วันพฤหัสบดีที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2553

นี่คือ...คาถามหาวิเศษ



" ให้ทุกข์เขา ทุกข์นั้นถึงตัว " จาก หลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด

โลกทุกวันนี้ยุ่งยาก ก็เพราะมนุษย์ที่อวดตนหรือยกตนเป็นผู้ใหญ่ยังติดเสียง
มนุษย์ที่อวดตนว่าเป็นผู้ดีเรียนรู้มากยังไม่มีจรรยาในการ " พิจารณาตน "
ถ้าสัตว์โลกอยู่กันอย่างไม่ยึดตน ไม่ยึดเสียง ไม่ยึดอุปาทาน ถ้าละทิ้งได้ ไม่ยึดสิ่งใดเลย โลกนี้ย่อมสงบ
ท่านต้องเข้าใจว่า " การให้ทุกข์เขานั้น ทุกข์นั้นถึงตัวท่านเองแน่นอน " นี่เป็นหลักความจริง

สมัยเมื่ออาตมามีสังขารอยู่ปัตตานี ในระยะเริ่มแรกสร้างวัดช้างให้
มีแขกมาลายูคนหนึ่งมาบวชอยู่ในวัดของอาตมา แขกมาลายูคนนี้ไม่รู้จักภาษาสยาม รู้แต่ภาษามาลายู
ทีนี้เมื่อรู้แต่ภาษามาลายู จะสอนให้สวดมนต์ก็ดีจะสอนการอ่านก็ดี ย่อมทำไม่ได้
อาตมาจึงบอกเขาว่า ถ้าเช่นนั้นก็ไม่ต้องสวดมนต์ละ ท่องเพียงสองคำก็พอคือ " ให้ทุกข์เขา ทุกข์นั้นถึงตัว "

แขกคนนั้นอยู่ในปกครองของอาตมา ตื่นเช้าขึ้นมาก็ออกบิณฑบาตตามปรกติ กลับมาก็นั่งท่องแต่คำว่า
" ให้ทุกข์เขา ทุกข์นั้นถึงตัว " " ให้ทุกข์เขา ทุกข์นั้นถึงตัว "

มีแขกมาลายูด้วยกันเป็นพวกเลี้ยงแพะ เลี้ยงแกะ มาเที่ยววัด บอกว่าพระองค์นี้มันพูดอะไรของมันไม่ทราบ
ท่องแต่ " ให้ทุกข์เขา ทุกข์นั้นถึงตัว " " ให้ทุกข์เขาทุกข์นั้นถึงตัว "
แขกคนนี้ไม่นับถือศาสนาพุทธ แต่รู้ภาษาไทยดี ก็บอกว่าไม่จริง" ให้ทุกข์เขา ทุกข์นั้นไม่ถึงตัวหรอก "
จึงตั้งใจจะพิสูจน์คำว่า " ให้ทุกข์เขาทุกข์นั้นถึงตัว " จริงหรือไม่

วันหนึ่งได้ไปทำโรตีแบบที่ทางปักษ์ใต้เขาชอบกินกันสมัยนั้น
คือโรตีแบบแขก แล้วก็ใส่ยาพิษลงไปด้วยนำไปใส่บาตร

พระมาลายูที่ท่อง " ให้ทุกข์เขา ทุกข์นั้นถึงตัว " บังเอิญเจ้ากรรมวันนั้นพระมาลายูองค์นี้
บิณฑบาตรได้อาหารมามาก แล้วก็ฉันอิ่มจึงนำโรตีสองชิ้นที่แขกนั้นใส่บาตรไปเก็บเอาไว้
ส่วนคนที่ต้องการพิสูจน์คำว่า " ให้ทุกข์เขา ทุกข์นั้นถึงตัว " มีลูกอยู่สองคน พอเที่ยงก็หิ้วข้าวมาให้พ่อ
ซึ่งเลี้ยงวัวอยู่ในแถบวัดนั้นกิน แถวนั้นมันเป็นโคกโพธิ์ ด้านขวามีกุฏิน้อย ๆ
เด็กทั้งสองเที่ยวไปถึงกุฏิของพระที่ท่อง " ให้ทุกข์เขา ทุกข์นั้นถึงตัว "

พระองค์นี้เห็นว่าเด็กทั้งสองคนนี้น่ารัก บัดนี้มันเลยเพลแล้ว โรตีที่เก็บไว้ก็จะเสียเปล่า
จึงนำเอาโรตี ๒ แผ่น ที่พ่อเด็กเขาใส่ยาพิษที่จะให้พระนี้ฉัน ให้เด็กสองคนนั้นกิน
เด็กสองคนนั้นกินแล้วกลับไปถึงบ้านก็ป่วยทันที ครั้นใกล้จะตายพ่อถามว่า
" เมื่อเจ้าเอาข้าวไปส่งให้พ่อน่ะ เจ้าไปกินอะไรหรือเปล่า "
ลูกทั้งสองบอกว่า ไปที่กุฏิพระองค์หนึ่งที่เป็นชาวมาลายูด้วยกันเห็นท่องแต่ " ให้ทุกข์เขา ทุกข์นั้นถึงตัว "
เห็นว่าแปลกไม่รู้ว่าเป็นอะไรท่องแต่คำคำนี้คำเดียว พระนั้นสงสารลูกได้ให้โรตีสองอันกิน

ในที่สุดผลแห่งการพิสูจน์ว่า " ให้ทุกข์เขา ทุกข์นั้นถึงตัว " ก็ปรากฏขึ้น
เขาต้องการฆ่าพระองค์นั้น แต่กลับกลายเป็นฆ่าลูกสุดที่รักของเขาเอง

เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องกลัว เรามีความบริสุทธิ์ เรามีความเที่ยงธรรม เรามีหลักขันติสัจจะ บริสุทธิ์ เมตตา
คุณธรรมเหล่านี้จะรักษาเราให้ปลอดภัยทุกอย่าง

ทีนี้การเป็นคน ท่านยึดเสียงหรือไม่ ท่านยึดคำพูดดีหรือไม่ ท่านยึดคำพูดเลวหรือไม่
ถ้าท่านยึดสิ่งเหล่านี้แล้ว ท่านจะเป็นนักพรตที่ดีไม่ได้ ท่านจะเป็นนักบุญที่ดีไม่ได้
ท่านจะเป็นนักปกครองคนที่ดีไม่ได้ มนุษย์เราถ้ายังติดเสียง ติดคำชมและด่า

มนุษย์นั้นยังมีใจไม่ถึงธรรม " สัจธรรมเป็นธรรมอันประเสริฐ " เป็นสิ่งที่แน่แท้ ทำไมสำนักปู่สวรรค์จึงยึดจุดนี้
ก็เพราะว่าความจริงย่อมเป็นความจริง สิ่งที่เลวก็เป็นความจริงแห่งความเลว สิ่งดีก็เป็นความจริงของความดี
ที่จะกล่าวต่อไปในยุคต่าง ๆ ของมันเอง โดยไม่มีอะไรแปรเปลี่ยนไปได้
มันเป็นธรรมชาติโลกียะและโลกุตระมันเดินของมันเอง

เราจะชนะความเลวด้วยความดี เราต้องมีอุเบกขา หมายถึงคิดว่าสิ่งนี้เราต้องทำ ไม่ใช่ทำเพื่อชื่อ ความมีอำนาจ
เมื่อท่านทำใจได้เช่นนี้ท่านก็จะเป็นคนที่ดีได้ และจะเป็นนักเสียสละที่ดีได้ด้วย

ทีนี้การที่เราจะให้คนอื่นเหมือนเราหมดย่อมไม่ได้
มนุษย์ต่างคนต่างเกิดมาในโลกนี้มีกรรมวิบากของตนไม่เหมือนกัน
เมื่อมีกรรมวิบากของตนไม่เหมือนกัน มนุษย์ผู้นั้นอยู่ในสิ่งแวดล้อมไม่เหมือนกัน มีคุณธรรมไม่เท่ากัน
เราจะเอาใจของเราเป็นสรณะว่าที่เราทำนี้ถูก ทุกคนจะต้องว่าถูกเหมือนเราไม่ได้

ท่านเข้าใจคำว่า " นานาจิตตัง " หรือ " นานา มโน " หรือไม่ คือแต่ละคนมีความคิดของตนเป็นหลัก
เราจะทำอะไรควรต้องมีความสุขุมรอบคอบ เราต้องคิดถึงคนอื่นว่าทุกคนไม่เก่งเหมือนเราทุกคนไม่เหมือนเรา
ดังนั้นจำเป็นต้องมีอภัยทานเป็นสรณะ
ถ้ามนุษย์เราไม่มีการให้อภัยเป็นหลัก เมื่อมนุษย์ผู้นั้นตายไปก็จะมีแต่กิเลสตัณหาแห่งความยึดมั่นในตน
จะมีแต่ความพยาบาทอาฆาตจองเวร เมื่อจิตใจไม่บริสุทธิ์ย่อมเป็นทางนำไปสู่อบายภูมิ
นี่คือหลักความจริงของโลกวิณญาณ

เพราะฉะนั้น อาตมาจึงไม่อยากจะเทศน์อะไรมาก
เพียงแต่ขอให้เข้าใจว่า จงมีขันติ สัจจะ บริสุทธิ์ เมตตา จงมั่นอยู่ในคุณธรรมทุก ๆ ประการ
อย่าติดเสียงไม่ว่าเสียงดีหรือเสียงไม่ดี อันตรายใด ๆ จะทำอะไรท่านไม่ได้เลย


ธรรมะจาก หลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น