารณาว่า ถ้าเจ็บป่วยให้บอก จะทำยาถวาย

ในวันเข้าพรรษา พระมหาปาละคิดว่า ผู้ที่เรียนกรรมฐานจากสำนักของพระพุทธเจ้าไม่ควรประมาท
จึงอธิษฐานไม่นอนตลอดพรรษา เมื่อเวลาผ่านไปหนึ่งเดือน เกิดโรคตามีน้ำตาไหล พวกภิกษุเห็นเข้าจึงบอกหมอ
หมอได้ทำยาหยอดถวาย พระเถระก็นั่งหยอดยา เมื่อไปบิณฑบาตในบ้าน หมอถามอาการ ก็ตอบว่า ยังไม่หาย
หมอคิดว่า โรคควรหายด้วยการหยอดยาเพียงครั้งเดียว เกิดสงสัย จึงถามว่า ท่านนั่งหยอดหรือนอนหยอด
พระเถระก็นิ่งเฉย หมอจึงไปตรวจดูที่วัด เห็นแต่ที่จงกรมและที่นั่ง จึงมาเรียนถามอีก พระเถระก็นิ่งเสีย
หมออ้อนวอนว่า ท่านโปรดอย่าทำอย่างนั้น เมื่อร่างกายดีอยู่ก็อาจทำสมณธรรมได้ ขอท่านนอนหยอดเถิด
พระเถระตอบว่า ขอปรึกษาดูก่อน

ในที่นั้นไม่มีญาติอยู่เลย พระเถระจึงปรึกษากับตัวเองว่า ท่านจะเห็นแก่จักษุหรือเห็นแก่พระพุทธศาสนา
ท่านได้ผูกใจว่า จะไม่นอนตลอด ๓ เดือนนี้ ดังนั้นแม้จักษุของท่านฉิบหายหรือแตกเสียก็ตาม
ท่านจงทรงพระพุทธศาสนาไว้ อย่าเห็นแก่จักษุเลย จักษุที่ท่านถือว่าของตัวจงแตกไปเถิด หูก็แตกไปเถิด
แม้ร่างกายนี้ก็แตกไปเสียเถิด ปาลิตะ เหตุไฉน ท่านจึงประมาทอยู่

เมื่อพระเถระสอนตัวเองแล้ว ก็นั่งหยอดยาตามเดิม เมื่อไปบิณฑบาต หมอถามว่านั่งหรือนอนหยอด
ท่านก็นิ่งเหมือนเดิม หมอกลัวเสียชื่อจึงบอกเลิกรักษา พระเถระถูกหมอบอกเลิก ก็กลับไปวัด
เตือนตนไม่ให้ประมาท แล้วบำเพ็ญสมณธรรมต่อไป คืนนั้นเอง ทั้งดวงตาทั้งกิเลสของท่านแตกพร้อมกัน
ท่านเป็นพระอรหันต์สุกขวิปัสสก (ไม่มีฤทธิ์)

พระศาสดาตรัสเล่าบุพกรรมของพระเถระนี้ว่า ในอดีต ณ กรุงพาราณสี หมอผู้หนึ่งเที่ยวรักษาผู้คน
เห็นหญิงมีตาผิดปกติ ถามว่าเป็นอะไร หญิงนั้นตอบว่า ตามองไม่เห็น หมอก็ถามถึงค่ารักษา
หญิงนั้นว่า ถ้ารักษาหายนางและบุตรธิดาจะยอมเป็นทาส หมอจึงทำยาให้ ดวงตากลับเป็นปกติด้วยยาขนานเดียว
หญิงนั้นแกล้งทำเป็นยังไม่หายซ้ำยังปวดมากขึ้น หมอไม่พอใจแกล้งทำยาให้อีกขนาน
เมื่อหยอดแล้วหญิงนั้นก็ตาบอดทั้งสองข้าง หมอนั้นได้มาเกิดเป็นพระมหาปาละ

(อรรถกถาธรรมบท ภาค ๑ เรื่องจักขุปาลเถระ)


ต่อไปเป็นประสบการณ์ของพระมหากิมหลี อิสฺสรญาโณ ชาวอยุธยา เคยจำพรรษาที่วัดโสมนัส
ภายหลังย้ายไปจำพรรษาอยู่วัดอื่น ท่านต้องรับผลของบาปกรรมที่ทำไว้เมื่อครั้งเป็นวัยรุ่น เรื่องมีอยู่ว่า
สมัยที่ท่านยังไม่บวช และอยู่ในวัยรุ่น บ้านของท่านอยู่ติดกับคลอง มีกระไดท่าน้ำ
วันหนึ่งท่านกลับจากเที่ยวก็ไปล้างเท้าที่ท่าน้ำ เป็นเวลาที่มีปลาแขยงชุกชุม
เมื่อมีคนลงมาล้างเท้าพวกปลาก็พากันมาตอด ท่านโกรธมากตามประสาคนหนุ่มเลือดร้อน
คิดจะแก้เผ็ดที่เจ้าพวกปลาแขยงมาตอดเท้า จึงรีบขึ้นเรือนคว้าได้สวิงก็รีบลงไปตีนท่ากระทุ่มน้ำ ทำเป็นล้างเท้า
ฝูงปลาแขยงก็ว่ายเข้ามาตอดเท้า ท่านก็เอาสวิงช้อนปลาขึ้นมาได้ ๖-๗ ตัว
คิดว่าจะทุบตีให้มันตายก็ง่ายเกินไป ไม่สมแค้น จึงรีบวิ่งขึ้นเรือนหาได้เข็มรีบจัดแจงลงมาที่ท่าน้ำ
เอาเข็มแทงลูกนัยน์ตาทั้งสองข้างทุกตัว แล้วปล่อยลงน้ำไป

ต่อมา ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ศึกษาเล่าเรียนจนได้เป็นมหาเปรียญ ๓ ประโยค
ท่านก็เริ่มเจ็บตาข้างหนึ่ง แม้จะรักษาอย่างไรก็ไม่หาย เจ็บปวดแสนสาหัสแทบจะทนไม่ไหว
เมื่อให้แพทย์แผนปัจจุบันตรวจ ก็บอกว่าต้องผ่าจึงจะมีโอกาสหาย เมื่อผ่าแล้วก็ไม่หาย ตาจึงบอดลง
ท่านนึกรู้ได้ทันทีว่า บาปกรรมที่ทำกับปลาแขยงในสมัยวัยรุ่นนั้น บัดนี้ได้ติดตามมาทันแล้ว
ต่อมาไม่นานตาอีกข้างหนึ่งก็เกิดปวดขึ้นมาอย่างมาก เมื่อท่านไปหาแพทย์ๆ ก็บอกว่าต้องผ่าอีก ท่านก็ยอมเสี่ยง
ในที่สุดตาของท่านก็บอดสนิททั้งสองข้าง ท่านจึงนึกว่า โรคกรรมเวรนี้ หมอเก่งเพียงไรก็รักษาไม่หาย

(กฎแห่งกรรม ของ ท. เลียงพิบูลย์ เล่ม ๔)


ประเด็นที่ควรกล่าวถึงมีดังนี้

๑. บุคคลทั้งสองได้ทำบาปกรรมไว้คล้ายกันคือ เบียดเบียนคนอื่นสัตว์อื่น
และได้รับผลคล้ายกันคืออาพาธจนตาบอดทั้งสองข้าง ต้องดำรงชีวิตอยู่ด้วยความลำบาก

๒. พระมหากิมหลีอาจจะตาบอดเพราะแทงตาปลาแขยง หรือเพราะเคยทำให้คนอื่นตาบอดในชาติก่อนๆ
ถ้าท่านตาบอดเพราะกรรมเก่าตามมาให้ผล กรรมที่แทงตาปลาแขยงก็จะรอให้ผลในชาติต่อๆ ไป

๓. บางคนอาจคิดว่า พระมหาปาละตาบอดเพราะไม่นอนและไม่หยอดยา
พระมหาปาละถือธุดงค์ว่าด้วยการนั่งเป็นวัตร งดอิริยาบถนอน (นั่งหลับได้)
ถ้าการถือธุดงค์ทำให้เจ็บป่วย พระพุทธเจ้าคงไม่ทรงอนุญาตแน่ ในพระไตรปิฎก (๑๔/๓๘๕) กล่าวว่า
ตลอด ๘๐ พรรษา พระพักกุละถือการนั่งเป็นวัตรอย่างอุกฤษฏ์ ท่านมีอายุยืนมาก ไม่เคยเจ็บป่วย ไม่เคยฉันยา
ท่านมหากิมหลีไม่ได้ถือธุดงค์ แต่ตาก็เจ็บได้ แม้ทำตามคำสั่งหมอทุกอย่างก็ช่วยอะไรไม่ได้
สรุปว่าท่านทั้งสองตาบอดเพราะบาปกรรมที่ทำไว้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น