วันพฤหัสบดีที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2553

"สาธุ"...สั้นๆ แต่ได้บุญ



ความเป็นมาของคำว่า "สาธุ" นั้นมีประวัติความเป็นมา ดังมีเรื่องย่อว่า ...
ชายคนหนึ่งอยู่ในเมืองสาวัตถี แคว้นโกศล ได้ฟังพระแสดงธรรมเทศนาแล้วเห็นโทษในการครองเรือน
มีความปรารถนาจะขอบวช เพื่อแสวงหาความสงบในสมณธรรม
จึงลาจากภรรยาไปบวช ได้ตั้งใจพากเพียรในสมณธรรมตามที่ปรารถนาไว้ตลอดมา

ต่อมาพระเจ้าปเสนทิโกศล ได้ทรงพบหญิงผู้เป็นภรรยาของชายคนนั้น
และเมื่อทรงได้ทราบเหตุความเป็นมาทั้งหมด จึงเกิดสมเพชในนางผู้เป็นภรรยา
รับสั่งให้นำหญิงนั้นมาเลี้ยงไว้ในพระราชวัง ตั้งเป็นท้าวนางกำนัล

อยู่มาวันหนึ่ง ราชบุรุษนำดอกนิลุบลบัวเขียวมาถวายพระเจ้าปเสนทิโกศล กำมือหนึ่ง
พระองค์จึงประทานแก่ท้าวนางคนละดอก
ฝ่ายสตรีที่เป็นภรรยาของชายที่ไปบวชนั้น เมื่อไปรับพระราชทานก็ยิ้มแสดงความยินดีดุจนางอื่น ๆ
แต่พอดมกลิ่นนิลุบลแล้ว นางกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ จึงร้องไห้ พระเจ้าปเสนทิโกศลสงสัยพระทัย จึงตรัสถามว่า
เหตุใดนางจึงยิ้ม แล้วร้องไห้ นางจึงกราบทูลว่า ที่นางยิ้มเพราะดีใจที่ทรงพระกรุณาพระราชทานอดกบัวให้
แต่พอดมดอกบัวแล้วหอมเหมือนกลิ่นปากสามีที่ไปบวช นางคิดถึงความหลัง จึงร้องไห้

พระเจ้าปเสนทิโกศล ต้องการพิสูจน์วาจาของนาง จึงโปรดให้ประดับวังด้วยของหอมทั้งปวง เว้นแต่บัวนิลุบล
แล้วอาราธนาสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า และเหล่าภิกษุสงฆ์ ให้มาฉันภัตตราหารในพระราชฐาน
แล้วมีพระราชดำรัสถามหญิงนั้นว่า พระมหาเถระองค์ไหนที่นางอ้างว่าเป็นสามี หญิงนั้นก็ชี้ไปที่พระมหาเถระ
เมื่อเสร็จภัตตกิจแล้วพระเจ้าปเสนทิโกศล อาราธนาให้พระพุทธเจ้าและภิกษุองค์อื่น ๆ กลับวัดไปก่อน
เว้นพระมหาเถระ ขอให้อยู่เพื่อกล่าวอนุโมทนา

เมื่อสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จกับไปแล้ว พระมหาเถระองค์จึงกล่าวอนุโมทนาด้วยน้ำเสียงอันไพเราะ
และมีกลิ่นหอมฟุ้งออกจากปากพระเถระรูปนั้นอย่างน่าอัศจรรย์ กลบเสียซึ่งกลิ่นการบูร และพิมเสน ผสมกฤษณา
หอมยิ่งกว่าดอกบัวนิลุบล ปรากฏการณ์นี้ปรากฏแก่ชนทั้งทั้งหลายในพระราชวัง
ส่วนองค์มหากษัตริย์ เมื่อเห็นจริงดังหญิงนั้นกราบทูลก็ทรงโสมนัสน้อมนมัสการ
ฝ่ายพระมหาเถระเสร็จสิ้นการอนุโมทนาแล้ว ก็กลับไปสู่วิหาร

ครั้นพอรุ่งเช้า พระเจ้าปเสนทิโกศล จึงเสด็จไปสู่พระวิหาร ถวายนมัสการพระผู้มีพระภาคเจ้า
แล้วกราบทูลถามว่า
"เหตุใดปากของพระมหาเถระจึงหอมนักหนา ท่านได้สร้างกุศลใดมา"
สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงตรัส บุพพกรรมของภิกษุนั้นว่า
"เพราะบุพชาติปางก่อน ภิกษุรูปนี้ได้ฟังพระสัทธรรมไพเราะจับใจ เต็มตื้นด้วยปีติยินดี
จึงออกวาจาว่า "สาธุ" เท่านั้น อานิสงส์แห่งการฟังพระสัทธรรมให้ผล จึงได้มีกลิ่นปากหอมดังนี้"

สาธุ ...


ที่มา : http://www.kroobannok.com/blog/23710

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น