วันพุธที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2552

มรรค ๘ ตัวรู้ และสารพัดเรื่องที่โยงเข้าเป็นเรื่องเดียวกันได้ ด้วยจิตแบบนี้

ปัญหาเกี่ยวกับศัพท์บัญญัติและความเข้าใจที่ไม่ตรงกันในเชิงปฏิบัตินั้น
มองจากตัวเอง ผมคิดว่าสืบเนื่องจากความสามารถตั้งจิตให้เหมาะกับงานวิปัสสนา
กล่าวคือถ้ายังทำจิตให้เป็นสมาธิในแบบที่ประกอบพร้อมด้วยสติและอุเบกขาไม่ได้
เรื่องวิปัสสนาอันเป็นของจริง ก็ดูจะห่างตัว เป็นเรื่องยาก น่าท้อแท้

เท่าที่มีโอกาสนั่งสังเกตใครต่อใครทำสมาธิให้ดู
แม้บางคนเคยนั่งนานๆจนจิตรวม จิตสว่าง
เกิดปรากฏการณ์ทางจิตมาแล้วมากมาย
ก็มักเห็นเป็นการรวมแบบเคลิ้ม
อันนี้ดูได้จากตอนที่ลืมตาขึ้นมา จะรู้สึกว่าอัตตาเติบพอง
จิตมีกำลังเข้มแข็ง ไม่ปรากฏลักษณะของสติที่เป็นกลางๆ
ไม่ปรากฏความนิ่มนวลของจิตที่อ่อนควร อ่อนน้อมพอจะเห็นตนเป็นธรรมชนิดหนึ่ง

สมัยแรกๆที่เริ่มหัดนั่งสมาธิ
ผมพบว่าแค่ให้จิตเลิกฟุ้ง เลิกหม่น เลิกอยาก ก็ยุ่งยากเต็มที
ประกอบกับสุขภาพร่างกายผมไม่ค่อยเอื้ออำนวย
จึงไม่ใช่คนนั่งสมาธิทนเท่าไหร่ นานๆถึงจะตกภวังค์แล้วตื่นวูบขึ้นมาสว่างเสียที

ยิ่งเป็นเรื่อง 'เข้าถึง' ยาก เมื่อจิตเกิดอาการโฟกัสลมหายใจ
แล้วจะประคองไว้
ผมมักเกิดความตื่นเต้น และอยากหาทางอธิบายเป็นคำพูด
เพื่อว่าตัวเองจะได้โน้ตไว้เป็นขั้นๆ ว่าต้องทำอย่างไรจึงเข้าถึงภาวะโฟกัสได้ทุกวัน

แต่แค่จะให้อธิบายภาวะจิตที่เปลี่ยนไปก็ลำบากแล้ว
ผมพบความจริงว่าถ้าไม่ศึกษาที่โบราณจารย์ท่านบัญญัติศัพท์ไว้บ้าง
หรือขยายความไว้บ้าง เราก็จะขาดไอเดียในการพูดถึงภาวะสมาธิให้เป็นภาษา
และนั่นหมายความว่าเป็นการยาก ที่จะสื่อสารกับคนอื่น
ให้แนวทางกับคนอื่น (หรือกระทั่งกับตนเองเพื่อใช้เป็นมาตรวัดประเมิน)

เมื่อเร็วๆนี้พี่สันตินันท์เอ่ยถึงโกสลสูตร ว่าด้วยการเจริญสติปัฏฐาน ๔
นั่นคือที่พระพุทธองค์ตรัสถึงพระอรหันต์
ว่ามีอาการพิจารณากาย เวทนา จิต และธรรมอย่างไร
ผมเจอคีย์เวิร์ดหนึ่งที่รู้สึกว่าเมื่อมาประยุกต์ใช้อธิบายสมาธิได้ดี
(แต่ก็คงไม่เป็นที่เข้าใจอยู่ดีสำหรับคนเพิ่งเริ่มต้น)
นั่นคือพระอรหันต์ท่านพิจารณากายในกาย
(เช่นลมหายใจ หรืออวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมดทั่วสรรพางค์)
มีจิตผ่องใส มีจิตตั้งมั่น จิตมีอารมณ์เดียว
พรากจากกาย...
แล้วย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ... พรากจากเวทนาแล้ว ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ...
พรากจากจิตแล้ว ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีธรรมเอก
ผุดขึ้น มีจิตผ่องใส มีจิตตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์เดียว พรากจากธรรมแล้ว

คำว่า พรากจาก นั้น
ตีความเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากต้องมีการ แยกกัน ของคู่ธรรม
พระป่าท่านอาจเรียกการแยกกันระหว่างตัวรู้กับสิ่งถูกรู้
แต่ถ้าพิถีพิถันระวังรักษาศัพท์บัญญัติไว้เพื่อเห็นแก่อนุชน
ก็อาจเรียกว่าเป็นการใช้สติแยกแยะได้ออก ว่าสิ่งนั้นไม่ใช่เรา สิ่งนั้นไม่ใช่ตัวตน
นับแต่กาย เวทนา จิต และธรรม

ผมเห็นว่าคีย์เวิร์ดคือ "พรากจาก" นั้น
สามารถนำมาอธิบายองค์ของสมาธิต่างๆได้อย่างดี
ก่อนอื่นต้องให้รู้จักกับองค์ของสมาธิว่ามีอยู่ 5 ข้อ ได้แก่
1) วิตก แปลว่าตรึก ถ้าพูดให้ง่ายคือ อาการนึกถึงอารมณ์ เช่นนึกถึงลมหายใจเข้าออก
2) วิจาร แปลว่าตรอง คำนี้แหละที่เป็นปัญหา เดี๋ยวจะกล่าวถึงอย่างละเอียดในภายหลัง
3) ปีติ แปลว่าอิ่มใจ ยินดี โดยนัยของสัมมาสมาธิต้องออกรสปรีดาปราโมทย์
4) สุข แปลว่าสบาย เย็นใจ เป็นองค์ที่กำกับให้สามารถประเมินได้ว่าปีติที่เกิดขึ้นนั้นถูกต้อง
เพราะมีอยู่ ที่เกิดปีติประเภทตัวจะลอย หัวโตขึ้นเรื่อยๆเหมือนลูกโป่ง
อย่างนั้นไม่ใช่ปีติในสัมมาสมาธิ ถ้าเป็นปีติในสัมมาสมาธิต้องให้ผลเป็นความสุขตัวนี้
5) เอกัคคตา แปลว่าเป็นหนึ่ง อันนี้โดยอาการของจิตจะรวมดวงหนักแน่น
แม้ในสภาพรู้ของตนเองก็เห็นเป็นดวงเด่นเต็มรอบจริงๆ
ที่เรียกจิตว่าดวงนั้น
ปรากฏเป็นดวงจริงก็คราวถึงเอกัคคตาในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งนี่เอง
พูดขยายความมากๆก็ไม่มีประโยชน์ เพราะจิตที่ยังไม่เคยถึงฐาน
ก็จะเข้าใจว่าลักษณะจิตมีเพียงความตั้งมั่นสบายๆ รู้ชัดคมกริบ
จะนึกไม่ถึงเลยว่าจิตปฏิรูปเป็นได้อีกสภาวะหนึ่งที่เหนือชั้นกว่าสติสามัญ

มากล่าวถึงองค์ที่สองคือวิจาร (ไม่มี ณ.เณรการันต์นะครับ)
โดยว่ากันเฉพาะวิจารอันเป็นองค์สมาธิ
นักปฏิบัติหลายท่านพยายามอธิบายให้ฟังง่าย
เช่นเป็นอาการที่จิตเข้าแนบคลุกเคล้าเป็นอันเดียวกับอารมณ์
อาการที่จิตประคองอารมร์ไว้อย่างต่อเนื่องไม่หลุด ฯลฯ
ซึ่งล้วนแล้วแต่ถูกต้อง และไม่เป็นที่สงสัยแก่ผู้เข้าถึง

อย่างไรก็ตาม เมื่อจะอธิบายต่อว่าเพราะเหตุใดขณิกสมาธิจึงใช้ในงานวิปัสสนาได้
อันนี้จะเริ่มคลุมเครือ และเป็นชนวนให้หลายคนตีความไปว่าสติธรรมดาๆ
ก็จัดเป็นขณิกสมาธิ เพราะถือว่าเพ่งอยู่กับอารมณ์เฉพาะหน้าแล้ว ไม่ฟุ้งซ่านแล้ว
อยู่กับปัจจุบันอารมณ์แล้ว

ความจริงถ้าเข้าใจองค์คือ วิจาร อย่างถ่องแท้
เส้นแบ่งเรื่องศัพท์บัญญัติและข้อถกเถียงเกี่ยวกับการสร้างสรรค์องค์มรรคให้ครบ 8
จะมลายลงทันที

เพราะแท้ที่จริงแล้ว การได้องค์คือวิจารนั้น
ก็คือได้สัมมาสมาธิ ประกอบด้วยอุเบกขาและสติบริบูรณ์พร้อมงานวิปัสสนา
เนื่องจากอาการรู้ของจิต หรือกล่าวให้ง่ายที่สุดคือจิตนั้น
พรากจากความคิดมาจับกับลมหายใจ หรืออารมณ์สมาธิอย่างแนบแน่นเป็นหนึ่ง
ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าความคิดจะหยุดชะงักขาดสายลง
ไม่ได้หมายความว่าสุขทุกข์จะหายหนไป
ไม่ได้หมายความว่าความปรากฏแห่งกายจะถูกรู้ไม่ได้
ทุกอย่างดำเนินไปตามปกติ เพียงแต่จิตถูกปรับให้อยู่ในอีกภาวะ
มีศูนย์กลาง หรือพื้นยืนมั่นคง พอจะมองแยกได้ออก
ว่าภาวะกาย ภาวะเวทนา ภาวะจิต และสภาวธรรมนั้น เป็นต่างหากจากผู้รู้ ผู้เป็นนามธรรมดูอยู่

อาการของจิตเป็นเช่นนั้นจริงๆ
จากที่คลุกอยู่กับความคิดในหัว ก็เหมือนหล่นปับไปจับอารมณ์สมาธิได้ดังใจนึก
เหมือนลงไปยืนอยู่คนละระนาบกับเปลือกหยาบคือความรู้สึกนึกคิด

เมื่อมองมรรค 8 โดยไล่จากต้นขึ้นมาหาปลาย
เราจะได้คำตอบที่เหมาะแก่การทำความเข้าใจเส้นทางปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น
แต่เมื่อมองมรรค 8 โดยไล่จากปลายลงไปหาต้น
เอาจากภาวะสมาธิจิตที่พร้อม ที่อ่อนควรแก่งานวิปัสสนา
องค์มรรคต่างๆที่เป็นของจริงจะปรากฏชัดกับตนเอง
กล่าวคือสำรวจรู้ได้ ว่าบัดนี้เรามีสมาธิพอที่จะตั้งเป็นสัมมาสติ
พิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม อันเป็นปัจจุบัน เพื่อความแหนงหน่าย คลายกำหนัด
เพื่อความปล่อยวางลงจากพฤติภายในของจิตหรือไม่

ถ้าไม่พร้อม ก็สืบลงไปดูว่ามีความเพียรมาเพียงพอหรือยัง
หากยัง ก็รู้ว่าองค์คือสัมมาวายามะยังไม่บริบูรณ์ในตน
อาจจะยังขี้เกียจ อาจจะไม่มีแรงจูงใจ หรืออาจจะอยู่ในสภาพร่างกายไม่เอื้ออำนวย
เช่นเหนื่อยเกินไป เพลียจนขยับไม่ได้จากการโหมงานประจำ ฯลฯ
โดยมากความเหนื่อยล้าและความขี้เกียจจะเป็นเหตุหลักที่ทำให้สัมมาวายามะพร่อง

หากพบในจิตอันเป็นสมาธิ ว่ามีความไม่ผ่องใส
ก็ไล่สำรวจไปในพฤติกรรม สืบหาข้อบกพร่องที่ยังให้จิตหม่น นับแต่
สัมมาสังกัปปะ (ยังคิดเล็กคิดน้อย คิดใหญ่คิดมากในเรื่องโลกๆ เรื่องกูๆ เรียกว่าคิดไม่ดีก็จิตตกได้)
สัมมาวาจา (ยังเพ้อเจ้อ โกหกเก่งเป็นไฟ ใส่ไคล้คนอื่นเป็นอาจิณหรือเปล่า เรียกว่าพูดไม่ดีก็จิตตกได้)
สัมมากัมมันตะ (ทำการไม่ชอบด้วยประการต่างๆ นับแต่ตีรันฟันแทงลง เรียกว่าทำไม่ดีก็จิตตกได้)

หากพบว่าทุกอย่างพร้อมเพรียงหมด จิตเป็นสมาธิผ่องใส
มีสติตั้งมั่นบริบูรณ์ แต่ไม่มีความก้าวหน้าในทางธรรมตามพระพุทธองค์เสียที
อัตตาไม่บางลง คิดหมกมุ่นไปทางแสวงหาเพิ่มมากกว่าลดละปล่อยวาง
อย่างนี้ก็ต้องเร่งสำรวจลงมาในสมาธิจิตนั้นเอง
ว่าน้อมไปพิจารณาธรรมโดยชอบหรือยัง
บางคนอวดดี บอกว่าตนมีความเห็นชอบมาหลายปีแล้ว
ไม่ต้องไปสำรวจแล้ว ก็จะได้ถึงเวลาดูจากจิตอันเป็นกลาง
ไม่เข้าใครออกใครแม้แต่ตัวเองนั้น ว่าเห็นชอบจริงหรือไม่
เห็นชอบอย่างไร ในหลักการหรือหลักกู

ถึงตรงนี้อยากกล่าวว่า
ขณิกสมาธิอันมีองค์คือวิตกและวิจารนั้น
เป็นศักยภาพเพียงพอจะไล่องค์มรรคจากปลายลงมาหาต้น
เพื่อสำรวจว่าตนเองมีจิตเป็นมรรคหรือไม่
กับทั้งอยากแสดงให้เห็นว่าถ้าเข้าใจเรื่ององค์มรรคจริงๆ
เราจะพูดจากจุดไหน เพื่อสืบสาวไปหาตรงไหนก็ได้ทั้งนั้น
ไม่จำเป็นต้องสาวทีละลำดับให้ต่อเนื่องจากต้นไปหาเสมอปลาย
เหมือนอย่างที่ใช้ความคิดความเข้าใจในเบื้องต้นเสมอไป

อีกจุดหนึ่ง เพื่อทำวิจารให้เกิด
ตรงนี้ไปเจอพระสูตรหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นเทคนิคอย่างหนึ่งได้
และนำมาอ้างเพื่อให้ทุกคนสนิทใจ ว่านี่เป็นสิ่งที่โบราณจารย์ท่านสอนไว้
ไม่ใช่ว่าผมสร้างสรรค์ขึ้นใหม่

นั่นคือแทนที่เราจะนึกถึงเทคนิคลัดสั้นเพื่อทำอานาปานสติให้ได้ผล
เรามาดูว่ามีกิเลสชนิดใดขัดขวางไม่ให้ทำอานาปานสติได้ผลเสียบ้าง
พิจารณาเข้าไปในขณะจิตหนึ่งๆเดี๋ยวนั้น
มีสติรู้ทันแล้วพรากกิเลสนั้นออกจากจิตเสีย
ถ้าอ่านข้างล่างนี้แล้วได้ข้อสรุปในการปฏิบัติ
คือสักแต่ รู้ ความเป็นปัจจุบันของสายลมหายใจอย่างเป็นกลาง
ว่าเข้าอยู่ หรือออกอยู่ หรือหยุดอยู่ ไม่หลงไปเป็นอาการอื่น
ก็ขอให้เชื่อเถิดว่าจะเข้าถึงจิตที่มีองค์สมาธิคือ "วิจาร" ได้อย่างรวดเร็ว

[๓๖๖] อุปกิเลส ๑๘ เป็นไฉน ย่อมเกิดขึ้น ฯ
เมื่อบุคคลใช้สติไปตามเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุดแห่งลมหายใจออก
จิตถึงความฟุ้งซ่านในภายใน ย่อมเป็นอันตรายแก่สมาธิ เมื่อบุคคลใช้สติ
ไปตามเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุดแห่งลมหายใจเข้า จิตถึงความฟุ้งซ่านใน
ภายนอก ย่อมเป็นอันตรายแก่สมาธิ ความปรารถนา ความพอใจลมหายใจ
ออก การเที่ยวไปด้วยตัณหา เป็นอันตรายแก่สมาธิ ความปรารถนา ความ
พอใจลมหายใจเข้า การเที่ยวไปด้วยตัณหา เป็นอันตรายแก่สมาธิ ความหลง
ในการได้ลมหายใจเข้า แห่งบุคคลผู้ถูกลมหายใจออกเข้าครอบงำ ย่อมเป็น
อันตรายแก่สมาธิ ความหลงในการได้ลมหายใจออก แห่งบุคคลผู้ถูกลมหาย
ใจเข้าครอบงำ ย่อมเป็นอันตรายแก่สมาธิ ฯ
สติที่ไปตามลมหายใจออก ที่ไปตามลมหายใจเข้า ที่ฟุ้งซ่าน
ในภายใน ที่ฟุ้งซ่านในภายนอก ความปรารถนาลมหายใจออก
และความปรารถนาลมหายใจเข้า อุปกิเลส ๖ ประการนี้ เป็น
อันตรายแก่สมาธิอันสัมปยุตด้วยอานาปาณสติ อุปกิเลส
เหล่านั้น ถ้าจิตของบุคคลผู้หวั่นไหว ย่อมเป็นเครื่องไม่ให้
หลุดพ้นไป และเป็นเหตุไม่ให้รู้ชัดซึ่งวิโมกข์ ให้ถึงความ
เชื่อต่อผู้อื่น ฉะนี้แล ฯ
[๓๖๗] เมื่อพระโยคาวจรคำนึงถึงนิมิต จิตกวัดแกว่งอยู่ที่ลมหายใจ
ออก นี้เป็นอันตรายแก่สมาธิ เมื่อพระโยคาวจรคำนึงถึงลมหายใจออก จิต
กวัดแกว่งอยู่ที่นิมิต นี้เป็นอันตรายแก่สมาธิ เมื่อพระโยคาวจรคำนึงถึงนิมิต
จิตกวัดแกว่งอยู่ที่ลมหายใจเข้า นี้เป็นอันตรายแก่สมาธิ เมื่อพระโยคาวจรคำนึง
ถึงลมหายใจเข้า จิตกวัดแกว่งอยู่ที่นิมิต นี้เป็นอันตรายแก่สมาธิ เมื่อพระ
โยคาวจรคำนึงถึงลมหายใจออก จิตกวัดแกว่งอยู่ที่ลมหายใจเข้า นี้เป็นอันตราย
แก่สมาธิ เมื่อพระโยคาวจรคำนึงถึงลมหายใจเข้า จิตแกว่งอยู่ที่ลมหายใจออก
นี้เป็นอันตรายแก่สมาธิ ฯ
เมื่อคำนึงถึงนิมิต ใจกวัดแกว่งอยู่ที่ลมหายใจออก เมื่อ
คำนึงถึงลมหายใจออก จิตกวัดแกว่งอยู่ที่นิมิต เมื่อคำนึง
ถึงนิมิต ใจกวัดแกว่งอยู่ที่ลมหายใจเข้า เมื่อคำนึงถึงลม
หายใจเข้า จิตกวัดแกว่งอยู่ที่นิมิต เมื่อคำนึงถึงลมหายใจ
ออก ใจกวัดแกว่งอยู่ที่ลมหายใจเข้า เมื่อคำนึงถึงลมหายใจ
เข้า จิตกวัดแกว่งอยู่ที่ลมหายใจออก อุปกิเลส ๖ ประการ
นี้ เป็นอันตรายแก่สมาธิอันสัมปยุตด้วยอานาปาณสติ อุป-
กิเลสเหล่านั้น ถ้าจิตของบุคคลผู้หวั่นไหว ย่อมเป็น
เครื่องไม่ให้หลุดพ้นไป และเป็นเหตุไม่ให้รู้ชัดซึ่งวิโมกข์
ให้ถึงความเชื่อต่อผู้อื่น ฉะนี้แล ฯ
จิตที่แล่นไปตามอตีตารมณ์ ตกไปข้างฝ่ายฟุ้งซ่าน ย่อมเป็นอันตราย
แก่สมาธิ จิตที่ปรารถนาอนาคตารมณ์ ถึงความฟุ้งซ่าน ย่อมเป็นอันตรายแก่
สมาธิ จิตที่หดหู่ ตกไปข้างฝ่ายเกียจคร้าน ย่อมเป็นอันตรายแก่สมาธิ จิตที่
ถือจัด ตกไปข้างฝ่ายฟุ้งซ่าน ย่อมเป็นอันตรายแก่สมาธิ จิตที่รู้เกินไป ตก
ไปข้างฝ่ายความกำหนัด ย่อมเป็นอันตรายแก่สมาธิ จิตที่ไม่รู้ ตกไปข้างฝ่าย
พยาบาท ย่อมเป็นอันตรายแก่สมาธิ ฯ
[๓๖๘] จิตที่แล่นไปตามอตีตารมณ์ ที่ปรารถนาอนาคตารมณ์ จิตที่
หดหู่ ที่ถือจัด ที่รู้เกินไป ที่ไม่รู้ ย่อมไม่ตั้งมั่น อุปกิเลส
๖ ประการนี้ เป็นอันตรายแก่สมาธิอันสัมปยุตด้วยอานา-
ปาณสติ อุปกิเลสเหล่านั้นย่อมเป็นเหตุให้บุคคลผู้มีความ
ดำริเศร้าหมอง ไม่รู้ชัดซึ่งอธิจิต ฉะนี้แล ฯ
[๓๖๙] เมื่อพระโยคาวจรใช้สติไปตามเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุด
แห่งลมหายใจออก กายและจิตย่อมมีความปรารภ หวั่นไหวและดิ้นรน เพราะ
จิตถึงความฟุ้งซ่าน ณ ภายใน เมื่อพระโยคาวจรใช้สติไปตามเบื้องต้น ท่าม
กลางและที่สุดแห่งลมหายใจเข้า กายและจิตย่อมมีความปรารภ หวั่นไหวและ
ดิ้นรน เพราะจิตถึงความฟุ้งซ่าน ณ ภายนอก กายและจิตย่อมมีความปรารภ
หวั่นไหวและดิ้นรน เพราะความปรารถนา เพราะความพอใจลมหายใจออก
เพราะความเที่ยวไปด้วยตัณหา กายและจิตย่อมมีความปรารภ หวั่นไหวและดิ้นรน
เพราะความปรารถนา เพราะความพอใจลมหายใจเข้า เพราะความเที่ยวไปด้วย
ตัณหา กายและจิตย่อมมีความปรารถนา หวั่นไหวและดิ้นรน เพราะความที่
พระโยคาวจรผู้ถูกลมหายใจออกครอบงำ เป็นผู้หลงใหลในการได้ลมหายใจเข้า
กายและจิตย่อมมีความปรารภ หวั่นไหวและดิ้นรน เพราะความที่พระโยคาวจร
ผู้ถูกลมหายใจเข้าครอบงำ เป็นผู้หลงใหลในการได้ลมหายใจออก กายและจิต
ย่อมมีความปรารภ หวั่นไหวและดิ้นรน เพราะความที่จิตของพระโยคาวจรผู้คำ
นึงถึงนิมิต กวัดแกว่งอยู่ที่ลมหายใจออก กายและจิตย่อมมีความปรารภ
หวั่นไหวและดิ้นรน เพราะความที่จิตของพระโยคาวจรผู้คำนึงถึงลมหายใจออก
กวัดแกว่งอยู่ที่นิมิต กายและจิตย่อมมีความปรารภ หวั่นไหวและดิ้นรน เพราะ
ความที่จิตของพระโยคาวจรผู้คำนึงถึงนิมิต กวัดแกว่งอยู่ที่ลมหายใจเข้า กาย
และจิตย่อมมีความปรารภ หวั่นไหวและดิ้นรน เพราะความที่จิตของพระ-
โยคาวจรผู้คำนึงถึงลมหายใจเข้า กวัดแกว่งอยู่ที่นิมิต กายและจิตย่อมมีความ
ปรารภ หวั่นไหวและดิ้นรน เพราะความที่จิตของพระโยคาวจรผู้คำนึงถึงลมหายใจ
ออก กวัดแกว่งอยู่ที่ลมหายใจเข้า กายและจิตย่อมมีความปรารภ หวั่นไหว
และดิ้นรน เพราะความที่จิตของพระโยคาวจรผู้คำนึงถึงลมหายใจเข้า กวัดแกว่ง
อยู่ที่ลมหายใจออก กายและจิตย่อมมีความปรารภ หวั่นไหวและดิ้นรน เพราะ
จิตแล่นไปตามอตีตารมณ์ ตกไปข้างฝ่ายความฟุ้งซ่าน กายและจิตย่อมมีความ
ปรารภ หวั่นไหวและดิ้นรน เพราะจิตหวังถึงอนาคตารมณ์ ถึงความกวัดแกว่ง
กายและจิตย่อมมีความปรารภ หวั่นไหวและดิ้นรน เพราะจิตหดหู่ ตกไป
ข้างฝ่ายเกียจคร้าน กายและจิตย่อมมีความปรารภ หวั่นไหวและดิ้นรน เพราะ
จิตถือตัว ตกไปข้างฝ่ายอุทธัจจะ กายและจิตย่อมมีความปรารภ หวั่นไหวและ
ดิ้นรน เพราะจิตรู้เกินไป ตกไปข้างฝ่ายความกำหนัด กายและจิตย่อมมีความปรารภ
หวั่นไหวและดิ้นรน เพราะจิตไม่รู้ ตกไปข้างฝ่ายพยาบาท ฯ
ผู้ใดไม่บำเพ็ญ ไม่เจริญอานาปาณสติ กายและจิตของผู้นั้น
ย่อมหวั่นไหว ดิ้นรน ผู้ใดบำเพ็ญ เจริญอานาปาณสติดี
กายและจิตของผู้นั้น ย่อมไม่หวั่นไหว ไม่ดิ้นรน ฉะนี้แล ฯ
ก็และเมื่อพระโยคาวจร ผู้มีจิตหมดจดจากนิวรณ์เหล่านั้น เจริญ
สมาธิอันสัมปยุตด้วยอานาปาณสติมีวัตถุ ๑๖ ความที่จิตตั้งมั่นเป็นไปชั่วขณะ
ย่อมมีได้ อุปกิเลส ๑๘ เหล่านี้ย่อมเกิดขึ้น ฯ


จากคุณ : ดังตฤณ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น