ถ้าทุกคนมีญาณหยั่งรู้ สามารถทราบได้ถึงเหตุที่ใครต่อใครได้ดีหรือตกยาก น่าเกลียดหรือหล่อสวย รวยหรือจน
โชคดีบ่อยหรือโชคร้ายถี่ โลกนี้คงมีการอิจฉาริษยาน้อยลงมาก
เพราะใจจะเหลือแต่อุเบกขาอันเกิดจากความเห็นตามจริงว่าใครทำอย่างไร
การกระทำของเขาก็ส่งให้มาเสวยผลตามนั้น
กิเลสมนุษย์ทำให้เรื่องง่ายกลายเป็นเรื่องยาก บางทีเห็นอยู่ชัดๆ ว่าเพราะเขาขยัน เขาทุ่มเท เขาทำงาน
เขาต่อสู้อุปสรรค จึงประสบความสำเร็จ สอบได้ที่หนึ่ง หรือทำงานได้ตำแหน่งใหญ่โต
เห็นเหตุเห็นผลชัดๆ อย่างนี้ก็ยังไม่วายอิจฉาตาร้อน จะป่วยกล่าวไปไยถึงคนที่รู้สึกว่าด้อยกว่าคุณ
ทั้งขี้เกียจ ทั้งเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ ทั้งหนักไม่เอาเบาไม่สู้ แต่กลับได้ดีกว่าทุกด้าน หน้าก็หล่อ เมียก็สวย บ้านก็รวย
แน่นอนคุณต้องคิดว่านี่มันอะไรกัน ทำไมโลกช่างหาความยุติธรรมไม่ได้เอาเลย
เมื่อยังไม่อาจมีญาณหยั่งทราบเรื่องกรรมวิบากข้ามภพข้ามชาติ ก็ต้องใช้วิธีตรงไปตรงมาครับ
นั่นคือให้เพ่งโทษ เพ่งพิจารณาถึงแง่ลบของความอิจฉาริษยา เช่น
๑) ดูจิตขณะอิจฉา คือดูเข้ามาตรงๆ ให้เห็นสภาพจิตใจตนเองขณะอิจฉาริษยา
ถามตัวเองว่าเย็นหรือร้อน ถามตัวเองว่าอึดอัดหรือสบาย ถามตัวเองว่ากระวนกระวายหรือสงบสุข
อย่าไปเพ่งเรื่องดีเรื่องเลวนะ
แล้วก็อย่าไปพยายามห้ามใจไม่ให้อิจฉาเอาดื้อๆ เพราะจะทรมานใจเปล่าเมื่อหยุดไม่ได้
การที่คุณยอมรับตามจริง ตรงไปตรงมาไม่อ้อมค้อม ทราบชัดว่ากำลังร้อน กำลังอึดอัด กำลังกระวนกระวาย
จะเป็นชั่วขณะของการเกิดสติ คือมีความระลึกรู้ได้ว่าขณะนี้จิตกำลังอยู่ในสภาพย่ำแย่
แม้ว่าในความมีสติรู้เห็นเช่นนั้น ความคิดริษยายังไม่หยุดตัวลง แต่อย่างน้อยก็มีความชะงักงันชั่วขณะ
ชะงักที่ได้รู้ว่าผลของความคิดริษยาคือร้อน อึดอัด กระวนกระวาย
ตลอดจนเกิดแรงดันอยากทำอะไรขึ้นมาอย่างหนึ่ง คล้ายเป็นผู้ร้าย ไม่ใช่พระเอก
ไม่ว่าคุณจะเห็นความร้อน ความอึดอัดหรือความกระวนกระวาย
คุณจะเกิดปัญญาขึ้นมาทีละนิดทุกครั้งว่าสภาพนั้นๆ ไม่ใช่ของดี ไม่ใช่ของน่ายึด
การที่จิตรู้สึกอยู่บ่อยๆ ว่าอะไรไม่ดี อะไรไม่น่าเอา ในที่สุดจิตจะเริ่มฉลาดเอง ปล่อยวางความยึดสิ่งนั้นไปเอง
ผลลัพธ์ในระยะยาว
เมื่อใดคุณอิจฉาริษยา เกิดความเร่าร้อนในอกในใจขึ้นมา จิตจะไม่โจนทะยานออกไปให้ความร่วมมือกับตัวอิจฉา
จะไม่เพ่งจ้องบุคคลอันเป็นที่ตั้งของความอิจฉาแบบไม่ถอนสายตา
ทว่าจะเห็นความเปล่าประโยชน์ของสภาพจิตใจตัวเอง
ฉุกคิดว่าจะร้อนเปล่าไปทำไม อึดอัดเปล่าไปทำไม กระวนกระวายเปล่าไปทำไม
ชั่ววูบแห่งความระลึกได้เช่นนั้น คุณจะเห็นความอิจฉาริษยาดับไป
ยิ่งเห็นวูบแห่งความดับได้ชัดเท่าไร ใจก็จะยิ่งโปร่งสบายขึ้นเท่านั้น
ธรรมชาติของจิตเขาชอบความสบาย ในที่สุดเขาจะเลิกหาเรื่องอึดอัดใส่ตัว พูดง่ายๆ คือหยุดหาเหาใส่หัวเสียที
ย้ำว่าห้ามไปพยายามเบรกตัวเองนะครับ เมื่อรู้ตัวว่าเกิดความอิจฉา อย่าไปสู้กับมัน ตามดูตามรู้
เฝ้าสังเกตอย่างมีสติก็พอว่าในอกในใจมันร้อนอึดอัด หรือกระวนกระวายเพียงใด
การเห็นความไม่เที่ยงของอาการทางใจ จะทำให้คุณว่างหายสบายอกขึ้นได้เอง
๒) เพ่งโทษความอิจฉา คือพิจารณาให้เห็นโทษของความอิจฉาริษยา
กล่าวคือสะกดรอยตามว่าความอิจฉาแตกแขนงออกเป็นนิสัยเสียอื่นๆ ได้แค่ไหน
อย่างเช่นคนที่สนุกกับการยุยงให้คนอื่นตีกัน
เพียงเพราะทนไม่ได้ที่เห็นคนดีมีความสามารถ เขาร่วมมือร่วมใจทำกิจอันเป็นมหากุศล
การยุให้คนเขาตีกันหรือแตกคอกัน เพียงเพื่อจะได้สะใจ ไม่มีใครดีกว่าตัวเอง
ผลคือจะไม่ได้อยู่เป็นสุข ต้องทะเลาะเบาะแว้ง ต้องตีกับคนใกล้ตัวไม่เลิกรา
ผมเคยรู้จักผัวเมียคู่หนึ่ง สองคนนี้นิสัยอย่างอื่นต่างกันหมด เหมือนอยู่อย่างเดียวคือชอบยุให้ชาวบ้านเขาผิดใจกัน
ตั้งคำถามเพื่อเอาคำตอบจากคนหนึ่ง แล้วใส่สีตีไข่คำตอบนั้น เพื่อเอาไปกระแทกหูอีกฝ่ายให้เกิดความเจ็บใจ
ผลที่เกิดขึ้นจับจิตของผัวเมียคู่นี้โดยตรงคือคุยกันไม่รู้เรื่อง ฝ่ายหนึ่งพยายามพูดอธิบายไปทาง
อีกฝ่ายกลับเข้าใจไปอีกทาง และนับวันยิ่งหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ ไม่สมเหตุสมผลขึ้นเรื่อยๆ
ความรุ่มร้อนอันเกิดจากความไม่เข้าใจกัน พูดจากันไม่รู้เรื่องระหว่างคนในบ้านนั้น
ถ้าใครเคยมีประสบการณ์คงเข้าใจนะครับว่าเป็นทุกข์ใหญ่หลวงเพียงใด
เปิดประตูเข้าบ้านเหมือนเปิดประตูเอาตัวเข้าเตาอบดีๆ นี่เอง
เรื่องของเรื่องคือผัวเมียคู่นี้เข้ากันไม่ได้ตั้งแต่เริ่ม
ตอนแรกเห็นข้อดีบางอย่างเช่น ชอบธรรมะเหมือนกัน ก็น่าจะไปกันได้ อยู่ดีมีสุขร่วมกันได้
ทว่ายิ่งอยู่ด้วยกันนานขึ้นเท่าไร ความแตกต่างก็ยิ่งฉีกสองคนห่างจากกันมากขึ้นเท่านั้น
ทำอะไรก็เหมือนผิดไปหมด โง่ไปหมด
คราวนี้พอเห็นคนอื่นเขาอยู่ร่วมกันดีๆ มีความปรองดอง ก็เกิดความอิจฉาริษยา
พอปล่อยให้อำนาจความอิจฉาริษยาเข้าครอบงำจิตใจเต็มที่
ก็เกิดแรงขับดัน อยากยุให้รำตำให้รั่ว เห็นเขาแตกคอกันแล้วมีความสุข
ผลกรรมที่เห็นทันตาของการยุยงที่สำเร็จ คือใจเพ่งโทษกันและกันหนักขึ้นหลายเท่า
ที่สำคัญคือได้ชื่อว่าก่อกรรมผูกมัดตัวเข้ากับเส้นทางเดิมๆ เมื่อเกิดชาติหน้าผัวเมียคู่นี้ก็ต้องเจอกันอีก
และถูกกรรมเก่าดลใจให้มาผูกติดกันอีก เพื่อทะเลาะเบาะแว้งกัน เห็นความเข้ากันไม่ได้
และงุนงงว่าทำไมถึงต้องมาอยู่ด้วยกันอย่างนั้น
ความอิจฉาริษยาเป็นรากของการมีศัตรู ไม่ใช่มีมิตร เป็นรากแห่งการทำลาย ไม่ใช่สร้างสรรค์
เป็นรากของความเดือดร้อนรำคาญจิต ไม่ใช่ความเยือกเย็นสบายใจ เป็นรากของความทุกข์ ไม่ใช่ความสุข
พิจารณาเห็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ในที่สุดคุณจะเลิกตามใจตัวเอง
พออิจฉาริษยาขึ้นมาเมื่อไร จิตจะไม่พลอยเอออวยเข้าร่วมพวกด้วยอีกต่อไปครับ
โดย ดังตฤณ
ที่มา : http://dungtrin.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น