วันศุกร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2553

สมาธิ 3 แบบ


การคิด เพ่ง และปล่อยเพื่อให้เกิดสมาธิ

การคิด
การคิดที่จะให้เกิดสมาธิ เราต้องคิดในเรื่องเกี่ยวกับธรรมะ เช่น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
คือ คิดอยู่ว่า อนิจจังซึ่งแปลว่า ไม่เที่ยง มันเป็นอย่างไร ในขณะที่คิดต้องมีสติสัมปชัญญะ มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมอยู่
อย่าให้จิตไปคิดเรื่องอื่น เมื่อจิตใจจดจ่ออยู่แต่เรื่องอนิจจังที่เราคิด จิตก็จะเป็นสมาธิขึ้นมาเอง
คือ เมื่อสมาธิเกิดแล้วก็จะสิ้นสงสัยในเรื่องที่คิดนั้นได้


การทำสมาธิแบบเพ่งหรือพิจารณา
คือ น้อมจิตมาเพ่งดู กาย เวทนา จิต อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้หรือจะเพ่งดูลมหายใจ เข้าออกก็ได้
เพราะลมหายใจเข้าออกก็จัดเป็นกายสังขาร เพราะปรนเปรอร่างกายให้เป็นอยู่
การเพ่งดูลมหายใจ เพื่อให้เกิดสมาธิ ให้ตั้งสติไว้ที่ลมกระทบในรูจมูกของเรา
เพ่งดูอยู่ที่เดียวก่อน ถ้าจิตมันแลบออกไป ก็พยายามดึงกลับมาอยู่กับลมหายใจเข้าออก
ถ้าจิตฟุ้งซ่านมาก สูดลมเข้าไปในปอดลึก ๆ หรือในทรวงอกลึก ๆ แล้วปล่อยลมให้ซึมซาบไปทั่วกาย
ปล่อยความรู้สึกของกระแสใจให้ไหลเวียนลงในกาย แผ่ใจให้ทั่วกายเหมือนมีตารอบตัว เห็นทั่วร่างกาย อย่างหลับตา

การทำสมาธิโดยวิธีธรรมชาติไม่ต้องหลับตา เมื่อลมหายใจละเอียดความอิ่มใจกายจะค่อย ๆ เกิดขึ้น
จะรู้สึกว่า ทั้งร่างกายและจิตใจมันจะผสมผสานกลมกลืนเป็นอันเดียว จะมีความรู้สึกเยือกเย็นทั้งกายใจ ทั้งภายในภายนอก


การปล่อย
ในที่นี้ หมายถึงการปล่อยวางความคิด ปรุงแต่งในเรื่องอดีต อนาคต และปล่อยอารมณ์ปัจจุบันอื่น ๆ เสียให้สิ้น
เพ่งดูลมหายใจเข้าออกเพียงอย่างเดียว ทำอย่างนี้จนจิตไม่ซัดส่ายไปมา สงบนิ่งอยู่ ณ ศูนย์ที่กำหนดไว้แล้ว
จะมีความอิ่มเอิบใจแปลก ๆ เกิดขึ้นเป็นอย่าง ๆ เช่น มีอาการขนลุก น้ำตาไหล มีอาการเสียวแปลบปลาบบ้าง
และมีแสงโชติช่วงดังฟ้าแลบ ทำให้รู้สึกซ่า ๆ คล้ายคลื่นกระทบฝั่ง ทำให้กายฟูเบาเลื่อนโลดลอยไป ทำให้รู้สึกซาบซ่านทั่วกาย
นี้เป็นอาการของปิติทั้ง ๕ และถ้าเกิดพร้อมกันทำให้รู้สึกว่าเนื้อตัวเติบโตอ้วนใหญ่ขึ้น ถึงไม่กินอาหารเลยก็อาจอยู่ได้หลายวัน

การทำสมาธิแบบปล่อยวางหรือวิธีธรรมชาติ ไม่ต้องเข้าไม่ต้องออกจากสมาธิ คือ เขาเป็นเองเกิดเอง
ถ้าจิตของเราว่างจากอารมณ์ บางคราวอ่านหนังสืออยู่เพลิน ๆ จิตก็รวมตัวมีอารมณ์เป็นหนึ่งได้
หรือ บางคราวขณะรับประทานอาหารอยู่จิตก็รวมตัว มีอารมณ์เป็นหนึ่งได้เหมือนกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น