วันอังคารที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2553

นอบน้อมถ่อมตน แพ้คือชนะ

คนเราทุกคนล้วนมีสัญชาตญาณแห่งการต่อสู้ และปรารถนาการบงการ กล่าวกันว่า "นกกระจอกแม้ตัวเล็กแต่มีอวัยวะครบ" คนเรามักรักศักดิ์ศรีอย่างรุนแรง อีกทั้งแสดงอาการหุนหัวและดึงดัน การจะข่มมันลงได้ คงไม่ใช่เรื่องยาก
ข้าพเจ้าเดิมมีอาการหยิ่งผยอง จองหองเป็นที่สุด เมื่อก่อนไม่เคยยอมอ่อนข้อ แต่เดี๋ยวนี้หากได้เรียนรู้ชีวิตการทำงานและการดำเนินชีวิต มีการปรับตัวปรับใจ ตอนนี้กับเมื่อก่อนแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
คนเรามีอาการหุนหันและดึงดัน เพราะทุกคนต่างคิดว่าตนเองถูกต้อง ทุกครั้งมักจะคิดเข้าข้างตนเองเสมอ เป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องถูกต้อง หากพูดเรื่อง "อ่อนน้อมถ่อมตน แพ้คือชนะ" กับคนที่อยู่ในอาการดังกล่าว พวกเขาย่อมไม่เข้าใจ เพราะนี่เป็นคำพูดของคนมีสติ
อีกทั้งความขัดแย้งระหว่างคนมีสติกับอารมณ์ความรู้สึกการดำรงอยู่ "จำเป็นด้วยหรือที่เราต้องเป็นฝ่ายพ่ายแพ้"
"แพ้คือชนะ"
"สามสิบหกกลยุทธ์ ถอยคือยอดกลยุทธ์"
"ยอมแพ้ชั่วคราว นำมาซึ่งชัยชนะในภายหลัง"
"ถูกคนอื่นตี กลางคืนนอนหลับดี"


การอ่อนน้อมถ่อมตน สำหรับชาวญี่ปุ่น ถือเป็นสูตรเข้าสังคมที่มีลักษณะความรู้ทั่วไป นี่คือมารยาทที่เกิดจาก"ความคิดที่ว่าง"
นอบน้อม (1)ปล่อยความคิดจิตใจให้ว่าง ไม่ร้อนรน ไม่ก้าวร้าว คำพูดและการกระทำเป็นแบบอนุรักษ์ รู้จักสำรวม (2)ตามหลักคำสอนทางศาสนานั้น ต้องสำนึกตนว่าเป็นคนบาป อ่อนแอและไร้พลังต้องขึ้นต่อเจตจำนงของเทพเจ้าอย่างเสมอต้นเสมอปลาย
"ถ่อมตัว" กดตัวเองให้ต่ำ ซึ่งคือสงบเสงี่ยมเจียมตัว
การไม่อ่อนน้อมถ่อมตน ย่อมนำมาซึ่งความเสียหาย การไม่ยอมรับของสังคม เหมือนมีชาวบ้านผู้เฒ่าผู้แก่ท่านเคยพูดว่า "คนอะไรไม่รู้จักความ รู้จักแต่หนังสือใช่ว่าจะเอาตัวรอด" เพราะความเหย่อหยิ่งเหมือนปูผู้ชอบอวดก้ามปูอันใหญ่ พลอยมีแต่คนหมั่นไส้ ย่อมอยากจะหักก้ามปูอันใหญ่นั้นเสีย"
เมื่อคิดเช่นนี้ได้ก็กลับมาถ่อมตัวดีกว่าแข็งกระด้างกันดีกว่าค่ะ ถ้าไม่เช่นนั้นสังคมคงจะร้อนเป็นไฟ เพราะการไม่ลดราวาศอก ไม่ยอมอ่อนน้อมถ่อมตน

วันอาทิตย์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2553

ผูกกายไว้ด้วยใจ


ชีวิตคนเรานั้น มีส่วนสำคัญคือกายกับใจรวมกันเข้าเป็นตัวเรา
ถ้าร่างกายและจิตใจอยู่ในสภาพที่ปกติ ชีวิตจะดำเนินไปได้อย่างราบรื่นและมีความสุข
แต่คงเป็นไปไม่ได้ที่ร่างกายของเราจะไม่เจ็บป่วย ไม่ทรุดโทรม
เพราะลักษณะของสังขารคือ สิ่งที่เกิดจากปัจจัยหลายอย่างมารวมกัน ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ มาประชุมกัน
ซึ่งธาตุแต่ละอย่างก็เปลี่ยนแปลงไม่เที่ยงแท้แน่นอน
และเป็นธรรมดาที่ร่างกายของเราต้องแปรเปลี่ยน
หรือป่วยไข้ ไม่สบายไปตามเหตุและปัจจัยที่เกื้อหนุน ทั้งจากภายในตัวเราและภายนอกตัวเรา ด้วย

ข้อมูลจากข่าวกรมสุขภาพจิต ISSN 0125-6475 แนะนำว่า
เมื่อกายป่วยจิตใจก็พลอยไม่สบาย หงุดหงิด ทุกข์กังวลใจไปต่างๆ นานา
เครียดทำให้ร่างกายที่เจ็บป่วยยิ่งอ่อนแอลง ภูมิต้านทานของร่างกายแย่ลง
พระพุทธองค์ทรงค้นคว้าเรื่องชีวิตไว้มากมาย ทรงหาหนทางที่จะช่วยให้คนพ้นทุกข์และอยู่อย่างเป็นสุข
พระองค์เคยพบคนที่ร่างกายเจ็บป่วย และตรัสสอนว่า ให้ทำในใจ
คือตั้งใจไว้ว่าแม้ร่างกายเราจะป่วย แต่ใจของเราจะไม่ป่วยตาม

การตั้งใจอย่างนี้เรียกว่า การภาวนา
โดยเอาสติผูกใจไว้ ไม่ให้ตกอยู่ในอำนาจครอบงำของความแปรเปลี่ยนทางร่างกาย
เมื่อใจมีสติตลอดเวลาก็เท่ากับมีพลังอำนาจเหนือความเจ็บป่วยนั้นได้

การผูกใจด้วยสติ คือ เอาจิตของเราไปผูกไว้กับสิ่งที่ดีงามผูกยึดไว้ด้วยหลักธรรม
ด้วยธรรมชาติของจิต ชอบปรุงแต่ง เมื่อกายไม่สบายจิตก็ปรุงแต่งตามความไม่สบายนั้น
ทำให้ยิ่งเพิ่มอาการเจ็บป่วยมากขึ้น
ฉะนั้น เราจะต้องรักษารากฐานของชีวิตไว้ ด้วยการรักษาจิตใจให้เข้มแข็งมีสตินั่นเอง
ส่วนการรักษาโรคทางกายก็เป็นหน้าที่ของแพทย์ ซึ่งเราต้องให้ความร่วมมือและปฏิบัติโดยเคร่งครัด

การรักษาจิตขณะกายป่วย คือ การรักษาสติ เพราะสติเปรียบเหมือนเชือกผูกมัดจิตให้อยู่นิ่งกับที่ได้
ธรรมชาติของจิตมันดิ้นรน ชอบปรุงแต่ง คิดฟุ้งซ่าน วุ่นวายไปกับอารมณ์ต่างๆ ที่มากระทบจิตอยู่ตลอดเวลา
จิตจึงเปรียบเหมือนลิงซึ่งมักไม่อยู่นิ่งต้องกระโดดไปมาอยู่ไม่สุข
พระพุทธองค์ทรงสอนว่าการจับลิง (จิต) ให้อยู่นิ่งต้องเอาเชือก (สติ) ผูกยึดไว้กับหลักที่ดีคือหลักธรรม
คำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งตรัสไว้ถูกต้องดีแล้วสามารถพิสูจน์ได้ด้วยตนเอง

การรักษาจิตด้วยสติ คือ เอาสติผูกไว้กับอารมณ์ที่ดีงามอยู่กับความเห็นถูก (สัมมาทิฏฐิ)
หรือการผูกจิตไว้กับคำว่า พุทโธ คำว่าพุทโธเป็นคำที่ดีงามเพราะเป็นนามของพระพุทธเจ้า
เมื่อเอามาเป็นสิ่งให้ใจยึดเหนี่ยวแล้ว จิตใจก็จะไม่ฟุ้งซ่านวิตกกังวล จิตใจจะผ่องใส เบิกบาน
เพราะพระนามของพระพุทธเจ้าเป็นนามบริสุทธิ์ เป็นพระนามที่แสดงถึงปัญญา ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
เป็นการภาวนาเพื่อส่งเสริมให้กำลังใจตนเอง ทำจิตใจของเราให้เข้มแข็ง อดทน อยู่อย่างมีสติและแน่วแน่
อยู่กับคำว่า แม้กายป่วย แต่ใจไม่ป่วยตาม
การภาวนาเช่นนี้จะทำให้จิตใจดีขึ้น ผ่องใสขึ้น การชนะใจตนเอง เอาชนะความเจ็บป่วยได้
อยู่กับความจริงได้อย่างเป็นธรรมดา

ถูกข่มขืนแล้วท้องควรทำแท้งไหม


การถูกข่มขืนไม่ใช่เรื่องง่าย และการติดลูกก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน
การถูกข่มขืนแล้วท้องนั้น ว่าไปแล้วก็คือการถูกลงโทษให้เสวยทุกข์สองต่อ ทั้งเจ็บกายเจ็บใจ
ทั้งต้องเลือกที่จะสร้างบาปสร้างกรรมต่อไปอีก
ผมรู้สึกสงสารและเห็นใจผู้หญิงที่สุดก็จากการเห็นว่า ต้องเกิดมาท่ามกลางความเสี่ยงทำนองนี้แหละ
แต่ถ้าคุณฆ่าเด็กแล้วถามผมว่าบาปไหม ผมแกล้งโกหกเพื่อความสบายใจของคุณไม่ได้
ต้องบอกตามตรงว่าคุณทำบาปเพราะ ‘จำใจฆ่า’ สิ่งมีชีวิตที่คุณ ‘ไม่ได้เป็นคนผิดที่ทำให้เกิดมา’ ครับ

พระพุทธเจ้าตรัสว่าความเป็นมนุษย์เริ่มต้นตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา
อย่างสมมุติว่าถ้าพระทำให้เด็กในท้องมีอันเป็นไป เช่นเจตนาแกล้งให้หญิงท้องลื่นล้มเพื่อจะได้แท้ง
อันนั้นถือว่าอาบัติปาราชิก คือถูกประหารให้ตายจากความเป็นภิกษุ และกลับมาบวชไม่ได้อีกเลยชั่วชีวิต
นั่นหมายความว่าพระศาสดาใช้ญาณหยั่งรู้ของท่าน เป็นเกณฑ์ตัดสินว่าชีวิตคนเริ่มจากในครรภ์มารดา
ไม่ใช่เริ่มตอนเราเห็นออกมาลืมตาดูโลก กำเนิดมนุษย์ไม่ได้อาศัยแค่เชื้อจากพ่อและแม่ผสานกัน
แต่ยังต้องมีวิญญาณหยั่งลงในครรภ์มารดาด้วย
(หากใครค้นคว้าพระไตรปิฎกเป็นขอให้อ่านกถาว่าด้วยปฏิจจสมุปบาทจากพระ สุตตันตปิฎกเล่ม ๒
ซึ่งพระพุทธองค์ทรงระบุชัดว่า
วิญญาณที่หยั่งลงในครรภ์มารดาเป็นเหตุปัจจัย ให้รูปและนามของทารกในครรภ์ตั้งอยู่ได้)


ระหว่างฆ่าคนที่เกิดมาแล้วกับฆ่าเด็กที่อยู่ในท้อง อาจบาปมากน้อยกว่ากันได้ครับ ต้องดูเป็นรายๆ
ก่อนอื่นต้องคำนึงว่าเด็กที่จะมาเข้าท้องคนได้นั้น แม้มีวิบากชั่วติดตัวมาแค่ไหน อย่างน้อยก็ต้องมีบุญพอสมควร
มิฉะนั้นจะไม่มีทางบังเอิญมาอยู่ในสถานภาพทารกมนุษย์เป็นอันขาด

พลังบุญที่ยังดิบๆ ยังไม่กลั่นออกมาเป็นรูปมนุษย์นี่นะครับ จัดเป็นพลังบุญที่รุนแรง
หากเด็กเกิดมาเป็นเด็กชั่วร้าย ทำเรื่องชั่วร้ายไปแล้ว พลังบุญจะลดลงระดับหนึ่ง
แต่เมื่อเขายังอยู่ในท้อง พลังบุญแห่งความเป็นมนุษย์ยังไม่ถูกลดระดับ
ถ้าคุณไปทำลายเขา ก็เท่ากับทำลายสิ่งที่มีศักยภาพสูงชิ้นหนึ่ง
พลังสะท้อนกลับของสิ่งที่มีศักยภาพสูง ย่อมไม่ก่อให้เกิดเรื่องเล็กน้อยแน่นอน

อาจเปรียบได้กับน้ำมันดิบ ตอนยังอยู่ในบ่อ ยังไม่ถูกกลั่นออกมาใช้ มันก็มีศักยภาพระดับหนึ่ง
ถ้าคุณเผามันทิ้ง ก็เท่ากับเผาโอกาสที่จะนำมาใช้ทั้งในทางคุณและในทางโทษ
คนดีๆ ที่จะเอาน้ำมันไปพัฒนาประเทศก็หมดสิทธิ์ แต่ถ้ามันถูกสูบขึ้นมากลั่นด้วยน้ำมือผู้ก่อการร้าย
คุณพบเข้าแล้วทำลายมัน ก็ได้ชื่อว่าทำการตัดกำลังผู้ร้าย ลดเหตุการณ์ร้ายๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้จากน้ำมันส่วนนั้น
ความผิดย่อมน้อยลงตามส่วนไปด้วย

สรุปคือฆ่าเด็กในท้องนั้นบาป ฆ่าคนชั่วก็บาป แต่ถ้าเรียงลำดับบาปมากไปหาบาปน้อย ก็ต้องว่าฆ่าคนดีบาปที่สุด
ฆ่าเด็กในท้องบาปรองลงมา และฆ่าคนชั่วนับว่าบาปน้อยที่สุด แต่ตรงนี้ ต้องทำความเข้าใจไว้ดีๆ นะครับ
ย้ำซ้ำอีกครั้ง ต่อให้เป็นคนชั่ว ธรรมชาติก็ไม่ได้มีข้อยกเว้น
การฆ่านั้นอย่างไรก็เป็นบาปวันยังค่ำ บาปน้อยที่สุดไม่ได้หมายความว่าไม่บาปเลย

ทำไมบางคนทำกรรมชั่วแล้วยังเชิดหน้าชูตาอยู่ได้


นี่เป็นข้อสงสัยที่ชวนให้คนไม่อยากเชื่อเรื่องผลกรรมกันมากที่สุด คือ ‘เลวขนาดนี้ไม่เห็นมันรับผลกรรมเสียที’

ลองคิดเพื่อความสบายใจก็แล้วกัน นึกให้ออกว่าที่เขาหน้าตาดี ท่าทางภูมิฐาน แถมเป็นใหญ่ในระดับบริหารได้ อย่างน้อยชาติก่อนคงต้องมีดี มีพฤติกรรมที่น่าภาคภูมิ แล้วก็เป็นใหญ่ในการบุญบางอย่าง อาจจะเคยเป็นแม่งานช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถ้าครั้งนั้นคุณเคยเกิดร่วมกับเขาและเห็นความมีน้ำใจของเขา คุณคงนึกแน่ๆ ว่าต่อไปเขาต้องได้ดี มีสุข มีความภูมิฐาน มีความเป็นใหญ่ แม้พลาดพลั้งทำชั่วไปบ้างก็คงไม่ให้ผลเร็วนัก และถ้าในชาตินั้นเขาก้มหน้าก้มตาทำดี แต่ไม่เห็นผลดีสักที คุณคงนึกเอาใจช่วย อยากเร่งรัดให้เขาได้ดีเร็วๆ เมื่อผลยังไม่งอกเงย คุณก็คงนึกแค้นใจแทน และพานจะไม่อยากเชื่อว่าวิบากกรรมมีจริงเอา

มาในชาตินี้ เขาเล่นบทตัวโกง ไม่ใช่พระเอก และเรื่องของการโกง ไม่ว่าจะเป็นงบอาหารกลางวัน งบวัสดุการเรียน งบนักเรียนยากจน งบค่าพาหนะ ฯลฯ ทุกอย่างต้องเอามาคิดหมดไม่ตกหล่น ถึงเวลากรรมเผล็ดผล เขาก็ต้องถูกเบียดเบียนเรื่องอาหารการกิน เรื่องการเรียน เรื่องการเดินทาง ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม ผลจากการเคยเล่นบทพระเอก ทำให้เขายังต้องเสวยสุขอีกระยะหนึ่ง กับการเป็นคนหน้าตาดี ภูมิฐานและเป็นใหญ่ในระดับบริหาร ความรู้สึกคับแค้นใจของคุณ ไม่อาจไปบังคับบัญชากรรมให้ทำหน้าที่เร็วๆ ได้

สิ่งที่คุณทำได้และควรทำ คือเป็นกลาง วางอุเบกขา ด้วยความเชื่อใจธรรมชาติว่าตัดสินทุกคนอย่างยุติธรรมเสมอ ทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว และต้องเสวยวิบากทั้งดีและชั่ว ตามระยะเวลาที่สมเหตุสมผล ตามแรงส่งของกรรมที่ทำไว้เสมอครับ

ท้อกับชะตาจนยากจะทำใจเชื่อเรื่องกรรม

ในภูมิมนุษย์นี้ เวลาคุณโดนเหวี่ยงลงต่ำ คุณทำได้สองทาง
อย่างแรกคือทอดอาลัยตายอยาก ปล่อยตัวเฉยจนตกรูดๆ ๆ ลงไปเรื่อยๆ
อย่างที่สองคือตะเกียกตะกายขึ้นมาทีละมาก หรือทีละน้อย

เมื่อก้มหน้าลงมอง คุณรู้แน่ๆ ว่าเบื้องล่างเป็นเหว เหวก็มีหลายระดับความลึก และจุดที่คุณพลัดหลงลงมาก็อาจใกล้หรือไกลจากปากเหว จะอยู่ที่เหวลึกหรือตื้นเพียงใด จะร่วงหล่นลงมาแล้วแค่ไหน ตราบใดยังไม่ถึงพื้น คุณต้องหาทางทำให้ตัวเองไม่ท้อที่จะปีนป่ายขึ้นไปให้ได้ เพราะถ้ายอมจำนน ไม่ตะเกียกตะกาย คุณจะยิ่งตกลงไปมากกว่านี้แน่นอน

ถ้าจะมอง ก็ขอให้มองก้นเหวให้เกิดความกลัว และเกิดลูกฮึด คิดบากบั่นขึ้นสูงต่อไป อย่าเล็งยอดที่ยังมองไม่เห็น อันจะทำให้ท้อ เมื่อกัดฟันก้าวต่อก้าว ขั้นต่อขั้น ในที่สุดคุณจะเลิกท้อเพราะมองไม่เห็นจุดหมายปลายทาง แต่จะกระตือรือร้นเต็มที่ เหมือนคนสั่งสมพละกำลังจากการเล่นกีฬาจนอยู่ตัว

หากเห็นภูมิที่ต่ำกว่ามนุษย์ คุณจะทราบว่าเมื่อโดนเหวี่ยงลงไปอยู่ที่นั่นแล้ว ตะเกียกตะกายจนเลือดกระเด็นออกมาจากตา ก็ป่ายปีนขึ้นสูงไม่ได้เลยจนกว่าจะหมดแรงยึดเหนี่ยวของวิบากมืด เชื่อเถอะว่าในอบายภูมิคลาคล่ำไปด้วยจิตวิญญาณที่อยากมีโอกาสแบบคุณ เห็นคุณยังดีกว่าพวกเขาตั้งไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ครับ

ทุกสิ่งเกิดจากกรรมเก่าที่ทำไว้หรือไม่


พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้ที่เชื่อว่าทุกสิ่งเกิดจากกรรมเก่า จัดเป็นความเข้าใจผิดชนิดหนึ่ง
โดยท่านให้พิจารณาว่าถ้าทุกสิ่งเกิดจากกรรมเก่าทั้งหมดแล้ว ก็แปลว่าการตัดสินใจฆ่า การตัดสินใจขโมย
การตัดสินใจผิดลูกผิดเมียชาวบ้าน การตัดสินใจโกหก และการตัดสินใจกินเหล้าเมายา
ล้วนเป็นผลมาจากกรรมเก่าด้วยน่ะสิ

กรรมเก่าในอดีตชาติตระเตรียมเขาวงกตไว้ให้เราเดิน
ในปัจจุบันชาติเรามีสิทธิ์ตัดสินใจว่า จะเลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวาต่างๆ

กรรมเก่าในอดีตชาติตระเตรียมอุปสรรคและเครื่องทุ่นแรงไว้เป็นหย่อมๆ
ในปัจจุบันชาติเรามีสิทธิ์ตัดสินใจว่าจะทำลายหรือยอมแพ้อุปสรรค
กับทั้งมีสิทธิ์ตัดสินใจว่าจะหยิบฉวยหรือทิ้งขว้างเครื่องทุ่นแรง

การมีครูที่ดี การทำทานรักษาศีลให้จิตเห็นความจริงชัดเจนไม่บิดเบี้ยว
ตลอดจนความเป็นคนช่างสังเกตว่าคิดอย่างไรจิตจึงสว่างเบา ทำเหตุอย่างไรจิตจึงมืดทึบ
นั่นแหละจะมีส่วนช่วยให้การตัดสินใจเลือกครั้งสำคัญๆ ในวงกตที่ถูกขีดด้วยกรรมเก่านี้
เป็นไปเพื่อพบทางออก สุดสิ้นการงมหลงทางในเขาวงกตเสียที

การตัดสินใจใหม่ๆ และการค้นให้พบทางออกนั้น
เป็นเรื่องของกรรมใหม่แท้ๆ ตัวตนเก่าๆ ของคุณตายไปแล้ว ฟื้นขึ้นมาช่วยคุณไม่ได้แล้ว
และคุณก็ไม่สามารถขอร้องให้ตัวตนนั้นๆ เปลี่ยนแปลงกรรม เพื่อจะได้ให้ผลเป็นตัวคุณที่ดีขึ้นแต่อย่างใด

อีกประการหนึ่ง บางสิ่งบางอย่างไม่ได้เกิดขึ้นจากบุญหรือบาปอันเคยประกอบไว้
ทว่าเป็นผลลัพธ์อันเป็นรูปธรรมที่เกิดจากเหตุอันเป็นรูปธรรม
ยกตัวอย่างเช่นคุณชอบกินอาหารบางอย่างที่แสลงกับท้อง กินเข้าไปแล้วท้องเสีย
การท้องเสียเกิดขึ้นจากอาหารที่เลือกกิน ไม่ใช่เกิดจากกรรมเก่า
หรือเห็นฝนตกอยากออกไปวิ่งเล่น ด้วยความตั้งใจจะทำให้เกิดความสนุกหรือผ่อน คลายหายร้อน
แต่กลับเป็นหวัด อันนี้ก็ไม่ได้มาจากกรรมเก่าเช่นกัน

แต่หากคุณจำเป็นต้องอยู่ในที่ที่เขามีแต่อาหารแสลงสำหรับคุณ
หรืออยู่ในที่ที่ฝนตกชุกไม่เหมาะกับสุขภาพของคุณ อันนั้นอาจเป็นผลของกรรมเก่าได้เหมือนกัน
ศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ จะเป็นตัวชี้ว่าคุณทำกรรมเก่ามาหนักแค่ไหน ต้องได้รับผลอีกนานประมาณใด
กว่าจะสามารถตัดสินใจเลือกความเปลี่ยนแปลงในทางดีขึ้น

กล่าวโดยสรุปคือ
อย่างไรคุณก็ต้องสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ทำมาหากินโดยสุจริต
และตัดสินใจเพื่อความสุขความเจริญโดยส่วนเดียว
ไม่ต้องก้มหน้าก้มตาเดินอยู่บนเส้นทางที่กรรมเก่าขีดไว้เสมอไปครับ

อุบายระงับความโกรธแบบไม่เก็บกดสำหรับมือใหม่

การฝึกห้ามใจขณะโกรธนั้น ก็คือการฝืนต้านแรงโกรธไม่ให้มันบีบบังคับใจเราทำเรื่องร้าย จะว่าเป็นกีฬาทางจิตก็ได้ครับ กล่าวคือถ้า ‘เล่นกีฬาทางจิต’ อย่างพอดี ก็ทำให้จิตเข้มแข็งขึ้น เหมือนยกน้ำหนักฝืนแรงโน้มถ่วงโลกบ่อยๆ หากเหมาะกับกำลังก็ย่อมได้ผลเป็นมัดเนื้อที่แน่นหนา คุณจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นจอมพลัง และเชื่อมั่นว่าสามารถเอาชนะอุปสรรคได้มากขึ้นทุกที

อย่างไรก็ตาม ถ้าห้ามใจหนักเกินขีดจำกัดก็อาจส่งผลเสีย เช่น ทำให้จิตอ่อนแอลง นั่นก็คล้ายการฝืนยกน้ำหนักเกินตัว กล้ามเนื้ออาจอักเสบได้ ฉีกได้ หรือแย่กว่านั้นคือหัวไหล่หลุดไปเลย คุณจะท้อแท้หรือถึงกับสิ้นหวัง สิ้นศรัทธาในตนเองลง ไม่เชื่อว่าตนจะ ‘เล่นกีฬาทางจิต’ ด้วยการต้านโทสะกับใครไหว

หากสำรวจตนเองแล้วพบว่ายังอ่อนแอ ยังปวกเปียก ยังแพ้ความโกรธง่าย ต้องหลุดปากพล่ามพูดระบายอารมณ์ให้กับเรื่องเล็กเรื่องน้อย ผมก็ขอแนะนำให้ ‘ฝึกยกน้ำหนัก’ ให้พอดีตัวก่อน คือถ้าชนวนความโมโหเป็นเรื่องเล็ก เช่น ต้องนั่งรอใครนานหน่อย หรือต้องทนฟังใครพูดจุกจิกน่ารำคาญ ก็ให้ตั้งใจปิดปากเงียบ และระงับความเคลื่อนไหวทางกาย ไม่แม้จะทำตาขุ่น เช่นนี้คุณจะรู้สึกถึงความอดทน รู้สึกถึงการฝืนห้ามใจไม่ด่า ไม่ทำปึงปัง ทั้งที่ความโกรธสั่งให้ด่า สั่งให้ปึงปัง

ความอดกลั้นตรงๆ ที่ผ่านด่านทดสอบได้สำเร็จแต่ละครั้ง จะก่อให้เกิดความรู้สึกมั่นคง หนักแน่น และแข็งแรงขึ้นทีละนิด พอสอบผ่านในเรื่องเล็กหลายครั้งเข้า คุณจะทราบชัดว่าขันติทรงตัวไปเอง เมื่อเกิดเรื่องเล็กเรื่องน้อยน่ารำคาญก็ไม่ต้อง ‘ฝืนใจ’ อีกต่อไป ผ่านพ้นได้ง่ายเหมือนยกลูกเหล็กเบาหวิว ความโกรธและความขัดเคืองจะเหมือนแมลงหวี่แมลงวัน ที่ไม่อาจบินผ่านกระจกเข้ามาในบ้านคุณ คุณจะรู้สึกสบายและมองเห็นพวกมันอยู่ข้างนอก เป็นของภายนอก ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของบ้านอีกแล้ว

แต่ถ้าชนวนให้เกิดความโกรธเกรี้ยวเป็นเรื่องใหญ่ ประเภทเมียรักขอหย่า เจ้านายอาละวาด หรือเป็นที่คาดหมายได้ว่าโดนเบี้ยวหนี้แน่ แบบนี้ยากจะนิ่ง เพราะเกินกำลังต้านของคุณ ก็ให้หารูระบายบ้าง อาจใช้คำพูดระบายโทสะได้ แต่อย่าให้เป็นคำด่าเพื่อให้เกิดความสะใจอย่างเดียว ขอให้ปนๆ ถ้อยคำผ่อนหนักเป็นเบาเสียบ้าง

อารมณ์ขันเป็นเครื่องมือเยียวยาที่วิเศษ แม้ถ้อยคำเล็กๆ น้อยๆ ที่ชวนมองโลกด้านดี ด้านตลก ก็ช่วยผ่อนหนักเป็นเบาได้มากอย่างคาดไม่ถึง เช่น ถ้าเมียรักขอหย่า อย่าเอาแต่ด่าเธอแบบหนำใจท่าเดียว ให้หยอดมุขจุ๋มจิ๋มลงไป เช่น จะให้คุณเตรียมจัดงานหย่าที่โรงแรมไหนดี อย่าเลือกที่เคยใช้สำหรับงานแต่งล่ะ จ่ายแพงไม่เห็นได้อะไรเลย

ขอให้มีเสียงหัวเราะเล็กๆ เถอะ ให้เสียงหัวเราะเล็กๆ พาคุณผ่านการสอบครั้งใหญ่หลายๆ หน ในที่สุดคุณจะรู้จักมองโลกในแง่ดี รุ่มรวยอารมณ์ขัน วนเวียนอยู่ในหนองน้ำแห่งความเศร้าได้โดยไม่เปียก หรือถึงเปียกก็ตัวแห้งเร็ว

คุณอาจเถียงว่าคนกำลังเครียดจะให้คิดคำตลกได้ยังไง ขอให้ลองแล้วจะรู้นะครับ ตอนกำลังเครียด กำลังเจ็บปวดจุกอกจุกใจนั่นแหละ เหมาะเลยที่จะหัดทำตลกเสียบ้าง เพราะตอนเครียดจะมีแรงอัดอยู่ในปากและในหัวอกระดับหนึ่ง หากไม่ปล่อยให้ระเบิดเป็นคำพูดร้ายๆ แต่เปลี่ยนเป็นขับดันให้คำแห่งความบันเทิงหลุดออกมาแทน คุณจะเป็นตลกหน้าตายได้อย่างไม่นึกฝัน

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะการทำตลกในสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานได้ อย่างน้อยคุณต้องมีสติ เมื่อมีสติย่อมไม่พูดพล่อย เมื่อไม่พูดพล่อยย่อมเกิดความฉลาดหาคำพูดจี้ๆ ที่ฟังแล้วอดขำไม่ได้ หรือแม้พูดไม่ขำ แค่ทำท่าตลกตอนตกอยู่ภายใต้แรงกดดัน ความกดดันก็จะแปรเป็นแรงอัดให้คนอื่นเห็นแล้วหัวเราะได้เหมือนกัน

สรุปคือการระงับความโกรธสำหรับมือใหม่นั้น อาจใช้วิธีงัดข้อกับความโกรธตรงๆ หรือไม่ก็อาศัยอารมณ์ขันเข้าช่วย ทำอย่างไรก็ได้ ขอให้หายโกรธแบบไม่มีความอัดอกอัดใจตกค้างอยู่เป็นพอครับ

ในที่สุดคุณจะพบว่ามีบันไดขั้นต่อไปให้ขึ้นสูงได้อีก นั่นคือการเห็นความโกรธไม่ใช่คุณ มันเป็นภาวะหลอกใจให้หลงเกิดอุปาทานว่ามีตัวคุณเป็นผู้โกรธ แท้จริงมีแต่ภาวะโกรธ หากถูกรู้ถูกเห็นว่าเกิดขึ้นแล้วต้องดับลงเป็นธรรมดา อาการหลงเชื่อว่าความโกรธเป็นตัวคุณจะเบาบางและเหลือน้อยลงทุกที กระทั่งแยกเป็นต่างหากจากกันไปเลย

ความโกรธก็ส่วนหนึ่ง จิตที่เห็นความโกรธก็ส่วนหนึ่ง มี ‘ความว่างจากตัวคุณ’ อยู่ตรงกลาง ถ้าไปถึงขั้นนั้นได้ ก็เรียกว่าเปลี่ยนสิ่งที่เป็นโทษ ให้กลายเป็นประโยชน์สูงสุดสำเร็จแล้ว

จงขอพร 9 ประการให้ตนเองเถิด

คำว่า พร เป็นคำมีรากมาจาก บาลีสันสกฤต (บาลี, สันสกฤต=วร) แปลว่า เลือก สิ่งที่เลือกแล้วจึงเรียกว่า "พร"
คำว่า ขอพร ในความหมายเดิมจึงหมายถึงว่า ขอเลือกสิ่งที่ตนคิดว่าดีที่สุดเพื่อกระทำให้เกิดมีขึ้นในตน
คำว่า อวยพร จึงหมายถึง ให้โอกาสคนที่ขอนั้นทำตามที่เลือก

ธรรมเนียมการขอพร และอวยพร
สมัยนี้กลับกลายเป็นว่า ไปขอความสุขความสำเร็จจากผู้ถูกขอ หรือเขาไม่ขอ แต่ก็จะให้พร คืออวยพรให้เขาได้รับสิ่งดีๆ

ดูราวกับว่าสิ่งที่ดีเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นความสุข ความสำเร็จทั้งหลาย เป็นสิ่งที่หยิบยื่นให้กันได้...

ผมอยากให้ประชาชนคนไทยได้ตั้งสัจจะอธิษฐาน ขอพร
คือขอโอกาสให้ตนได้กระทำความดี และให้พร คือเปิดโอกาสให้คนอื่นได้ทำความดีสัก 9 ข้อ คือ
1.ขอให้ข้าพเจ้ามีความเพียรพยายามทำความดี สร้างความเจริญก้าวหน้าแก่ตนและสังคม
โดยไม่นั่งคอยนอนคอยโชคชะตา หรืออ้อนวอนร้องขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ช่วยเหลือ

2.ขอให้ข้าพเจ้าจงอย่าได้ลืมตน ดูถูกเหยียดหยามคนอื่น ซึ่งอาจด้อยกว่าในด้านใดด้านหนึ่ง
ขอให้มีความเห็นอกเห็นใจคนอื่น ให้เกียรติคนอื่น มีความอ่อนโยน เอื้ออาทรกันในฐานเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

3.ขอให้ข้าพเจ้าอย่ารู้สึกริษยาบุคคลที่ประสบความสุขความสำเร็จในชีวิต
ให้มีแต่ความพลอยยินดีในความสุขความสำเร็จของเขาด้วยใจจริง

4.ขอให้ข้าพเจ้าอย่าได้เหยียดหยามซ้ำเติมผู้ที่ผิดพลาดในชีวิต ด้วยเหตุใดๆ ก็ตาม
จงมีแต่ความเมตตากรุณา หาทางช่วยเหลือเขาเท่าที่จะพึงทำได้

5.ขอให้ข้าพเจ้าจงมีจิตใจเข้มแข็ง อดทน ไม่จู้จี้ขี้บ่น
ทำตนให้เป็นที่พึ่งแก่ตนและคนอื่นได้ ขออย่าเป็นคนอ่อนแอเหลียวหาที่พึ่งนอกตัว

6.ขออย่าให้ข้าพเจ้าคิดเอาเปรียบเอาแต่ได้เพื่อตัวเอง เช่นเถลไถล ไม่ทำงาน
รีบเลิกงานก่อนเวลา อาศัยหน้าที่การงานแสวงประโยชน์เพื่อตน
รวมถึงอย่าได้เอาเปรียบประเทศชาติโดยการหลีกเลี่ยงภาษี หรือเสียภาษีน้อยกว่าที่เป็นจริง

7.ขอให้ข้าพเจ้าหมั่นปลูกฝังความรู้สึกมีเมตตาปรารถนาดีต่อคนอื่น และมีความกรุณาคิดจะช่วยเหลือคนอื่นให้พ้นทุกข์
คิดว่าทุกคนเป็นมิตร ไม่มีใครเป็นศัตรูที่จะต้องกำจัดตัดรอน
ใครที่คิดทำผิดทำชั่วก็ขอให้เขากลับตัวได้เสียเถิด อย่าทำผิดทำชั่วอีกเลย

8.ขอให้ข้าพเจ้าอย่าเป็นคนมักโกรธ ฉุนเฉียวเกรี้ยวกราด เอาแต่ใจตนเอง
ถ้าห้ามความโกรธไม่ได้ ก็ขออย่าได้ผูกอาฆาตคิดประทุษร้าย ให้เขาถึงความพินาศเลย

9.ขอให้ข้าพเจ้ามีความรู้ในพระศาสนาเข้าใจธรรม สอนตนเองได้ มีปัญญาเข้าใจแก้ไขปัญหาตามแนวทางของพระพุทธองค์
ยึดมั่นถือมั่นน้อย รู้เท่าทันโลกและชีวิตแสวงหาความสุขสงบภายในด้วยตนเอง ทั้งสามารถแบ่งปัน
แผ่ขยายความสุขสงบนั้น ให้เบ่งบานในใจของเพื่อนร่วมสังสารวัฏโดยทั่วหน้ากันเทอญ

วิธีขอพรอย่างไรให้ได้อย่างขอ

เคยขอพรไหม ถ้าเคยปกติ คุณขออะไรกันบ้าง ?
การขอพร เสมือนเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจ ให้กับตัวเรา ทุกครั้งที่เราขอเสร็จมันเหมือนทำให้เรามีความหวังมากขึ้น
แต่คุณเคยคิดไหมว่าสิ่งที่คุณขอกันนั้นมาถูกต้องหรือเปล่า แล้วมันได้ตามที่เราขอทุกครั้งหรือไม่

วันนี้ผมขอแนะนำพร 3 ประการให้ทุกท่านที่อ่านข้อความนี้
1. ปัญญา
ขอให้เรามี ปัญญา เพื่อที่จะได้ใช้ปัญญาในการแยกแยะสิ่งที่เกิดขึ้นกับชีวิตเรา ว่าสิ่งไหนควบคุมได้ และสิ่งไหนควบคุมไม่ได้
2. พลัง
ขอให้เรามีพลัง เพื่อใช้จัดการกับสิ่งที่เราควบคุมได้ จากการแยกแยะของปัญญา
3. สติ
ขอให้เรามีสติ เพื่อควบคุมในสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ พูดง่าย ๆ เพื่อให้เรามีสตินั่นเอง
จะได้ควบคุมตัวเราให้ระลึกได้ว่าสิ่งนี้เรามิอาจควบคุมมันได้

3 สิ่งนี้ เป็นสิ่งที่เราขอได้ทุกที่ แม้กระทั่งตัวเราเอง หากเราระลึกและปฎิบัติกับสิ่งนี้อยู่ตลอดเวลา คุณก็จะได้ตามที่คุณขอ
โปรดจำไว้ว่าทุกครั้งที่คุณขอเสร็จคุณมีความหวังแล้ว แต่อย่าคาดหวัง

เราควรตั้งจิตยินดีในความสำเร็จ หรือเจริญรุ่งเรืองให้กับคนอื่นอย่างไร

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจครับว่า การมีมุทิตาจิตตามหลักพรหมวิหาร ๔ นั้น ไม่ใช่ร่วมยินดีตะพึดตะพือ
แต่เป็นการร่วมมีใจเป็นกุศล หรือพูดง่ายๆ คืออนุโมทนากับความสำเร็จในบุญของผู้อื่นเป็นหลัก

คำถามนี้ต้องถูกเบี่ยงเบนเสียใหม่อย่างนี้ต่างหากครับ
คือจะไม่อิจฉาริษยา จนพลอยหลงเห็นดีเห็นงามกับการรวย ด้วยวิธีโกงกินหรือแก้ผ้าได้อย่างไร?
คำตอบสำหรับคำถามนี้ ได้แก่ข้อธรรมสุดท้ายของพรหมวิหาร ๔ คือ ‘อุเบกขา’

การมีอุเบกขาในพรหมวิหารธรรมนั้น หาใช่การเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ทำไม่รู้ไม่ชี้ ไม่ยินยลสนใจแต่อย่างใด
พฤติกรรมทางกายของคุณ อาจต่อต้านรูปแบบความชั่วร้ายตามหน้าที่ข้าราชการ หรือหน้าที่พลเมืองดี
เท่าที่ตัวเองจะไปมีส่วนเกี่ยวข้อง
แต่พฤติกรรมทางใจของคุณจะต้องไม่โกรธ ไม่เกลียด ไม่อิจฉาริษยา ไม่พลอยเห็นดีเห็นงามตามเขาไป

อุเบกขาที่ประกอบด้วยความเฉื่อยเฉยไม่รู้ไม่ชี้นั้น เรียกว่าอุเบกขาแบบเอ๋อ
ส่วนอุเบกขาที่ประกอบด้วยความรู้เหตุรู้ผลนั้น เรียกว่าอุเบกขาแบบฉลาด
พุทธเราสนับสนุนให้คนฉลาด มีปัญญารู้เหตุรู้ผล

ถ้ายังไม่เคยพิจารณา ก็ต้องพิจารณาเป็นเรื่องๆ เช่น ความรวยของเขาเป็นเพียงภาพลวงตาชั่วคราว
เป็นฐานให้เขาหลงผิดคิดมิชอบ เปิดโอกาสให้โกงยิ่งๆ ขึ้นไปไม่รู้จบรู้สิ้น
เพราะวิสัยคนโกงย่อมนิยมการโกงไปตลอดชีพ
น่าสงสารเสียมากกว่าที่เขามีเวลา มีเครื่องมืออำนวยความสะดวกในการสั่งสมด้านมืดเข้าตัว
รังแต่จะมีผลให้ไปเกิดในอบายภูมิ เป็นแน่แท้

สรุปคือ อย่ายินดีกับการก่อบาปก่อกรรมของใคร ในขณะที่มองตามจริงไปด้วยว่าเขามีกินก็เพราะมีเหตุปัจจัย
ไม่จำเป็นต้องเกลียดเขาเพียงเพราะเขากินแพงกว่าเรา เราเอาตัวให้รอดด้วยการมีจิตที่ไม่เกลียดนั่นแหละ ประเสริฐสุดแล้วครับ

สังคมมีแต่เรื่องหดหู่ จะทำใจให้เป็นบุญได้อย่างไร

แต่ละวันมีเรื่องที่เข้ามากระทบใจ หรือเข้าหูเข้าตาให้รับรู้มากมาย
แน่นอนครับว่าต้องก่อปฏิกิริยาทางใจในทางใดทางหนึ่ง ไม่พ้นความชอบ ชัง รัก เกลียด นิยม หมั่นไส้ ฯลฯ
พูดง่ายๆ คือถูกใจเราก็อารมณ์เป็นบวก ผิดใจเราก็อารมณ์เป็นลบ

เรื่องของเรื่องคือ ถ้าเราจะตัดสินใจไหลไปตามกระแส โอกาสที่เป็นไปได้มาก
คือคุณจะมีอารมณ์เป็นลบมากกว่าบวก เพราะโลกนี้มีแต่เรื่องร้ายๆ มากระทบยิ่งกว่าเรื่องดีๆ
โอกาสเจอเรื่องดีนั้นยาก โอกาสพบเรื่องร้ายนั้นง่าย

พุทธศาสนาชี้ให้เราเห็นความจริงนั่นคือ
ยิ่งจิตของคุณมืดด้วยการสั่งสมอารมณ์ลบมากขึ้นเท่าไร โอกาสได้ไปอบายก็มีสูงขึ้นเท่านั้น
ธรรมชาติจะไม่ฟังข้ออ้างว่าคุณขาดกำลังใจ วันๆ เจอแต่เศษขยะและกลิ่นน้ำครำเน่าเหม็น ยิ้มไม่ได้ สดชื่นไม่ไหว
ถึงเวลาธรรมชาติก็แค่ตัดสินว่าคุณมืดมากกว่าสว่าง หรือสว่างมากกว่ามืด เท่านั้นจริงๆที่ธรรมชาติทำ

เมื่อมีพุทธศาสนาแล้ว มีการชี้ให้เห็นความจริงแล้ว ที่เหลือก็คือการตัดสินใจเลือก ว่าจะทำตัวมืดหรือสว่าง
ข้อธรรมสำคัญทางพุทธศาสนา หาใช่การบอกว่าอยู่ในโลกนี้ง่ายดาย
ตรงข้าม ยิ่งจะดีเท่าไร ก็ยิ่งต้องว่ายทวนสวนกระแสยิ่งขึ้นเท่านั้น

สรุปคือถ้าจะเป็นพุทธแท้ คุณต้องเข้มแข็งกว่าที่เป็นอยู่นี้ให้ได้นะครับ แม้ตกอยู่ในโลกของการรบกวน
คุณก็สงบจิตไว้ไม่รบกวนใครต่อ และแม้ถูกขังให้อยู่ร่วมกับเหล่าอันธพาลจอมเบียดเบียน
คุณก็ต้องใจเย็น ไม่เห็นเป็นเรื่องบังคับให้เบียดเบียนตอบ

การเป็นผู้ไม่เบียดเบียนใครก่อน และการเป็นผู้ไม่มีเวรด้วยการพยาบาทอาฆาตใครนั่นแหละ
นับได้ว่าเป็นชาวพุทธ นับได้ว่ามีสิทธิ์พ้นทุกข์พ้นร้อนจากวงจรอุบาทว์ วงจรภัยเวรแห่งการเบียดเบียนกันโดยแท้

ข้อธรรมว่าด้วยการอยู่ร่วมกับมนุษย์และสัตว์นั้น ได้แก่พรหมวิหาร ๔
ซึ่งสนับสนุนให้จิตมีความสว่างไสวในทุกสถานการณ์ พรหมวิหาร ๔ ได้แก่

๑) เมตตา คือปรารถนาการไม่เบียดเบียนและการให้ผู้อื่นสุขกายสุขใจ
ถ้าใจเป็นสุขแล้วอยากให้คนอื่นสุขตาม นั่นแหละเมตตา
ถ้าโกรธใครแล้วเห็นจิตตนเอง เห็นโทษอันร้อนแรงของความโกรธในตนเองก่อนเห็นหน้าเขา
แล้วเลือกที่จะเอาความเย็น สามารถปล่อยคำพูดกับการกระทำเย็นๆ ออกไปได้ นั่นแหละสุดยอดของเมตตา

๒) กรุณา คือเต็มใจช่วยหากไม่เหลือบ่ากว่าแรง
ถ้าอยู่รอดปลอดภัยสบายตัวแล้วนึกอยากสงเคราะห์ผู้ด้อยโอกาส นั่นแหละกรุณา
ถ้าเห็นใครลำบากกระเสือกกระสน แล้วปรารถนาจะทุ่มกายทุ่มใจเข้าไปช่วยกับมือ
ไม่นิ่งดูดายกับเสียงร้องขอความช่วยเหลือ แม้ต้องกลายเป็นผู้ลำบากเสียเอง นั่นแหละสุดยอดของกรุณา

๓) มุทิตา คือยินดีในความสำเร็จอันเป็นกุศลของผู้อื่น
ถ้าเห็นใครทำบุญทำกุศลสำเร็จแล้วชื่นบานยินดีราวกับได้ทำเอง นั่นแหละมุทิตา
ถ้าเห็นใครได้มรรคได้ผลหรือพ้นทุกข์พ้นร้อนแน่นอน
แล้วเกิดความปลาบปลื้มโสมนัส ราวกับตนบรรลุมรรคผลหรือพ้นทุกข์พ้นร้อนเสียเอง นั่นแหละสุดยอดของมุทิตา

๔) อุเบกขา คือวางเฉยเสียได้กับผลกรรมของแต่ละคน
ถ้าเห็นตามจริงว่าใครคิด ใครพูด ใครทำอย่างไรก็เป็นคนอย่างนั้น
หรือได้รับผลอันสมควรกับการเป็นคนอย่างนั้นแล้ว เขาสร้างที่พึ่งและเครื่องลงทัณฑ์ให้ตนเอง ไม่มีผู้อื่นช่วยได้
เห็นอย่างนั้นแหละอุเบกขา และถ้าเห็นตามจริงด้วยทิพยจักขุอันล่วงประสาทตาของมนุษย์
รู้แจ้งเห็นจริงตลอดสายว่าสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ถ้าคิดดี พูดดี ทำดีย่อมไปสู่สุคติหลังตาย
ส่วนถ้าคิดร้าย พูดร้าย ทำร้ายย่อมไปสู่ทุคติหลังตาย หาใครช่วยอุ้มช่วยพยุงไม่ได้ นั่นแหละสุดยอดของอุเบกขา

หากคุณตัดสินใจยึดหลักพรหมวิหาร ๔ ดังกล่าวแล้วนี้
จะไม่มีข้ออ้างใดๆ เลยครับสำหรับการเอาตัวให้รอดจากทุคติ
จิตของคุณจะมีที่อยู่อันสุขสงบ คือมีวิหารเยี่ยงพระพรหมผู้ปราศจากภัยเวร
แต่หากไม่ปลงใจยึดหลักพรหมวิหาร ๔ คุณก็จะมีข้ออ้างร่ำไปกับการร้ายตอบโลกเมื่อถูกโลกทำร้าย
ที่อยู่ของจิตคุณ ถ้าไม่ใช่นรกก็ใกล้นรกนั่นเอง

คุณโอดครวญกับมนุษย์ด้วยกันเช่นผมนี้ได้
แต่พ้นจากมนุษย์ด้วยกัน สิ่งที่เหลือคือธรรมชาติทางใจของตัวเองที่คุณจะไม่มีสิทธิ์โต้แย้ง
ไม่มีสิทธิ์ต่อต้านหรือโอดครวญขอความเห็นใจใดๆ ทั้งสิ้นเลยครับ

ต้องสงสารเด็กขอทานถูกตัดมือตัดเท้าไหม

ควรสงสารเหมือนเดิมครับ แต่เปลี่ยนมุมมองใหม่ อย่าไปเคียดแค้นคนที่ทำกับเด็กอย่างนี้
ให้สงสารและเห็นใจที่ต่างก็พลาดทำบาปมหันต์ไปด้วยความไม่รู้
หมั่นพิจารณาให้หนักว่าด้วยความไม่รู้สัตว์จึงก่อบาป
หากศรัทธากรรมวิบากแล้ว รู้ชัดในเหตุผลกลกรรมวิบากแจ่มแจ้งแล้ว สัตว์ย่อมประกอบแต่บุญ
และไม่เฉียดบาปเลยแม้แต่จะคิด


ภาพน่าสลดสังเวชของเด็กที่ถูกตัดมือตัดเท้า จะไม่ยุติบนสะพานลอยที่คุณเห็น
แต่มันจะเป็นรากที่ทอดเงาไปสู่ความมีภาพเช่นนี้อีก
ใครทำกับเด็กไว้อย่างไร เขาก็ต้องไปเป็นอย่างนั้น หรือยิ่งกว่านั้น
ส่วนภาพน่าเวทนาของเด็กที่ถูกตัดมือตัดเท้าในปัจจุบัน ก็สมเหตุสมผลกับอดีตกรรมของพวกเขาแล้ว
ไม่มีใครเคราะห์ร้ายโดยบังเอิญ กรรมเก่าที่ทำเป็นประจำ จะบังคับเส้นทางชีวิตของทุกคนอยู่อย่างเสมอภาค

อย่างไรก็ตาม ในฐานะเพื่อนร่วมทุกข์ เพื่อนร่วมโลก อันควรมีหน้าที่เกื้อกูลกันและกัน
เมื่อพบเห็นเด็กถูกทำร้าย ก็ขอให้ทราบว่าผู้พบเห็นเช่นคุณคือโอกาสรอดของเขา ช่วยอะไรได้ก็ช่วย
รู้เบาะแสแจ้งจับได้ก็แจ้ง หรือมีส่วนร่วมมือกับราชการในทางใดทางหนึ่งได้ก็ร่วม
ไม่ใช่พอรู้ว่าเป็นเรื่องของกรรมวิบากแล้วจะแปลว่าสมควรดูดายครับ

สับสนเกี่ยวกับวิธีทำใจขณะให้ทาน

วิธีทำทานให้ได้ถึงอกถึงใจนะครับ เอาง่ายๆ เลย นึกให้ออกว่าคนรับเขาจะรู้สึกอย่างไร
ตรงที่นึกออกนั่นแหละ คุณจะปลื้มปีติตื้นตันราวกับเป็นผู้รับเสียเอง
ตรงที่ปลื้มปีติตื้นตันนั่นแหละ คือทานจิตอันเป็นมหากุศล
ตรงที่เป็นทานจิตแท้ๆ นั่นแหละ แหล่งรวมองค์ประกอบในการทำทานที่ดีไว้ทั้งหมด
นับตั้งแต่มีความเห็นอกเห็นใจ มีความคิดอนุเคราะห์ เป็นต้น

ทุกคนเคยเป็นผู้รับมาก่อน และน่าจะต้องเคยผ่านประสบการณ์ยินดีปรีดาที่ได้รับของถูกใจ
หรือของสำคัญซึ่งจำเป็นต้องใช้ด่วน หากจำความรู้สึกขณะเป็นผู้รับได้ คุณก็น่าจะ‘รู้ใจ’ ผู้รับของของคุณ
กล่าวคือเวลามองข้าวของที่คุณจะมอบให้แก่ผู้รับ จะนึกออกทันทีว่า
ผู้รับเขารู้สึกอย่างไรในนาทีที่ได้มาเป็นกรรมสิทธิ์ หรือในขณะที่เขากำลังใช้ของอย่างเต็มประโยชน์

ยกตัวอย่างเช่น คุณมีเสื้อผ้าเก่าๆ ไม่ค่อยใช้แล้วแต่ยังไม่ขาด ถ้าวางดองอยู่ในตู้เสื้อผ้าเฉยๆ ก็ไม่ต่างจากผ้าขี้ริ้ว
ต่อเมื่อคุณคิดถึงเด็กต่างจังหวัดที่เสื้อกางเกงตัวเก่งขาดวิ่น ผิวหนังเจอลมหนาวประจำ
ถ้านึกออกว่าเขาได้เสื้อผ้าของคุณไปแล้วจะดีใจ สวมแล้วจะหายหนาว
นั่นแหละทานจิตบังเกิดเต็มดวงแล้วตั้งแต่ยังไม่ได้ให้ แม้กรรมยังไม่สำเร็จเป็นทานเต็มขั้น
เพราะยังไม่มีผู้รับทานจริง อย่างน้อยคุณก็ชื่นบาน บังเกิดโสมนัสอย่างใหญ่ได้แล้ว

สรุปคือนึกถึงใจเขาใจเราให้ออก ความสุขความพอใจของผู้รับจะเป็นรางวัลใหญ่ชิ้นแรกสำหรับคุณทันที
และจะติดตรึงในความทรงจำไปอีกนานด้วย

ทำทานเมื่อไรจึงจะพอ

เพื่อให้รู้ว่าพอดีแล้วหรือยัง เราต้องมาดูเป้าหมายของการทำทาน ตามอุดมคติของพระพุทธศาสนากันก่อนนะครับ
จุดใหญ่ใจความของทานคือเพื่อให้มีความสุขในปัจจุบัน มีความสุขในอนาคต และมีความสุขที่ยั่งยืน
แจกแจงได้ดังนี้

๑) เพื่อให้มีความสุขในปัจจุบัน คือการทำลายความตระหนี่ถี่เหนียว
พุทธเราถือว่าความตระหนี่ถี่เหนียวเป็นก้อนกรวด หรือก้อนหินโสโครกที่ ขวางกระแสความสุข
ความสุขอันประเสริฐนั้นรินมาจากใจซึ่งเปี่ยมความเมตตากรุณา
หากเจอสิ่งอุดตันอย่างความตระหนี่ขวางทาง ก็หมดสิทธิ์หลั่งรินมาทำความชุ่มฉ่ำให้ใจเราเป็นแน่
คุณลองนึกถึงตอนจะเอาแล้วไม่ได้อย่างใจ หรือนึกถึงตอนตัวเองเถียงหน้าดำหน้าแดงเพื่อแย่งสมบัติกับใคร
ใจมันเปิดโล่งหรือคับแคบ อึดอัดหรือสบาย หายใจเข้าออกด้วยความทุกข์หรือความสุข
แล้วถ้าตลอดทั้งชาติเกิดมา เพียงเพื่อได้รู้จักกับรสชาติของความหวงแหน ชีวิตจะแร้นแค้นความสุขสักขนาดไหน

๒) เพื่อให้มีความสุขในอนาคต คือการสั่งสมบุญ สั่งสมกรรมดี
อันจะก่อให้เกิดผลหรือที่เรียก ‘วิบาก’ ในอนาคตกาล ซึ่งอาจเป็นระยะใกล้ชนิดเห็นทันตาในชาติปัจจุบัน
หรืออาจเป็นระยะไกลที่ต้องรอดูกันยาวๆ ด้วยดวงตาของคุณในชีวิตถัดไป ไม่ใช่ด้วยดวงตาในชีวิตนี้
พระพุทธเจ้าตรัสเสมอว่าผู้ให้ทานเป็นนิตย์ย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์และโลกมนุษย์อันมั่งคั่ง
ห่างไกลจากความอดอยากและความอัตคัดขัดสน เนื่องจากบุญเป็นความสว่าง เป็นเหตุแห่งความสุขความเจริญ
เป็นธรรมชาติที่มีหน้าที่ตกแต่งรูปสมบัติและคุณสมบัติอันน่าใคร่ น่าพอใจ
คุณสามารถเห็นลางดีบอกอนาคตอันรุ่งเรืองได้ จากหน้าตาและผิวพรรณในปัจจุบัน
ยิ่งคิดเสียสละมากขึ้นเพียงใด ความผ่องใสก็ยิ่งปรากฏชัดเจนขึ้นเพียงนั้น

๓) เพื่อให้มีความสุขที่ยั่งยืน คือการสร้างปัจจัยเกื้อกูลให้พบทางสู่นิพพาน พระพุทธเจ้าตรัสว่านิพพานคือบรมสุข
คือนอกจากมีรสอันเยี่ยมเกินรสใดๆแล้ว ยังไม่กลับไม่เปลี่ยนมาเป็นทุกข์อีกเลย
การหมั่นให้ทานทำให้เราลดความหวงแหน ลดอุปาทานยึดมั่นถือมั่นว่าอะไรๆ เป็นสมบัติของเรา
อะไรๆ เป็นของที่จะเอาติดตัวไปได้ เมื่ออุปาทานเบาบางลงระดับหนึ่ง
บวกกับการรักษาศีลและเจริญสติให้ถูกต้องตรงทาง
ในที่สุดอุปาทานอันหนาเตอะก็ถูกกะเทาะให้ร่วงกราวลงได้หมด
จิตเบ่งบานถึงขีดสุดด้วยการเปิดไปพบมหาอิสรภาพคือนิพพาน ไม่ต้องเวียนกลับมาทนทุกข์ทนร้อนกันอีก

จาก ๓ เหตุผลของการให้ทานตามอุดมคติของพระพุทธศาสนาดังกล่าวข้างต้น
ทำให้พระพุทธองค์ไม่ทรงสรรเสริญทาน อันเกิดจากการฝืนใจทำชั่วครั้งชั่วคราว
แต่พระองค์จะสรรเสริญผู้ที่มีความ ‘ตั้งมั่นในทาน’ หมายถึงการ ‘มีแก่ใจคิดให้’ ไปเรื่อยๆ เป็นนิสัย
เป็นความเค
ยชิน เป็นธรรมชาติแท้จริงที่ไม่ได้เกิดจากการฝืนใจ หรือเล็งโลภหวังผลต่างๆ นานา

เมื่อรู้จักฝึกเป็นฝ่ายให้ได้ตลอดชีวิต นั่นแหละจะก่อนิสัยใหม่ทั้งในชีวิตนี้และชีวิตหน้า
พูดง่ายๆ ให้รวบรัดคือเปลี่ยนแปลงตนเองจากความเป็นคน ‘ไม่ได้มีใจจริงที่คิดจะให้’ เป็นคน ‘มีใจจริงที่จะให้’

อย่างไรก็ตาม การทำทานที่ ‘พอดี’ คือทำแต่ละครั้งไม่รู้สึกว่าตนต้องเดือดเนื้อร้อนใจในภายหลัง
ไม่ได้กู้ยืมใครเขามาทำทาน แต่ทำบ่อยๆ จนรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องให้อย่างสมควรแก่ฐานะ
คือไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป ให้แล้วยังมีกินมีใช้อย่างสบาย


การทำทานแบบไม่ลืมหูลืมตาจน ‘เกินพอดี’ นั้น คือทำด้วยจิตที่เล็งโลภอยู่ว่าจะได้ผลตอบแทนมากมาย
ยิ่งทำเกินตัว จ่ายทรัพย์มากหวังผลมากแบบนักลงทุน อย่างนั้นแทนที่จะได้ดีอาจกลับกลายเป็นได้ร้าย
สวนทางเหตุผลของการให้ทาน คือ
๑) เป็นผู้ไม่มีความสุขในปัจจุบัน คือสะสมความโลภ
วันๆ คิดแต่เรื่องการ ‘ลงทุนทำทาน’ เพื่อให้รวยเร็ว หรือเพื่อให้ขึ้นสวรรค์ชั้นสูงส่ง
เมื่อกระวนกระวายเล็งรับผลอยู่ ใจย่อมไม่เป็นสุข ความตระหนี่ย่อมไม่หายไปไหน ซ้ำร้ายอาจพอกพูนขึ้นกว่าเดิม
เห็นได้จากการที่บางคนทำบุญด้วยการกะเกณฑ์ว่า บุญกองนี้เป็นส่วนของฉันเท่านั้น ห้ามใครยุ่งเกี่ยว
ห้ามใครมามีส่วนร่วม นั่นสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่ายังขาดความเข้าใจเรื่องการแบ่งปัน การมีน้ำใจต่อส่วนรวม
อันเป็นเป้าหมายแท้จริงของการเสียสละเป็นทาน

๒) เป็นผู้ไม่มีความสุขในอนาคต คือสั่งสมบุญอันเจือด้วยความโลภ
แม้อนาคตกาลเมื่อเกิดใหม่ในตระกูลร่ำรวย หรือได้เป็นพ่อค้าแม่ขายที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจแล้ว
ความร่ำรวยนั้นย่อมกระตุ้นให้ละโมบโลภมาก เนื่องจากเคยเล็งไว้ตั้งแต่เมื่อครั้งทำบุญในอดีตชาติ ว่าขอให้รวย
ขอให้มีมาก หาใช่ด้วยน้ำใจสละออก เมื่อรวยและมีมากสมใจ จึงไม่คิดแบ่งปันใคร
คิดเป็นแต่จะเอาเข้าตัวพอกพูนให้มากยิ่งๆ ขึ้นไป คุณลองหามาเถอะ เศรษฐีโลภมากคนไหนบ้างที่เป็นสุขทางใจ
ไม่ว่าจะมีกี่ร้อยกี่ล้าน ความตระหนี่และความละโมบโลภมากย่อมเป็นของหนัก ของดำ ของน่าเกลียดน่าอึดอัด
ติดจิตติดใจเขาไปทุกฝีก้าว เขาได้ชื่อว่าครอบครองสมบัติเพื่อเป็นทุกข์ทางใจโดยแท้

๓) เป็นผู้ไม่มีความสุขที่ยั่งยืน คือสวนทางกับการสร้างเหตุสร้างปัจจัยให้พบนิพพาน
เพราะจะพบนิพพานได้นั้น จิตต้องบริสุทธิ์จากกิเลส แต่นี่ทำบุญเพื่อบำรุงกิเลส ผลแห่งบุญก็ย่อมมีความขัดแย้ง
มีความขัดขืนฝืนต้าน ไม่ยอมให้เข้าสู่ทางไปนิพพานได้เต็มตัว

สรุปสั้นๆ นะครับ
ผลอันทันตาทันใจของ ‘การให้ทานที่พอดี’ คือความรู้สึกสบายใจในวันนี้ และอบอุ่นใจกับวันหน้า
ตราบใดยังไม่สบายใจในวันนี้ และยังไม่อบอุ่นใจกับวันหน้า ก็แปลว่าคุณยังมีความไม่พอดีกับการทำทานนั่นเอง



โดย วิจันท์โล

กำลังใจเสียเมื่อถูกทักว่าบุญที่ทำได้ผลน้อย

กำลังใจลดลง ความปีติในการประกอบบุญก็ย่อมลดลงตามส่วนครับ
ไม่แช่มชื่นเหมือนตอนกำลังใจยังเต็มๆ ไปได้หรอก


บุญที่ทำจะมีกำลังแรงจริงก็เมื่อ

๑) ขณะก่อนทำมีจิตเลื่อมใส คือนึกอยากทำด้วยตนเอง ไม่มีความขัดขืนฝืนใจ มีแต่ความแน่วแน่ว่าจะทำให้ได้

๒) ขณะกำลังทำมีความยินดี คือมีใจที่ปราศจากความโลภและความหงุดหงิดขัดเคืองใดๆ
เรียกว่าถวายทานด้วยรอยยิ้มจากใจ ใจยิ้มแค่ไหนปากยิ้มแค่นั้น ไม่ใช่ฝืนแสร้งแกล้งปั้นยิ้มด้วยปากทั้งมีใจแห้ง
(ถ้าใครถวายทานด้วยสีหน้าบึ้งตึงเคร่งเครียดเป็นประจำ ก็คาดหวังได้เลยว่าเกิดชาติต่อๆ ไป
เป็นพวกที่มีใบหน้าหงิกงอ ท่าทางบอกบุญไม่รับ หมดสิทธิ์ทำอาชีพประชาสัมพันธ์เด็ดขาด)

๓) หลังทำแล้วมีความปรีดา คือเบิกบานสบาย นึกถึงเมื่อใดปลื้มใจเมื่อนั้น ว่าเราได้ประกอบบุญแล้ว
สร้างที่พึ่งอันน่าอบอุ่นใจให้ตนเองแล้ว

ด้วยกำลังใจที่เต็มเปี่ยมทั้งสามกาลข้างต้น ก็เที่ยงที่บุญจะบันดาลสุขทั้งปัจจุบันและอนาคต
ปัญหาของคุณคือโดนบั่นทอนกำลังใจ ซึ่งหมายถึงหลังทำจะขาดความปรีดาปราโมทย์ไป

โดยคร่าวๆ นะครับ จะยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพชัด
เมื่อบุญที่คุณทำเผล็ดผล คุณอาจได้บ้านหลังหนึ่งเป็นรางวัล บ้านหลังนั้นอาจสมบูรณ์แบบไร้ที่ติ
แถมอยู่ในสภาพแวดล้อมอันวิจิตรชวนชื่นตาชื่นใจ แต่คุณอยู่แล้วกลับไม่ปลื้มเอาเฉยๆ
มีเหตุให้รู้สึกขัดอกขัดใจเล็กๆ น้อยๆ ส่วนลึกเหมือนไม่เต็มที่กับรางวัลใหญ่ที่ได้มา

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม กรรมเกิดจากจิต ไม่ใช่วัตถุ จิตและเจตนาเป็นอย่างไร กรรมก็เป็นอย่างนั้น
กรรมเป็นอย่างไร ชีวิตและความรู้สึกก็เป็นไปตามนั้น
คุณจึงควรรักษาจิตเพื่อประกอบบุญให้ดี อย่าหวั่นไหวกับอะไรง่ายๆ

คนที่ชอบทักให้คนอื่นเสียกำลังใจในการบุญนั้น
ทั้งปัจจุบันและอนาคตจะเป็นผู้ไม่มีกำลังใจในการบุญ โดนบั่นทอนกำลังใจเช่นกัน

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าใครกล่าวว่าพระสมณโคดมตรัสแนะให้ให้ทานแก่พระองค์เพียงคนเดียว
ไม่ควรให้แก่ใครอื่น และพึงให้ทานแก่สาวกของพระองค์ ไม่ควรให้ทานแก่สาวกของคนอื่นๆ
อย่างนี้ผู้นั้นได้ชื่อว่าไม่พูดตามที่พระองค์ตรัส ทั้งกล่าวตู่พระองค์ด้วยคำอันไม่ดี ไม่เป็นจริง

ยิ่งไปกว่านั้นพระองค์ยังตรัสเสริมอีกว่า ถ้าใครห้ามผู้อื่นซึ่งให้ทานอยู่
ผู้นั้นได้ชื่อว่าย่อมทำอันตรายแก่วัตถุ ๓ อย่าง เป็นโจรดักปล้นวัตถุ ๓ อย่าง หมายความว่า
๑) เขาทำอันตรายแก่บุญของผู้ให้
๒) เขาทำอันตรายแก่ลาภของผู้รับ
๓) เขาย่อมทำลายตนเองด้วยบาปที่ตนก่อแล้ว

ฉะนั้นหากเมตตาเขาก็อย่าช่วยให้เขาทำกรรมสำเร็จ ด้วยวิธีง่ายๆ คืออย่าใจเสียตามคำเขาก็แล้วกันครับ

กุศโลบายในการลดความอิจฉา

ถ้าทุกคนมีญาณหยั่งรู้ สามารถทราบได้ถึงเหตุที่ใครต่อใครได้ดีหรือตกยาก น่าเกลียดหรือหล่อสวย รวยหรือจน
โชคดีบ่อยหรือโชคร้ายถี่ โลกนี้คงมีการอิจฉาริษยาน้อยลงมาก
เพราะใจจะเหลือแต่อุเบกขาอันเกิดจากความเห็นตามจริงว่าใครทำอย่างไร
การกระทำของเขาก็ส่งให้มาเสวยผลตามนั้น

กิเลสมนุษย์ทำให้เรื่องง่ายกลายเป็นเรื่องยาก บางทีเห็นอยู่ชัดๆ ว่าเพราะเขาขยัน เขาทุ่มเท เขาทำงาน
เขาต่อสู้อุปสรรค จึงประสบความสำเร็จ สอบได้ที่หนึ่ง หรือทำงานได้ตำแหน่งใหญ่โต
เห็นเหตุเห็นผลชัดๆ อย่างนี้ก็ยังไม่วายอิจฉาตาร้อน จะป่วยกล่าวไปไยถึงคนที่รู้สึกว่าด้อยกว่าคุณ
ทั้งขี้เกียจ ทั้งเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ ทั้งหนักไม่เอาเบาไม่สู้ แต่กลับได้ดีกว่าทุกด้าน หน้าก็หล่อ เมียก็สวย บ้านก็รวย
แน่นอนคุณต้องคิดว่านี่มันอะไรกัน ทำไมโลกช่างหาความยุติธรรมไม่ได้เอาเลย

เมื่อยังไม่อาจมีญาณหยั่งทราบเรื่องกรรมวิบากข้ามภพข้ามชาติ ก็ต้องใช้วิธีตรงไปตรงมาครับ
นั่นคือให้เพ่งโทษ เพ่งพิจารณาถึงแง่ลบของความอิจฉาริษยา เช่น

๑) ดูจิตขณะอิจฉา คือดูเข้ามาตรงๆ ให้เห็นสภาพจิตใจตนเองขณะอิจฉาริษยา
ถามตัวเองว่าเย็นหรือร้อน ถามตัวเองว่าอึดอัดหรือสบาย ถามตัวเองว่ากระวนกระวายหรือสงบสุข
อย่าไปเพ่งเรื่องดีเรื่องเลวนะ
แล้วก็อย่าไปพยายามห้ามใจไม่ให้อิจฉาเอาดื้อๆ เพราะจะทรมานใจเปล่าเมื่อหยุดไม่ได้

การที่คุณยอมรับตามจริง ตรงไปตรงมาไม่อ้อมค้อม ทราบชัดว่ากำลังร้อน กำลังอึดอัด กำลังกระวนกระวาย
จะเป็นชั่วขณะของการเกิดสติ คือมีความระลึกรู้ได้ว่าขณะนี้จิตกำลังอยู่ในสภาพย่ำแย่

แม้ว่าในความมีสติรู้เห็นเช่นนั้น ความคิดริษยายังไม่หยุดตัวลง แต่อย่างน้อยก็มีความชะงักงันชั่วขณะ
ชะงักที่ได้รู้ว่าผลของความคิดริษยาคือร้อน อึดอัด กระวนกระวาย
ตลอดจนเกิดแรงดันอยากทำอะไรขึ้นมาอย่างหนึ่ง คล้ายเป็นผู้ร้าย ไม่ใช่พระเอก

ไม่ว่าคุณจะเห็นความร้อน ความอึดอัดหรือความกระวนกระวาย
คุณจะเกิดปัญญาขึ้นมาทีละนิดทุกครั้งว่าสภาพนั้นๆ ไม่ใช่ของดี ไม่ใช่ของน่ายึด
การที่จิตรู้สึกอยู่บ่อยๆ ว่าอะไรไม่ดี อะไรไม่น่าเอา ในที่สุดจิตจะเริ่มฉลาดเอง ปล่อยวางความยึดสิ่งนั้นไปเอง

ผลลัพธ์ในระยะยาว
เมื่อใดคุณอิจฉาริษยา เกิดความเร่าร้อนในอกในใจขึ้นมา จิตจะไม่โจนทะยานออกไปให้ความร่วมมือกับตัวอิจฉา
จะไม่เพ่งจ้องบุคคลอันเป็นที่ตั้งของความอิจฉาแบบไม่ถอนสายตา
ทว่าจะเห็นความเปล่าประโยชน์ของสภาพจิตใจตัวเอง
ฉุกคิดว่าจะร้อนเปล่าไปทำไม อึดอัดเปล่าไปทำไม กระวนกระวายเปล่าไปทำไม

ชั่ววูบแห่งความระลึกได้เช่นนั้น คุณจะเห็นความอิจฉาริษยาดับไป
ยิ่งเห็นวูบแห่งความดับได้ชัดเท่าไร ใจก็จะยิ่งโปร่งสบายขึ้นเท่านั้น
ธรรมชาติของจิตเขาชอบความสบาย ในที่สุดเขาจะเลิกหาเรื่องอึดอัดใส่ตัว พูดง่ายๆ คือหยุดหาเหาใส่หัวเสียที

ย้ำว่าห้ามไปพยายามเบรกตัวเองนะครับ เมื่อรู้ตัวว่าเกิดความอิจฉา อย่าไปสู้กับมัน ตามดูตามรู้
เฝ้าสังเกตอย่างมีสติก็พอว่าในอกในใจมันร้อนอึดอัด หรือกระวนกระวายเพียงใด
การเห็นความไม่เที่ยงของอาการทางใจ จะทำให้คุณว่างหายสบายอกขึ้นได้เอง


๒) เพ่งโทษความอิจฉา คือพิจารณาให้เห็นโทษของความอิจฉาริษยา
กล่าวคือสะกดรอยตามว่าความอิจฉาแตกแขนงออกเป็นนิสัยเสียอื่นๆ ได้แค่ไหน

อย่างเช่นคนที่สนุกกับการยุยงให้คนอื่นตีกัน
เพียงเพราะทนไม่ได้ที่เห็นคนดีมีความสามารถ เขาร่วมมือร่วมใจทำกิจอันเป็นมหากุศล
การยุให้คนเขาตีกันหรือแตกคอกัน เพียงเพื่อจะได้สะใจ ไม่มีใครดีกว่าตัวเอง
ผลคือจะไม่ได้อยู่เป็นสุข ต้องทะเลาะเบาะแว้ง ต้องตีกับคนใกล้ตัวไม่เลิกรา

ผมเคยรู้จักผัวเมียคู่หนึ่ง สองคนนี้นิสัยอย่างอื่นต่างกันหมด เหมือนอยู่อย่างเดียวคือชอบยุให้ชาวบ้านเขาผิดใจกัน
ตั้งคำถามเพื่อเอาคำตอบจากคนหนึ่ง แล้วใส่สีตีไข่คำตอบนั้น เพื่อเอาไปกระแทกหูอีกฝ่ายให้เกิดความเจ็บใจ
ผลที่เกิดขึ้นจับจิตของผัวเมียคู่นี้โดยตรงคือคุยกันไม่รู้เรื่อง ฝ่ายหนึ่งพยายามพูดอธิบายไปทาง
อีกฝ่ายกลับเข้าใจไปอีกทาง และนับวันยิ่งหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ ไม่สมเหตุสมผลขึ้นเรื่อยๆ

ความรุ่มร้อนอันเกิดจากความไม่เข้าใจกัน พูดจากันไม่รู้เรื่องระหว่างคนในบ้านนั้น
ถ้าใครเคยมีประสบการณ์คงเข้าใจนะครับว่าเป็นทุกข์ใหญ่หลวงเพียงใด
เปิดประตูเข้าบ้านเหมือนเปิดประตูเอาตัวเข้าเตาอบดีๆ นี่เอง

เรื่องของเรื่องคือผัวเมียคู่นี้เข้ากันไม่ได้ตั้งแต่เริ่ม
ตอนแรกเห็นข้อดีบางอย่างเช่น ชอบธรรมะเหมือนกัน ก็น่าจะไปกันได้ อยู่ดีมีสุขร่วมกันได้
ทว่ายิ่งอยู่ด้วยกันนานขึ้นเท่าไร ความแตกต่างก็ยิ่งฉีกสองคนห่างจากกันมากขึ้นเท่านั้น
ทำอะไรก็เหมือนผิดไปหมด โง่ไปหมด

คราวนี้พอเห็นคนอื่นเขาอยู่ร่วมกันดีๆ มีความปรองดอง ก็เกิดความอิจฉาริษยา
พอปล่อยให้อำนาจความอิจฉาริษยาเข้าครอบงำจิตใจเต็มที่
ก็เกิดแรงขับดัน อยากยุให้รำตำให้รั่ว เห็นเขาแตกคอกันแล้วมีความสุข

ผลกรรมที่เห็นทันตาของการยุยงที่สำเร็จ คือใจเพ่งโทษกันและกันหนักขึ้นหลายเท่า
ที่สำคัญคือได้ชื่อว่าก่อกรรมผูกมัดตัวเข้ากับเส้นทางเดิมๆ เมื่อเกิดชาติหน้าผัวเมียคู่นี้ก็ต้องเจอกันอีก
และถูกกรรมเก่าดลใจให้มาผูกติดกันอีก เพื่อทะเลาะเบาะแว้งกัน เห็นความเข้ากันไม่ได้
และงุนงงว่าทำไมถึงต้องมาอยู่ด้วยกันอย่างนั้น

ความอิจฉาริษยาเป็นรากของการมีศัตรู ไม่ใช่มีมิตร เป็นรากแห่งการทำลาย ไม่ใช่สร้างสรรค์
เป็นรากของความเดือดร้อนรำคาญจิต ไม่ใช่ความเยือกเย็นสบายใจ เป็นรากของความทุกข์ ไม่ใช่ความสุข
พิจารณาเห็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ในที่สุดคุณจะเลิกตามใจตัวเอง
พออิจฉาริษยาขึ้นมาเมื่อไร จิตจะไม่พลอยเอออวยเข้าร่วมพวกด้วยอีกต่อไปครับ


โดย ดังตฤณ
ที่มา : http://dungtrin.com