วันอังคารที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2553
สงบจิตด้วยการนั่งสมาธิ
ปฏิบัติทำไมมันถึงยากถึงลำบาก เพราะว่ามันอยาก พอไปนั่งสมาธิปุ๊บก็ตั้งใจว่าอยากจะให้มันสงบ ถ้าไม่มีความอยากให้สงบก็ไม่นั่งไม่ทำอะไร พอเราไปนั่งก็อยากให้มันสงบ เมื่ออยากให้มันสงบ ตัววุ่นวายก็เกิดขึ้นมาอีก ก็เห็นสิ่งที่ไม่ต้องการเกิดขึ้นมาอีก มันก็ไม่สบายใจอีกแล้ว นี่มันเป็นอย่างนี้
ฉะนั้น พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า อย่าพูดให้เป็นตัณหา อย่ายืนให้เป็นตัณหา อย่านั่งให้เป็นตัณหา อย่านอนให้เป็นตัณหา อย่าเดินให้เป็นตัณหา ทุกประการนั้นอย่าให้เป็นตัณหา ตัณหาแปลว่าความอยาก ถ้าไม่อยากจะทำอะไรเราก็ไม่ได้ทำ อันนั้นปัญญาของเราไม่ถึง ทีนี้มันก็เลยอู้เสีย ปฏิบัติไปไม่รู้จะทำอย่างไร พอไปนั่งสมาธิปุ๊บ ก็ตั้งความอยากไว้แล้ว
อย่างพวกเราที่มาปฏิบัติอยู่ในป่านี้ ทุกคนต้องอยากมาใช่ไหม นี่จึงได้มา อยากมาปฏิบัติที่นี้ มาปฏิบัตินี่ก็อยากให้มันสงบ อยากให้มันสงบก็เรียกว่าปฏิบัติเพราะความอยาก มาก็มาด้วยความอยาก ปฏิบัติก็ปฏิบัติด้วยความอยาก เมื่อมาปฏิบัติแล้วมันจึงขวางกัน ถ้าไม่อยากก็ไม่ได้ทำ จึงเป็นอยู่อย่างนี้ จะทำอย่างไรกับมันล่ะ
๏ อย่าให้ตัณหาเข้าครอบงำในการปฏิบัติ
การกระทำความเพียรก็เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าว่า อย่าทำให้เป็นตัณหา อย่าพูดให้เป็นตัณหา อย่าฉันให้เป็นตัณหา ยืนอยู่ เดินอยู่ นั่งอยู่ นอนอยู่ ทุกประการท่านไม่ให้เป็นตัณหา คือทำด้วยการปล่อยวาง เหมือนกับซื้อมะพร้าว ซื้อกล้วยมาจากตลาดนั่นแหละ เราไม่ได้เอาเปลือกมันมาทานหรอก แต่เวลานั้นยังไม่ถึงเวลาจะทิ้งมัน เราก็ถือมันไว้ก่อน การประพฤติปฏิบัตินี้ก็เหมือนกันฉันนั้น
สมมุติวิมุติมันก็ต้องปนอยู่อย่างนั้น เหมือนกับมะพร้าว มันจะปนอยู่ทั้งเปลือกทั้งกะลาทั้งเนื้อมัน เมื่อเราเอามาก็เอามาทั้งหมดนั่นแหละ เขาจะหาว่าเราทานเปลือกมะพร้าวอย่างไรก็ช่างเขาปะไร เรารู้จักของเราอยู่เช่นนี้เป็นต้น อันความรู้ในใจของตัวเองอย่างนี้ เป็นปัญญาที่เราจะต้องตัดสินเอาเอง นี้เรียกว่าตัวปัญญา ดังนั้น การปฏิบัติเพื่อจะเห็นสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ไม่เอาเร็วและไม่เอาช้า ช้าก็ไม่ได้ เร็วก็ไม่ได้ จะทำอย่างไรดี ไม่มีช้า ไม่มีเร็ว เร็วก็ไม่ได้ มันไม่ใช่ทาง ช้าก็ไม่ได้ มันไม่ใช่ทาง มันก็ไปในแบบเดียวกัน
๏ ตั้งใจทำสมาธิมากเกินไป ก็กลายเป็นความอยาก
แต่ว่าพวกเราทุกๆ คนมันร้อนเหมือนกันนะ มันร้อน พอทำปุ๊บก็อยากให้มันไปไวๆ ไม่อยากจะอยู่ช้า อยากจะไปหน้า การกำหนดตั้งใจหาสมาธินี้ บางคนตั้งใจเกินไป บางคนถึงกับอธิษฐานเลย จุดธุปปักลงไป กราบลงไป “ถ้าธูปดอกนี้ไม่หมด ข้าพเจ้าจะไม่ลุกจากที่นั่งเป็นอันขาด มันจะล้ม มันจะตาย มันจะเป็นอย่างไรก็ช่างมัน จะตายอยู่ที่นี้แหละ”
พออธิษฐานตั้งใจปุ๊บก็นั่ง มันก็เข้ามารุมเลย พญามาร นั่งแพล็บเดียวเท่านั้นแหละ ก็นึกว่าธูปมันคงจะหมดแล้วเลยลืมตาขึ้นมาดูสักหน่อย โอ้โฮ ยังเหลือเยอะ กัดฟันเข้าไปอีก มันร้อนมันรน มันวุ่นมันวาย ไม่รู้ว่าอะไรอีก เต็มทีแล้ว นึกว่ามันจะหมด ลืมตาดูอีก โอ้โฮ ยังไม่ถึงครึ่งเลย สองทอดสามทอดก็ไม่หมด เลยเลิกเสีย เลิกไม่ทำ นั่งคิดอาภัพอับจน แหม ตัวเองมันโง่เหลือเกิน มันอาภัพ มันอย่างโน้นอย่างนี้ นั่งเป็นทุกข์ว่าตัวเองเป็นคนไม่จริง คนอัปรีย์ คนจัญไร คนอะไรต่อมิอะไรวุ่นวาย ก็เลยเกิดเป็นนิวรณ์ นี่ก็เรียกว่าความพยาบาทเกิด ไม่พยาบาทคนอื่น ก็พยาบาทตัวเอง อันนี้ก็เพราะอะไร เพราะความอยาก
๏ ทำสมาธิด้วยการปล่อยวาง อย่าทำด้วยความอยาก
ความเป็นจริงนั้นนะ ไม่ต้องไปทำถึงขนาดนั้นหรอก ความตั้งใจนะคือตั้งใจในการปล่อยวาง ไม่ต้องตั้งใจในการผูกมัดอย่างนั้น อันนี้เราไปอ่านตำราเห็นประวัติพระพุทธเจ้าว่า ท่านนั่งลงที่ใต้ต้นโพธิ์นั้น ท่านอธิษฐานจิตลงไปว่า “ไม่ตรัสรู้ตรงนี้จะไม่ลุกหนีเสียแล้ว แม้ว่าเลือดมันจะไหลออกมาอะไรก็ตามทีเถอะ”
ได้ยินคำนี้เพราะไปอ่านดู แหม เราก็จะเอาอย่างนั้นเหมือนกัน จะเอาอย่างพระพุทธเจ้าเหมือนกันนี่ ไม่รู้เรื่องว่ารถของเรามันเป็นรถเล็กๆ รถของท่านมันเป็นรถใหญ่ ท่านบรรทุกทีเดียวก็หมด เราเอารถเล็กไปบรรทุกทีเดียวมันจะหมดเมื่อไหร่ มันคนละอย่างกัน เพราะอะไรมันถึงเป็นอย่างนั้น มันเกินไป บางทีมันก็ต่ำเกินไป บางทีมันก็สูงเกินไป ที่พอดีๆ มันหายาก
๏ สมาธิและนิวรณ์ 5
สมาธิ คือความตั้งมั่นของจิต ได้แก่ ภาวะที่จิตแน่วแน่ต่อสิ่งที่กำหนด มีอารมณ์เป็นหนึ่ง ไม่ฟุ้งซ่านหรือส่ายไป ศาสนาพุทธเน้นในสัมมาสมาธิ คือสมาธิที่ใช้ในทางแห่งการหลุดพ้น โดยใช้ปัญญาพิจารณาในสิ่งทั้งหลายตามที่เป็นจริง ไม่ใช่การหวังผลสนองตัณหาความอยาก เช่น อวดฤทธิ์ อวดความสามารถ เป็นต้น
๏ สมาธิแบ่งออกเป็น 3 ระดับคือ
1. ขณิกสมาธิ คือ สมาธิชั่วครู่ ชั่วขณะหนึ่ง เป็นสมาธิขั้นต้นที่บุคคลทั่วไปใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ในการงานประจำวัน
2. อุปจารสมาธิ คือ สมาธิที่ตั้งได้นานหน่อย ใกล้ที่จะได้ฌาน เกิดนิมิตต่างๆ เช่น เห็นแสงสว่างอยู่ระยะหนึ่ง
3. อัปปนาสมาธิ คือ สมาธิแน่วแน่ถึงฌาน เป็นการทำสมาธิขั้นสูงสุด
สมาธิใช้สำหรับปราบกิเลสอย่างกลาง ที่จำเพาะเกิดขึ้นในใจคือ นิวรณ์ 5 เมื่อกายวาจาสงบเรียบร้อยแล้ว แต่บางทีจิตยังไม่สงบ คือยังมีความกำหนัด ความโกรธ ดีใจ หดหู่ ฟุ้งซ่าน ตื่นเต้น กลัว รำคาญ หรือสงสัย ลังเลอยู่ อาจล่วงถึงกายวาจาได้ เช่น สีหน้าผิดปกติ เมื่อกระทบอารมณ์รุนแรงเข้าก็ถึงออกปาก ด่าว่า ทุบตี ฆ่าฟัน เป็นต้น
ศีลมีหน้าที่ตั้งจิต งดเว้นไม่ทำบาปด้วย กาย วาจา สมาธิมีหน้าที่รักษาจิต ให้สงบจากนิวรณ์ทั้งห้า มิให้เศร้าหมอง เพราะความกำหนัด ขัดเคือง ใจหดหู่ ฟุ้งซ่าน ตื่นเต้น กลัว รำคาญ และสงสัย ลังเล ในอารมณ์ ต่างๆ เหล่านั้น นิวรณ์ 5
๏ นิวรณ์ 5
คือ ธรรมอันกั้นจิตไม่ให้บรรลุความดี เป็นข้าศึกแก่สมาธิ มี 5 อย่างคือ
1. กามฉันท์ คือ ความพอใจรักใคร่ในอารมณ์ที่ชอบใจ มีรูป หรือความพอใจในกาม
2. พยาบาท คือ การปองร้ายผู้อื่น
3. ถีนมิทธะ คือ ความง่วงเหงาหาวนอน จิตหดหู่และเคลิบเคลิ้ม
4. อุทธัจจกุกกุจจะ คือ ความฟุ้งซ่าน รำคาญใจ
5. วิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัย
นิวรณ์นั้นเป็นข้าศึกแก่สมาธิ เวลามีนิวรณ์ สมาธิก็ไม่มี เวลามีสมาธิ นิวรณ์ก็ไม่มี เหมือนมืดกับสว่าง เวลามืดสว่างไม่มี เวลาสว่างมืดก็หายไป จะนำมารวมกันไม่ได้
นิวรณ์เกิดจากสัญญา (ความจำได้หมายรู้) และจากสังขาร (ความปรุงแต่งทางจิตบางอย่างเข้ามายั่วยวนให้เกิดนิวรณ์) นิวรณ์เกิดขึ้นที่จิตเพียงแห่งเดียว แต่มีผลต่อแห่งอื่นๆ สาเหตุที่เกิดนิวรณ์ เช่น คนมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ต้องมองเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส เป็นต้น เมื่อตาเห็นรูป ก็จะเลือกดูแต่รูปที่ดี จะต้องคิดนึกถึงรูปปานกลาง และรูปเลวด้วย คือ ต้องนึกถึงไตรลักษณ์เป็นหลักพิจารณาอยู่เสมอ จะได้ไม่หลง
ถ้าจะให้จิตอยู่ในอารมณ์พระนิพพานอยู่เสมอ เมื่อเห็นอะไรก็ต้องพิจารณาให้เข้าสู่ไตรลักษณ์อยู่ตลอดเวลา แม้เกี่ยวกับการได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส ฯลฯ ก็ต้องพิจารณาให้เห็นพระไตรลักษณ์เช่นเดียวกัน การเพ่งสมาธิวิปัสสนา ให้เพ่งพระพุทธรูป (พุทธานุสสติ), กายาคตาสติ อสุภะดีที่สุด เมื่อเพ่งจนเกิดสมาธิแล้วก็พิจารณาไปสู่พระไตรลักษณ์ หรืออีกวิธีคือ ความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ ทั้งปวงอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ที่ชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลกสมมติกันว่าเป็นสุข แต่พระอริยะเจ้าเห็นสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นทุกข์ การยินดีในสุภนิมิต เช่นนี้เรียกว่า กามฉันท์
ผู้มีกามฉันท์นี้ควรเจริญกายาคตาสติ พิจารณาเห็นร่างกายให้เห็นเป็นปฏิกูล
พยาบาทเกิดขึ้นเพราะความคับแค้นใจ ผู้มีพยาบาทชอบโกรธเกลียดผู้อื่นอยู่เสมอๆ ควรเจริญ เมตตา กรุณา มุทิตา คิดให้เกิดความรัก เมตตาสงสารผู้อื่น
ผู้มีความเกียจคร้านท้อแท้อยู่ในใจ ไม่กระตือรือร้นในการทำงาน เรียกว่าถูกถีนมิทธะครอบงำ ควรเจริญอนุสสติกัมมัฎฐาน พิจารณาความดีของตนและผู้อื่น เพื่อจะได้มีความอุตสาหะทำงาน แก้ความท้อแท้ใจเสียได้
ความฟุ้งซ่าน รำคาญ เกิดจากการที่จิตไม่สงบ ควรเพ่งกสิณให้ใจผูกอยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง หรือเจริญกัมมัฏฐานให้ใจสังเวช เช่น มรณสติ
ความลังเลไม่ตกลงได้ เนื่องจากไม่ได้พิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วน ควรเจริญธาตุกัมมัฏฐาน เพื่อจะได้รู้สภาวะธรรมตามความเป็นจริง
ธรรมทั้ง 5 ประการนี้เมื่อเกิดกับผู้ใด ย่อมจะเป็นธรรมอันกั้นจิตไม่ให้ผู้นั้นบรรลุความดีหรือสิ่งที่ตนประสงค์ได้ ฉะนั้น ผู้หวังความสำเร็จในชีวิตควรเว้นจากนิวรณ์ 5 ประการนี้
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น