วันศุกร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2553

การกีดกันใจจากอารมณ์โกรธเกลียดได้ เป็นความประเสริฐไม่น้อย


พระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนาว่า
ที่อยู่อาศัย หรือวิหารย่อมป้องกันหนาวร้อน สัตว์ร้าย เช่น งู ยุง และป้องกันฝนในฤดูฝน
นอกจากนี้ยังป้องกันลมแดดได้อีกด้วย

การถวายวิหารทาน แก่สงฆ์เพื่อให้ท่านได้หลีกเร้นอยู่
เพื่อความสุข เพื่อการเพ่งพิจารณา เพื่อความรู้แจ้งเห็นจริงนั้น พระพุทธเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่าเป็นทานอันเลิศ
ด้วยเหตุนี้ ผู้ฉลาดเล็งเห็นประโยชน์อยู่ พึงสร้างที่อยู่อันรื่นรมย์เพื่อภิกษุ ผู้เป็นพหุสูตจักได้อยู่อาศัย

อนึ่ง พึงมีใจเลื่อมใสถวายข้าวน้ำ ผ้าและเครื่องใช้อื่นๆ อันสมควรแก่สมณบริโภคแก่ภิกษุผู้มีความซื่อตรง
พวกเธอได้รับอุปการะอย่างนี้แล้วย่อมแสดงธรรม อันเป็นเครื่องบรรเทาทุกข์ทั้งปวงแก่เขา
เขารู้ทั่วถึงธรรมนั้นแล้ว จักเป็นผู้ไม่มีอาสวะ ปรินิพพาน

ท่านผู้เคารพในธรรม ยกเว้นพระศาสดาแล้ว จริยาของพระสารีบุตรนั้นไม่มีใครเสมอเหมือน
ท่านมิได้มีอหังการว่าเราเป็นอัครสาวก แต่เป็นผู้สันโดษและอ่อนน้อมถ่อมตนอยู่เป็นนิตย์
ดังได้กล่าวมาบ้างแล้วแต่หนหลัง

นอกจากความอ่อนน้อมถ่อมตนแล้ว พระสารีบุตรยังเป็นผู้มีความอดทนและให้อภัยแก่ผู้ประทุษร้าย
ดังเรื่องต่อไปนี้

คราวหนึ่ง เมื่อพระบรมศาสดาประทับ ณ เชตวันวิหาร พวกมนุษย์เป็นอันมากในที่แห่งหนึ่ง
ได้พากันกล่าวสรรเสริญคุณของสารีบุตรเถระ ว่า “พระผู้เป็นเจ้าของเราเป็นผู้มีคุณน่าอัศจรรย์
ประกอบด้วยกำลังคือขันติความอดทน เมื่อใครๆ ด่าก็ตาม ประหารท่าน ก็ตาม ความโกรธหาเกิดขึ้นแก่ท่านไม่”

คราวนั้นมีพราหมณ์มิจฉาทิฐิคนหนึ่ง ไม่เชื่อ และมีความประสงค์จะทดลองคุณของพระเถระ
เช้าวันหนึ่งเห็นพระเถระสารีบุตรเดินเข้าไปรับภิกษาหารในละแวกบ้าน จึงเดินตามไปข้างหลัง
เมื่อได้โอกาสก็ตีกลางหลังของท่านด้วยฝ่ามืออย่างแรง

พระอัครสาวกมิได้เหลียวดูเลย คงเดินไปเรื่อยๆ ด้วยอาการสงบ
เมื่อเป็นดังนั้น พราหมณ์ก็เกิดร้อนตัวขึ้นอย่างแรง คิดว่า
“โอ พระผู้เป็นเจ้าสมบูรณ์ด้วยคุณคือ ขันติอย่างที่คนทั้งหลายเล่าลือจริง”

เขาหมอบลงแทบเท้าของพระเถระ กล่าวขอขมา เมื่อได้รับอภัยโทษจากพระสารีบุตรผู้ทรงคุณแล้ว
กล่าวนิมนต์พระเถระ ให้ได้โปรดไปรับอาหารที่เรือนของตน พร้อมขอรับบาตรจากพระสารีบุตร
พาท่านไปยังเรือนของตน อังคาส เลี้ยงดูด้วยอาหารอันประณีต

แต่การที่พราหมณ์ลอบประหารพระสารีบุตรนั้น หาได้พ้นสายตาของมหาชนบางกลุ่มไปไม่
พวกเขาโกรธแค้น ถือท่อนไม้และก้อนดินยืนซุ่มอยู่ที่บริเวณประตูบ้านของพราหมณ์ จะรุมประทุษร้าย
แต่พระสารีบุตรกล่าวห้ามว่า

“พราหมณ์ได้ขออภัยโทษแล้ว เรื่องแล้วไปแล้ว พวกท่านทั้งหลายกลับกันไปเสียเถิด”
แล้วท่านก็ให้พราหมณ์กลับไปยังเรือนของตน ส่วนท่านเองกลับไปยังเชตวันวิหาร

ภิกษุทั้งหลายกล่าวยกโทษว่า “อะไรกัน พระสารีบุตรถูกพราหมณ์ประหารแล้วยังไปนั่งฉันอาหารที่เรือนเขาอีก
เมื่อเขาประหารพระเถระ เช่นพระสารีบุตรได้
ต่อไปก็จะเที่ยวประหารภิกษุอื่นๆ โดยไม่มีความละอายและความเกรงกลัว”

พระศาสดาเสด็จมายังธรรมสภา ทรงทราบเรื่องที่ภิกษุสนทนากันแล้วตรัสว่า
“พราหมณ์ประหารพราหมณ์นั้นไม่มี แต่พราหมณ์คฤหัสถ์อาจประหารสมณะได้
อนึ่ง ความโกรธย่อมถูกทำลายไปด้วยอนาคามีมรรค” ดังนี้แล้ว ตรัสต่อไปว่า

“พราหมณ์ไม่ควรประหารพราหมณ์ ไม่ควรจองเวรพราหมณ์ น่าติเตียนพราหมณ์ผู้ประหารพราหมณ์ด้วยกัน
น่าติเตียนพราหมณ์ผู้จองเวรยิ่งกว่าพราหมณ์ผู้ประหารก่อน
การกีดกันใจจากอารมณ์อันเป็นที่รักเป็นความประเสริฐไม่น้อย”

บุคคลที่สามารถกลับใจได้จากความคิดเบียดเบียนย่อมได้รับความสงบ

พระอรรถกถาจารย์ได้อธิบายข้อว่า “การกีดกันใจจากอารมณ์อันเป็นที่รักเป็นความประเสริฐไม่น้อย” ไว้ว่า
“ความเกิดขึ้นแห่งความโกรธ ชื่อเป็นอารมณ์ที่รักแห่งใจของผู้มักโกรธ”

ถือเอาความว่า อารมณ์อันเป็นที่รัก ในที่นี้ท่านหมายเอาความโกรธ การกีดกันความโกรธเกลียดได้
คือไม่ให้ความโกรธเกิดขึ้นเป็นความประเสริฐไม่น้อย


โดย อาจารย์วศิน อินทสระ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น