วันพุธที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ภาษารัก 9 แบบ ที่เราควรทำ


ภาษาใจ ซึ่งเป็นความจำเป็นพื้นฐานของคนสองคน ที่จะเป็นคู่ชีวิตใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน

ภาษาสายตา เป็นภาษาที่ลึกซึ้งและเที่ยงตรงที่สุดเพราะหลอกกันไม่ได้

ภาษายิ้ม ยิ้มเป็นสิ่งที่บ่งบอกและแสดงความเป็นไปของผู้ยิ้ม ดังนั้นเราจึงควรฝึกยิ้มให้มีเสน่ห์ และมีความสุข

ภาษาวาจา ภาษาวาจามีอานุภาพมาก มีทั้งประโยชน์และโทษถ้าไม่ระมัดระวังคำพูด

ภาษาท่าทาง ท่าทางอันจรรโลงรักให้ภาคภูมิ งดงาม และยังความมั่นใจในสัมพันธภาพ

ภาษาสัมผัส การสัมผัสควรพิถีพิถันบรรจง อ่อนโยน ทะนุถนอม นุ่มนวลและหนักแน่นเป็นการเกื้อกูลกันให้เกิดพลังมาก สมานสัมพันธ์ให้แนบแน่นยิ่งขึ้น

ภาษาพฤติกรรม ภาษาพฤติกรรมเป็นภาษารักแห่งยั่งยืน

ภาษาสัมพันธ์ คือการจัดสมดุลให้แก่ชีวิตคู่

ภาษาแห่งความสงบ ภาษาแห่งความสงบเป็นภาษาที่ทรงอานุภาพสูงสุด เมื่อใดที่เข้าถึงความสงบได้ ความสุขจึงปรากฎ


ดัง นั้นการสื่อภาษารักใดๆนั้นจะทรงพลัง มีค่าความเที่ยงตรง ความละเอียดอ่อน และความลึกซึ้ง ขึ้นอยู่กับพลังชีวิตและระดับจิตใจของแต่ละคน

30 ความคิดดีๆ วิธีเรียกความสุขแบบง๊าย ง่าย


นึกไว้เสมอว่าการโกรธ 1 นาที จะทำให้ความทุกข์อยู่กับคุณ 3 ชั่วโมง

ถ้ายิ้มให้กับคนที่อยู่ในกระจก รับรองว่าเขาต้องยิ้มกลับมาทุกครั้งแน่

ลองปลูกต้นไม้เองสักต้น การเติบโตของมันจะบ่งบอกตัวตนของคุณได้

หลับตานิ่งๆสักสามนาที เมื่อรู้สึกว่าอะไรที่อยู่ตรงหน้ามันช่างยากเหลือเกิน

ระหว่างแปรงฟัน ฮัมแพลงด้วยจนจบ จะทำให้ฟันสะอาดขึ้นสองเท่า

เคี้ยวข้าวแต่ละคำให้ช้าลง จากที่รสชาดธรรมดา ก็จะอร่อยขึ้นเยอะเลย

ไม่ว่าผมจะสั้นหรือยาวแค่ไหน ก็ต้องการให้หวีอย่างถนุถนอมเหมือนกันหมด

การขึ้นลงบันใดสูงๆ แบบไม่ให้เมื่อย คือการไม่นับว่ากำลังยืนอยู่บันใดขั้นที่เท่าไร

คนตาบอดจะเห็นว่าคุณสวย/หล่อมากๆทันที ที่คุณถามเขาว่า "ช่วยพาข้ามถนนไหมคะ/ครับ?"

เมื่อจะหยิบเศษเงินให้ขอทาน ไม่จำเป็นต้องนับก่อนที่หย่อนลงกรป๋องหรอก




ควรหัดพูดคำว่า "ไม่เป็นไร" ให้เคยปากมากกว่าการพูดคำว่า "จะเอายังไง"


ลองตั้งนาฬิกาให้เร็วขึ้น 15 นาที รับรองว่าจะไม่ค่อยไปสายเหมือนก่อน

สัตว์เลี้ยงที่บ้านเก็บความลับเก่ง เรื่องที่ไม่อยากให้ใครรู้จึงควรเล่าให้มันฟัง

อาหารที่ไม่ชอบกินตอนเด็ก ลองตักเข้าปากอีกที เผื่อจะกลายเป็นอาหารจานโปรด

เขียนชื่อคนที่เกลียดใส่กระดาษแล้วฉีกทิ้ง ความเกลียดจะเบาบางลงเรื่อยๆ

ให้ปล่อยให้น้ำตาไหลโดยไม่ต้องเช็ด เมื่อน้ำตาแห้งแล้วแทบดูไม่ออกว่าเพิ่งร้องให้

ตุ๊กตาและของเล่นเก่าๆ จะทำให้เรายิ้มได้เสมอเมื่อไปหยิบมาเล่นอีกครั้ง

ก่อนจะซื้ออะไรก็ตาม ต้องคิดหาประโยชน์ของมันให้ได้อย่างน้อยสามข้อก่อน

ถึงเสื้อกางเกงในตู้จะมีอยู่น้อย แต่ถ้าใส่สลับกันไปเรื่อยๆ ก็ดูเหมือนมันมีเยอะเอง

ซาลาเปา 1 ลูกกินได้ 2 คน ลูกชิ้นปิ้ง 1 ไม้กินได้ 4 คนถ้าคุณคิดจะแบ่งเท่านั้นเอง




เลือกให้ของขวัญคนที่ไม่เคยได้ดีกว่า ให้คนที่ได้เยอะจนจำชื่อคนที่ให้ไม่ได้

ในวันที่รู้สึกเศร้าๆ เหงาๆ เดินไปซื้อดอกไม้ให้ตัวเองสักดอกก็จะดีขึ้น

แอบรักใครสักคน ยังไงก็ยังดีกว่าไม่เคยรู้ว่าความรู้สึกรักมันเป็นอย่างไร

ถึงจะไม่ออกไปไหน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะแต่งตัวสวยๆ หล่อๆ ไม่ได้นิ

ฝึกโรแมนติกง่ายๆ คนเดียวบ้าง ด้วยการนั่งนับดาวให้ครบ 100 ดวงก่อนนอน

ถ้าคุณเช็ดกระจกที่ขุ่นมัวที่สุดจนใสได้ ทำไมคุณจะเรียนดีกว่านี้ไม่ได้

พยายามอ่านหนังสือทุกชนิดในมือให้จบเล่ม มันอาจจะไม่สนุกแต่ก็มีประโยชน์แฝงอยู่

วันที่ตื่นเช้าๆ ให้บิดขี้เกียจนานที่สุดเท่าทีจะนานได้ ถ้าขี้เกียจออกกำลังกาย

แค่เอาข้าวที่กินไม่หมดไปให้หมาที่เดินผ่าน ก็เป็นการทำบุญที่ไม่ต้องลงทุนแล้ว

ปิดไฟดวงที่ไม่จำเป็นในบ้าน แม่จะได้มีค่าขนมเพิ่มขึ้นอีกหลายบาท

4 วิธีป้องกันอาการ ขี้ลืม


เอ๊ะ! เอากุญแจรถไว้ไหน เมื่อกี้ปิดไฟในบ้านหรือยัง วันเกิดแฟนวันที่ 12 หรือ 22 กันแน่นะ แล้วผู้หญิงคนนั้นชื่อน้องเก๋หรือเอ้หว่า ฯลฯ อาการขี้ลืมแบบนี้สร้างความรำคาญให้ใครต่อใครอยู่เสมอ ก่อนที่คุณจะมีความจำสั้นแค่ 3 วินาทีเหมือนปลาทอง มี 4 วิธีง่ายๆ ที่คุณทำได้เองตั้งแต่ตอนนี้มาฝากค่ะ

1. กินอาหารที่มีประโยชน์
สถาบัน ประสาทวิทยาแห่งสหรัฐฯ รายงานว่า การกินผักและผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น ส้ม ผักโขม แครอท บร็อค-โคลี มะเขือเทศ ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดสโตรคถึง 11% แถมยังช่วยบำรุงให้เซลล์สมองสามารถทำงานเชื่อมโยงกันได้ดียิ่งขึ้น ในขณะที่วิตามินบีโดยเฉพาะ บี12 และกรดโฟลิกช่วยลดการเสี่ยงในการเป็นโรคความจำเสื่อมได้อีกด้วย

2. ออกกำลังกาย
เป็น อีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับคนที่อยากมีสุขภาพดี การออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ เช่น การวิ่ง การปั่นจักรยาน หรือบอดี้คอมแบต ช่วยให้ระบบไหลเวียนของเลือดทำงานดีขึ้น และช่วยกำจัดไขมันที่เกาะตามเส้นเลือด นั่นหมายความว่าเลือดจะสามารถนำออกซิเจนและสารอาหารไปหล่อเลี้ยงสมองได้ดี ยิ่งขึ้นนั่นเอง การออกกำลังกายยังช่วยให้คุณนอนหลับสนิท ทำให้สมองได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ ไม่ต้องถึงขนาดวิ่งวิบากก็ได้ครับ แม้แต่การรำมวยจีน โยคะ ก็ช่วยให้พัฒนาสมองได้อย่างยอดเยี่ยมเช่นกัน แต่อย่าลืมดื่มน้ำหลังการออกกำลังกายด้วย เพราะการขาดน้ำอาจทำให้สมองทำงานได้ไม่เต็มที่

3. ออกกำลังสมอง
ถ้า อยากให้ร่างกายแข็งแรงก็ต้องออกกำลังกาย เช่นเดียวกัน ถ้าอยากให้สมองแข็งแรงก็ต้องออกกำลังสมอง พูดง่ายๆ ก็คือ ใช้สมองนั่นแหละครับ มีหลายวิธีที่ทำให้สมองของคุณได้ใช้งาน เช่น การเล่นหมากรุก การอ่านหนังสือ การเล่นเกมอักษรไขว้ อย่ากลัวที่จะเรียนภาษาใหม่ๆ หรือเรียนดนตรีตอนอายุมากแล้ว เพราะนั่นเป็นการออกกำลังสมองอย่างดีเลยละครับ ต่อให้คุณมีระบบจดจำหมายเลขโทรศัพท์แล้ว ลองจำหมายเลขโทรศัพท์ของคนใกล้ชิดไว้ในสมองสิครับ หรือเวลารถติดก็ลองเอาเลขป้ายทะเบียนรถคันข้างหน้ามาบวกลบคูณหารกัน สมองมีไว้ใช้ ถ้าไม่ใช้ก็มีแต่จะเสียมันไปเท่านั้น

4. หลีกเลี่ยงการดื่มเหล้า
นึก ถึงตอนที่คุณเมาจนจำไม่ได้ว่าเมื่อคืนคุณทำตัวน่าอายแค่ไหนนั่นแหละครับ แม้จะเป็นเพียงแก้วสองแก้ว แอลกอฮอล์ก็สามารถไปรบกวนการสร้างความจำระยะยาว (Long-term memories) ได้เหมือนกัน การวิจัยอีกหลายชิ้นก็ชี้ว่า ยิ่งดื่มแอลกอฮอล์มากเท่าไรก็ยิ่งเสี่ยงต่อการทำลายความจำมากขึ้น เห็นแบบนี้แล้วอย่าใช้มันเป็นข้ออ้างในการดื่มเพื่อลืมเธอเลยนะคุณ ใจก็เสียไปแล้ว อย่าให้สมองเสียไปอีกเลย

วันอังคารที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

บำบัดความเครียด.......... สมาธิบำบัด


เครียด เครียด เครียด ชีวิตประจำวันของคนทำงานทำให้ดัชนีความเครียดของคนไทยพุ่งสูงปรี๊ด
ความเครียดทำให้สุขภาพเราแย่ลง ทำให้เราป่วยง่ายขึ้น ที่สำคัญสำหรับสาวๆ เครียดมากๆทำให้หน้าแก่ก่อนวัยได้นะ
เมื่อเรารู้สึกเครียดร่างกายเราหลั่งฮอร์โมน Adrenaline จากต่อมหมวกไต
ถ้าเครียดมากก็หลั่ง Adrenaline มากขึ้นฮอร์โมนความเครียดก็จะไปยับยั้ง
การทำงานของอวัยวะสำคัญทั้งหมด เช่นหัวใจ ไต ตับ ปอด ทำให้อวัยวะสำคัญของเราเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว
สุดท้ายก็พร้อมใจกันหยุดทำงานเพราะฮอร์โมนความเครียดไปทำให้ภูมิต้านของร่างกายเราต่ำลง ต่ำลง
เรียกว่าโรคเครียดนอกจากทำแก่ง่ายแล้วยังทำให้ถึงตายได้นะเนี่ย


- ผ่อนคลายความเครียดด้วยการทำสมาธิ
การทำสมาธิถือได้ว่าเป็นการผ่อนคลายความเครียดที่ลึกซึ้งที่สุด สมาธิทำให้จิตใจสงบนิ่ง
แต่มีสติ หยุดความคิดที่ฟุ้งซ่าน วิตกกังวล หรืออารมณ์ด้านลบทั้งหลาย เ
มื่อเราทำสมาธิจะรู้สึกสบายขึ้นเพราะจะมี Hormoneชื่อ Endorphins
หลั่งออกมาในขณะที่จิตใจสงบนิ่ง ฮอร์โมน Adrenaline จากต่อมหมวกไต ก็จะหยุดหลั่ง
และในขณะนั้นเองเมื่อจิตสงบสมองส่วน Hypothalamus จะสั่งให้เม็ดเลือดขาวแข็งแรงขึ้น
ภูมิต้านทานของเราก็จะสร้างเพิ่มขึ้นหลังจากถูกยับยั้งด้วยฮอร์โมนความเครียด
การทำสมาธินี้ดีมาก มาก สำหรับคนที่กำลังบำบัดมะเร็งเพราะ
เมื่อภูมิต้านทานกระเตื้องขึ้นการกำจัดcell มะเร็งก็จะเป็นไปตามที่ต้องการ


- ทำสมาธิแบบไหนดี?
การทำสมาธิที่สามารถบำบัดโรคที่เกิดจากความเครียด ความกังวล ไม่ใช่โรคที่เกิดจากเชื้อโรคโดยตรง
แต่สามารถรักษาใจที่เป็นทุกข์อันเกิดจากโรคได้ วิธีฝึกสมาธิบำบัดมีหลายวิธี ได้แก่ การนั่งภาวนา
เดินจงกรม การแผ่เมตตา การอธิษฐานจิต การฝึกใช้พลังภายในร่างกาย การใช้พลังภายนอก
การฝึกเพ่งลูกแก้ว และอย่างน้อยควรทำวันละ 2 ครั้ง ถ้าทำได้


- ท่าที่สบายที่สุด
จะนั่งขัดสมาธิหรือจะนอนหงายวางแขนไว้ข้างตัวก็ได้ ให้เป็นท่าที่เรารู้สึกสบายตัวที่สุด
แล้วก็เลือกสถานที่ที่เรารู้สึกผ่อนคลาย สบายๆไม่ร้อนไม่หนาวเกินไป อุณหภูมิในห้องสบาย ๆ
หลับตาลงจะได้ตัดตัวเองออกจากโลกภายนอก จิตจะได้สงบง่ายขึ้น
แล้วเริ่มด้วยการกำหนดลมหายใจโดยสูดหายใจเข้าช้า ๆ ให้ท้องพอง หายใจออกช้า ๆให้ท้องแฟบ สัก 3 ครั้ง
ให้สังเกตลมที่ผ่านเข้าออกทางจมูกว่ากระทบถูกอะไรบ้าง

จากนั้นให้หายใจให้สบาย กำหนดจิตของตนไปรับรู้ลมหายใจเข้าออก โดยไม่ต้องสนใจเสียงรอบข้าง
ให้รับรู้เฉย ๆ ถ้าจิตมันจะวอกแวกนึกนั่นนึกนี่ แว่บไปหาเพื่อนคนโน้นคนนี้
นึกห่วงงานที่นั่นที่นี่บ้างก็ดึงสมาธิกลับมาอยู่กับลมหายใจ แรก ๆ อาจทำยากมาก
เหมือนเราหัดเดินตั้งไข่ครั้งแรก ล้มบ้าง ลุกบ้างแต่ถ้าพยายามเข้าในที่สุดเราก็จะเดินได้การทำสมาธิก็เช่นกัน
ถ้าเราพยายามขยันดึงจิตกลับมาอยู่กับลมหายใจ ทำซ้ำ ๆ สม่ำเสมอ ในที่สุดจิตก็จะเชื่อง และเริ่มนิ่ง
เมื่อเข้าถึงสมาธิก็จะได้ความรู้สึกปีติรู้สึกสบายอย่างที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน เพราะ ฮอร์โมนEndorphins หลั่งออกมา
และ ฮอร์โมนความเครียด Adrenaline ที่ต่อมหมวกไตก็จะหยุดหลั่งออกมา
และเมื่อเข้าสมาธิได้แล้วก็ควรทำเป็นประจำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ๆ ละไม่ต่ำกว่า 15 นาที

- เทคนิคการฝึกหายใจ
โดยปกติแล้วการหายใจด้วยอก ชีพจรจะเต้นเร็ว เหนื่อยง่าย ต้องหายใจถี่ๆแต่ถ้าหายใจด้วยท้องชีพจรจะเต้นช้า
ในทางวิทยาศาสตร์เราอธิบายได้ว่าเป็นการกระตุ้นกะบังลม ที่กะบังลมจะมีเส้นประสาทวากัส (Vagus)
ซึ่งเส้นประสาทตัวนี้เป็นพาราซิมพาเทติก เป็นเส้นประสาทมีผลต่อการผ่อนคลายของกล้ามเนื้อ
เพิ่มการทำงานของลำไส้ เส้นประสาทวากัส (Vagus) จะส่งคลื่นไปที่สมอง ทำให้หลอดเลือดขยาย
ความดันเลือดลดลง ชีพจรเต้นช้า หายใจช้า ดังนั้นเราจึงต้องฝึกหายใจลงไปที่ท้องแทน

เทคนิคการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ

ความเครียดทำให้กล้ามเนื้อทุกระบบในร่างกายหดตัว เวลาเครียดเรามักจะทำหน้านิ่วคิ้วขมวด
กำหมัด กัดฟัน ทุกครั้งที่รู้สึกเครียด ทำให้กล้ามเนื้อเกร็งตัวเกิดอาการเจ็บปวด เช่น ปวดต้นคอ ปวดหลัง ปวดไหล่

- การฝึกคลายกล้ามเนื้อ

จะช่วยลดอาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อลง เพราะในขณะที่ฝึก
จิตใจ ของเราจะจดจ่ออยู่กับการคลายกล้ามเนื้อ ความคิดฟุ้งซ่าน
และความวิตกกังวลก็ลดลง ช่วยให้จิตใจจะมีสมาธิมากขึ้น

วิธีการฝึก เลือกนั่งในท่าที่สบาย เลือกเสื้อผ้าที่สวมใส่สบาย ถอดรองเท้า
หลับตา ทำใจให้ว่าง ตั้งใจจดจ่ออยู่ที่กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ 10 กลุ่ม โดยการปฏิบัติดังนี้คือ

1. มือและแขนขวา โดยกำมือ เกร็งแขน แล้วคลาย
2. มือและแขนซ้าย ทำเช่นเดียวกัน
3. หน้าผาก เลิกคิ้วสูงแล้วคลาย ขมวดคิ้วแล้วคลาย
4. ตา แก้ม จมูก ให้หลับตาแน่น ย่นจมูก แล้วคลาย
5. ขากรรไกร ลิ้น ริมฝีปาก โดยกัดฟัน ใช้ลิ้นดันเพดานปากแล้วคลาย เม้มปากแน่นแล้วคลาย
6. คอ โดยก้มหน้าให้คางจรดคอแล้วคลาย เงยหน้าจนสุดแล้วคลาย
7. อก ไหล่ และหลัง โดยหายใจเข้าลึกๆกลั้นไว้ แล้วคลาย ยกไหล่สูงแล้วคลาย
8. หน้าท้องและก้น โดยการแขม่วท้อง แล้วคลาย ขมิบก้นแล้วคลาย
9. เท้าและขาขวา โดยเหยียดขา งอนิ้ว แล้วคลาย เหยียดขา กระดกปลายเท้าแล้วคลาย
10. เท้าและขาซ้าย ทำเช่นเดียวกัน

ข้อแนะนำ

ระยะเวลาที่เกร็งกล้ามเนื้อ ให้น้อยกว่าระยะเวลาที่ผ่อนคลาย เช่น เกร็ง 3-5 วินาที ผ่อนคลาย 10-15 วินาที

ควรฝึกประมาณ 8-12 ครั้ง เพื่อให้เกิดความชำนาญ
เมื่อคุ้นเคยกับการผ่อนคลายแล้ว ให้ฝึกคลายกล้ามเนื้อได้เลยโดยไม่ต้องเกร็งก่อน
หรืออาจเลือกคลายกล้ามเนื้อเฉพาะส่วนที่มีปัญหาก็ได้ เช่น บริเวณใบหน้า คอ หลัง ไหล่ เป็นต้น
ไม่จำเป็นต้องคลายกล้ามเนื้อทั้งตัวแต่ถ้ามีเวลาทำได้ทั้งหมดก็จะดีมากมากสำหรับตัวคุณเอง


- ฝึกสมาธิประจำ แก้ได้หลายโรค
หากฝึกสมาธิเป็นประจำ จิตใจก็เบิกบาน สมองแจ่มใส จิตใจเข้มแข็ง อารมณ์เย็น
พร้อมตลอดเวลาไม่ว่าจะมีปัญหาอะไรมากระทบ สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ด้วยความมั่นใจในตัวเอง
เมื่อมีสมาธิที่เข้มแข็ง ปัจจุบันมีการวิจัยและค้นพบข้อดีของการทำสมาธิเช่น


ช่วยปรับสภาวะสมดุลของร่างกายให้เป็นปกติ ทำให้อัตราการหายใจและชีพจรช้าลง
ทำให้คลื่นสมองสงบ กล้ามเนื้อผ่อนคลายตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ระดับฮอร์โมนที่ถูกระตุ้นจากความเครียดลดลง

แก้ปัญหานอนไม่หลับได้ถึงร้อยละ 75 และ
ช่วยให้ผู้ที่ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ใช้ยาแก้ปวดลดลงจาก เดิมร้อยละ 34
ช่วยให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งและโรคเอดส์ มีอาการทุกข์ทรมานลดน้อยลงกว่าการรักษาเฉพาะทางทางยา
ช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะไมเกรน ความถี่หรือความรุนแรงของอาการจะลดลงร้อยละ 32

และยังพบอีกว่าในการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน ผู้ที่มีความเชื่อมั่นในศาสนาจะหายเร็วกว่า
ตรงกันข้ามกับคนที่ไม่นับถือศาสนาอะไรเลย จะมีอัตราการตายมากกว่าผู้นับถือศาสนาถึง 3 เท่า

ในสหรัฐอเมริกา มีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิล และมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย พบผลตรงกันว่า
ชาวพุทธที่นั่งสมาธิเป็นประจำ สมองในส่วนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับอารมณ์ที่ดี
และ ความคิดด้านบวกจะทำงานกระฉับกระเฉงกว่า ช่วยผ่อนคลายความเครียด
และทำให้สมองส่วนที่เป็นศูนย์กลางความทรงจำด้านร้ายสงบลง และการนั่งสมาธิอย่างสม่ำเสมอ
จะช่วยให้อารมณ์แปรปรวน ตกใจ เกรี้ยวกราด หรือหวาดกลัวลดลงด้วย

แพทย์โรคหัวใจจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้ให้คนไข้โรคหัวใจฝึกสมาธิระหว่างบำบัดด้วยยาไปด้วย
และได้ผลเป็นที่น่าพอใจ เพราะทำให้ความดันโลหิตและความเครียดลดลงอย่างมาก

ฉะนั้นถ้าอยากมีสุขภาพดี ไม่แก่ง่าย ตายเร็ว ก็ต้องเริ่มการฝึกทำสมาธิและต้องเริ่มทำตั้งแต่เดี๋ยวนี้เลย
อย่าได้ผัดผ่อนเด็ดขาด

..................

บทความจาก kullastree.com

การทำสมาธิแบบพระพุทธเจ้า


การทำสมาธิของคนส่วนใหญ่ประสบกับความล้มเหลว
หรือก่อให้เกิดความรู้สึกเป็นลบกับการทำสมาธิ
เพราะขาดแนวทางที่ถูกต้อง
หรือมองแนวทางที่ถูกต้องแบบผิดๆ
ซึ่งก็หมายความว่ายิ่งทำสมาธิเท่าไร
ใจก็ยิ่งแกว่ง หรือห่างไกลจากสมาธิที่ถูกที่ชอบมากขึ้นเท่านั้น
ความเข้าใจขั้นพื้นฐานจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งยวด
ถ้าขาดความเข้าใจแล้วกระโดดไปพยายามทำสมาธิเลย
เกือบร้อยทั้งร้อยจะพยายามเพ่งจับสิ่งใดสิ่งหนึ่งแน่นเกินไป
หรือไม่ก็จ้องบังคับความคิดของตัวเองให้ดับไปดื้อๆ
การทำสมาธินั้น ทุกคนหวังจะได้ผลเป็นความสุขสงบ
พูดง่ายๆ สมาธิคือการเปลี่ยนอึดอัดเป็นสบาย
แต่หลายคนทำสมาธิแล้วเปลี่ยนสบายเป็นอึดอัด
แล้วจะไปชอบใจหรือเห็นค่าของสมาธิได้อย่างไรกัน?
เพื่อจะมองเห็นทั้งเป้าหมายของสมาธิแบบที่พระพุทธเจ้าสอน
ตลอดจนทราบขั้นตอนของความสำเร็จอย่างชัดเจน
ก็ขอให้ทำความเข้าใจผ่านข้อสงสัยในหมู่นักเจริญสติ
ที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุด และก่อให้เกิดความละล้าละลังที่สุด ดังต่อไปนี้

๑) การทำสมาธิกับการเจริญสติต่างกันอย่างไร?

สมาธิคือภาวะของจิตที่ "ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว"
คือนิ่งอยู่กับตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งสิ่งอื่น
หรือเมื่อมีสิ่งอื่นมารบกวนก็ไม่แกว่งไกวตามง่ายๆ
สติคือภาวะของจิตที่ "รู้เรื่องรู้ราว"
คือไม่ใช่เอากันแค่นิ่งอยู่ในฝัก
แต่ตัดเชือกกันว่าเอาตัวรอดได้หรือเปล่าด้วย
เปรียบเทียบได้กับคนที่เผชิญกับอุบัติเหตุกะทันหัน
ต้องนิ่งด้วย แล้วก็มีความเฉียบคมฉับไวด้วย
จึงจะหลีกหลบสิ่งที่พุ่งเข้ามาหาอย่างรวดเร็ว
ด้วยความเป็นอัตโนมัติทันเวลา
ทางพุทธเปรียบสิ่งกระทบหูตาและกายใจทั้งหลาย
ว่าเหมือนเป็นภัยหรือยาพิษ
เมื่อไม่รู้ว่าเป็นภัยหรือยาพิษเราก็ไม่หลีกหลบ
ผลลัพธ์คือจิตเกิดความเสียหายอยู่ตลอดทั้งวันทั้งคืน
สัมมาสติคือฝึกรู้ในสิ่งที่ควรรู้
ไม่ว่าจะนับจากก้าวแรกที่เห็นลมหายใจ
ไปจนถึงก้าวสุดท้ายที่เห็นธรรมทั้งปวง
ล้วนแต่ควรรู้ว่าเหล่านั้นไม่เที่ยง
บังคับให้เป็นอย่างใจไม่ได้
ไม่อาจคงรูปให้เป็นตัวเป็นตนอย่างใดอย่างหนึ่งถาวร
เมื่อรู้ความจริงก็จะได้ไม่มีอาการยึด
เช่น เมื่อรู้แล้วว่าจิตไม่เที่ยง
บังคับจิตให้เป็นไปตามต้องการไม่ได้
เราก็จะได้ไม่คาดหวัง
ยึดมั่นสำคัญผิดว่าจะให้มันทรงนิ่งอยู่ตลอด
หรือเมื่อรู้แล้วว่ากายไม่เที่ยง
เหนี่ยวรั้งให้กายคงอยู่ในสภาพใดสภาพหนึ่งไม่ได้
เราก็จะหมดความทุรนทุรายเมื่อมันเหี่ยวย่นลง
หรือแม้กระทั่งร่างของบุคคลอันเป็นที่รักแตกดับ
เราก็จะไม่ร่ำร้องคร่ำครวญให้ร่างนั้นกลับฟื้นคืนชีพ
การเจริญสติมุ่งหมายเอาการฝึกรู้กายใจตามจริง
ผลลัพธ์สุดท้ายคือสมาธิที่เรียกว่า "อริยสมาธิ"
คือจิตตั้งมั่นรู้อยู่เองเป็นอัตโนมัติว่า
กายใจไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวเราจริงๆ
ดังนั้น ถ้าจะกล่าวโดยภาพรวม
ก็ต้องบอกว่าการทำสมาธิแบบพระพุทธเจ้า
คือ "การเจริญสติ" แบบที่เราได้ยินกันมากขึ้นในยุคนี้นั่นเอง
เมื่อทำสมาธิจนเป็นอริยสมาธิเต็มขั้น
ก็คือการเกิดปรากฏการณ์ล้างผลาญกิเลสเป็นขั้นๆ
เรียกว่ามรรคผลขั้นโสดา สกทาคา อนาคา และอรหัตต์ตามลำดับ


๒) สมถะกับวิปัสสนาต่างกันอย่างไร?

สมถะหมายถึงการอาศัยวิธีอันเป็นธรรมใดๆ
ทำให้ใจสงบจากกิเลส เพื่อให้พร้อมรู้เป็นวิปัสสนา
พูดสั้นๆคือ "ทำจิตให้สงบลงพร้อมตื่นรู้ตามจริง"
ปัจจุบันคนมักพูดถึงการทำสมถะ
ว่าคือการนั่งสมาธิและเดินจงกรม
หรือหนักกว่านั้นคือสมถะเป็นเครื่องถ่วง
ไม่ให้สนใจวิปัสสนา
ติดสมถะแล้วคือได้ไปเป็นพรหม
หมดสิทธิ์เข้าถึงมรรคผลนิพพาน
สมถะเลยถูกมองเป็นผู้ร้าย
และเห็นวิปัสสนาเป็นพระเอก
ข้อเท็จจริงก็คือไม่มีใครเป็นผู้ร้าย
ไม่มีใครเป็นพระเอก
มีแต่ขาสองข้างที่พาเราเดินไปถึงฝั่ง
ขาดข้างใดข้างหนึ่งก็เรียกว่าขาเป๋
เดินลำบาก ไปถึงปลายทางได้ยาก
หรือยิ่งถ้าขาข้างที่เหลือป้อแป้ปวกเปียก
ก็อาจออกจากจุดเริ่มต้นไม่ได้เลยด้วยซ้ำ
คำว่า "วิปัสสนา" นั้น
รากของนิยามมาจากที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสในวิธีเจริญสติ
ใจความคือให้
"ดูกายใจนี้ตามจริงเท่าที่ปรากฏอยู่เป็นปกติ"
และที่เป็นปกติเลยก็คือทั่วทั้งกายใจนี้
กำลังแสดงความไม่เที่ยงให้เราเห็นอยู่ตลอดเวลา
นับตั้งแต่ลมหายใจเข้าออกไปจนกระทั่งความรู้สึกนึกคิด
ใครจะทำหรือไม่ทำวิปัสสนา
กายใจก็แสดงความจริงอยู่อย่างนั้น
ผู้ทำวิปัสสนาเพียงแต่เข้าไปดู เข้าไปรู้อย่างยอมรับเท่านั้นเอง
ฟังดูเหมือนง่าย
แต่ลงมือทำจริงจะยาก
นั่นก็เพราะจิตกระเพื่อมด้วยพลังกระตุ้นของกิเลสอยู่เรื่อยๆ
เช่น แค่ไม่อยากยอมรับว่าเราเป็นฝ่ายผิด
จิตจะบิดเบี้ยว กิเลสจะกระตุ้นให้หาเหตุผลสารพัด
มาพูดให้ตัวเองเป็นฝ่ายถูก
คนเราสั่งสมนิสัยเช่นนี้กันโดยมาก
คนส่วนใหญ่จึงมีจิตที่ยอมรับตามจริงได้ยาก
หรืออย่างตอนฟุ้งซ่านหาทางแก้ตัวอยู่
ตอนฟุ้งซ่านหาทางมีความสัมพันธ์ทางเพศ
ตอนฟุ้งซ่านหาทางแก้เผ็ดคนที่ทำให้เราเจ็บใจ
จะไม่มีสิทธิ์เห็นความฟุ้งซ่าน
และความฟุ้งซ่านย่อมบดบังทุกสิ่ง
ไม่ว่าจะเป็นโลกภายนอกที่ปรากฏตรงหน้า
หรือจะเป็นโลกภายในทางกายทางใจใดๆ
การทำสมถะจึงมีบทบาทสำคัญ ช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ยังกระเพื่อมไหวอยู่มาก
หากอาศัยสมถะมาช่วย ก็จะเห็นอะไรชัดกระจ่างแตกต่างไป
สรุปว่าสมถะคือการลดระดับความกระเพื่อมไหว
หรือสมถะคือการรักษาจิตไว้ไม่ให้กระเพื่อมไหวก็ได้
ประเด็นคือเมื่อจิตลดความกระเพื่อมไหวแล้ว
จึงค่อยมีความสามารถเห็นสิ่งที่ปรากฏอยู่ต่อหน้าต่อตาชัดๆ
ไม่ใช่เห็นแบบโคลงเคลง ไม่ใช่เห็นแบบโยกไปไหวมา



๓) จะต้องเริ่มด้วยสมถะหรือวิปัสสนาก่อน?

มักมีการอ้างถึงพระอานนท์
ที่ท่านใจกว้าง เปิดรับทั้งลูกศิษย์ที่ชอบทำสมถะก่อนวิปัสสนา
หรือแบบที่อยากทำวิปัสสนาก่อนสมถะ
ตลอดจนแบบที่อยากทำทั้งสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไป
ความจริงก็คือถ้าเราดูที่ตัวเองอย่างเข้าใจ
ว่าเหมาะกับอะไร
ไม่ถือเอาตายตัวเป็นสากลว่าเริ่มอันไหนก่อนถึงจะดีกว่า
ปัญหาก็จะหมดไป และไม่ต้องกังขาอยู่เนืองๆ
ยกตัวอย่างถ้าเป็นคนกลัดกลุ้มรุ่มร้อนในราคะ โทสะ โมหะอยู่เรื่อยๆ
ก็อย่าเพิ่งฝืนทำวิปัสสนาให้ยาก
ต้องหาทางลดความรุ่มร้อนลงเสียบ้าง
เช่น ลดเหตุแห่งความตรึกนึกถึงเรื่องกามและเรื่องโกรธ
หันมาแผ่เมตตาหรือปลงสังเวชในความเน่าเปื่อยแห่งกายเสียบ้าง
พอร้อนเปลี่ยนเป็นเย็น พอทะยานอยากเปลี่ยนเป็นสงบระงับ
จิตถึงค่อยพร้อมจะเห็นตามจริงแบบวิปัสสนาได้
แต่หากเป็นคนยอมรับตามจริงได้ง่ายมาแต่ไหนแต่ไร
เคยมีนิสัยเห็นประโยชน์ตามที่มันเป็นประโยชน์
เห็นโทษตามที่มันเป็นโทษ สำนักผิดตามที่ทำผิด
กับทั้งรักษาวาจาสัตย์ พูดคำไหนคำนั้นไม่กลับกลอก
ไม่พูดเอาดีเข้าตัว ไม่โยนชั่วให้คนอื่น
เช่นนี้ไม่ต้องพยายามทำสมถะมากก็ยกขึ้นวิปัสสนาได้เลย
ทำวิปัสสนาไป เดี๋ยวจิตคลายความยินดีในกิเลสทั้งหลาย
กลายเป็นสมถะไปในตัวได้เอง



๔) อานาปานสติคืออะไร?

อานาปานสติเป็นทั้งการทำสมาธิและการเจริญสติ
เป็นทั้งสมถะและวิปัสสนาในคราวเดียวกัน
แต่อย่างที่กล่าวแล้วว่าต้องมี "ความเข้าใจ" เป็นทุนก้อนแรกไว้ก่อน
หากปราศจากความเข้าใจแล้ว
อานาปานสติอาจเป็นสมาธิเก๊ๆ เป็นการเจริญสติเทียมๆ
หรืออาจเป็นสมถะถ่วงความเจริญ หรืออาจเป็นวิปัสสนายาพิษ
แทนที่จะเห็นอะไรตามจริง
กลับเห็นแต่อะไรที่ส่งเสริมสนับสนุนให้เข้าข้างตัวเอง
พอกพูนมานะอัตตาให้ยิ่งๆขึ้นไปได้ทุกวัน
ขอให้ทำความเข้าใจอย่างถูกต้อง
หากกล่าวว่าอานาปานสติเป็นสมาธิ
ก็หมายความว่าเป็นสมาธิ
ที่อาศัยลมหายใจเป็นหลักตรึงจิตให้ตั้งมั่น
หากกล่าวว่าอานาปานสติเป็นการเจริญสติ
ก็ต้องหมายความว่าเป็นการเจริญสติ
ที่อาศัยการยอมรับตามจริงว่าลมหายใจไม่เที่ยง
ยอมรับตามจริงว่าเมื่อใดถึงเวลาเข้า เมื่อใดถึงเวลาออก
เมื่อถึงเวลาควรหยุด
กระทั่งเห็นชัดขึ้นมาเองว่าลมหายใจนั้น
เข้าแล้วต้องออก ออกแล้วต้องหยุด หยุดแล้วก็ต้องเข้าใหม่
เดี๋ยวก็ยาว เดี๋ยวก็สั้น หาความเที่ยงไม่ได้
มีแต่ภาวะพัดไหวของธาตุลม
ไม่ได้ต่างจากสายลมที่พัดกิ่งไม้ใบหญ้าแม้แต่นิดเดียว
เห็นจนพอ ในที่สุดจิตก็ยอมรับตามจริงว่าลมไม่เที่ยง
ไม่มีลมไหนเลยในชีวิตที่เป็นตัวเรา
ไม่มีลมไหนเลยที่เป็นบุคคล ตัวตน เราเขา
แม้สุขที่เกิดจากอานาปานสติ
ตั้งอยู่ได้นานแค่ไหนก็ต้องเสื่อมลงเป็นธรรมดา
ไม่ต่างจากลมหายใจแต่อย่างใดเลย
เมื่อเข้าใจอยู่ด้วยมุมมองข้างต้น
คำว่าสมถะและวิปัสสนาก็กลายเป็นเครื่องเสริมกัน
ไม่ใช่ศัตรูที่ต้องมาตีกันในอานาปานสติ
ลมหายใจและความสุขสดชื่นจะเป็นเครื่องล่อใหม่
ให้จิตของเราผละออกมาจากเหยื่อล่อแบบโลกๆ
นั่นถือเป็นสมถะ ยกจิตให้พร้อมรู้
และความไม่เที่ยงของลมหายใจที่ปรากฏให้รู้
ก็จะก่อให้เกิดปัญญาเห็นตามจริง
กระทั่ง "ทิ้ง" อุปาทาน เกิดปรากฏการณ์มรรคผลขึ้นในที่สุด


๕) ทำอานาปานสติควรลืมตาหรือหลับตา?

คำตอบคือขึ้นอยู่กับว่าเรามีเวลาเท่าไร ทำที่ไหน
มีเวลามากสักชั่วโมงหลับตาก็ดีจะได้ไม่วอกแวก
มีเวลาน้อยตอนคอยใครจะลืมตาก็ดีจะได้ไม่หลงเพลิน
ในอานาปานสติสูตร
พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงเจาะจงให้ลืมตาหรือหลับตา
แต่ขอให้พิจารณาตามจุดยืนจริงๆของแต่ละคน แต่ละขณะ
ถ้าลืมตาจะวอกแวกตามเหยื่อล่อสายตาไหม?
ถ้าหลับตาจะเคร่งเครียดเห็นนิมิตล่อใจวุ่นวายไหม?
ถ้ากำลังลืมตาหรือหลับตาแล้วเกิดข้อเสียใดๆ
ก็สลับกันเสีย เพื่อขับไล่ข้อเสียนั้นๆไป เท่านี้ก็จบ
หากลืมตาแล้วรู้ลมหายใจได้ต่อเนื่อง ก็ควรลืมตาให้มาก
หากหลับตาถึงจะรู้ลมหายใจได้นานๆ ก็ควรหลับตาให้ต่อเนื่อง
อย่าไปกลัว หรือไปยึดรูปแบบว่าจะเอาอย่างไหนถึงจะถูก
เพราะมันถูกตรงจิต ตรงสติ ตรงความสามารถรู้ความไม่เที่ยง
ไม่ใช่ถูกตรงหลับตาหรือลืมตา
สำหรับคนส่วนใหญ่จะพบว่าการหลับตา
คือการปิดกั้นเครื่องรบกวนสายตา อันนี้ก็ถูก
แต่สำหรับคนอีกส่วนหนึ่งที่ไม่ถูกรบกวนด้วยเครื่องล่อตาง่ายๆ
และสมัครใจลืมตาทำอานาปานสติ อันนี้ก็อย่าว่ากัน


๖) ทำอานาปานสติควรนั่งขัดสมาธิหรือนั่งเก้าอี้?

ถ้านั่งขัดแข้งขัดขานานๆกล้ามเนื้อจะหดเกร็ง
และยิ่งถ้าได้ความพยายามเพ่งลมหายใจมาเสริมสักพักเดียว
ก็อาจพบว่าเหน็บกินเหมือนร่ำๆจะพิการได้
แรกเริ่มจึงควรนั่งเก้าอี้ก่อนอย่าไปติดยึดว่านั่งขัดสมาธิได้
ถึงจะเก่งหรือถึงจะถูกเมื่อนั่งเก้าอี้เจริญอานาปานสติจนบังเกิดความชุ่มชื่นแล้ว
คุณจะรู้สึกว่ากล้ามเนื้อผ่อนคลายสบายมากเพราะร่างกายหลั่งสารดีๆออกมา
และจิตก็ไม่ก่ออาการบีบคั้นร่างกายดังเคยถึงตรงนั้นถ้าเลื่อนขั้นมานั่งขัดสมาธิ
ก็จะได้ความสมดุลครบวงจรตามที่พระพุทธเจ้าแนะว่าอานาปานสติที่สมบูรณ์

๗) เสียงช่วยกำกับการฝึกอานาปานสติมีประโยชน์อย่างไร?

ปกตินักทำสมาธิหรือนักเจริญอานาปานสติมือใหม่จะจับทิศจับทางไม่ถูก
ได้หน้าลืมหลัง ไม่รู้จะเริ่มหนึ่ง สอง สามอย่างไรถ้ามีเสียงบอกคอยช่วย
ก็จะมีประโยชน์ตรงที่ไม่ต้องหลงทางเหมือนคนเพิ่งฟื้นจากสลบกลางหมอกจัด
ถ้ามีใครมาจูงมือและคอยบอกว่าต้องก้าวขึ้นบันไดอย่างไรเตือนให้ช้าหรือเร่งให้เร็ว
ตามความเหมาะสมที่จังหวะไหนโอกาสจะเข้าเขตปลอดโปร่ง
ไม่ต้องหลงวกวนค่อยสูงขึ้นอย่างไรก็ตาม
เมื่อจับหลักได้ถูกต้องแม่นยำแล้วก็ไม่ควรอาศัยเสียงเป็นเครื่องช่วยกำกับ
เพราะเสียงเป็นปฏิปักษ์กับสมาธิจิตถ้าคอยพะวงฟังเสียงหรือแปลความหมายของเสียงอยู่
จิตก็จะไม่วิเวกเต็มรอบ เข้าถึงฌานได้ยาก

สงบจิตด้วยการนั่งสมาธิ


ปฏิบัติทำไมมันถึงยากถึงลำบาก เพราะว่ามันอยาก พอไปนั่งสมาธิปุ๊บก็ตั้งใจว่าอยากจะให้มันสงบ ถ้าไม่มีความอยากให้สงบก็ไม่นั่งไม่ทำอะไร พอเราไปนั่งก็อยากให้มันสงบ เมื่ออยากให้มันสงบ ตัววุ่นวายก็เกิดขึ้นมาอีก ก็เห็นสิ่งที่ไม่ต้องการเกิดขึ้นมาอีก มันก็ไม่สบายใจอีกแล้ว นี่มันเป็นอย่างนี้

ฉะนั้น พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า อย่าพูดให้เป็นตัณหา อย่ายืนให้เป็นตัณหา อย่านั่งให้เป็นตัณหา อย่านอนให้เป็นตัณหา อย่าเดินให้เป็นตัณหา ทุกประการนั้นอย่าให้เป็นตัณหา ตัณหาแปลว่าความอยาก ถ้าไม่อยากจะทำอะไรเราก็ไม่ได้ทำ อันนั้นปัญญาของเราไม่ถึง ทีนี้มันก็เลยอู้เสีย ปฏิบัติไปไม่รู้จะทำอย่างไร พอไปนั่งสมาธิปุ๊บ ก็ตั้งความอยากไว้แล้ว

อย่างพวกเราที่มาปฏิบัติอยู่ในป่านี้ ทุกคนต้องอยากมาใช่ไหม นี่จึงได้มา อยากมาปฏิบัติที่นี้ มาปฏิบัตินี่ก็อยากให้มันสงบ อยากให้มันสงบก็เรียกว่าปฏิบัติเพราะความอยาก มาก็มาด้วยความอยาก ปฏิบัติก็ปฏิบัติด้วยความอยาก เมื่อมาปฏิบัติแล้วมันจึงขวางกัน ถ้าไม่อยากก็ไม่ได้ทำ จึงเป็นอยู่อย่างนี้ จะทำอย่างไรกับมันล่ะ


๏ อย่าให้ตัณหาเข้าครอบงำในการปฏิบัติ

การกระทำความเพียรก็เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าว่า อย่าทำให้เป็นตัณหา อย่าพูดให้เป็นตัณหา อย่าฉันให้เป็นตัณหา ยืนอยู่ เดินอยู่ นั่งอยู่ นอนอยู่ ทุกประการท่านไม่ให้เป็นตัณหา คือทำด้วยการปล่อยวาง เหมือนกับซื้อมะพร้าว ซื้อกล้วยมาจากตลาดนั่นแหละ เราไม่ได้เอาเปลือกมันมาทานหรอก แต่เวลานั้นยังไม่ถึงเวลาจะทิ้งมัน เราก็ถือมันไว้ก่อน การประพฤติปฏิบัตินี้ก็เหมือนกันฉันนั้น

สมมุติวิมุติมันก็ต้องปนอยู่อย่างนั้น เหมือนกับมะพร้าว มันจะปนอยู่ทั้งเปลือกทั้งกะลาทั้งเนื้อมัน เมื่อเราเอามาก็เอามาทั้งหมดนั่นแหละ เขาจะหาว่าเราทานเปลือกมะพร้าวอย่างไรก็ช่างเขาปะไร เรารู้จักของเราอยู่เช่นนี้เป็นต้น อันความรู้ในใจของตัวเองอย่างนี้ เป็นปัญญาที่เราจะต้องตัดสินเอาเอง นี้เรียกว่าตัวปัญญา ดังนั้น การปฏิบัติเพื่อจะเห็นสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ไม่เอาเร็วและไม่เอาช้า ช้าก็ไม่ได้ เร็วก็ไม่ได้ จะทำอย่างไรดี ไม่มีช้า ไม่มีเร็ว เร็วก็ไม่ได้ มันไม่ใช่ทาง ช้าก็ไม่ได้ มันไม่ใช่ทาง มันก็ไปในแบบเดียวกัน


๏ ตั้งใจทำสมาธิมากเกินไป ก็กลายเป็นความอยาก

แต่ว่าพวกเราทุกๆ คนมันร้อนเหมือนกันนะ มันร้อน พอทำปุ๊บก็อยากให้มันไปไวๆ ไม่อยากจะอยู่ช้า อยากจะไปหน้า การกำหนดตั้งใจหาสมาธินี้ บางคนตั้งใจเกินไป บางคนถึงกับอธิษฐานเลย จุดธุปปักลงไป กราบลงไป “ถ้าธูปดอกนี้ไม่หมด ข้าพเจ้าจะไม่ลุกจากที่นั่งเป็นอันขาด มันจะล้ม มันจะตาย มันจะเป็นอย่างไรก็ช่างมัน จะตายอยู่ที่นี้แหละ”

พออธิษฐานตั้งใจปุ๊บก็นั่ง มันก็เข้ามารุมเลย พญามาร นั่งแพล็บเดียวเท่านั้นแหละ ก็นึกว่าธูปมันคงจะหมดแล้วเลยลืมตาขึ้นมาดูสักหน่อย โอ้โฮ ยังเหลือเยอะ กัดฟันเข้าไปอีก มันร้อนมันรน มันวุ่นมันวาย ไม่รู้ว่าอะไรอีก เต็มทีแล้ว นึกว่ามันจะหมด ลืมตาดูอีก โอ้โฮ ยังไม่ถึงครึ่งเลย สองทอดสามทอดก็ไม่หมด เลยเลิกเสีย เลิกไม่ทำ นั่งคิดอาภัพอับจน แหม ตัวเองมันโง่เหลือเกิน มันอาภัพ มันอย่างโน้นอย่างนี้ นั่งเป็นทุกข์ว่าตัวเองเป็นคนไม่จริง คนอัปรีย์ คนจัญไร คนอะไรต่อมิอะไรวุ่นวาย ก็เลยเกิดเป็นนิวรณ์ นี่ก็เรียกว่าความพยาบาทเกิด ไม่พยาบาทคนอื่น ก็พยาบาทตัวเอง อันนี้ก็เพราะอะไร เพราะความอยาก


๏ ทำสมาธิด้วยการปล่อยวาง อย่าทำด้วยความอยาก

ความเป็นจริงนั้นนะ ไม่ต้องไปทำถึงขนาดนั้นหรอก ความตั้งใจนะคือตั้งใจในการปล่อยวาง ไม่ต้องตั้งใจในการผูกมัดอย่างนั้น อันนี้เราไปอ่านตำราเห็นประวัติพระพุทธเจ้าว่า ท่านนั่งลงที่ใต้ต้นโพธิ์นั้น ท่านอธิษฐานจิตลงไปว่า “ไม่ตรัสรู้ตรงนี้จะไม่ลุกหนีเสียแล้ว แม้ว่าเลือดมันจะไหลออกมาอะไรก็ตามทีเถอะ”

ได้ยินคำนี้เพราะไปอ่านดู แหม เราก็จะเอาอย่างนั้นเหมือนกัน จะเอาอย่างพระพุทธเจ้าเหมือนกันนี่ ไม่รู้เรื่องว่ารถของเรามันเป็นรถเล็กๆ รถของท่านมันเป็นรถใหญ่ ท่านบรรทุกทีเดียวก็หมด เราเอารถเล็กไปบรรทุกทีเดียวมันจะหมดเมื่อไหร่ มันคนละอย่างกัน เพราะอะไรมันถึงเป็นอย่างนั้น มันเกินไป บางทีมันก็ต่ำเกินไป บางทีมันก็สูงเกินไป ที่พอดีๆ มันหายาก


๏ สมาธิและนิวรณ์ 5

สมาธิ คือความตั้งมั่นของจิต ได้แก่ ภาวะที่จิตแน่วแน่ต่อสิ่งที่กำหนด มีอารมณ์เป็นหนึ่ง ไม่ฟุ้งซ่านหรือส่ายไป ศาสนาพุทธเน้นในสัมมาสมาธิ คือสมาธิที่ใช้ในทางแห่งการหลุดพ้น โดยใช้ปัญญาพิจารณาในสิ่งทั้งหลายตามที่เป็นจริง ไม่ใช่การหวังผลสนองตัณหาความอยาก เช่น อวดฤทธิ์ อวดความสามารถ เป็นต้น


๏ สมาธิแบ่งออกเป็น 3 ระดับคือ

1. ขณิกสมาธิ คือ สมาธิชั่วครู่ ชั่วขณะหนึ่ง เป็นสมาธิขั้นต้นที่บุคคลทั่วไปใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ในการงานประจำวัน

2. อุปจารสมาธิ คือ สมาธิที่ตั้งได้นานหน่อย ใกล้ที่จะได้ฌาน เกิดนิมิตต่างๆ เช่น เห็นแสงสว่างอยู่ระยะหนึ่ง

3. อัปปนาสมาธิ คือ สมาธิแน่วแน่ถึงฌาน เป็นการทำสมาธิขั้นสูงสุด

สมาธิใช้สำหรับปราบกิเลสอย่างกลาง ที่จำเพาะเกิดขึ้นในใจคือ นิวรณ์ 5 เมื่อกายวาจาสงบเรียบร้อยแล้ว แต่บางทีจิตยังไม่สงบ คือยังมีความกำหนัด ความโกรธ ดีใจ หดหู่ ฟุ้งซ่าน ตื่นเต้น กลัว รำคาญ หรือสงสัย ลังเลอยู่ อาจล่วงถึงกายวาจาได้ เช่น สีหน้าผิดปกติ เมื่อกระทบอารมณ์รุนแรงเข้าก็ถึงออกปาก ด่าว่า ทุบตี ฆ่าฟัน เป็นต้น

ศีลมีหน้าที่ตั้งจิต งดเว้นไม่ทำบาปด้วย กาย วาจา สมาธิมีหน้าที่รักษาจิต ให้สงบจากนิวรณ์ทั้งห้า มิให้เศร้าหมอง เพราะความกำหนัด ขัดเคือง ใจหดหู่ ฟุ้งซ่าน ตื่นเต้น กลัว รำคาญ และสงสัย ลังเล ในอารมณ์ ต่างๆ เหล่านั้น นิวรณ์ 5


๏ นิวรณ์ 5

คือ ธรรมอันกั้นจิตไม่ให้บรรลุความดี เป็นข้าศึกแก่สมาธิ มี 5 อย่างคือ

1. กามฉันท์ คือ ความพอใจรักใคร่ในอารมณ์ที่ชอบใจ มีรูป หรือความพอใจในกาม
2. พยาบาท คือ การปองร้ายผู้อื่น
3. ถีนมิทธะ คือ ความง่วงเหงาหาวนอน จิตหดหู่และเคลิบเคลิ้ม
4. อุทธัจจกุกกุจจะ คือ ความฟุ้งซ่าน รำคาญใจ
5. วิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัย

นิวรณ์นั้นเป็นข้าศึกแก่สมาธิ เวลามีนิวรณ์ สมาธิก็ไม่มี เวลามีสมาธิ นิวรณ์ก็ไม่มี เหมือนมืดกับสว่าง เวลามืดสว่างไม่มี เวลาสว่างมืดก็หายไป จะนำมารวมกันไม่ได้

นิวรณ์เกิดจากสัญญา (ความจำได้หมายรู้) และจากสังขาร (ความปรุงแต่งทางจิตบางอย่างเข้ามายั่วยวนให้เกิดนิวรณ์) นิวรณ์เกิดขึ้นที่จิตเพียงแห่งเดียว แต่มีผลต่อแห่งอื่นๆ สาเหตุที่เกิดนิวรณ์ เช่น คนมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ต้องมองเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส เป็นต้น เมื่อตาเห็นรูป ก็จะเลือกดูแต่รูปที่ดี จะต้องคิดนึกถึงรูปปานกลาง และรูปเลวด้วย คือ ต้องนึกถึงไตรลักษณ์เป็นหลักพิจารณาอยู่เสมอ จะได้ไม่หลง

ถ้าจะให้จิตอยู่ในอารมณ์พระนิพพานอยู่เสมอ เมื่อเห็นอะไรก็ต้องพิจารณาให้เข้าสู่ไตรลักษณ์อยู่ตลอดเวลา แม้เกี่ยวกับการได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส ฯลฯ ก็ต้องพิจารณาให้เห็นพระไตรลักษณ์เช่นเดียวกัน การเพ่งสมาธิวิปัสสนา ให้เพ่งพระพุทธรูป (พุทธานุสสติ), กายาคตาสติ อสุภะดีที่สุด เมื่อเพ่งจนเกิดสมาธิแล้วก็พิจารณาไปสู่พระไตรลักษณ์ หรืออีกวิธีคือ ความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ ทั้งปวงอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ที่ชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลกสมมติกันว่าเป็นสุข แต่พระอริยะเจ้าเห็นสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นทุกข์ การยินดีในสุภนิมิต เช่นนี้เรียกว่า กามฉันท์

ผู้มีกามฉันท์นี้ควรเจริญกายาคตาสติ พิจารณาเห็นร่างกายให้เห็นเป็นปฏิกูล

พยาบาทเกิดขึ้นเพราะความคับแค้นใจ ผู้มีพยาบาทชอบโกรธเกลียดผู้อื่นอยู่เสมอๆ ควรเจริญ เมตตา กรุณา มุทิตา คิดให้เกิดความรัก เมตตาสงสารผู้อื่น

ผู้มีความเกียจคร้านท้อแท้อยู่ในใจ ไม่กระตือรือร้นในการทำงาน เรียกว่าถูกถีนมิทธะครอบงำ ควรเจริญอนุสสติกัมมัฎฐาน พิจารณาความดีของตนและผู้อื่น เพื่อจะได้มีความอุตสาหะทำงาน แก้ความท้อแท้ใจเสียได้

ความฟุ้งซ่าน รำคาญ เกิดจากการที่จิตไม่สงบ ควรเพ่งกสิณให้ใจผูกอยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง หรือเจริญกัมมัฏฐานให้ใจสังเวช เช่น มรณสติ

ความลังเลไม่ตกลงได้ เนื่องจากไม่ได้พิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วน ควรเจริญธาตุกัมมัฏฐาน เพื่อจะได้รู้สภาวะธรรมตามความเป็นจริง

ธรรมทั้ง 5 ประการนี้เมื่อเกิดกับผู้ใด ย่อมจะเป็นธรรมอันกั้นจิตไม่ให้ผู้นั้นบรรลุความดีหรือสิ่งที่ตนประสงค์ได้ ฉะนั้น ผู้หวังความสำเร็จในชีวิตควรเว้นจากนิวรณ์ 5 ประการนี้

ประโยชน์ของสมาธิ



ประโยชน์ของสมาธิ พูดได้หลายอย่าง เช่น ประโยชน์ทางด้านอภิญญา ประโยชน์ทางด้านศาสนา ประโยชน์ทางด้านบุคลิกภาพ ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน

1.ประโยชน์ทางด้านอภิญญา เช่น ฝึกสมาธิแล้วได้อภิญญา(ความสามารถพิเศษเหนือสามัญชน) ได้แก่ หูทิพย์ ตาทิพย์ ทายใจคนอื่นได้ แสดงอิทธิฤทธิ์ต่างๆ ได้ ประโยชน์ด้านนี้ไม่เกี่ยวข้องกับพระศาสนาโดยตรง

2.ประโยชน์ที่เป็นจุดหมายทางพุทธศาสนา แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ

(1) ประโยชน์ระดับต้น ฝึกสมาธิไประยะหนึ่ง จิตจะหายฟุ้งซ่าน จนถึงระดับได้ฌาน สามารถใช้สมาธิที่ได้ระงับ หรือข่มกิเลสได้ชั่วคราว แค่นี้ก็เรียกได้ว่าได้ "วิมุตติ"(หลุดพ้น)ระดับหนึ่งแล้ว เรียกว่า วิกขัมภมวิมุติ (หลุดพ้นด้วยข่มไว้)ตราบใดที่ยังข่มได้อยู่ เจ้ากิเลสมันก็ไม่ฟุ้งดอกครับ อย่าเผลอก็แล้วกันเผลอเมื่อได เดี๋ยว "จะเป็นเรื่อง"

เมื่อท่านเจ้าประคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจันโท จันทร์) เทศน์สองธรรมาสน์กับ สมเด็จวัดเทพศิรินทร์ เจ้าคุณอุบาลีฯท่านอธิบายเรื่องกิเลส โลภ โกรธ หลง ยกศัพท์ยกแสงขึ้นมาอธิบายอย่างละเอียด สมเด็จท่านทักขึ้นว่า"แหม ว่าละเอียดเชียวนะ โลภมาจากธาตุนั้นปัจจัยนี้… ไหนลองบอกดูวิว่า ลาว มาจากธาตุอะไร" (ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯท่านเป็นชาวอีสาน ที่คนภาคกลางมักจะเรียกเหยียดๆว่า "ลาว")

ท่านเจ้าคูณอุบาลีฯ ตอบว่า ลาว ภาษาบาลีว่า ลาโว แปลว่า "ผู้ตัด" มาจาก ลุ ธาตุ วิเคราะห์ว่า ลุนาตีติ ลาโว = ผู้ใดย่อมตัดผู้นั้นชื่อว่าลาว" "ตัดอะไร" สมเด็จซัก "ตัดหางเปียเจ็ก" เจ้าคุณอุบาลีฯสวนขึ้นทันที(สมเด็จท่านมีเชื้อสายจีนชาวชลบุรีครับ) สมเด็จไม่ทันระวังตัว เพราะมัวไปแขวะคนอื่นเพื่อความมันส์โกรธหน้าแดงเลย นี่แหละครับ กิเลสที่มันสงบอยู่ดุจหญ้าถูกหินทับ พอถูกสะกิดเท่านั้นมันก็ฟุ้งขึ้นมาได้ ยกเรื่องจริงในยุทธจักรดงขมิ้นมาเล่าประดับความรู้ครับ

(2) ประโยชน์ระดับสูงสุด ก็คือสมาธิอันเป็นบาทฐานวิปัสนาพิจารณาสภาวธรรมทั้งหลายรู้แจ้งไตร-
ลักษณ์ กำจัดกิเลสได้โดยสิ้นเชิง พูดอีกในหนึ่งก็คือสมาธินำไปสู่ความเป็นพระอรหันต์นั้นแหละครับ

3.ประโยชน์สมาธิในด้านพัฒนาบุคลิกภาพ ผู้ที่ฝึกสมาธิประจำ ย่อมมีบุคลิกภาพที่พึงปรารถนาหลาย
ประการเช่น

(1) มีบุคลิกหนักแน่น เข้มแข็ง
(2) มีความสงบเยือกเย็น ไม่ฉุนเฉียวเกรี้ยวโกรธ
(3) มีความสุภาพ นิ่มนวล ท่าทีมีเมตตากรุณา
(4) สดใส สดชื่น เบิกบาน
(5) สง่า องอาจ น่าเกรงขาม
(6) มีความมั่นคงทางอารมณ์
(7) กระฉับกระเฉง ไม่เซื่องซึม
(8) พร้อมเผชิญเหตุการณ์ต่างๆ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ฉับไว ไม่ต้องอธิบาย เพียงเอ่ยถึง
ก็คงเข้าใจแล้วนะครับ

4.ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน คนมักถามว่าฝึกสมาธิแล้วได้ประโยชน์อะไรในชีวิตประจำวัน ฝึกแล้ว
บรรลุมรรคผลนิพพานน่ะ รู้แล้วว่าพระคัมภีร์พูดไว้จริง แต่ได้จริงหรือเปล่า ยังไม่เคยเห็น ถ้าจะให้ทำเองก็ไม่ทราบว่าเมื่อไรจะเห็นผล เอาในชีวิตประจำวันเห็นๆกันนี้ดีกว่าว่าฝึกแล้วได้อะไร ได้มากมายทีเดียวกันเช่น

(1) ทำให้ใจสบาย ไม่เครียด มีความสุข ผ่องใส
(2) หายหวาดกลัว หายกระวนกระวายโดยไม่จำเป็น
(3) นอนหลับง่าย ไม่ฝันร้าย สั่งตัวเองได้(เช่น สั่งให้หลับหรือตื่นตามเวลาที่กำหนดไว้ได้)
(4) กระฉับกระเฉง ว่องไว รู้จักเลือกและตัดสินใจเหมาะแก่สถานการณ์
(5) มีความแน่วแน่ในจุดหมาย มีความใฝ่สัมฤทธิ์สูง
(6) มีสติสัมปชัญญะดี รู้เท่าปรากฏการณ์ และยับยั้งใจได้ดีเยี่ยม
(7) มีประสิทธิภาพในการทำงาน ทำกิจกรรมสำเร็จด้วยดี
(8) ส่งเสริมสมรรถภาพมันสมอง เรียนหนังสือเก่ง ความจำดีเยี่ยม
(9) เกื้อกูลต่อสุขภาพร่างกาย เช่นชะลอความแก่ หรืออ่อนกว่าวัย
(10) รักษาโรคบางอย่าง เช่น โรคเครียด โรคท้องผูก โรคความดันโลหิต โรคหืด

โรคกายจิต(อ่านว่าโรค กา-ยะ-จิต ) หมายถึง ไม่เป็นโรค แต่ใจคิดว่าเป็น คิดบ่อยๆเข้าก็เลยเป็นจริงๆ อาการอย่างนี้ฝึกสมาธิสักพักเดียวก็หาย

9 วิธีทำบุญไม่เสียตังค์






1.ตื่นเช้าขึ้นมาก็คิดแต่สิ่งดีๆ ทันทีที่ตื่นนอน หากเราคิดถึงแต่สิ่งที่ดีที่งาม ก็จะทำให้จิตใจเราสดชื่น กระตือรือร้น พร้อมที่จะรับมือ กับชีวิตประจำวันด้วยความรื่นเริง ไม่หงุดหงิด โมโห แค่นี้ นอกจากเราจะมีความสุขแล้ว คนรอบข้างเราก็มีความสุขไปด้วย ถือว่าเป็นการทำบุญอย่างหนึ่ง


2.ยิ้มแย้มแจ่มใส ในแต่ละวัน หากเราจะรู้จักยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่ว่าจะยิ้มกับคนรู้จักหรือไม่รู้จักก็ตาม หน้าตาของเราก็จะดูเป็นมิตร ทำให้คนอยากเข้าใกล้ ถ้าเราเป็นพ่อแม่ ยิ้มกับลูกก่อนไปทำงาน ลูกก็ดีใจ ลูกยิ้มกับพ่อแม่ๆ ก็สบายใจว่าต่างคนต่างไม่มีเรื่องเดือนร้อนใจแน่ หรือหากมีก็กล้าจะมาปรึกษาหารือ หรือหากเป็นเจ้านาย ยิ้มกับลูกน้องๆ ก็รู้ว่าวันนี้นายอารมณ์ดี ทำให้ทำงานด้วยความมั่นใจ ไม่ต้องระแวงว่าจะถูกเรียกไปต่อว่า และถ้าเรียกก็ดูน่าจะมีเมตตา กว่าเวลาที่นายทำหน้ายักษ์


3.ทักทาย โอปราศรัย คนบางคน นอกจากจะไม่ยิ้มกับใครแล้ว ยังชอบทำหน้าบึ้งตึง ไม่คิดจะพูดจาทักทายใครด้วย ซึ่งถ้าเกิดทำงานด้านบริการ คนมาติดต่อคงรู้สึกเกร็ง และกังวลตลอดว่าจะถูกเอ็ดตะโรเมื่อไรก็ไม่รู้ ดังนั้น นอกจากยิ้มแย้มแจ่มใสแล้ว เราก็ควรจะเอื้อนเอ่ยวาจาทักทายผู้มารับบริการก่อน การทักทายปราศรัยกับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นผู้มาขอรับบริการ เพื่อนฝูงคนรู้จัก ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา หรือแม้แต่คนที่มาทำงานให้เรา เช่น แม่บ้าน ยาม ฯลฯ จะทำให้เขารู้สึกเป็นมิตร และอบอุ่นใจ ทำให้บรรยากาศในที่นั้นๆ ดีขึ้น


4.แบ่งปันน้ำใจไมตรี สามารถทำได้ทุกที่และทุกเวลา เช่น ช่วยพ่อแม่จัดโต๊ะอาหาร ล้างถ้วยชาม ลุกให้เด็ก ผู้หญิงท้อง หรือคนแก่นั่ง ช่วยถือของหนักให้คนในรถเมล์ หยุดรถให้คนข้ามถนน หรือรถอื่นไปก่อน ช่วยแบ่งเบาภาระงาน ให้เพื่อนในที่ทำงาน เป็นต้น การให้ความช่วยเหลือเช่นนี้ เป็นการทำบุญด้วยการลดความเห็นแก่ตัวของเราลง และทำให้เราได้รับมิตรไมตรีสนองตอบกลับมาด้วย


5.ปลุกปลอบให้กำลังใจ ช่วยแก้ไขปัญหา หลายๆครั้งที่เพื่อนฝูงญาติมิตรอาจประสบปัญหาชีวิต และเกิดความทุกข์ใจแสนสาหัส สิ่งที่ดีที่สุดคือ ความเป็นมิตรและถ้อยคำที่ปลุกปลอบให้กำลังใจ คำพูดดีๆ ที่มาจากใจ จะทำให้ผู้ที่ตกอยู่ในห้วงทุกข์ รู้สึกดีขึ้นและมีพลังที่ต่อสู้ชีวิตต่อไปได้


6.ให้คำชมด้วยความนิยมยินดี การกล่าวคำชื่นชมต่อผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดๆ ย่อมจะทำให้ผู้รับคำชมรู้สึกปลาบปลื้มยินดี และมีความสุขได้ โดยเฉพาะในเรื่องที่เขาทำสำเร็จ แต่ทั้งนี้ต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง และจริงใจด้วย ดูอย่างตัวเราเองแค่วันไหน แต่งตัวสวย แล้วมีคนชม เราก็หน้าบานไปทั้งวันแล้ว เช่นเดียวกัน คนทุกคนล้วนอยากได้การยอมรับและคำชมทั้งนั้น เพราะคำชมจะเป็นการเสริมเพิ่มกำลังใจให้อยากทำดียิ่งๆ ขึ้นไป


7.แนะนำให้คำสอนที่ดี มีคุณค่า ไม่ว่าจะเราจะอยู่ในสถานภาพใด เช่น เป็นลูก เป็นพ่อแม่ ลูกน้อง เจ้านาย เพื่อนร่วมงาน เพื่อนร่วมอาชีพ ฯลฯ หากเราจะมีเมตตา แนะนำในสิ่งที่ดี มีประโยชน์และคุณค่าต่อผู้อื่น หรือสอนในสิ่งที่เราชำนาญให้แก่ผู้อื่น ก็จะเป็นการช่วยเกื้อกูลสังคมให้ดียิ่งขึ้น และผลก็จะย้อนมาสู่ตัวเราผู้ทำด้วย เช่น สอนงานให้ลูกน้อง ต่อไป เมื่อเขาทำงานเป็น เราก็ไม่ต้องเหนื่อยมาก และเขาก็จะรู้สึกขอบคุณเรา แนะวิธีออกกำลังกายให้พ่อแม่ ท่านก็แข็งแรง ไม่เจ็บไข้ได้ป่วยง่าย เราก็สบายใจ หรือแม้แต่การแนะนำให้ความรู้ที่เรามี หรือทราบมาแก่คนไม่รู้จัก อย่างแนะนำหมอ ยาดีๆ หรือธรรมะที่ดีแก่คนอื่น ทำให้เขาหายป่วยหรือรู้สึกดีขึ้น เขาก็จะอธิษฐานหรือให้พรเรา ทำให้เราพบแต่สิ่งดีๆ ในชีวิต


8.การให้อภัยในความผิดพลาดของผู้อื่น โดยทั่วไปคนเรามักจะให้อภัยตัวเองง่าย และมีข้อแก้ตัวให้ตนต่างๆ นานา แต่ถ้าผู้อื่นผิดพลาดแล้ว เรามักเห็นเป็นเรื่องใหญ่ และตำหนิติเตียนไม่รู้จักแล้วจบ ดังนั้น เราจะต้องหัดมีเมตตา รู้จักให้อภัยต่อผู้อื่นให้ง่าย เหมือนให้อภัยแก่ตัวเราเอง เพราะการให้อภัย จะทำให้เราไม่ผูกใจเจ็บ ไม่อาฆาตมาดร้าย ไม่ก่อศัตรู แต่ทำให้จิตใจเราสงบเย็น เป็นฝึกจิตพื้นฐานอย่างหนึ่ง ที่จะนำไปสู่กุศลขั้นสูงอื่นๆ ต่อไป


9.ฝึกจิตให้สงบและสบาย ด้วยการทำสมาธิหรือสวดมนต์ การทำสมาธิ ฟังดูเหมือนยาก แต่จริงๆ เราทำได้ตลอดเวลาไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน หรือทำอะไรอยู่ เช่น กินข้าว อาบน้ำ ทำการบ้าน ทำงานบ้าน อ่านหนังสือ อยู่ที่ทำงาน หัวใจหลักคือให้เอาใจไปจดจ่อ ในสิ่งที่ทำเพียงอย่างเดียว จะทำให้เราทำทุกอย่างได้ดีขึ้น เพราะไม่พะวักพะวน คิดหรือทำหลายอย่างในเวลาเดียวกันอันทำให้ขาดสติ และทุกๆ คืนก่อนนอน ก็ควรสวดมนต์ไหว้พระที่เรานับถือ โดยอาจเลือกบทสวดสั้นๆ ที่เราชอบ เสร็จแล้วก็อย่าลืมแผ่เมตตาให้กับตัวเราเอง และผู้อื่นตามสมควร

พระศาสดาบอกวิธีแก้ง่วงขณะบำเพ็ญเพียร


พระโมคคัลลานะ อุปสมบทแล้วได้ 7 วัน ก็ไปบำเพ็ญเพียรในที่สงบ แต่แล้วก็ถูกความง่วงเข้าครอบงำ ทำให้ไม่สามารถบำเพ็ญเพียรได้เป็นปกติ พระศาสดาจึงทรงบอกวิธีแก้ง่วงแก่พระโมคคัลลานะ

1. เมื่อกำลังคิดถึงสิ่งใดอยู่ ให้คิดถึงสิ่งนั้นเข้าไว้ จะเป็นเหตุให้ละความง่วงได้
2. ถ้ายังไม่หายง่วง ให้คิดทบทวนถึงธรรมที่ได้เรียนมาแล้วอย่างละเอียด จะทำให้หายง่วงได้
3. ถ้ายังไม่หายง่วง ให้ท่องธรรมที่ได้เรียนมาดังๆ
4. ถ้ายังไม่หายง่วง ให้แยงหูทั้งสองข้าง แล้วใช้ฝ่ามือลูบไปตามตัว
5. ถ้ายังไม่หายง่วง ให้ลุกขึ้นแล้วลูบหน้าด้วยน้ำ และเหลียวไปรอบๆ หรือ แหงนหน้าขึ้น จะทำให้หายง่วงได้
6. ถ้ายังไม่หายง่วง ให้นึกว่านี่เป็นเวลากลางวันที่มีแสงอาทิตย์ สว่างไสวไปหมด จะทำให้หายง่วงได้
7. ถ้ายังไม่หายง่วง ให้ลุกขึ้นเดินจงกรม เพื่อให้จิตมีสติรู้เท่าทันการเคลื่อนไหว
8. ถ้ายังไม่หายง่วง ให้นอนในท่าสีหไสยา คือ ตะแคงขวา ตั้งสติว่าจะตื่นอยู่เสมอ และจะไม่ยินดีกับการนอน หรือ การเคลิ้มหลับ จะเป็นเหตุให้ละความง่วงได้

การฝึกกรรมฐานด้วยตนเองแบบง่ายๆ


แต่งกายให้สะอาดเรียบร้อย บูชาพระ ทำใจเคารพในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ ให้แน่นอน กล่าววาจานมัสการพระรัตนตรัย นึกในใจหรืออกเสียงก็ได้ ภาษาบาลีหรือภาษาไทยก็ได้ พระพุทธเจ้าท่านมีจิตเป็นทิพย์ ท่านฟังรู้เรื่องหมด จะมีดอกไม้ธูปเทียนหรือไม่มีก็ได้
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อาระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ ( 3 จบ)
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมนมัสการ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระอรหันต์ พระองค์นั้น ( 3 ครั้ง)
พุทธัง สะระนัง คัจฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้า เป็นที่พึ่งตลอดชีวิต
ธัมมัง สะระนัง คัจฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมคำสอน เป็นที่พึ่งตลอดชีวิต
สังฆัง สะระนัง คัจฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระอริยสงฆ์สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต

ต่อไปก็ตั้งใจ กำหนดไว้ในใจว่า จะรักษาศีล 5 ตลอดชีวิตดังนี้
1) เราจะไม่ฆ่าสัตว์ ทรมานคน สัตว์ ให้ตาย หรือให้ได้รับความเดือดร้อนตลอดชีวิต
2) เราจะไม่ลักขโมย คดโกง หลอกลวง ในทรัพย์สินเงินทอง ของคนอื่นมาเป็นของเราตลอดชีวิต
3) เราจะไม่ทำเจ้าชู้ ลูก สามี ภรรยา และคนในปกครองของผู้อื่นโดยที่ผู้ปกครองและเจ้าของไม่อนุญาต ตลอดชีวิต
4) เราจะไม่พูดปดคือวาจาที่ไม่ตรงความจริง ไม่พูดวาจาหยาบคายให้เป็นที่สะเทือนของผู้รับฟัง ไม่ยุ หรือนินทาคนอื่น ให้เป็นเครื่องบาดหมาง หรือแตกร้าวกัน ไม่พูดวาจาเหลวไหลไร้ประโยชน์ตลอดชีวิต
5) เราจะไม่ดื่มสุราเมรัย เล่นพนัน ติดฝิ่น ยาบ้า ยาระงับประสาททุกชนิด ตลอดชีวิต
6) เราจะไม่คิดอยากได้ทรัพย์สินของบุคคลอื่นโดยที่เจ้าของไม่ได้ให้ด้วยความเต็มใจตลอดชีวิต
7) เราจะไม่จองเวร จองล้าง จองผลาญ จองกรรม คิดพยาบาท แก้แค้นในบุคคล ที่ทำให้เราไม่พอใจ ถ้าไม่หนักเกินไป เราจะให้อภัยแก่ผู้นั้นตลอดชีวิต
เราจะไม่ฝ่าฝืนพระธรรมคำสอน มีศีลเป็นต้น จะปฏิบัติตามคำสอนด้วยความเคารพ ตลอดชีวิต
ทั้งหมดจะกล่าวเบา ๆ หรือคิดในใจก็ได้ พระพุทธองค์ทรงทราบได้ แล้วสมาทานพระกรรมฐานด้วย ตั้งนะโม 3 จบ แล้วกล่าวดังนี้

อิมาหัง ภะคะวา อัตตะภาวัง ตุมหากัง ปริจัจ ชามิ แปลว่า ข้าแต่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้า ขอมอบกายถวายชีวิตแด่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า
สมาทานแล้ว กราบ 3 ครั้ง ด้วยความเคารพ ต่อไปเริ่มทำสมาธิ การนั่งอย่าลืมว่าเราปฏิบัติที่จิต เราไม่ได้หัดนั่ง หัดยืน หัดเดิน ดังนั้นควรทำกายให้สบาย จิตจะได้ฝึกให้เป็นสมาธิ คือจิตตั้งมั่นในอารมณ์หนึ่งอารมณ์เดียว ไม่วอกแวกๆไปไหน ได้ง่าย ๆ จะนั่งท่าไหนก็ได้ตามแต่ร่างกายจะสบาย จะยืนเดิน ก็ได้ไม่ห้าม อย่าฝืนร่างกายต้องทุกข์ทรมาน จิตจะไม่เป็นสมาธิ
บทภาวนาในที่นี้ ขอแนะนำให้ภาวนา พุทโธ เพราะสั้น ง่าย มีอานิสงส์ มีบุญมาก เพราะเป็นนามของพระพุทธเจ้า หายใจเข้านึกตามลมหายใจเข้า เร็ว ลึก ตื้น ให้สังเกตลมนึกว่า พุท หายใจออกจิตดูลมออกจากปอดถึงปลายจมูกเร็วหรือสั้นนึกว่า โธ จำภาพพระพุทธรูปที่วัดไหน แบบใดก็ได้ที่ชอบ ถ้าพระพุทธรูปอยู่ใกล้ ให้ลืมตาดูพระพุทธรูป พอจำได้ดีแล้ว หลับตา นึกถึงภาพพระ กำหนดลมหายใจเข้า-พุท หายใจออก-โธ ไปด้วย ถ้าภาพเลื่อนไปจากใจ ให้ลืมตาดูใหม่ ในไม่ช้าจิตจะทรงสมาธิ พุท-โธ ได้ดี ไม่ต้องมองภาพพระ ก็สามารถนึกถึงภาพพระได้ตลอดเวลา ติดตาติดใจอย่างนี้ ท่านเรียกว่า จิตเป็นฌาน

การทำสมาธินี้ ท่านจะทำได้ทุกลมหายใจเข้าออก ไม่ว่าจะขับรถ วิ่ง ทำงาน รับประทานอาหาร หรืออยู่ในห้องส้วม หรือก่อนนอน ตื่นนอน ได้ตลอดเวลาที่ยังตื่นอยู่ ให้ทำแบบคนไม่มีเวลาที่จะหยุดทำสมาธิ งานทางโลกจะดีเกิดคาด เพราะได้ทางธรรม คืองานทางจิตด้วย เมื่อจิตสะอาด ฉลาด งานทางโลก ซึ่งเป็นงานทางกายก็สำเร็จ เพราะจิตเป็นสมาธิ งานไม่ขาดตกบกพร่อง
ภาวนาดูลมหายใจเข้าออก นึกพุทโธ ควบคู่กันไป แต่ถ้าเกิดอารมณ์หงุดหงิด หรือฟุ้งซ่านตั้งอารมณ์ไม่อยู่จงเลิกเสีย จะเลิกเฉยๆ หรือดูโทรทัศน์ คุยกับเพื่อนให้อารมณ์สบาย อย่ากำหนดเวลาตายตัว จะต้องนั่งให้ครบเวลา อย่าเครียด ทำให้สนุก สนุกกับงานทางจิต ถ้าเครียดก็เลิกทำ ทำอย่างอื่นหรือพิจารณาธรรมชาติของโลก ร่างกาย ชีวิตมีแต่ปัญหายุ่งยาก เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่อยู่ในความควบคุมของเราได้ เป็นกฎธรรมชาติ หนีไม่พ้น คือ ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา คือไม่ใช่ของใครทั้งสิ้น ควบคุมไม่ได้ ในที่สุดก็พังสลาย ตายกันหมด คนเกิดมาเท่าไร ตายหมดเท่านั้น

การใช้คำภาวนา พระท่านไม่ได้กำหนด จะใช้อะไรก็ได้ พุทโธ ก็ได้ ธัมโม ก็ได้ สังโฆ ก็ได้ นะโมพุทธายะ ก็ได้ ยุหนอพองหนอ ก็ได้ แต่ถ้าระลึกถึงพระพุทธเจ้าด้วยยิ่งดีมาก เพราะเป็นพุทธานุสสติกรรมฐาน ทำจิตให้สะอาด สว่าง ไสว เบิกบาน เพราะนึกถึงผู้ที่มีคุณธรรมสูงส่งไปด้วย ความกตัญญูในพระองค์ท่าน จะมีแต่ความสุขความเจริญ มีเดชเดชะ เป็นที่รักของบุคคลที่ได้พบเรา ผู้ที่นึกถึงพระพุทธเจ้า ตายแล้วไปเสวยสุข สวรรค์ นิพพาน ผู้ที่ไม่ได้นึกถึงพระพุทธองค์ จิตวุ่นวายทางโลก จิตเศร้าหมอง ตายแล้วก็มีหวังไปสู่ทุคติ คือ ความทุกข์เกิดทางต่ำ เช่น นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน ถ้าเกิดเป็นคนก็เป็นคนต่ำช้า ตกยากลำบาก เพราะจิตไม่สะอาด

เริ่มต้นนั่งสมาธิ


ปล่อยวางความคิดนึกเรื่องราวต่าง ๆ ให้หมดไปจากใจทำสติจับความรู้สึกอยู่ที่กายอาการสามสิบสอง ทำความรู้สึกนึกคิดเห็นตัวเราว่าขณะนั่งอยู่อย่างไร
เรานั่งขาขวาทับขาซ้ายก็ทำความรู้ว่าเรานั่งขาขวาทับขาซ้าย เรานั่งมือขวาทับมือซ้ายก็รู้ว่าเรานั่งมือขวาทับมือซ้าย เรานั่งตัวตรงก็รู้ว่าเรานั่งตัวตรง เรานั่งหลับตาก็รู้ว่าเรานั่งหลับตา นึกรู้นึกเห็นตัวเราอยู่ตลอดเวลา
น้อมนึกเห็นใบหน้าของเราว่ามีลักษณะอย่างไร นึกเห็นตั้งแต่ศีรษะตลอดลงมาปลายเท้า นึกเห็นรอบตัวเองแล้วมาพิจารณาอยู่ที่ใบหน้า นึกเห็นคิ้วเห็นตา เห็นหูทั้งสองข้าง นึกเห็นปากเห็นคางนึกเห็นปลายจมูก นึกเห็นลมหายใจเข้า-ออก
หายใจเข้าก็นึกรู้ว่าเราหายใจเข้า หายใจออกก็รู้ว่าหายใจออก หายใจออกยาวก็รู้ว่าหายใจออกยาว หายใจเข้าสั้นและออกสั้นก็รู้ว่าขณะนี้เราหายใจเข้า-ออกสั้น ทำความรู้เท่าทันลมหายใจเข้า-ออก
ทุกลมหายใจเข้า-ออกทำความรู้อยู่ที่ปลายจมูกนึกเห็นใบหน้า เรานึกเห็นอยู่ที่ปลายจมูกทุกขณะลมหายใจเข้า-ออก กำหนดอยู่ที่สองช่องจมูก หายใจเข้านึกว่า “ พุท ” หายใจออกนึกว่า “ โธ ” จนรู้อยู่แต่ “ พุท-โธ ” ทุกลมหายใจเข้า-ออกนึกเห็นแต่ปลายจมูกสว่างเสมอไป
ระยะแรกนั้นการปฏิบัติพึงกำหนดลมหายใจเข้าออกยาว ๆ เพราะสติยังอ่อนอยู่ ขณะที่นั่งอยู่นั้นกายสงบก็ทำความรู้ว่า “ กายสงบ ” ใจสงบก็ทำความรู้ว่า “ ใจสงบ ” สงบอยู่อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ทำความรู้อยู่ตลอดเวลา สุขเกิดก็รู้ทุกข์เกิดก็รู้ไม่สุขไม่ทุกข์เกิดขึ้นก็รู้ ทำความรู้ทั้งกายใจอยู่อย่างนี้บางครั้งทุกข์กายแต่สุขใจก็มี คิดดีก็รู้ รู้แล้วเฉย คิดชั่วก็รู้ รู้แล้วเฉยอะไรที่เกิดขึ้นทุกอย่างทำความเฉยให้เกิดขึ้นตลอดเวลา ทำเฉย ๆ ให้มากเท่าไร ยิ่งดี จิตจะได้ตั้งมั่นได้รวดเร็ว อยู่นาน ๆ เข้าจิตก็เกิดสมาธิ แนบแน่นจนกายเบาจิตเบา หากพลั้งเผลอไปก็ดึงสติกลับมาตั้งไว้จุดเดิมปฏิบัติอยู่เช่นนี้จนเป็นนิสัย ลมหายใจก็จะละเอียดประณีตกายก็เบาใจก็สบาย ในช่วงนี้หากคำภาวนา “ พุท-โธ ” ได้ละไปแล้วก็ให้พิจารณาลมหายใจเข้า-ออกเพียงอย่างเดียว (คำ “ พุท-โธ ” จะหยุดรำลึกไปเองโดยธรรมชาติอย่าหวนคำรำลึกหรือทวนความรู้สึกใด ๆ ขึ้นมาอีก) เมื่อกระแสกลมกลืนกันดีแล้ว จิตจะนิ่งเป็นอิสระเป็นสุขและเกิดปัญญา รู้เอง เห็นเองสัมผัสได้ด้วยจิตเอง

หมายเหตุ การปฏิบัตินั่งสมาธิ ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติอย่างเคร่งเครียดเอาจริงเอาจังจนเกินไปหรืออ่อนเกินไปควรทำใจให้สบาย ๆ ปฏิบัติสม่ำเสมอ จะเวลา เช้า เย็น หรือค่ำ สุดแต่ความสะดวกของตนเอง ใช้เวลาฝึกวันแรกเพียง ๑๐-๑๕ นาที แล้ววันต่อ ๆ ไปเพิ่มขึ้นเป็นวันละ ๒๐-๓๐ นาที จนถึงวันละ ๑ ช.ม. เป็นประจำทุกวัน
ขณะปฏิบัติอย่ามุ่งจิตคิดแต่จะเห็นนิมิต เพราะอาจจะทำให้ตัวของเราสร้างจินตนาการไปเอง และปฏิบัติควรปฏิบัติทุกวันอย่างน้อยวันละครั้ง อย่าได้ขาด ครั้งละจะนานเท่าใดก็ได้ขอให้จิตสงบ แต่หากว่าในคราวใดปฏิบัติไปแล้วจิตก็ยังไม่สงบ อย่ากังวลอย่าไปท้อใจ จงปฏิบัติเรื่อย ๆ ทุกวันก็จะสมเจตนาเอง

วิธีออกจากสมาธิ

ก่อนจะเลิกนั่งสมาธิ ให้มาพิจารณากายใจของเรา ตั้งแต่เบื้องบนคือปลายผม สุดเบื้องล่างคือปลายเท้า จากเบื้องล่างคือปลายเท้าให้ถึงเบื้องบนคือปลายผม
พิจารณารู้รอบตัวเองทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อมด้วยการออกจากสมาธิให้จิตของเรา
พิจารณารูปตัวเองทั้งกายภายนอกภายใน
รู้ทั่วพร้อมแล้วค่อย ๆ เคลื่อนมือขวามาวางที่หัวเข่าด้านขวา เคลื่อนมือซ้ายมาวางที่หัวเข่าด้านซ้ายแล้วค่อย ๆ ยกมือขวาขึ้นมาระหว่างหน้าอก ยกมือซ้ายขึ้นมาพนมมือแบบดอกบัวตูมแผ่เมตตาไม่มีประมาณให้แก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย
ตลอดจนเจ้ากรรมนายเวร ทั้งในอดีตชาติหรือชาติปัจจุบันพร้อมทั้งตั้งจิต
ขออโหสิกรรม อย่าได้เบียดเบียนและจองเวรต่อกันเลยและตั้งสัจอธิษฐานทำจิตใจตั้งมั่นอยู่
ในคุณความดีที่เราจะประพฤติปฏิบัติธรรมะให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป
ตั้งใจอธิษฐานจิตของเราทุกครั้งเมื่อจะออกจากสมาธิ

ข้อดีที่น่าทึ่ง ของการนั่งสมาธิ

ประโยชน์ทางสุขภาพที่ได้จากการทำสมาธินั้นมีอยู่มากมาย ไม่เพียงเฉพาะแต่ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจะบรรเทาอาการได้เท่านั้น ในผู้ที่ฝึกทำสมาธิเป็นประจำยังช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพได้ และป้องกันโรคต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นได้ การทำสมาธินั้นได้ถูกนำมาใช้กันในวงกว้างกับโรคร้ายแรงหลาย ๆ โรค โดยเฉพาะโรคที่ประสบความสำเร็จและมีการบันทึกไว้ก็คือเกี่ยวกับปัญหาทางด้านจิตใจ เช่นอาการสะเทือนใจและอื่น ๆ แล้วการทำสมาธิช่วยเรื่องสุขภาพได้อย่างไร?? ต่อไปนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นขณะที่ทำสมาธิ:

*คุณจะรับออกซิเจนน้อยลง
*คุณจะหายใจได้ดีขึ้น
*การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจช้าลง
*ร่างกายจะแข็งแรงขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของหัวใจของผู้ป่วย
*ร่างกายจะพักผ่อนได้ลึกขึ้น
*ทำให้ความดันเลือดที่สูงลดต่ำลง
*ลดความกังวล
*ลดความตึงของกล้ามเนื้อ และลดอาการปวดศีรษะ
*เพิ่มความมั่นใจในตัวเอง
*การผลิตฮอร์โมน serotonin ช่วยให้ทำให้จิตใจดีขึ้น
*ช่วยทำให้อาการก่อนมีประจำเดือนในผู้หญิงลดลง
*ช่วยให้ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดหายได้เร็วขึ้น
*กระตุ้นการสร้างระบบภูมิคุ้มกัน
*ช่วยให้อารมณ์คงที่ไม่แปรปรวน

ชนะความเครียด
ทุก ๆ คนล้วนมีแนวโน้มที่จะเกิดความเครียดได้จากชีวิตประจำวัน อาจเป็นจากที่ทำงานหรือที่บ้าน ขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละคนในการจัดการกับปัญหา ความเครียดและความกังวลนั้นมีผลทำให้ระดับความดันเลือดสูงขึ้น และอาจทำให้เป็นโรคหัวใจ เมื่อทำสมาธิ ความเครียดก็จะไม่ค่อยเกิดขึ้น ดังนั้นปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิตก็จะไม่เกิดขึ้น

สิว
เมื่อเราจัดการกับความเครียดได้ การผลิตน้ำมันจากต่อมไขมันก็จะลดลง การอุดตันก็จะน้อยลง นั่นจึงเป็นเหตุที่ทำไมสิวถึงน้อยลง หน้ามันน้อยลงเมื่อเรานั่งสมาธิอยู่เป็นประจำ

ความเจ็บปวด
ผู้ที่ได้รับความเจ็บปวดอยู่ตลอดเวลาก็จะค่อย ๆ กลายเป็นความวิตกกังวล และทำให้ความอดทนต่อความเจ็บปวดน้อยลง โชคดีที่การทำสมาธิสามารถช่วยบรรเทาความกังวลได้ จึงช่วยลดความเจ็บปวดได้ด้วย

ป่วยเรื้อรัง
มีหลาย ๆ โรงพยาบาลที่แพทย์ใช้วิธีการให้ผู้ป่วยทำสมาธิเพื่อช่วยอาการป่วยเรื้อรัง เช่นมะเร็ง ซึ่งจะช่วยลดความกังวลเกี่ยวกับผลข้างเคียงจากยาที่ใช้ในการรักษา สำหรับผู้ป่วยที่ป่วยในระยะสุดท้าย การทำสมาธิก็จะช่วยลดความกังวลและความหดหู่และเพิ่มความรู้สึกดี ๆ ขึ้นมาได้

ความดันโลหิตสูง
การทำสมาธิจะให้ผลดีกับกรณีนี้มากในการช่วยลดระดับความดันโลหิตในผู้ป่วยด้วยโรคนี้ ก็จะทำให้ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจสำหรับกลุ่มนี้
มีหลาย ๆ ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพที่สามารถใช้วิธีการทำสมาธิเพื่อบรรเทาอาการต่าง ๆ เช่น เรื้อนกวาง, โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ, อาการลำไส้ปั่นป่วน, Fibromyalgia (โรคกล้ามเนื้อตึง นอนไม่หลับ) เป็นต้น เมื่อความวิตกกังวลลดลง ก็จะทำให้ผู้ป่วยมีความมั่นใจมากขึ้น และควบคุมสถานการณ์ได้ และช่วยให้รับมือกับสถานการณ์นั้น ๆ ได้ดีขึ้น

http://www.watthummuangna.com/board/showthread.php?t=6202