วันอาทิตย์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2553

จงขอพร 9 ประการให้ตนเองเถิด

คำว่า พร เป็นคำมีรากมาจาก บาลีสันสกฤต (บาลี, สันสกฤต=วร) แปลว่า เลือก สิ่งที่เลือกแล้วจึงเรียกว่า "พร"
คำว่า ขอพร ในความหมายเดิมจึงหมายถึงว่า ขอเลือกสิ่งที่ตนคิดว่าดีที่สุดเพื่อกระทำให้เกิดมีขึ้นในตน
คำว่า อวยพร จึงหมายถึง ให้โอกาสคนที่ขอนั้นทำตามที่เลือก

ธรรมเนียมการขอพร และอวยพร
สมัยนี้กลับกลายเป็นว่า ไปขอความสุขความสำเร็จจากผู้ถูกขอ หรือเขาไม่ขอ แต่ก็จะให้พร คืออวยพรให้เขาได้รับสิ่งดีๆ

ดูราวกับว่าสิ่งที่ดีเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นความสุข ความสำเร็จทั้งหลาย เป็นสิ่งที่หยิบยื่นให้กันได้...

ผมอยากให้ประชาชนคนไทยได้ตั้งสัจจะอธิษฐาน ขอพร
คือขอโอกาสให้ตนได้กระทำความดี และให้พร คือเปิดโอกาสให้คนอื่นได้ทำความดีสัก 9 ข้อ คือ
1.ขอให้ข้าพเจ้ามีความเพียรพยายามทำความดี สร้างความเจริญก้าวหน้าแก่ตนและสังคม
โดยไม่นั่งคอยนอนคอยโชคชะตา หรืออ้อนวอนร้องขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ช่วยเหลือ

2.ขอให้ข้าพเจ้าจงอย่าได้ลืมตน ดูถูกเหยียดหยามคนอื่น ซึ่งอาจด้อยกว่าในด้านใดด้านหนึ่ง
ขอให้มีความเห็นอกเห็นใจคนอื่น ให้เกียรติคนอื่น มีความอ่อนโยน เอื้ออาทรกันในฐานเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

3.ขอให้ข้าพเจ้าอย่ารู้สึกริษยาบุคคลที่ประสบความสุขความสำเร็จในชีวิต
ให้มีแต่ความพลอยยินดีในความสุขความสำเร็จของเขาด้วยใจจริง

4.ขอให้ข้าพเจ้าอย่าได้เหยียดหยามซ้ำเติมผู้ที่ผิดพลาดในชีวิต ด้วยเหตุใดๆ ก็ตาม
จงมีแต่ความเมตตากรุณา หาทางช่วยเหลือเขาเท่าที่จะพึงทำได้

5.ขอให้ข้าพเจ้าจงมีจิตใจเข้มแข็ง อดทน ไม่จู้จี้ขี้บ่น
ทำตนให้เป็นที่พึ่งแก่ตนและคนอื่นได้ ขออย่าเป็นคนอ่อนแอเหลียวหาที่พึ่งนอกตัว

6.ขออย่าให้ข้าพเจ้าคิดเอาเปรียบเอาแต่ได้เพื่อตัวเอง เช่นเถลไถล ไม่ทำงาน
รีบเลิกงานก่อนเวลา อาศัยหน้าที่การงานแสวงประโยชน์เพื่อตน
รวมถึงอย่าได้เอาเปรียบประเทศชาติโดยการหลีกเลี่ยงภาษี หรือเสียภาษีน้อยกว่าที่เป็นจริง

7.ขอให้ข้าพเจ้าหมั่นปลูกฝังความรู้สึกมีเมตตาปรารถนาดีต่อคนอื่น และมีความกรุณาคิดจะช่วยเหลือคนอื่นให้พ้นทุกข์
คิดว่าทุกคนเป็นมิตร ไม่มีใครเป็นศัตรูที่จะต้องกำจัดตัดรอน
ใครที่คิดทำผิดทำชั่วก็ขอให้เขากลับตัวได้เสียเถิด อย่าทำผิดทำชั่วอีกเลย

8.ขอให้ข้าพเจ้าอย่าเป็นคนมักโกรธ ฉุนเฉียวเกรี้ยวกราด เอาแต่ใจตนเอง
ถ้าห้ามความโกรธไม่ได้ ก็ขออย่าได้ผูกอาฆาตคิดประทุษร้าย ให้เขาถึงความพินาศเลย

9.ขอให้ข้าพเจ้ามีความรู้ในพระศาสนาเข้าใจธรรม สอนตนเองได้ มีปัญญาเข้าใจแก้ไขปัญหาตามแนวทางของพระพุทธองค์
ยึดมั่นถือมั่นน้อย รู้เท่าทันโลกและชีวิตแสวงหาความสุขสงบภายในด้วยตนเอง ทั้งสามารถแบ่งปัน
แผ่ขยายความสุขสงบนั้น ให้เบ่งบานในใจของเพื่อนร่วมสังสารวัฏโดยทั่วหน้ากันเทอญ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น