วันอังคารที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

เริ่มต้นนั่งสมาธิ


ปล่อยวางความคิดนึกเรื่องราวต่าง ๆ ให้หมดไปจากใจทำสติจับความรู้สึกอยู่ที่กายอาการสามสิบสอง ทำความรู้สึกนึกคิดเห็นตัวเราว่าขณะนั่งอยู่อย่างไร
เรานั่งขาขวาทับขาซ้ายก็ทำความรู้ว่าเรานั่งขาขวาทับขาซ้าย เรานั่งมือขวาทับมือซ้ายก็รู้ว่าเรานั่งมือขวาทับมือซ้าย เรานั่งตัวตรงก็รู้ว่าเรานั่งตัวตรง เรานั่งหลับตาก็รู้ว่าเรานั่งหลับตา นึกรู้นึกเห็นตัวเราอยู่ตลอดเวลา
น้อมนึกเห็นใบหน้าของเราว่ามีลักษณะอย่างไร นึกเห็นตั้งแต่ศีรษะตลอดลงมาปลายเท้า นึกเห็นรอบตัวเองแล้วมาพิจารณาอยู่ที่ใบหน้า นึกเห็นคิ้วเห็นตา เห็นหูทั้งสองข้าง นึกเห็นปากเห็นคางนึกเห็นปลายจมูก นึกเห็นลมหายใจเข้า-ออก
หายใจเข้าก็นึกรู้ว่าเราหายใจเข้า หายใจออกก็รู้ว่าหายใจออก หายใจออกยาวก็รู้ว่าหายใจออกยาว หายใจเข้าสั้นและออกสั้นก็รู้ว่าขณะนี้เราหายใจเข้า-ออกสั้น ทำความรู้เท่าทันลมหายใจเข้า-ออก
ทุกลมหายใจเข้า-ออกทำความรู้อยู่ที่ปลายจมูกนึกเห็นใบหน้า เรานึกเห็นอยู่ที่ปลายจมูกทุกขณะลมหายใจเข้า-ออก กำหนดอยู่ที่สองช่องจมูก หายใจเข้านึกว่า “ พุท ” หายใจออกนึกว่า “ โธ ” จนรู้อยู่แต่ “ พุท-โธ ” ทุกลมหายใจเข้า-ออกนึกเห็นแต่ปลายจมูกสว่างเสมอไป
ระยะแรกนั้นการปฏิบัติพึงกำหนดลมหายใจเข้าออกยาว ๆ เพราะสติยังอ่อนอยู่ ขณะที่นั่งอยู่นั้นกายสงบก็ทำความรู้ว่า “ กายสงบ ” ใจสงบก็ทำความรู้ว่า “ ใจสงบ ” สงบอยู่อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ทำความรู้อยู่ตลอดเวลา สุขเกิดก็รู้ทุกข์เกิดก็รู้ไม่สุขไม่ทุกข์เกิดขึ้นก็รู้ ทำความรู้ทั้งกายใจอยู่อย่างนี้บางครั้งทุกข์กายแต่สุขใจก็มี คิดดีก็รู้ รู้แล้วเฉย คิดชั่วก็รู้ รู้แล้วเฉยอะไรที่เกิดขึ้นทุกอย่างทำความเฉยให้เกิดขึ้นตลอดเวลา ทำเฉย ๆ ให้มากเท่าไร ยิ่งดี จิตจะได้ตั้งมั่นได้รวดเร็ว อยู่นาน ๆ เข้าจิตก็เกิดสมาธิ แนบแน่นจนกายเบาจิตเบา หากพลั้งเผลอไปก็ดึงสติกลับมาตั้งไว้จุดเดิมปฏิบัติอยู่เช่นนี้จนเป็นนิสัย ลมหายใจก็จะละเอียดประณีตกายก็เบาใจก็สบาย ในช่วงนี้หากคำภาวนา “ พุท-โธ ” ได้ละไปแล้วก็ให้พิจารณาลมหายใจเข้า-ออกเพียงอย่างเดียว (คำ “ พุท-โธ ” จะหยุดรำลึกไปเองโดยธรรมชาติอย่าหวนคำรำลึกหรือทวนความรู้สึกใด ๆ ขึ้นมาอีก) เมื่อกระแสกลมกลืนกันดีแล้ว จิตจะนิ่งเป็นอิสระเป็นสุขและเกิดปัญญา รู้เอง เห็นเองสัมผัสได้ด้วยจิตเอง

หมายเหตุ การปฏิบัตินั่งสมาธิ ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติอย่างเคร่งเครียดเอาจริงเอาจังจนเกินไปหรืออ่อนเกินไปควรทำใจให้สบาย ๆ ปฏิบัติสม่ำเสมอ จะเวลา เช้า เย็น หรือค่ำ สุดแต่ความสะดวกของตนเอง ใช้เวลาฝึกวันแรกเพียง ๑๐-๑๕ นาที แล้ววันต่อ ๆ ไปเพิ่มขึ้นเป็นวันละ ๒๐-๓๐ นาที จนถึงวันละ ๑ ช.ม. เป็นประจำทุกวัน
ขณะปฏิบัติอย่ามุ่งจิตคิดแต่จะเห็นนิมิต เพราะอาจจะทำให้ตัวของเราสร้างจินตนาการไปเอง และปฏิบัติควรปฏิบัติทุกวันอย่างน้อยวันละครั้ง อย่าได้ขาด ครั้งละจะนานเท่าใดก็ได้ขอให้จิตสงบ แต่หากว่าในคราวใดปฏิบัติไปแล้วจิตก็ยังไม่สงบ อย่ากังวลอย่าไปท้อใจ จงปฏิบัติเรื่อย ๆ ทุกวันก็จะสมเจตนาเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น