วันอาทิตย์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2553

ผูกกายไว้ด้วยใจ


ชีวิตคนเรานั้น มีส่วนสำคัญคือกายกับใจรวมกันเข้าเป็นตัวเรา
ถ้าร่างกายและจิตใจอยู่ในสภาพที่ปกติ ชีวิตจะดำเนินไปได้อย่างราบรื่นและมีความสุข
แต่คงเป็นไปไม่ได้ที่ร่างกายของเราจะไม่เจ็บป่วย ไม่ทรุดโทรม
เพราะลักษณะของสังขารคือ สิ่งที่เกิดจากปัจจัยหลายอย่างมารวมกัน ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ มาประชุมกัน
ซึ่งธาตุแต่ละอย่างก็เปลี่ยนแปลงไม่เที่ยงแท้แน่นอน
และเป็นธรรมดาที่ร่างกายของเราต้องแปรเปลี่ยน
หรือป่วยไข้ ไม่สบายไปตามเหตุและปัจจัยที่เกื้อหนุน ทั้งจากภายในตัวเราและภายนอกตัวเรา ด้วย

ข้อมูลจากข่าวกรมสุขภาพจิต ISSN 0125-6475 แนะนำว่า
เมื่อกายป่วยจิตใจก็พลอยไม่สบาย หงุดหงิด ทุกข์กังวลใจไปต่างๆ นานา
เครียดทำให้ร่างกายที่เจ็บป่วยยิ่งอ่อนแอลง ภูมิต้านทานของร่างกายแย่ลง
พระพุทธองค์ทรงค้นคว้าเรื่องชีวิตไว้มากมาย ทรงหาหนทางที่จะช่วยให้คนพ้นทุกข์และอยู่อย่างเป็นสุข
พระองค์เคยพบคนที่ร่างกายเจ็บป่วย และตรัสสอนว่า ให้ทำในใจ
คือตั้งใจไว้ว่าแม้ร่างกายเราจะป่วย แต่ใจของเราจะไม่ป่วยตาม

การตั้งใจอย่างนี้เรียกว่า การภาวนา
โดยเอาสติผูกใจไว้ ไม่ให้ตกอยู่ในอำนาจครอบงำของความแปรเปลี่ยนทางร่างกาย
เมื่อใจมีสติตลอดเวลาก็เท่ากับมีพลังอำนาจเหนือความเจ็บป่วยนั้นได้

การผูกใจด้วยสติ คือ เอาจิตของเราไปผูกไว้กับสิ่งที่ดีงามผูกยึดไว้ด้วยหลักธรรม
ด้วยธรรมชาติของจิต ชอบปรุงแต่ง เมื่อกายไม่สบายจิตก็ปรุงแต่งตามความไม่สบายนั้น
ทำให้ยิ่งเพิ่มอาการเจ็บป่วยมากขึ้น
ฉะนั้น เราจะต้องรักษารากฐานของชีวิตไว้ ด้วยการรักษาจิตใจให้เข้มแข็งมีสตินั่นเอง
ส่วนการรักษาโรคทางกายก็เป็นหน้าที่ของแพทย์ ซึ่งเราต้องให้ความร่วมมือและปฏิบัติโดยเคร่งครัด

การรักษาจิตขณะกายป่วย คือ การรักษาสติ เพราะสติเปรียบเหมือนเชือกผูกมัดจิตให้อยู่นิ่งกับที่ได้
ธรรมชาติของจิตมันดิ้นรน ชอบปรุงแต่ง คิดฟุ้งซ่าน วุ่นวายไปกับอารมณ์ต่างๆ ที่มากระทบจิตอยู่ตลอดเวลา
จิตจึงเปรียบเหมือนลิงซึ่งมักไม่อยู่นิ่งต้องกระโดดไปมาอยู่ไม่สุข
พระพุทธองค์ทรงสอนว่าการจับลิง (จิต) ให้อยู่นิ่งต้องเอาเชือก (สติ) ผูกยึดไว้กับหลักที่ดีคือหลักธรรม
คำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งตรัสไว้ถูกต้องดีแล้วสามารถพิสูจน์ได้ด้วยตนเอง

การรักษาจิตด้วยสติ คือ เอาสติผูกไว้กับอารมณ์ที่ดีงามอยู่กับความเห็นถูก (สัมมาทิฏฐิ)
หรือการผูกจิตไว้กับคำว่า พุทโธ คำว่าพุทโธเป็นคำที่ดีงามเพราะเป็นนามของพระพุทธเจ้า
เมื่อเอามาเป็นสิ่งให้ใจยึดเหนี่ยวแล้ว จิตใจก็จะไม่ฟุ้งซ่านวิตกกังวล จิตใจจะผ่องใส เบิกบาน
เพราะพระนามของพระพุทธเจ้าเป็นนามบริสุทธิ์ เป็นพระนามที่แสดงถึงปัญญา ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
เป็นการภาวนาเพื่อส่งเสริมให้กำลังใจตนเอง ทำจิตใจของเราให้เข้มแข็ง อดทน อยู่อย่างมีสติและแน่วแน่
อยู่กับคำว่า แม้กายป่วย แต่ใจไม่ป่วยตาม
การภาวนาเช่นนี้จะทำให้จิตใจดีขึ้น ผ่องใสขึ้น การชนะใจตนเอง เอาชนะความเจ็บป่วยได้
อยู่กับความจริงได้อย่างเป็นธรรมดา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น