วันอังคารที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2553

สุขภาพจิตในพระพุทธศาสนา



การรักษาจิต คือ หัวใจของพระพุทธศาสนา
พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาหนึ่งในโลกที่ให้ความสำคัญอย่างสูงแก่จิตใจ
ธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฏก 45 เล่ม เมื่อสรุปลงแล้วมี 3 คือ ศีล สมาธิ ปัญญา

ศีล ที่แท้จริงได้แก่ วิวัติเจตนา หรือ ความคิดงดเว้นจากความชั่ว ซึ่งเป็นเรื่องของจิตใจ
สมาธิ การทำใจให้สงบก็เป็นเรื่องของใจ และ ปัญญา การสร้างความรู้ทั่วไปให้เกิดขึ้นในใจ ก็เป็นเรื่องของจิตใจ

ฉะนั้น คำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายจึงรวมอยู่ที่จิตใจ
ถ้าเรารักษาใจตัวเดียวได้ ก็ชื่อว่า ปฏิบัติตามธรรมของพระพุทธเจ้าได้ทั้งหมด

ในสมัยพุทธกาล มีภิกษุใหม่องค์หนึ่ง เกิดความท้อถอยในการปฏิบัติธรรม เพราะเหตุว่า
ธรรมวินัยในพระพุทธศาสนามีมากข้อมากมาตราปฏิบัติไม่ไหว พระพุทธเจ้าจึงทรงแนะนำให้รักษาจิตเป็นสำคัญ
ซึ่งต่อมาไม่นานหลังจากที่พระภิกษุองค์นั้น ได้ถือปฏิบัติรักษาจิตอย่างเคร่งครัด ก็ได้บรรลุพระอรหันต์
แสดงว่า หัวใจของพระพุทธศาสนา คือ การรักษาจิต

โรคจิตในทางพระพุทธศาสนา
หมายถึง กิเลส หรือ ตัวประกอบทางจิตต่างๆ ที่มาทำให้จิตเสียคุณภาพ และเสียสุขภาพ ทำใจให้เศร้าหมอง
บางทีก็เรียกว่า อาสวะ แปลว่า สิ่งที่หมักหมมทับถมอยู่ในใจ บางครั้งก็เรียก อนุสัย แปลว่า สิ่งที่เกาะจับจิตใจ

โรคจิตตัวที่ละเอียดที่สุด เรียกว่า อวิชชา คือ ความโง่ ความไม่รู้ความจริง
ไม่รู้ในอริยสัจ 4 ประการ คือ ทุกข์ สมุหทัย นิโรธ และ มรรค

คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา จำแนกโรคจิตไว้อย่างละเอียดถึง 1608 ชนิด เช่น
ตัณหา ความอยาก อุปาทาน ความยึดถือ โลภะ ความโลภ โทสะ ความโกรธ โมหะ ความหลง เป็นต้น

การแบ่งประเภทของคนตามโรคจิต พระพุทธศาสนา จัดประเภทตามขนาดโรคจิตเป็นชั้นๆ คือ
1. อันธพาลชน คือ คนที่มีปริมาณของโรคที่เข้มข้นมาก มีพฤติกรรมเป็นอันตราย ต่อสังคม
2. พาลชน คือ คนที่มีปริมาณของโรคเข้มข้นปานกลาง
3. ปุถุชน คือ พวกที่มีทั้งคุณและโทษต่อสังคม
4. กัลยาณชน คือ พวกที่มีคุณมากกว่าโทษ
5. อริยชน ขั้นโสดาบัน คือ บุคคลที่ละโรคจิตได้เด็ดขาด ร้อยละ 25
6. อริยชน ขั้นสกิทาคามี ละขาดได้ ร้อยละ 50
7. อริยชน ขั้นอนาคามี ละขาดได้ ร้อยละ 75
8. อริยชน ขั้นอรหันต์ ละขาดได้เต็มร้อย คือ ไม่มีโรคจิตเหลืออยู่อีกเลย

การแยกโรคจิต ตามระดับความละเอียด
1. ละเอียดที่สุด เรียกว่า อวิชชา ความไม่รู้ความจริง ความโง่ ความมืดมัวของจิต ที่ไม่รู้ ในอริยสัจ 4 คือ
ไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุให้เกิดทุกข์ ไม่รู้ความดับทุกข์ และ ไม่รู้วิธีปฏิบัติ เพื่อดับทุกข์
ส่วนความจริงที่ไม่รู้นั้นมีหลายประเภท คือ สมมติสัจจะ สภาวสัจจะ ปรมัตถสัจจะ และ อริยสัจจะ
ทางพระพุทธศาสนา ต้องรู้อริยสัจจะ จึงจะกำจัดอวิชชาได้ และเป็นพระอริยเจ้า

2. ละเอียดขนาดกลาง มี 2 ประเภท คือ ตัณหา และ อุปาทาน
ประเภทแรก ตัณหา แปลว่า ความอยากได้ มี 2 อย่าง คือ ภวตัณหา คือ ได้มาแล้วอยากให้มีอยู่ กับ วิภวตัณหา คือ
มีแล้วเบื่อ อยากให้พ้น ประเภทที่สอง อุปาทาน แปลว่า ความยึดถือ ติดอยู่ในสมบัติสัจจะ สภาวสัจจะ
และปรมัตถสัจจะ ติดอยู่ในเรา ในเขา และ ของเรา ของเขา

3. หยาบขนาดกลาง ได้แก่โรตจิต 3 ประการ ที่เรียกว่า อกุศลมูล คือ
เหตุแห่งความชั่ว มี โลภะ ความโลภอยากได้ โทสะ ความโกรธเคือง ขุ่นแค้น โมหะความหลงใหลมัวเมา

4. หยาบที่สุด มี 3 ประเภท คือ
อภิชฌา คือ ความเพ่งเล็งอยากได้จนจิตใจมืดมัว ไม่มีเหตุผลใดๆ เหลืออยู่
ความพยาบาท ความคิดมุ่งร้ายต่อผู้อื่น
มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด เช่น เห็นถูกเป็นผิด เห็นดีเป็นชั่ว เห็นจริงเป็นเท็จ เป็นต้น
เป็นพฤติกรรมทางจิต เมื่อใจถูกโรคจิตเหล่านี้บ่อนทำลายแล้ว จิตก็เสียสุขภาพ เศร้าหมอง เดือดร้อน วุ่นวาย
กระสับกระส่าย เมื่อจิตเช่นนี้ แสดงพฤติกรรมออกมาทางวาจา คำพูดก็จะเป็นไปเพื่อทำลาย เช่น พูดเท็จ
พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดกระแทกแดกดัน เมื่อแสดงออกมาทางกาย ก็จะเป็นการฆ่า ทรมาน เบียดเบียน ลัก
ปล้น จี้ โกง ประพฤติผิดกามประเวณี ดื่มยาดองของเมา

เมื่อโรคจิตแสดงพฤติกรรมออกมาทางกาย วาจา ใจ ครบทั้ง 3 แล้ว ผู้ป่วยโรคจิตก็จะได้ผล 3 ประการ คือ
ผลทางใจ จะได้รับความเดือดร้อน ความโศก ความทุกข์ระทมตรมใจ ความสะดุ้งหวาดกลัว เป็นต้น

ผลทางกาย จะถูกทำลายตอบ จะถูกจับ จำขัง ถูกทรมาน หมดอิสรภาพ
ผลทางสังคม จะถูกคนเกลียดชัง ถูกตำหนิติเตียน เสื่อมจากลาภ ยศ สรรเสริญถูกตัดญาติขาดมิตร เป็นต้น

วิธีรักษา ควบคุม และ แก้ไข เพื่อให้ทุกคนมีสุขภาพจิตเป็นปกติ
ทางพระพุทธศาสนาได้แสดงวิธีจัดการกับโรคจิตไว้หลายวิธี ตามระยะต่างๆ ของโรค คือ

1. วิธีระงับผลทุกข์
วิธีนี้ใช้เมื่อคนตกเป็นทาสของจิตจนกระทำความชั่วและได้รับผลคือ ความทุกข์แล้ว เช่น
นักโทษที่ถูกขังอยู่ในคุก คนอกหัก ผู้ที่ประสบภัยต่างๆ
ซึ่งในขั้นนี้ ต้องใช้วิธีระงับทุกข์ เสมือนกินยาแก้ปวดบรรเทาไว้ก่อน แล้วค่อยแก้สมุฎฐาน ที่แท้จริง

วิธีระงับทุกข์ทางพุทธศาสนา เป็นการแนะนำชี้แจง ให้ผู้ทุกข์เกิดปัญญารู้จริงเห็นแจ้งในหลักธรรมดา เช่น
นักโทษที่กำลังทนทุกข์ในเรือนจำ เราก็แนะนำว่า เขาได้ทำกรรมชั่วมาแล้ว ขณะนี้กำลังใช้กรรมชั่ว
ใช้ไปทุกวันไม่ช้าก็หมดกรรม กลับเป็นอิสระได้อีก
ขณะที่กำลังใช้หนี้อาจจะเป็นทุกข์ แต่ก็ดีกว่าจะต้องเป็นหนี้ตลอดไป เขาก็จะยอมรับโทษด้วยใจชื่นบาน

ส่วนคนอกหัก เราก็สอนให้เขาเข้าใจหลักอนิจจัง ว่า โลกนี้ไม่มีอะไรแท้เที่ยง ล้วนเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดา
อย่าไปหลงจริงจังในสิ่งต่างๆ แม้ความทุกข์ที่กำลังเผชิญอยู่นี้ก็เป็นอนิจจัง ไม่นานก็จะลดลงและหายไปในที่สุด
จงมีขันติความอดทน เขาจะได้ไม่คิดสั้น เพราะมีความหวังว่าความทุกข์จะต้องคลี่คลายหมดไปในที่สุดนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ถูกความทุกข์ครอบงำแล้ว ยากที่จะเกิดปัญญารู้จริงเห็นแจ้ง
ฉะนั้น พระพุทธศาสนาจึงนิยมใช้วิธีกัน มากกว่าวิธีแก้


2. วิธีป้องกัน
ในการป้องกันโรคทางกาย เราจะเลือกอยู่ในที่ถูกสุขลักษณะ เลือกคบคนที่ไม่มีโรคติดต่อ เว้นอาหารที่มีโทษ
กินเฉพาะที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเพิ่มภูมิต้านทานโรค เป็นต้น
ส่วนการป้องกันโรคทางใจ พระพุทธเจ้าสอนให้เลือกอยู่ในปฏิรูปเทศ ที่ซึ่งมีเหตุปัจจัยส่งเสริมให้เจริญในธรรม
เว้นจากการคบคนพาล ให้คบบัณฑิต
งดเว้นจากการประพฤติชั่วทุกทาง ด้วยการรักษาศีล จะได้ไม่ต้องหวาดสะดุ้ง ทำให้เสียสุขภาพจิต


3. วิธีบำรุงส่งเสริมสุขภาพจิต
อาหารบำรุงใจ คือ การทำความดี เช่น การให้ทาน การบำเพ็ญประโยชน์แก่ผู้อื่น
เรียกว่า อัตถจริยา การพูดดีต่อผู้อื่น เรียกว่า ปิยวาจาการเจริญเมตตา แผ่ไมตรีจิตและความปรารถนาดีไปยังผู้อื่น
เมื่อกระทำความดีทางกาย วาจา ใจ แล้ว ผลที่ได้รับ คือ ความอิ่มเอิบใจ สงบสุข ร่าเริงเบิกบานแจ่มใส มีเสน่ห์
ปลอดโปร่งใจเป็นอิสระ เป็นที่รักของคนทั่วไป ฉะนั้น การทำความดีจึงเป็นการส่งเสริมสุขภาพจิตโดยตรง


4. การบริหารจิต
ในการออกกำลังกายต้องเคลื่อนไหว ตรงข้ามกับการบริหารจิต ซึ่งต้องพยายามควบคุมให้อยู่นิ่ง
เพราะตามธรรมดาจิตจะวิ่งวุ่นปรุงแต่ง

การทำให้จิตนิ่ง ทางพุทธศาสนา เรียก สมถะ หรือสมาธิภาวนา ซึ่งมีหลายวิธี เช่น
เอาใจไปจดจ่ออยู่กับลมหายใจเข้าออก เรียก อานาปานสติ หรือ การใช้คำบริกรรมให้จิตสงบ
การพิจารณากายเคลื่อนไหว หรือ พิจารณาความรู้สึกทางจิตและคุณภาพของใจ
หรือ การเอาจิตไปจดจ่อกับสภาพใดสภาพหนึ่งที่เรียกว่า กสิณ เป็นต้น
ซึ่งแต่ละวิธีมีผลทำให้ จิตนิ่งได้ เป็น ขณิกสมาธิ หรืออาจพัฒนานิ่งนานขึ้น
เป็น อุปจาระสมาธิ และ อัปปนาสมาธิ ตามลำดับ
ถ้าสามารถสงบจิตได้นานตามต้องการ และมีประสบการณ์ทางจิตต่างๆ เกิดขี้นเป็นระยะๆ ตามที่ท่านกล่าวไว้
เรียกว่า ฌาน

มีคำถามว่า การข่มจิตให้สงบนิ่งนานๆ มีประโยชน์อันใด
คำตอบ คือ ถ้าจิตเป็นสมาธิถึงขั้นอัปปนาสมาธิแล้ว สนิมใจบางอย่างจะหายไป คือ กามฉันทะความยินดีพอใจ
พยาบาท ความแค้นเคืองใจ ถีนมิทธะ ความง่วงเหงาซึมเซา อุทธัจจะ กุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ
วิจิกิจฉา ความสงสัยลังเล

เมื่อสนิมใจทั้ง 5 ประการ นี้ ดับไป ก็เหลือแต่ใจที่สะอาด บริสุทธิ๋ สงบนิ่ง มีคุณธรรม มีปัญญารู้แจ้งแจ่มชัด
เปรียบเหมือนน้ำนิ่งใสเป็นกระจกสะท้อนเห็นเงาหน้าได้
หรือ เปรียบเหมือนคนหยุดอยู่กับที่ ย่อมเห็นอะไรได้ชัดเจนกว่าคนที่กำลังวิ่ง
หรือแสงแดดเมื่อกระจายอยู่ย่อมมีพลังอ่อน แต่ถ้าใช้กระจกรวมแสงให้อยู่จุดเดียวย่อมมีแสงสว่างมาก
มีความร้อนมาก
จิตใจก็เช่นกัน เมื่อรวมนิ่งเป็นสมาธิ ย่อมทำงานได้ดีเป็นพิเศษ ซึ่งสามารถนำไปใช้งานในขั้นที่ 5 ต่อไป


5. การใช้พลังจิตทำลายเชื้อโรคทางจิต
คือ เมื่อจิตใจใสสะอาดบริสุทธิ์ มีพลังก็นำไปใช้ในการพิจารณาความจริงของชีวิต จนเห็นแจ้งชัดในอนิจจัง
ความไม่เที่ยงแท้แน่นอน ทุกขัง ความทุกข์
อนัตตา ความไม่มีตัวตนที่แท้จริง เห็นชัดใน อริยสัจ 4 คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
เมื่อเห็นชัดด้วยปัญญาอันยอดเยี่ยม ก็จะเกิด อาสาวักขยญาณ
ทำลาย อาสวะ กิเลสละเอียด คือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ให้หมดสิ้นไปจากจิตใจ
ต่อจากนั้น ใจก็จะบริสุทธิ์สมบูรณ์ มีสุขภาพจิตดี พ้นทุกข์ได้
นี้คือจุดมุ่งหมายสูงสุดในทางพุทธศาสนา

พระพุทธศาสนากล่าวว่า คนทุกคนมีโรคจิต คือ กิเลสต่าง ๆ เจืออยู่ในจิต
ทำให้มีพฤติกรรมที่เป็นอันตรายต่อตนเอง และสังคม มากน้อยต่างกันตามภูมิคุ้มภัย คือ อำนาจใจที่ตนมี

คนที่มีกำลังใจเข้มแข็งสามารถจำกัดขอบเขตของโรคกิเลสไว้ได้
ไม่แสดงกรรมชั่ว ทางกาย วาจา ใจ ก็จะทุกข์กับชีวิตน้อย

ในสังคมด้อยพัฒนา คนเป็นโรคทางกายมาก แต่เป็นโรคทางจิตน้อย
ส่วนผู้ที่อยู่ในสังคมพัฒนาทางวัตถุมาก จะประสบปัญหาทางจิตสูง ต้องการการเยียวยาแก้ใขพระพุทธศาสนา
จึงเป็นหลักที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ถือปฏิบัติตามคำสอนอย่างเคร่งครัด ซึ่งจะเห็นผลดีมีสุขในชีวิตด้วยตนเองได้

จงหันมาเป็นจิตแพทย์เยียวยารักษาโรคจิตในตนและคนข้างเคียงกันเถิด ด้วยการใช้ธรรมะ เป็นโอสถของชีวิต


โดย ศจ.แสง จันทร์งาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น