วันอาทิตย์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2553

เราควรตั้งจิตยินดีในความสำเร็จ หรือเจริญรุ่งเรืองให้กับคนอื่นอย่างไร

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจครับว่า การมีมุทิตาจิตตามหลักพรหมวิหาร ๔ นั้น ไม่ใช่ร่วมยินดีตะพึดตะพือ
แต่เป็นการร่วมมีใจเป็นกุศล หรือพูดง่ายๆ คืออนุโมทนากับความสำเร็จในบุญของผู้อื่นเป็นหลัก

คำถามนี้ต้องถูกเบี่ยงเบนเสียใหม่อย่างนี้ต่างหากครับ
คือจะไม่อิจฉาริษยา จนพลอยหลงเห็นดีเห็นงามกับการรวย ด้วยวิธีโกงกินหรือแก้ผ้าได้อย่างไร?
คำตอบสำหรับคำถามนี้ ได้แก่ข้อธรรมสุดท้ายของพรหมวิหาร ๔ คือ ‘อุเบกขา’

การมีอุเบกขาในพรหมวิหารธรรมนั้น หาใช่การเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ทำไม่รู้ไม่ชี้ ไม่ยินยลสนใจแต่อย่างใด
พฤติกรรมทางกายของคุณ อาจต่อต้านรูปแบบความชั่วร้ายตามหน้าที่ข้าราชการ หรือหน้าที่พลเมืองดี
เท่าที่ตัวเองจะไปมีส่วนเกี่ยวข้อง
แต่พฤติกรรมทางใจของคุณจะต้องไม่โกรธ ไม่เกลียด ไม่อิจฉาริษยา ไม่พลอยเห็นดีเห็นงามตามเขาไป

อุเบกขาที่ประกอบด้วยความเฉื่อยเฉยไม่รู้ไม่ชี้นั้น เรียกว่าอุเบกขาแบบเอ๋อ
ส่วนอุเบกขาที่ประกอบด้วยความรู้เหตุรู้ผลนั้น เรียกว่าอุเบกขาแบบฉลาด
พุทธเราสนับสนุนให้คนฉลาด มีปัญญารู้เหตุรู้ผล

ถ้ายังไม่เคยพิจารณา ก็ต้องพิจารณาเป็นเรื่องๆ เช่น ความรวยของเขาเป็นเพียงภาพลวงตาชั่วคราว
เป็นฐานให้เขาหลงผิดคิดมิชอบ เปิดโอกาสให้โกงยิ่งๆ ขึ้นไปไม่รู้จบรู้สิ้น
เพราะวิสัยคนโกงย่อมนิยมการโกงไปตลอดชีพ
น่าสงสารเสียมากกว่าที่เขามีเวลา มีเครื่องมืออำนวยความสะดวกในการสั่งสมด้านมืดเข้าตัว
รังแต่จะมีผลให้ไปเกิดในอบายภูมิ เป็นแน่แท้

สรุปคือ อย่ายินดีกับการก่อบาปก่อกรรมของใคร ในขณะที่มองตามจริงไปด้วยว่าเขามีกินก็เพราะมีเหตุปัจจัย
ไม่จำเป็นต้องเกลียดเขาเพียงเพราะเขากินแพงกว่าเรา เราเอาตัวให้รอดด้วยการมีจิตที่ไม่เกลียดนั่นแหละ ประเสริฐสุดแล้วครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น