วันศุกร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2553

เรื่องที่ควรพูดและไม่ควรพูด


พระพุทธเจ้า ประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน เมืองสาวัตถี ภิกษุหลายรูปประชุมกันที่หอฉัน
ต่างสนทนากันด้วยเรื่อง ดิรัจฉานกถา คือ ถ้อยคำที่ชักนำให้จิตตกต่ำ และขวางทางไปนิพพาน คือ
เรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่องการรบ เรื่องข้าว
เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องที่นอน เรื่องดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยาน เรื่องบ้าน เรื่องนิคม
เรื่องนคร เรื่องชนบท เรื่องสตรี เรื่องคนกล้าหาญ เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนตายไปแล้ว
เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่องทะเล เรื่องความเจริญ และเรื่องความเสื่อมฯ

เวลาเย็น พระพุทธองค์เสด็จไปที่หอฉัน จึงตรัสถามว่าพวกเธอกำลังคุยอะไรกันอยู่
พวกภิกษุกราบทูลว่า คุยกันด้วยเรื่อง ดิรัจฉานกถา
ทรงติเตียนว่า ไม่สมควรที่พวกเธอผู้ออกบวชด้วยศรัทธาจะสนทนากันด้วยเรื่องอย่างนี้

ครั้นแล้วทรงแสดง กถาวัตถุ คือ ถ้อยคำที่ควรนำมาพูดกันในวงของภิกษุ คือ

๑. อัปปิจฉกถา เรื่องความมักน้อย ถ้อยคำที่ชักนำให้ปรารถนาน้อย
๒. สันตุฏฐิกถา เรื่องความสันโดษ ถ้อยคำที่ชักนำให้มีความสันโดษ
๓. ปวิเวกกถา เรื่องความสงัด ถ้อยคำที่ชักนำให้มีความสงัดกายและใจ
๔. อสังสัคคกถา เรื่องความไม่คลุกคลี ถ้อยคำที่ชักนำให้ไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ
๕. วิริยารัมภกถา เรื่องการปรารภความเพียร ถ้อยคำที่ชักนำให้มุ่งมั่นทำความเพียร
๖. สีลกถา เรื่องศีล ถ้อยคำที่ชักนำให้ตั้งอยู่ในศีล
๗. สมาธิกถา เรื่องสมาธิ ถ้อยคำที่ชักนำให้ทำจิตให้ตั้งมั่น
๘. ปัญญากถา เรื่องปัญญา ถ้อยคำที่ชักนำให้เกิดปัญญา
๙. วิมุตติกถา เรื่องวิมุตติ ถ้อยคำที่ชักนำให้ทำใจพ้นจากกิเลสและความทุกข์
๑๐. วิมุตติญาณทัสสนกถา เรื่องความรู้ความเห็นในวิมุตติถ้อยคำที่ชักนำให้สนใจ และเข้าใจ
เรื่องความรู้ความเห็นในภาวะที่หลุดพ้นจากกิเลสและความทุกข์

วัตถุกถาสูตร ๒๔/๑๓๑


พระพุทธองค์ตรัสในอีกแห่งหนึ่งว่า
"ภิกษุทั้งหลาย! การที่พวกเธอออกบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธา นั่งสนทนาธรรมกันเป็นการสมควร
พวกเธอเมื่อนั่งประชุมกัน ควรทำกิจสองอย่าง คือ สนทนาธรรมะ หรือ นั่งนิ่งตามแบบพระอริยะ"

ปาสราสิสูตร ๑๒/๒๕๙


นักบวชเป็นผู้เว้นจากการงานแบบชาวบ้าน จึงมีเวลาที่ว่างมาก ถ้าไม่ศึกษาธรรม ไม่ปฏิบัติธรรม
ไม่มีการงานอันเหมาะสมกับสมณะ
เป็นภาระอยู่ประจำ ก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไร ก็เลยต้องบริหารปาก
ด้วยการยกเอาเรื่องต่าง ๆ อันไร้สาระมาพูดคุยเพื่อฆ่าเวลาให้หมดไปวัน ๆ

เมื่อมีการพูดมาก จิตใจก็ย่อมจะฟุ้งซ่านมาก เรื่องมาก มีปัญหามาก
พระพุทธองค์จึงทรงขีดวง ให้นักบวชได้พูดคุยอยู่ในกรอบของ "กถาวัตถุ ๑๐ ประการ"

ส่วนการ "นั่งนิ่งตามแบบพระอริยะ" นั้น ได้แก่
การเจริญสติ สมาธิ และ วิปัสสนา หรือการเจริญสติปัฏฐานสี่ อันเป็นการงานของจิตโดยตรงนั่นเอง

ถ้านักบวชรูปใดใส่ใจ สำรวมวาจาและใส่ใจให้อยู่ในหลักนี้ได้
ความเจริญงอกงามไพบูลย์ ในเพศของนักบวชก็ย่อมเกิดขึ้นแก่ตน อย่างไม่ต้องสงสัยเลย

ความต้องการเป็นอิสระ และ เป็นตัวของตัวเองนั้น
นับว่าเป็นสิ่งดี แสดงว่าจิตมีการพัฒนา
แต่จะต้องไม่ตกเป็นทางของสิ่งเสพติด อบายมุข กิเลสตัณหา และค่านิยมที่ผิด ๆ ด้วย
จึงจะถือว่าเป็นอิสระ และ เป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริง


พระไตรปิฎกฉบับพ้นทุกข์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น