วันพฤหัสบดีที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2553

กำเนิดเปรต...ในพระพุทธศาสนา

เกี่ยวกับเรื่องกำเนิดเปรตในพระพุทธศาสนานั้น
มีตัวอย่างที่เกิดขึ้นในสมัยที่พระพุทธองค์ ยังทรงดำรงพระชนม์ชีพอยู่ คือ ญาติของพระเจ้าพิมพิสารในอดีตกาล
มีจิตศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ต่างเห็นพ้องต้องกันว่าอยากจะทำบุญถวายทาน
จึงได้พร้อมใจกันอาราธนาพระสงฆ์จำนวนมากมาแล้ว จัดเตรียมอาหารอย่างดีเพื่อถวายทาน

ในระหว่างจัดเตรียมภัตตาหารสำหรับถวายพระสงฆ์อยู่นั้น
พวกเด็กๆ ลูกๆ หลานๆ ของพวกเขาเห็นอาหารที่จัดเตรียมไว้สำหรับถวายพระน่าอร่อย จึงเกิดความหิว
เมื่อไม่มีใครจัดแจงให้ จึงได้พากันส่งเสียงร้องไห้ พร้อมทั้งเอ่ยปากขอกินข้าวบ้าง ขนมบ้าง ของอย่างอื่นบ้าง

ญาติๆ เห็นเช่นนั้นก็เกิดความรำคาญ และเพื่อตัดปัญหา เพราะเห็นว่าไม่น่าจะมีผลเสียอะไร
เพราะเหตุผลที่ว่า ของเหล่านั้นก็เป็นของที่พวกเขาจัดเตรียมมาเอง
จึงหยิบอาหารที่อยู่ในภาชนะซึ่งจัดเตรียมไว้ถวายพระให้เด็กกิน หนักเข้าก็เผลอหยิบกินเองบ้าง

ความจริงแม้อาหารที่ถวายพระสงฆ์ และพระสงฆ์ก็ฉันแล้ว ถ้ายังไม่ได้ลา หรือพระสงฆ์ยังไม่ได้อนุญาตให้
ใครๆ ก็ไม่สามารถหยิบมากินได้ เพราะของเหล่านั้นเป็นของบริจาคให้เป็นของสงฆ์
ใครจะคิดว่า ถึงทิ้งไว้ก็เสียไปโดยเปล่าประโยชน์ ควรนำมากินนำมาใช้ยังมีคุณค่ากว่า

ถือว่าเป็นความคิดที่ผิด ด้วยเหตุนี้เอง จึงเป็นเหตุผลให้เกิดประเพณีลาข้าวพระพุทธอีกเหตุผลหนึ่ง

รวมถึงการนำอาหารที่ถวายพระสงฆ์แล้วมากินมาใช้ ต้องได้รับอนุญาตจากพระสงฆ์ก่อนทุกครั้ง

สำหรับกรณีที่ญาติของพระเจ้าพิมพิสาร แรกๆ พวกเขาอาจหยิบของที่ยังไม่ได้ถวายพระสงฆ์ให้ลูกหลานกินก่อน
พร้อมทั้งหยิบกินเองบ้าง แต่หลักฐานบางแห่งพระอาจารย์ท่านอธิบายว่า
ของเหล่านั้นไม่ใช่เป็นของที่ยังไม่ได้ถวายพระอย่างเดียว
เป็นของที่พระสงฆ์ฉันแล้วแต่ยังไม่ได้รับอนุญาตจากพระสงฆ์ พวกเขาไปหยิบมาให้ลูกหลานกินบ้าง
หยิบกินเสียเองบ้าง บาปเกิดจากการกินอาหารที่จัดเตรียมไว้สำหรับถวายพระครั้งนั้น
ทำให้พวกเขาหลังจากตายแล้วไปบังเกิดเป็นเปรตเสวยวิบากกรรมที่ทรมาน พบกับความอดอยาก ร่างกายผอมโซ
หิวโหย ขาดอาหาร รอญาติๆ ทำบุญกรวดน้ำอุทิศบุญกุศลไปให้ จึงมีชีวิตอยู่รอดตลอดระยะเวลาอันยาวนาน

จนกระทั่งพวกเขารู้ว่า ญาติของตนคือพระเจ้าพิมพิสาร ได้ทำบุญครั้งใหญ่แด่พระสงฆ์
มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ต่างก็พากันเดินทางมารอรับส่วนบุญด้วยความหวังว่า
จักได้รับความเมตตาจากญาติของตน ที่อาจกรวดน้ำแผ่ส่วนบุญให้พวกเขาบ้าง

แต่ก็ต้องผิดหวัง เนื่องจากพระเจ้าพิมพิสารไม่รู้ ก็เลยไม่ได้กรวดน้ำอุทิศส่วนบุญไปให้
พอถึงเวลากลางคืน ตกตอนดึก ก็พากันมาปรากฏกายส่งเสียงร้องครวญคราง ทำให้เกิดอาการน่าสะพรึงกลัว
ร่างกายผอมแห้ง แสดงความหิวโหยเป็นทุกข์ทรมานให้พระเจ้าพิมพิสารได้เห็น

เมื่อพระเจ้าพิมพิสารได้ทอดพระเนตรเห็นเช่นนั้น
ก็ทรงหวั่นกลัววิตกกังวลว่าจักมีเหตุร้ายใดๆ เกิดขึ้นกับพระองค์เป็นแน่
รุ่งเช้าจึงได้เข้าไปเฝ้าทูลถามพระพุทธเจ้า

พระพุทธองค์มีพระดำรัสว่า
"มหาบพิตร พระองค์อย่าทรงกลัวเลย เหตุร้ายใดๆ จักไม่เกิดแก่พระองค์ เพียงแต่เปรตที่เคยเป็นญาติของพระองค์
พากันมารอรับส่วนบุญที่พระองค์ทำ แต่ไม่ได้กรวดน้ำอุทิศให้ เมื่อพวกเขาไม่ได้รับส่วนบุญ
จึงพากันมาแสดงตนให้ได้ยินให้เห็น
หลังจากพระองค์กรวดน้ำอุทิศบุญกุศลไปให้แล้ว พวกเขาก็จะสงบหายไปเอง"

จากนั้นพระองค์ก็ทรงเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีตทั้งหมดให้ฟัง
พร้อมทั้งแนะนำให้กรวดน้ำอุทิศส่วนบุญ ไปให้พวกเขาหลังจากทำบุญถวายทานแล้ว
เมื่อพวกเขาได้อนุโมทนาแล้วก็จักพ้นจากทุกข์ทรมาน
พระเจ้าพิมพิสารก็ทรงทำตามที่พระพุทธองค์ทรงแนะนำทุกอย่าง และได้ทรงหลั่งน้ำทักษิโณทก (กรวดน้ำ)
อุทิศบุญกุศลให้ญาติๆ ในอดีตโดยตั้งจิตอธิษฐาน เปล่งคำอุทิศทานว่า

"อิทัง เม ญาตีนัง โหตุ, สุขิตา โหนตุ ญาตโย" แปลเป็นไทยได้ว่า
ขอตั้งจิต อธิษฐาน ด้วยทานนี้ จงเป็นที่ ปรีดิ์เปรม เกษมศานติ์ บังเกิดเพื่อ เชื้อสาย ผู้วายปราณ ให้วงวาน
หวานชื่น ทุกคืนวัน จงเป็นสุข ทุกคน ผ่านพ้นโศก ห่างหายโรค โชคดี ดังที่ฝัน ทรัพย์สินส่ง สงเคราะห์
เหมาะสมกัน บุญตามทัน บันดาล ชื่นบานเทอญ

จนกระทั่งญาติๆ ของพระองค์อนุโมทนาบุญและพ้นจากสภาพความเป็นเปรตได้ในที่สุด

จากตัวอย่างดังกล่าว ทำให้นึกถึงสภาพที่เกิดขึ้นจริงภายหลังธรณีพิบัติ (สึนามิ)
ส่งผลให้เกิดคลื่นยักษ์ถล่มอย่างหนัก และนึกหวาดกลัวแทนผู้คนหลายกลุ่มหลายคนที่สนใจแต่ประโยชน์ส่วนตัว
มองไม่เห็นหัวอกหัวใจของผู้สูญเสียอื่นๆ เลยแม้แต่น้อย

เสียงร่ำไห้ด้วยความอาลัยเพราะเคราะห์ซ้ำกรรมซัดของญาติผู้ตาย ยังคงหลงเหลืออยู่ไม่จางหาย
เสียงโหยหวนร้องขอความเมตตาและความเป็นธรรม จากดวงวิญญาณกว่าครึ่งหมื่นดวง
ยังคงอยู่ท่ามกลางความชุลมุนวุ่นวาย ของผู้ยังมีชีวิตอยู่

ไม่ใช่เพราะความหวาดกลัว สึนามิ จะหวนกลับมาอีก แต่หวาดกลัวการกระทำของคนบางกลุ่มบางพวก
และบางคนที่จะทำให้ประวัติศาสตร์ตำนานเปรตคืนชีพเกิดขึ้นมาอีกครั้ง
กลัวว่าผลประโยชน์ที่พวกเขาได้รับในวันนี้ จะส่งผลกระทบให้กับวิถีชีวิตของพวกเขาในวันหน้า
และถ้าวันนั้นมาถึง พวกเขาจะไปเรียกร้องขอส่วนบุญจากใคร เกิดมาจนและอดเพราะเหตุใด

หลายชีวิตที่เกิดมา ยากจนดำรงชีวิตอยู่ตามสภาพหาเช้ากินค่ำ หาได้มาเท่าไรก็กินและใช้จ่ายผ่านไปวันๆ เท่านั้น
ไม่มีโอกาสเหลือเก็บเหลือออมไว้สำหรับวันหน้าได้เลย แต่ไม่ถึงกับอดไม่ถึงกับไม่มีจะกิน
ในขณะเดียวกันที่อีกหลายชีวิต เกิดมาจนยังไม่พอแถมยังไม่มีจะกินอีก ซ้ำร้ายไปกว่านั้นคือ
ร่างกายไม่แข็งแรงมีโรคร้ายประจำตัว ไม่มีความรู้ ไม่มีอาชีพเป็นหลักยึด ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่งที่แน่นอน

อย่าว่าแต่จะต้องดำรงชีวิตด้วยปัจจัย ๔ เลย แม้แต่เสื้อผ้าเก่าๆ ขาดๆ ที่ใช้นุ่งห่มไปวันๆ ยังหายาก
อาหารประทังชีวิตถ้าได้ข้าวสุกเย็นๆ ชืดๆ สักจานก็ถือว่า เป็นเพราะบุญหนุนส่งแล้ว
ไม่ต้องพูดถึงข้าวราดแกง หรืออาหารอื่นๆ ที่คนส่วนใหญ่เขากินกันทั่วๆ ไปเลย

ที่อยู่อาศัยบางครั้งก็เป็นข้างถนนหนทางบ้าง ใต้สะพานบ้าง หรือมุมใดมุมหนึ่งของที่สาธารณะบ้าง
ไม่ต้องพูดถึงห้องแถว คอนโด หรือตึกสวยๆ หรูๆ เลย และยิ่งยารักษาโรค ยิ่งหมดโอกาส

แม้บ้านเมืองจะเจริญรุดหน้าไปไกลเพียงใด
พวกเขาก็ไม่มีโอกาส ที่จะใช้สิทธิฐานะความเป็นคนที่สมบูรณ์แบบอย่างนั้นได้เลย
การดำรงชีวิตของพวกเขาเป็นอยู่ได้เพราะเศษสตางค์ เศษอาหารที่คนอื่นหยิบยื่นให้ไปวันๆ เท่านั้น
มีชีวิตอยู่ไม่ต่างไปจากเปรตเลย

ที่พวกเขาต้องเป็นเช่นนี้ เพราะในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ เป็นคนตระหนี่ขี้เหนียว
ถูกความละโมบโลภมากครองใจไม่สามารถยับยั้งได้ ทำให้ต้องไปปล้น จี้ หรือลักขโมย

คนที่ถูกความโลภครองใจ มักทำให้ละเมิดศีลข้อ ๒ คือ อทินนาทาน เริ่มจากการละเมิดซ้ำๆ ซากๆ
จนกระทั่งขาดความยั้งคิด ขาดความละอาย กลายเป็นความเคยชิน
มองไม่เห็นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาภายหลัง ไม่ว่าเขาจะเกิดภพใดชาติใดก็มักจะทำให้เป็นคนขัดสน
เติมไม่รู้จักเต็ม ทำมาหากินฝืดเคือง ประกอบอาชีพใดๆ ก็ประสบแต่ความล้มเหลวผิดพลาดคลาดเคลื่อน
ไม่สามารถตั้งตัวได้ ตั้งแต่เกิดจนตายต้องพึ่งพาผู้อื่นดำรงชีวิต
จะได้ของกินของใช้มาก็เพราะผู้อื่นเมตตาอนุเคราะห์ให้
ชีวิตทั้งชีวิตไม่ผิดไปจากเปรต ซึ่งต้องอาศัยส่วนบุญที่ผู้อื่นอุทิศให้เท่านั้น


ที่มา :http://www.komchadluek.net/

"สาธุ"...สั้นๆ แต่ได้บุญ



ความเป็นมาของคำว่า "สาธุ" นั้นมีประวัติความเป็นมา ดังมีเรื่องย่อว่า ...
ชายคนหนึ่งอยู่ในเมืองสาวัตถี แคว้นโกศล ได้ฟังพระแสดงธรรมเทศนาแล้วเห็นโทษในการครองเรือน
มีความปรารถนาจะขอบวช เพื่อแสวงหาความสงบในสมณธรรม
จึงลาจากภรรยาไปบวช ได้ตั้งใจพากเพียรในสมณธรรมตามที่ปรารถนาไว้ตลอดมา

ต่อมาพระเจ้าปเสนทิโกศล ได้ทรงพบหญิงผู้เป็นภรรยาของชายคนนั้น
และเมื่อทรงได้ทราบเหตุความเป็นมาทั้งหมด จึงเกิดสมเพชในนางผู้เป็นภรรยา
รับสั่งให้นำหญิงนั้นมาเลี้ยงไว้ในพระราชวัง ตั้งเป็นท้าวนางกำนัล

อยู่มาวันหนึ่ง ราชบุรุษนำดอกนิลุบลบัวเขียวมาถวายพระเจ้าปเสนทิโกศล กำมือหนึ่ง
พระองค์จึงประทานแก่ท้าวนางคนละดอก
ฝ่ายสตรีที่เป็นภรรยาของชายที่ไปบวชนั้น เมื่อไปรับพระราชทานก็ยิ้มแสดงความยินดีดุจนางอื่น ๆ
แต่พอดมกลิ่นนิลุบลแล้ว นางกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ จึงร้องไห้ พระเจ้าปเสนทิโกศลสงสัยพระทัย จึงตรัสถามว่า
เหตุใดนางจึงยิ้ม แล้วร้องไห้ นางจึงกราบทูลว่า ที่นางยิ้มเพราะดีใจที่ทรงพระกรุณาพระราชทานอดกบัวให้
แต่พอดมดอกบัวแล้วหอมเหมือนกลิ่นปากสามีที่ไปบวช นางคิดถึงความหลัง จึงร้องไห้

พระเจ้าปเสนทิโกศล ต้องการพิสูจน์วาจาของนาง จึงโปรดให้ประดับวังด้วยของหอมทั้งปวง เว้นแต่บัวนิลุบล
แล้วอาราธนาสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า และเหล่าภิกษุสงฆ์ ให้มาฉันภัตตราหารในพระราชฐาน
แล้วมีพระราชดำรัสถามหญิงนั้นว่า พระมหาเถระองค์ไหนที่นางอ้างว่าเป็นสามี หญิงนั้นก็ชี้ไปที่พระมหาเถระ
เมื่อเสร็จภัตตกิจแล้วพระเจ้าปเสนทิโกศล อาราธนาให้พระพุทธเจ้าและภิกษุองค์อื่น ๆ กลับวัดไปก่อน
เว้นพระมหาเถระ ขอให้อยู่เพื่อกล่าวอนุโมทนา

เมื่อสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จกับไปแล้ว พระมหาเถระองค์จึงกล่าวอนุโมทนาด้วยน้ำเสียงอันไพเราะ
และมีกลิ่นหอมฟุ้งออกจากปากพระเถระรูปนั้นอย่างน่าอัศจรรย์ กลบเสียซึ่งกลิ่นการบูร และพิมเสน ผสมกฤษณา
หอมยิ่งกว่าดอกบัวนิลุบล ปรากฏการณ์นี้ปรากฏแก่ชนทั้งทั้งหลายในพระราชวัง
ส่วนองค์มหากษัตริย์ เมื่อเห็นจริงดังหญิงนั้นกราบทูลก็ทรงโสมนัสน้อมนมัสการ
ฝ่ายพระมหาเถระเสร็จสิ้นการอนุโมทนาแล้ว ก็กลับไปสู่วิหาร

ครั้นพอรุ่งเช้า พระเจ้าปเสนทิโกศล จึงเสด็จไปสู่พระวิหาร ถวายนมัสการพระผู้มีพระภาคเจ้า
แล้วกราบทูลถามว่า
"เหตุใดปากของพระมหาเถระจึงหอมนักหนา ท่านได้สร้างกุศลใดมา"
สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงตรัส บุพพกรรมของภิกษุนั้นว่า
"เพราะบุพชาติปางก่อน ภิกษุรูปนี้ได้ฟังพระสัทธรรมไพเราะจับใจ เต็มตื้นด้วยปีติยินดี
จึงออกวาจาว่า "สาธุ" เท่านั้น อานิสงส์แห่งการฟังพระสัทธรรมให้ผล จึงได้มีกลิ่นปากหอมดังนี้"

สาธุ ...


ที่มา : http://www.kroobannok.com/blog/23710

การปฏิบัติธรรมเหมือนตัดไม้มีแก่น


พระพุทธเจ้า ประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน เมืองสาวัตถี
ได้ทรงแสดงสัญโญชน์ (กิเลสเครื่องร้อยรัด) เบื้องต่ำ ๕ คือ

๑. สักกายทิฐิ (ความเห็นเป็นเหตุยึดกายของตน)
๒. วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย)
๓. สีลัพพตปรามาส (การลูบคลำศีล)
๔. กามฉันทะ (ความพอใจในกาม)
๕. พยาบาท (ความคิดปองร้าย)

โดยทรงยกเอาตัวอย่างเด็กทารกนอนแบเบาะ มาเป็นตัวอย่างแห่งการเกิดสัญโญชน์ ซึ่งมองดูด้วยตาเปล่าไม่เห็น
แต่เป็นอนุสัย (กิเลสที่แฝงตัวตาม) มีอยู่ตลอดเวลา
ในตอนท้ายได้ทรงแสดงหนทางปฏิบัติ เพื่อละสัญโญชน์ ๕
เหมือนคนที่ต้องการตัดไม้แก่น แต่ต้องผ่านเปลือกและกะพี้ไม้ ก่อนที่จะถึงแก่นไม้ ไว้ดังนี้

“อานนท์! สัญโญชน์ ๕ เป็นของมีกำลัง ถ้าไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้รับคำแนะนำที่ดี ไม่มีอุบายที่ดี
ย่อมไม่สามารถจะละได้ ผู้ไม่อาศัยหนทางเพื่อละสัญโญชน์ ย่อมไม่อาจจะละได้

อานนท์! เปรียบเหมือนการตัดต้นไม้มีแก่น ต้องถากเปลือกและกะพี้ออกเสียก่อน จึงจะตัดแก่นไม้ได้ ฉันใด ?
ผู้ต้องการละสัญโญชน์เบื้องต่ำ ๕ ก็ต้องปฏิบัติไปตามลำดับขั้น ฉันนั้น”.

มหามาลุงโกยวาทสูตร ๑๓/๑๓๗


การปฏิบัติธรรมนั้น จะว่ายากก็เหมือนง่าย จะว่าง่ายก็เหมือนยาก คือถ้ามีอุบายที่ประกอบด้วยปัญญาแล้ว
การปฏิบัติธรรมก็ดูเป็นเรื่องง่ายดายไป แต่ถ้าขาดปัญญาเพียงตัวเดียว จะทำอะไรทุกสิ่งก็ดูมันจะยากไปหมด
นอกจากจะทำยากแล้ว บางทีก็อาจเกิดโทษเสียด้วย

พระสูตรตอนนี้ ทรงแสดงถึง “ขั้นตอน” แห่งการปฏิบัติธรรม เหมือนการตัดไม้ที่มีแก่น
ต้องผ่านเปลือกและกะพี้ไปตามลำดับ แล้วจึงจะเข้าถึงแก่นของไม้ได้ ฉันใด

ในการปฏิบัติธรรม เพื่อการดับทุกข์อย่างสิ้นเชิง ก็มีอุปมา ฉันนั้น
ทั้งนี้เพราะ กิเลสตัณหา ได้ถูกสะสมมานานจนกลายเป็น “สัญโญชน์” ไปแล้วนั่นเอง

แต่ไม่ว่ากิเลสประเภทใด ๆ ก็ตาม ถ้าคนเรามีความเพียรพยายามไม่ลดละ ก็ย่อมจะพิชิตมันแน่นอน
ต่างแต่ว่าจะช้าหรือเร็วเท่านั้น
สมตามพุทธภาษิตที่ตรัสตอบอาฬวกยักษ์ (๑๕/๒๙๘) ว่า คนจะล่วงพ้นความทุกข์ทั้งปวงได้เพราะความเพียร


ที่มา : http://phrarattanatrai.com/files/tripidok/TPD040.htm

ทำสิ่งที่ควรทำ มากกว่าสิ่งที่อยากทำ



การดำเนินชีวิตในแต่ละวัน...ถ้าสังเกตให้ดีแล้วจะเห็นได้ว่า
เรามักเสียเวลาไปกับสิ่งไร้ประโยชน์ ให้โทษกับตัวเราเองส่วนมาก

เสียเวลาในห้องน้ำเป็นชั่วโมง เพื่อขัดสีตกแต่งร่างกาย
แต่บางทีเรากลับหลงลืมที่จะออกกำลังกายเพียงสิบนาที เพราะมัวหลงใหลอยู่ใน อารมณ์ที่แปลกใหม่
โดยไม่ได้คำนึงถึงสิ่งที่ตนเองจะได้รับจากการกระทำนั้น ว่ามันจะส่งผลอย่างไรบ้าง
การปล่อยให้ชีวิตเป็นไปตามอารมณ์ จึงยากที่จะหลีกเลี่ยงต่อปัญหาหรือความละล้าละลังของชีวิต

ในขณะที่คนอื่นเดินไปคว้าความฝัน เราจึงถูกติดยึดอยู่กับที่ เพราะไม่สามารถควบคุมตนเองได้

หากกล่าวถึงบุคคลที่ประสบความสำเร็จในชีวิต
ไม่ว่าจะด้านใดก็ตาม เราจะเห็นได้ถึงกฎเหล็กที่คนเหล่านั้นปฏิบัติอยู่สองข้อ คือ
การทำในสิ่งที่ควรทำ
การไม่ทำในสิ่งที่ควรทำ

เพราะ การกระทำในสิ่งที่ควรทำนั้นเป็นการแสดงออกทางภาวะของตรรกะและเหตุผล
ส่วนการทำตามความอยากทำให้อาจทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ เป็นการตอบสยองต่ออารมณ์ที่ตนต้องการเพียงแค่นั้น
จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า ทำไมมีคนเพียงจำนวนน้อยเท่านั้นที่ประสบความสำเร็จในชีวิต
แต่คนส่วนมากกลับรู้สึกล้มเหลวในสิ่งที่ทำ นี่ก็เพราะไม่สามารถที่จะควบคุมตนเองได้


“เธอจงระวังความคิด...เพราะความคิดจะกลายเป็นการกระทำ
เธอจงระวังการกระทำ...เพราะการกระทำจะกลายเป็นความเคยชิน
เธอจงระวังความเคยชิน...เพราะความเคยชินจะกลายเป็นนิสัย
เธอจงระวังนิสัย...เพราะนิสัยจะกลายเป็นตัวกำหนดชีวิตของเธอ"

.....................................................

ธรรมมะนี้คือการมีชีวิตเพื่อที่จะเรียนรู้ความจริงของชีวิต
ทุกอย่างล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ตั้งอยู่ไม่ได้
หากยังยึดติด ไม่ปล่อยวาง ย่อมยังเป็นทุกข์

ชาวพุทธควรนับถือเทวดาหรือไม่



ศาสนาพุทธไม่ได้ปฏิเสธเรื่องเทวดา ตรงกันข้ามเทวดามีบทบาทต่อศาสนาพุทธเยอะมาก
จะกล่าวว่าเทวดาเป็นผู้ค้ำจุนพระศาสนานอกเหนือจากมนุษย์ก็ยังได้ เพราะอะไรจึงกล่าวเช่นนั้น
เพราะแม้กระทั่งพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันเสวยชาติเป็นพระเวสสันดร แล้วพระองค์ดำริจะบริจาคพระนางมัทรี
พระอินทร์ร้อนอาสน์ต้องแปลงกายเป็นพราหมณ์ชรา มาทูลขอพระนางมัทรีแล้วฝากไว้ กับพระเวสสันดร
เป็นการป้องกันไม่ให้คู่บารมีของพระเวสสันดร ต้องตกระกำลำบากไปอยู่กับคนพาล สันดานหยาบ

หรือแม้กระทั่งตอนที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ใหม่ๆ
ท้าวสหัสมบดีพรหมก็มาอาราธนาพระพุทธองค์ให้โปรดเวไนยสัตว์ทั้งหลาย

พระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ก่อนที่จะจุติเป็นมนุษย์ ก็เป็นเทวดาอยู่ชั้นดุสิต
และแม้ปรินิพพานไปแล้ว พระองค์ก็กลายเป็นเทพ แต่เป็นเทพที่หมดกิเลสแล้ว เรียกว่า พระวิสุทธิเทพ

เรา คงเคยได้ยินในประวัติหลวงปู่ต่างๆ ที่ท่านเดินธุดงค์แล้วมีเทวดามาลองใจหรือเทวดามาใส่บาตร
หรือแม้กระทั่งเทวดาปรากฎในนิมิต มานิมนต์ให้ไปสร้างวัด ณ สถานที่ตรงนั้นตรงนี้
เพราะเป็นที่เหมาะสมสำหรับการสร้างบารมีของท่าน เรื่องเหล่านี้เชื่อแน่ว่าเราคงเคยได้ยินแบบไม่หวาดไม่ไหว

นอกจากนี้เทวดาที่มีสัมมาทิฐิก็สามารถสั่งสอนธรรมให้มนุษย์ได้
เป็นผู้แนะนำแนวทางการสร้างบารมีของมนุษย์ผู้นั้นได้

สำหรับ ตัวผมเองนั้น ผมไม่ได้ปฏิเสธเรื่องนรกสวรรค์และเรื่องเทวดา
ตรงกันข้ามผมเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้มีจริง และผมก็กล้าบอกในที่นี้เลยว่า
ผมไปสักการะเทวดาในศาสนสถานฮินดูหลายที่ เช่น วัดแขกสีลม โบสถ์พราหมณ์เสาชิงช้า
ตลอดจนเข้าร่วมในพิธีกรรมต่างๆที่อาจมองดูเหมือนไม่ใช่พุทธแท้ เช่น พิธีนวราตรีของวัดแขกสีลม
และที่ไป ผมก็ไม่ใช่ร่างทรง ไม่เคยคิดพิศมัยที่จะเป็นร่างทรง ไม่ว่าชาตินี้หรือชาติไหน

แต่ผมไป เพราะไปเพื่อแสดงถึงความเคารพในคุณงามความดีของเทวดา
และไม่ได้เคารพชนิดหลงแบบไม่ลืมหูลืมตา เพราะผมถือว่าสิ่งที่ผมยึดถือเป็นสรณะคือพระรัตนตรัย
พระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ พระธรรม และพระอริยสงฆ์ทั้งหลาย
เป็นครูบาอาจารย์สูงสุดของผม
และก็ไม่ใช่ว่าเมื่อเรามีครูบาอาจารย์ที่สูงสุดแล้ว เราจะไม่นับถือในความรู้ของผู้อื่น
ไม่เคารพในคุณงามความดีของผู้อื่น จริงไหมครับ

ผมใคร่ขอจำแนกชาวพุทธไว้ 3 ประเภท

1. นับถือพระรัตนตรัยเป็นสิ่งสูงสุด และปฏิเสธเรื่องเทวดาอย่างสิ้นเชิง
2. ได้ชื่อว่านับถือศาสนาพุทธ แต่ในความเป็นจริง เคารพเทวดาตลอดจนสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นจนเกินเลย
3. นับถือพระรัตนตรัย และก็ยอมรับในเทวดา แต่ระลึกอยู่เสมอว่าพระรัตนตรัยเป็นสิ่งสูงสุด

ท่านล่ะอยู่ในประเภทไหน ?


ที่มา :http://variety.thaiza.com

มหาภัยแห่งชีวิต



มงคลชีวิต หรือ การรักษาตนให้เป็นปกติ คือ
การรักษาตนให้เกิดสำนึกว่า สิ่งทั้งหลายกำลังเปลี่ยนแปลงไม่มีสิ่งใดยั่งยืนคงที่แน่นอน
เราเกิดมา เพื่อรอเวลาตาย
เราได้มา เพื่อรอเวลาเสีย
เรามี เพื่อรอเวลาหมด
เราเจอ เพื่อรอเวลาจาก
เราพบ เพื่อรอเวลาพลัดพรากจากกันไป
และเมื่อเวลานั้นมาถึงเมื่อใด ไม่มีใครทราบ แม้แต่ตัวเราเอง

ในการรักษาตนให้เกิดความปกติดังกล่าวนี้
ควรยึดหลักธรรม คือ หลักแห่งความถูกต้อง เพื่อวัดความถูกต้องที่แน่นอน ๔ ประการ คือ

๑. หมั่นระลึกความดีของท่านที่ทรงคุณความดีระดับสูงไว้เป็นประจำ

๒. หมั่นสร้างความรัก ความปรารถนาดีแก่คนและสัตว์ทั้งหลายเป็นประจำ

๓. หมั่นระลึกถึงว่า สิ่งทั้งปวงในโลกนี้ตามสภาพที่แท้จริง ไม่มีอะไรสวยงาม ไม่มีอะไรน่ารักใคร่หลงใหล
แต่มีลักษณะพึงรังเกียจ เพราะความปฏิกูลของมันตามสภาพที่เป็นจริง

๔. หมั่นระลึกถึงสิ่งที่เป็นจริง และความจริงประการสุดท้ายของชีวิต คือ ความตายไว้เป็นประจำ
เพื่อนำความสำนึกให้ทิศทางที่ประสงค์ คือ บารมี-อารมณ์-กรรมฐาน
ทางประเสริฐในการดำเนินชีวิตจึงได้แก่ การวางเฉยในอารมณ์ทั้งปวง คือ อุเบกขา
อารมณ์ที่น่ารักดีใจ ผ่านมาก็เฉย
อารมณ์ที่น่าตระหนกตกใจ ผ่านมาก็เฉย
โดยมีความสำนึกว่าอะไรจะเกิดไม่ว่าดี หรือไม่ดีมันก็ต้องเกิด
อะไรจะดับ จะดีหรือไม่ดีมันก็ต้องดับ
เราจะห้ามไม่ให้เกิด ไม่ให้ดับไม่ได้ เหมือนห้ามความร้อน ความหนาวไม่ได้
ฉะนั้นผล ก็คือ
๑. ไม่เสียโครงการของชีวิตที่สำคัญ
๒. ไม่ต้องเศร้าโศกเสียใจ
๓. ไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง
๔. ไม่ต้องปล่อยไปตามอารมณ์
นี่คือ ทางแห่งความสำเร็จชั้นยอดของมนุษยชน เป็นบารมีที่ใหญ่ยิ่ง เป็นยอดบารมี


ทางชีวิตที่ปลอดภัย
การปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยของชีวิต เป็นภารกิจที่มีความสูงสุดเพื่อชีวิต
ชีวิตที่ปลอดภัย เป็นชีวิตที่มีคุณประเสริฐสุด เพราะเป็นที่มาแห่งความสงบสุขอันเป็นยอดปรารถนา
ถึงปลอดภัยเมื่อใดก็เป็นอันถึงจุดหมายที่พึงประสงค์เมื่อนั้น เพราะความปลอดภัย คือ ความไร้ปัญหา

ภัยชีวิต ได้แก่
๑. ความเศร้าโศกเสียใจ
๒. ความร้องไห้บ่นเพ้อรำพัน
๓. ความลำบากกาย
๔. ความลำบากใจ
๕. ความคับแค้นใจ-ความช้ำใจ
ซึ่งแต่ละอย่างย่อมทำให้ชีวิตเดือดร้อน กระวนกระวาย
จึงนับเป็น “มหาภัยของชีวิต” เพราะเป็นที่หวาดกลัวของชีวิตยิ่งนัก


ภัยชีวิตทั้ง ๕ ย่อมมาจาก
๑. ความต้องพลัดพรากจากคนรัก จากของรัก และจากสิ่งที่รัก
๒. ความต้องคลุกคลีกับคนที่เกลียด ของที่เกลียด และสิ่งที่เกลียด
๓. ความผิดหวัง คือ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น ถ้า
- ไม่มีความรัก
- ไม่มีความเกลียด
- ไม่มีความหวัง

ภัยของชีวิตทั้ง ๕ ก็ไม่มี เพราะฉะนั้นทางที่ดี ก็คือ ป้องกัน
- ความรัก
- ความเกลียด
- ความหวัง
ไม่ให้เกิดขึ้นในความนึกคิด หรือความรู้สึกก็หมดภัยแน่

โดยศึกษาธรรมดาของสัตว์โลก ให้เกิดความเข้าใจโดยชัดเจนจนเกิดตัวปัญญาว่า
๑. สัตว์โลกถูกตัวชรานำไป ไม่ยั่งยืน ไม่แน่นอน ไม่คงที่
๒. สัตว์โลกไม่มีความเป็นใหญ่ในตัวเอง ไม่มีใครป้องกันตัว ต้องเจ็บต้องตายทั้งหมด
๓. สัตว์โลกไม่มีอะไรเป็นของตนเลย ต้องละทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างไปหมด
๔. สัตว์โลกพร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสของตัณหา ซึ่งท่านกำหนดไว้ว่าเป็น ธรรมมุทเทศ คือ
เป็นเครื่องนำไปสู่ความถูกต้อง หรือเป็นเครื่องชี้เครื่องกำหนดความถูกต้อง
ความรู้อย่างนี้เป็นความรู้ถูกต้อง ต้องเข้าใจอย่างนี้เป็นความเข้าใจถูกต้อง

คำว่า สัตว์โลก หมายถึง คนที่มีความเกี่ยวข้องอยู่กับโลกคือ ยังติดโลก ยังยึดโลก
โลก คือ สิ่งที่มีลักษณะเสื่อมโทรม
ติดโลก ก็คือ ติดความเสื่อมโทรม

ความเสื่อมโทรม คือ ภาวะที่เปลี่ยนแปลงปรวนแปร
อาการของความเปลี่ยนแปลงปรวนแปร ก็ปรากฎเป็น
๑. ความแก่
๒. ความเจ็บ
๓. ความตาย
๔. ความไม่มีอะไรเหลือในที่สุด
ซึ่งอาการเหล่านี้มีแก่สิ่งทั้งปวงในโลกนี้ทั่วถึงกัน เท่าเทียมกัน ไม่ยกเว้นใคร ไม่ยกเว้นสิ่งใด
ท่านจึงเรียกว่า สามัญลักษณะ ซึ่งแปลว่า ข้อกำหนดเป็นหลักเกณฑ์ว่า
๑. อนิจจัง ความไม่แน่นอน
๒. ทุกขัง ความไม่คงที่
๓. อนัตตา ความไม่ใช่ของเรา

เมื่อเกิดความรู้ ความเข้าใจอย่างนี้ เรียกว่า เห็นความจริงของโลกด้วยสิ่งประเสริฐ คือ ปัญญา
ผลที่ตามมา ก็คือว่า
๑. ไม่มีอะไรน่ารัก
๒. ไม่มีอะไร น่าเกลียด
๓. ไม่มีอะไรน่าหวัง

ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามสภาพธรรมดา เมื่อถึงคราวเกิดก็เกิด เมื่อถึงคราวดับก็ดับ
ไม่มีใครมาทำให้เกิด ไม่มีใครมาทำให้ดับ
ปัจจัยตามธรรมชาติ ทำให้เกิด…ทำให้ดับ ตามวาระของมันเอง ย่อมไม่มีความรู้สึกว่า
๑. จากคนรัก ของรัก และสิ่งรัก
๒. คลุกคลีกับคนที่เกลียด ของที่เกลียด สิ่งที่เกลียด
๓. ผิดหวัง

แล้วในที่สุด
๑. ไม่ต้องเศร้าโศกเสียใจ
๒. ไม่ต้องร้องไห้บ่นเพ้อรำพัน
๓. ไม่ต้องลำบากกาย
๔. ไม่ต้องลำบากใจ
๕. ไม่ต้องแค้นใจ ไม่ต้องช้ำใจ


เข้าใจสัจจะธรรมที่ว่า
๑. ภัยมีอยู่ตามสภาพ แต่คนที่ประสบภัยไม่มี เพราะไม่มีคนประสบภัย
๒. ความทะยานอยากมีอยู่ตามสภาพ แต่คนทะยานอยากไม่มี
เพราะไม่ทราบว่าจะทะยานให้ต้องชอกช้ำผิดหวังไปทำไม
เหมือนกระแสลม หรือแสงแดด ที่ปรากฎอยู่ตามภาวะ แต่ไม่มีใครมาสัมผัส ก็ไม่มีใครรู้สึกเย็น รู้สึกร้อนนั่นเอง
กระแสลมปรากฎความเย็นแก่คนสัมผัส
แสงแดดก็ปรากฎความร้อนแก่คนสัมผัส
ถ้าไม่มีคนสัมผัส ก็ไม่ปรากฎความเย็นความร้อนได้
นี่คือ ทางแห่งความปลอดภัยของชีวิต
ถ้าพิจารณาถึงชีวิตในอดีตที่ผ่านมา ก็พอจะพบทางดังว่านี้ได้
พวกเรา ยังเป็นสัตว์โลก เพราะความรู้สึกยังติดโลก ยังยึดโลกอยู่
บางคราวก็ติดมาก ยึดมาก
บางคราวก็ติดน้อย ยึดน้อย
บางคราวก็ดูเหมือนไม่ติด ไม่ยึดเลย
จึงทำให้ชีวิตมีภาวะแตกต่างกัน คือ คราวใดติดมาก ยึดมาก คราวนั้นก็มีเรื่องวุ่นวายมาก มีปัญหามาก คือมีภัยมาก
คราวใดติดน้อย ยึดน้อย คราวนั้น ก็มีเรื่องวุ่นวายน้อย มีปัญหาน้อย คือมีภัยน้อย
ในคราวที่รู้สึกดูเหมือนว่าจะไม่ติด ไม่ยึดอะไร ใครจะไปไหนมาไหนอย่างไร ก็ไม่ค่อยรู้สึกอะไร
จะได้อะไร จะเสียอะไร ก็เฉยๆ จะสบายไม่สบายอย่างไรก็เป็นธรรมดา ไม่อยากรักใคร ไม่อยากเกลียดใคร
ไม่มุ่งหวังสิ่งใด ไม่มุ่งหมายอะไรจากใคร ก็รู้สึกไม่มีเรื่องที่ต้องวุ่นวาย
ไม่มีปัญหาซึ่งเป็นสัญญานแห่งความไม่มีภัย
อดีตเป็นฉันใด ปัจจุบันก็เป็นฉันนั้น และอนาคตก็เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นบทเรียนชีวิตที่ดีที่สุด ก็คือ ชีวิตเราเอง
ชีวิตเราเป็นหลัก ชีวิตเขาเป็นส่วนประกอบ แต่เราต้องยอมรับความจริงในตัวเรา ได้ถูกต้องทุกประการ

พระพุทธเจ้าทรงประสบความสำเร็จในการตรัสรู้ ก็เพราะทรงรู้ที่พระองค์เอง
จะทรงรู้ทุกข์ที่ไหน ถ้าไม่ใช่ทุกข์ในพระองค์เอง
จะทรงรู้เรื่องเหตุให้เกิดทุกข์ ลักษณะความดับทุกข์ และทางให้ดับทุกข์ได้อย่างไร ถ้ามิได้ทรงรู้ด้วยพระองค์เอง
เราทั้งหลายก็เป็นอย่างนั้น
รู้เรื่องโลกพระจันทร์ โลกพระอังคาร ได้ประโยชน์คุ้มค่าหรือไม่
เราก็ไม่ทราบได้และก็ไม่แน่ใจว่ามีใครทราบหรือไม่

วันพฤหัสบดีที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2553

ภัย ๔ อย่างของผู้ภาวนา



กลางดึกคืนหนึ่ง ขณะที่หลวงปู่กำลังจำวัดอยู่ ท่านได้สะดุ้งขึ้นอย่างแรง
พระผู้ปฏิบัติอยู่ใกล้ๆ ต่างรีบจัดหมอนและผ้าห่มถวายท่าน องค์หนึ่งสงสัยจึงกราบเรียนถามท่านว่า
ท่านสะดุ้งตื่นด้วยเหตุใด หลวงปู่เลยบอกศิษย์ว่า ดูเมื่อกี้นี้ ไม่เห็นพระมีแต่จระเข้อยู่เต็มกุฏิ
ไปดูซิ นอนอยู่ใต้ถุนตัวหนึ่ง นอนอยู่บนเตียงตัวหนึ่ง ตัวใหญ่ๆ นอนอยู่ตรงกลาง ไปดูซิ...ใช่ไหม...

พระเณรรีบไปดู ก็จริงดังท่านว่า...!

กล่าวคือ แทนที่จะเห็นภาพพระเณร ศิษย์ของท่านกำลังนั่งภาวนาอย่างเอาเป็นเอาตาย
ให้สมกับที่ปวารณาตัวถวายเป็นศิษย์พระกรรมฐาน
แต่กลับมีพระเณรนอนอยู่ใต้ถุน...บนเตียง...องค์ใหญ่นั้นนอนตรงกลาง....

ไม่ น่าประหลาดใจที่ทำไมบรรดาศิษย์จึงเกรงกลัวท่านกันนัก ท่านไม่ต้องลุกเดินไปตรวจตราดูใคร
ท่านเป็นอัมพาต นอนอยู่กับที่ แต่ท่านก็ทราบได้ดีว่า ศิษย์คนไหนภาวนาหรือไม่

ผู้ไม่ภาวนา ท่านเห็นเป็นภาพจระเข้นอนกลิ้งเกลือกกองกิเลสอยู่...!

หลวง ปู่เตือนเสมอถึงภัย ๔ อย่างของพระกรรมฐาน ท่านสอนให้ศิษย์ของท่านควรระวัง...
ระวังเหมือนถ้าเฮาจะลงไปในฮ้วงน้ำข้าม โอฆสงสารก็ต้องระวังภัย ๔ อย่างคือ
คลื่น หนึ่ง จระเข้ หนึ่ง วังน้ำวน หนึ่ง....และปลาร้าย อีกหนึ่ง
ท่านบอกศิษย์ให้ระวัง ทั้งคลื่น ทั้งจระเข้ ทั้งวังน้ำวน และปลาร้าย

ความดื้อดึงไม่อดทนเชื่อฟังต่อโอวาทที่ครูบาอาจารย์พร่ำสอนแนะนำ
เปรียบด้วยภัย คือ คลื่น

ความเห็นแก่ปากแก่ท้อง เห็นแก่หลับแก่นอน ไม่บำเพ็ญเพียร
เปรียบด้วยภัย คือ จระเข้

กามคุณ ๕ อย่าง...รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส
เปรียบ ด้วยภัย คือ วังน้ำวน ใครหลงติดกามคุณทั้ง ๕ นี้ ก็จะ “ติด” เหมือนลิงติดตัง อยู่ในวังน้ำวน
และมีแต่จะถูกกระแสน้ำดูดจมลงอย่างไม่ต้องสงสัย

มาตุคาม
ที่ พระพุทธเจ้าสอนพระอานนท์ไว้ก่อนจะเสด็จปรินิพพานว่า...ควรหลีกเลี่ยงไม่พบปะ ด้วย...
หากจำเป็นต้องพบปะก็ไม่ควรพูดด้วย...หากจำเป็นต้องพูดด้วยก็ต้องพูด ด้วยความสำรวมมีสติ...
ท่านเปรียบด้วยภัย คือ ปลาร้าย...!

ผู้จะผ่านพ้นโอฆสงสาร หรือห้วงน้ำใหญ่ ไปถึงพระนิพพานได้ จะต้องอาศัยหลักของความเชื่อ...
ต้องเชื่อมั่นในหลักคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เชื่อมั่นในปฏิปทาทางดำเนินของครูบาอาจารย์
จะต้องมีความเชื่อมั่นแน่นอนว่า มรรคผลนิพพานเป็นของมีอยู่จริง
เมื่อเราเชื่อว่า มรรคผลนิพพานมีอยู่จริง เราก็ปฏิบัติมุ่งต่อมรรคผลนิพพานได้
เมื่อเราเชื่อว่ามนุษยสมบัติมี สวรรคสมบัติมี เราก็ทำทาน รักษาศีล ไหว้พระ เจริญเมตตาภาวนาให้ยิ่งๆ ขึ้นไป

เมื่อเราเชื่อว่าจิตของเราเป็นธรรมชาติที่ไม่ตาย รูปร่างกายเราต่างหากที่แตกดับ
เมื่อเราเชื่อว่าโอวาทคำสอนของครูบาอาจารย์ เราก็ขวนขวายสร้างคุณงามความดี
สร้างบุญกุศล เป็นอริยทรัพย์อริยบารมีฝังไว้สำหรับติดตัวเราไปทุกชาติทุกภพ จนกว่าจะถึงพระนิพพาน

ถ้าเราไม่เชื่อโอวาท ไม่เชื่อกรรมดีกรรมชั่ว จิตใจก็หวั่นไหวเป็นลูกคลื่นมากระทบจิตใจ
สู้คลื่นแรงที่ซัดโถมมาไม่ไหวก็อาจจะจมน้ำตาย

ผ่านคลื่นมาได้ หากมาติดการเห็นแก่ปากท้อง ไม่ปรารภความเพียรถูกจระเข้ร้ายฟาดฟันงับลงสู่ใต้ท้องน้ำ
หรือกลายเป็นจระเข้ไปเสียเอง ดังนิมิตเกิดขึ้นฟ้องหลวงปู่ก็ได้

ผ่าน คลื่น ผ่านจระเข้ ก็อาจมาติดวังน้ำวน มัวรัก มัวชอบ มัวหวง มัวห่วง
มัวอาลัย ในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เกิดความยึดถือมั่นหมายว่าเป็นของเรา เดี๋ยวเจ็บ เดี๋ยวป่วย
กลัวเป็นหนัก กลัวล้มตาย กลัวแก่ กลัวตาย
ไม่แต่ร่างกายของเรา แม้ที่อยู่ ที่อาศัยก็ห่วงก็หวง กลัวชำรุด ทรุดโทรม
ร่างกายของคนอื่น ก็ห่วง ก็หวง ก็อาลัยไปด้วย จิตใจก็หวั่นไหว แหวกว่ายอยู่กลางวังน้ำวน
หลงยึด หลงติด ก็ถูกกระแสน้ำดูดลงสู่วังน้ำวน เป็นวัฏฏวนตลอดไป

หลบ คลื่น หลบจระเข้ หลบวังน้ำวน เผลอๆ อาจจะถูก ‘ปลาร้าย’ จับกินเป็นภักษาหาร
ศิษย์ของท่านเองก็ต้องสึกหาลาเพศออกไปนักต่อนักแล้ว ท่านจึงเตือนศิษย์เสมอถึงภัย ๔ อย่างของผู้ภาวนา

นี่คือ...คาถามหาวิเศษ



" ให้ทุกข์เขา ทุกข์นั้นถึงตัว " จาก หลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด

โลกทุกวันนี้ยุ่งยาก ก็เพราะมนุษย์ที่อวดตนหรือยกตนเป็นผู้ใหญ่ยังติดเสียง
มนุษย์ที่อวดตนว่าเป็นผู้ดีเรียนรู้มากยังไม่มีจรรยาในการ " พิจารณาตน "
ถ้าสัตว์โลกอยู่กันอย่างไม่ยึดตน ไม่ยึดเสียง ไม่ยึดอุปาทาน ถ้าละทิ้งได้ ไม่ยึดสิ่งใดเลย โลกนี้ย่อมสงบ
ท่านต้องเข้าใจว่า " การให้ทุกข์เขานั้น ทุกข์นั้นถึงตัวท่านเองแน่นอน " นี่เป็นหลักความจริง

สมัยเมื่ออาตมามีสังขารอยู่ปัตตานี ในระยะเริ่มแรกสร้างวัดช้างให้
มีแขกมาลายูคนหนึ่งมาบวชอยู่ในวัดของอาตมา แขกมาลายูคนนี้ไม่รู้จักภาษาสยาม รู้แต่ภาษามาลายู
ทีนี้เมื่อรู้แต่ภาษามาลายู จะสอนให้สวดมนต์ก็ดีจะสอนการอ่านก็ดี ย่อมทำไม่ได้
อาตมาจึงบอกเขาว่า ถ้าเช่นนั้นก็ไม่ต้องสวดมนต์ละ ท่องเพียงสองคำก็พอคือ " ให้ทุกข์เขา ทุกข์นั้นถึงตัว "

แขกคนนั้นอยู่ในปกครองของอาตมา ตื่นเช้าขึ้นมาก็ออกบิณฑบาตตามปรกติ กลับมาก็นั่งท่องแต่คำว่า
" ให้ทุกข์เขา ทุกข์นั้นถึงตัว " " ให้ทุกข์เขา ทุกข์นั้นถึงตัว "

มีแขกมาลายูด้วยกันเป็นพวกเลี้ยงแพะ เลี้ยงแกะ มาเที่ยววัด บอกว่าพระองค์นี้มันพูดอะไรของมันไม่ทราบ
ท่องแต่ " ให้ทุกข์เขา ทุกข์นั้นถึงตัว " " ให้ทุกข์เขาทุกข์นั้นถึงตัว "
แขกคนนี้ไม่นับถือศาสนาพุทธ แต่รู้ภาษาไทยดี ก็บอกว่าไม่จริง" ให้ทุกข์เขา ทุกข์นั้นไม่ถึงตัวหรอก "
จึงตั้งใจจะพิสูจน์คำว่า " ให้ทุกข์เขาทุกข์นั้นถึงตัว " จริงหรือไม่

วันหนึ่งได้ไปทำโรตีแบบที่ทางปักษ์ใต้เขาชอบกินกันสมัยนั้น
คือโรตีแบบแขก แล้วก็ใส่ยาพิษลงไปด้วยนำไปใส่บาตร

พระมาลายูที่ท่อง " ให้ทุกข์เขา ทุกข์นั้นถึงตัว " บังเอิญเจ้ากรรมวันนั้นพระมาลายูองค์นี้
บิณฑบาตรได้อาหารมามาก แล้วก็ฉันอิ่มจึงนำโรตีสองชิ้นที่แขกนั้นใส่บาตรไปเก็บเอาไว้
ส่วนคนที่ต้องการพิสูจน์คำว่า " ให้ทุกข์เขา ทุกข์นั้นถึงตัว " มีลูกอยู่สองคน พอเที่ยงก็หิ้วข้าวมาให้พ่อ
ซึ่งเลี้ยงวัวอยู่ในแถบวัดนั้นกิน แถวนั้นมันเป็นโคกโพธิ์ ด้านขวามีกุฏิน้อย ๆ
เด็กทั้งสองเที่ยวไปถึงกุฏิของพระที่ท่อง " ให้ทุกข์เขา ทุกข์นั้นถึงตัว "

พระองค์นี้เห็นว่าเด็กทั้งสองคนนี้น่ารัก บัดนี้มันเลยเพลแล้ว โรตีที่เก็บไว้ก็จะเสียเปล่า
จึงนำเอาโรตี ๒ แผ่น ที่พ่อเด็กเขาใส่ยาพิษที่จะให้พระนี้ฉัน ให้เด็กสองคนนั้นกิน
เด็กสองคนนั้นกินแล้วกลับไปถึงบ้านก็ป่วยทันที ครั้นใกล้จะตายพ่อถามว่า
" เมื่อเจ้าเอาข้าวไปส่งให้พ่อน่ะ เจ้าไปกินอะไรหรือเปล่า "
ลูกทั้งสองบอกว่า ไปที่กุฏิพระองค์หนึ่งที่เป็นชาวมาลายูด้วยกันเห็นท่องแต่ " ให้ทุกข์เขา ทุกข์นั้นถึงตัว "
เห็นว่าแปลกไม่รู้ว่าเป็นอะไรท่องแต่คำคำนี้คำเดียว พระนั้นสงสารลูกได้ให้โรตีสองอันกิน

ในที่สุดผลแห่งการพิสูจน์ว่า " ให้ทุกข์เขา ทุกข์นั้นถึงตัว " ก็ปรากฏขึ้น
เขาต้องการฆ่าพระองค์นั้น แต่กลับกลายเป็นฆ่าลูกสุดที่รักของเขาเอง

เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องกลัว เรามีความบริสุทธิ์ เรามีความเที่ยงธรรม เรามีหลักขันติสัจจะ บริสุทธิ์ เมตตา
คุณธรรมเหล่านี้จะรักษาเราให้ปลอดภัยทุกอย่าง

ทีนี้การเป็นคน ท่านยึดเสียงหรือไม่ ท่านยึดคำพูดดีหรือไม่ ท่านยึดคำพูดเลวหรือไม่
ถ้าท่านยึดสิ่งเหล่านี้แล้ว ท่านจะเป็นนักพรตที่ดีไม่ได้ ท่านจะเป็นนักบุญที่ดีไม่ได้
ท่านจะเป็นนักปกครองคนที่ดีไม่ได้ มนุษย์เราถ้ายังติดเสียง ติดคำชมและด่า

มนุษย์นั้นยังมีใจไม่ถึงธรรม " สัจธรรมเป็นธรรมอันประเสริฐ " เป็นสิ่งที่แน่แท้ ทำไมสำนักปู่สวรรค์จึงยึดจุดนี้
ก็เพราะว่าความจริงย่อมเป็นความจริง สิ่งที่เลวก็เป็นความจริงแห่งความเลว สิ่งดีก็เป็นความจริงของความดี
ที่จะกล่าวต่อไปในยุคต่าง ๆ ของมันเอง โดยไม่มีอะไรแปรเปลี่ยนไปได้
มันเป็นธรรมชาติโลกียะและโลกุตระมันเดินของมันเอง

เราจะชนะความเลวด้วยความดี เราต้องมีอุเบกขา หมายถึงคิดว่าสิ่งนี้เราต้องทำ ไม่ใช่ทำเพื่อชื่อ ความมีอำนาจ
เมื่อท่านทำใจได้เช่นนี้ท่านก็จะเป็นคนที่ดีได้ และจะเป็นนักเสียสละที่ดีได้ด้วย

ทีนี้การที่เราจะให้คนอื่นเหมือนเราหมดย่อมไม่ได้
มนุษย์ต่างคนต่างเกิดมาในโลกนี้มีกรรมวิบากของตนไม่เหมือนกัน
เมื่อมีกรรมวิบากของตนไม่เหมือนกัน มนุษย์ผู้นั้นอยู่ในสิ่งแวดล้อมไม่เหมือนกัน มีคุณธรรมไม่เท่ากัน
เราจะเอาใจของเราเป็นสรณะว่าที่เราทำนี้ถูก ทุกคนจะต้องว่าถูกเหมือนเราไม่ได้

ท่านเข้าใจคำว่า " นานาจิตตัง " หรือ " นานา มโน " หรือไม่ คือแต่ละคนมีความคิดของตนเป็นหลัก
เราจะทำอะไรควรต้องมีความสุขุมรอบคอบ เราต้องคิดถึงคนอื่นว่าทุกคนไม่เก่งเหมือนเราทุกคนไม่เหมือนเรา
ดังนั้นจำเป็นต้องมีอภัยทานเป็นสรณะ
ถ้ามนุษย์เราไม่มีการให้อภัยเป็นหลัก เมื่อมนุษย์ผู้นั้นตายไปก็จะมีแต่กิเลสตัณหาแห่งความยึดมั่นในตน
จะมีแต่ความพยาบาทอาฆาตจองเวร เมื่อจิตใจไม่บริสุทธิ์ย่อมเป็นทางนำไปสู่อบายภูมิ
นี่คือหลักความจริงของโลกวิณญาณ

เพราะฉะนั้น อาตมาจึงไม่อยากจะเทศน์อะไรมาก
เพียงแต่ขอให้เข้าใจว่า จงมีขันติ สัจจะ บริสุทธิ์ เมตตา จงมั่นอยู่ในคุณธรรมทุก ๆ ประการ
อย่าติดเสียงไม่ว่าเสียงดีหรือเสียงไม่ดี อันตรายใด ๆ จะทำอะไรท่านไม่ได้เลย


ธรรมะจาก หลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด

วันอังคารที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2553

สุขภาพจิตในพระพุทธศาสนา



การรักษาจิต คือ หัวใจของพระพุทธศาสนา
พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาหนึ่งในโลกที่ให้ความสำคัญอย่างสูงแก่จิตใจ
ธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฏก 45 เล่ม เมื่อสรุปลงแล้วมี 3 คือ ศีล สมาธิ ปัญญา

ศีล ที่แท้จริงได้แก่ วิวัติเจตนา หรือ ความคิดงดเว้นจากความชั่ว ซึ่งเป็นเรื่องของจิตใจ
สมาธิ การทำใจให้สงบก็เป็นเรื่องของใจ และ ปัญญา การสร้างความรู้ทั่วไปให้เกิดขึ้นในใจ ก็เป็นเรื่องของจิตใจ

ฉะนั้น คำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายจึงรวมอยู่ที่จิตใจ
ถ้าเรารักษาใจตัวเดียวได้ ก็ชื่อว่า ปฏิบัติตามธรรมของพระพุทธเจ้าได้ทั้งหมด

ในสมัยพุทธกาล มีภิกษุใหม่องค์หนึ่ง เกิดความท้อถอยในการปฏิบัติธรรม เพราะเหตุว่า
ธรรมวินัยในพระพุทธศาสนามีมากข้อมากมาตราปฏิบัติไม่ไหว พระพุทธเจ้าจึงทรงแนะนำให้รักษาจิตเป็นสำคัญ
ซึ่งต่อมาไม่นานหลังจากที่พระภิกษุองค์นั้น ได้ถือปฏิบัติรักษาจิตอย่างเคร่งครัด ก็ได้บรรลุพระอรหันต์
แสดงว่า หัวใจของพระพุทธศาสนา คือ การรักษาจิต

โรคจิตในทางพระพุทธศาสนา
หมายถึง กิเลส หรือ ตัวประกอบทางจิตต่างๆ ที่มาทำให้จิตเสียคุณภาพ และเสียสุขภาพ ทำใจให้เศร้าหมอง
บางทีก็เรียกว่า อาสวะ แปลว่า สิ่งที่หมักหมมทับถมอยู่ในใจ บางครั้งก็เรียก อนุสัย แปลว่า สิ่งที่เกาะจับจิตใจ

โรคจิตตัวที่ละเอียดที่สุด เรียกว่า อวิชชา คือ ความโง่ ความไม่รู้ความจริง
ไม่รู้ในอริยสัจ 4 ประการ คือ ทุกข์ สมุหทัย นิโรธ และ มรรค

คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา จำแนกโรคจิตไว้อย่างละเอียดถึง 1608 ชนิด เช่น
ตัณหา ความอยาก อุปาทาน ความยึดถือ โลภะ ความโลภ โทสะ ความโกรธ โมหะ ความหลง เป็นต้น

การแบ่งประเภทของคนตามโรคจิต พระพุทธศาสนา จัดประเภทตามขนาดโรคจิตเป็นชั้นๆ คือ
1. อันธพาลชน คือ คนที่มีปริมาณของโรคที่เข้มข้นมาก มีพฤติกรรมเป็นอันตราย ต่อสังคม
2. พาลชน คือ คนที่มีปริมาณของโรคเข้มข้นปานกลาง
3. ปุถุชน คือ พวกที่มีทั้งคุณและโทษต่อสังคม
4. กัลยาณชน คือ พวกที่มีคุณมากกว่าโทษ
5. อริยชน ขั้นโสดาบัน คือ บุคคลที่ละโรคจิตได้เด็ดขาด ร้อยละ 25
6. อริยชน ขั้นสกิทาคามี ละขาดได้ ร้อยละ 50
7. อริยชน ขั้นอนาคามี ละขาดได้ ร้อยละ 75
8. อริยชน ขั้นอรหันต์ ละขาดได้เต็มร้อย คือ ไม่มีโรคจิตเหลืออยู่อีกเลย

การแยกโรคจิต ตามระดับความละเอียด
1. ละเอียดที่สุด เรียกว่า อวิชชา ความไม่รู้ความจริง ความโง่ ความมืดมัวของจิต ที่ไม่รู้ ในอริยสัจ 4 คือ
ไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุให้เกิดทุกข์ ไม่รู้ความดับทุกข์ และ ไม่รู้วิธีปฏิบัติ เพื่อดับทุกข์
ส่วนความจริงที่ไม่รู้นั้นมีหลายประเภท คือ สมมติสัจจะ สภาวสัจจะ ปรมัตถสัจจะ และ อริยสัจจะ
ทางพระพุทธศาสนา ต้องรู้อริยสัจจะ จึงจะกำจัดอวิชชาได้ และเป็นพระอริยเจ้า

2. ละเอียดขนาดกลาง มี 2 ประเภท คือ ตัณหา และ อุปาทาน
ประเภทแรก ตัณหา แปลว่า ความอยากได้ มี 2 อย่าง คือ ภวตัณหา คือ ได้มาแล้วอยากให้มีอยู่ กับ วิภวตัณหา คือ
มีแล้วเบื่อ อยากให้พ้น ประเภทที่สอง อุปาทาน แปลว่า ความยึดถือ ติดอยู่ในสมบัติสัจจะ สภาวสัจจะ
และปรมัตถสัจจะ ติดอยู่ในเรา ในเขา และ ของเรา ของเขา

3. หยาบขนาดกลาง ได้แก่โรตจิต 3 ประการ ที่เรียกว่า อกุศลมูล คือ
เหตุแห่งความชั่ว มี โลภะ ความโลภอยากได้ โทสะ ความโกรธเคือง ขุ่นแค้น โมหะความหลงใหลมัวเมา

4. หยาบที่สุด มี 3 ประเภท คือ
อภิชฌา คือ ความเพ่งเล็งอยากได้จนจิตใจมืดมัว ไม่มีเหตุผลใดๆ เหลืออยู่
ความพยาบาท ความคิดมุ่งร้ายต่อผู้อื่น
มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด เช่น เห็นถูกเป็นผิด เห็นดีเป็นชั่ว เห็นจริงเป็นเท็จ เป็นต้น
เป็นพฤติกรรมทางจิต เมื่อใจถูกโรคจิตเหล่านี้บ่อนทำลายแล้ว จิตก็เสียสุขภาพ เศร้าหมอง เดือดร้อน วุ่นวาย
กระสับกระส่าย เมื่อจิตเช่นนี้ แสดงพฤติกรรมออกมาทางวาจา คำพูดก็จะเป็นไปเพื่อทำลาย เช่น พูดเท็จ
พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดกระแทกแดกดัน เมื่อแสดงออกมาทางกาย ก็จะเป็นการฆ่า ทรมาน เบียดเบียน ลัก
ปล้น จี้ โกง ประพฤติผิดกามประเวณี ดื่มยาดองของเมา

เมื่อโรคจิตแสดงพฤติกรรมออกมาทางกาย วาจา ใจ ครบทั้ง 3 แล้ว ผู้ป่วยโรคจิตก็จะได้ผล 3 ประการ คือ
ผลทางใจ จะได้รับความเดือดร้อน ความโศก ความทุกข์ระทมตรมใจ ความสะดุ้งหวาดกลัว เป็นต้น

ผลทางกาย จะถูกทำลายตอบ จะถูกจับ จำขัง ถูกทรมาน หมดอิสรภาพ
ผลทางสังคม จะถูกคนเกลียดชัง ถูกตำหนิติเตียน เสื่อมจากลาภ ยศ สรรเสริญถูกตัดญาติขาดมิตร เป็นต้น

วิธีรักษา ควบคุม และ แก้ไข เพื่อให้ทุกคนมีสุขภาพจิตเป็นปกติ
ทางพระพุทธศาสนาได้แสดงวิธีจัดการกับโรคจิตไว้หลายวิธี ตามระยะต่างๆ ของโรค คือ

1. วิธีระงับผลทุกข์
วิธีนี้ใช้เมื่อคนตกเป็นทาสของจิตจนกระทำความชั่วและได้รับผลคือ ความทุกข์แล้ว เช่น
นักโทษที่ถูกขังอยู่ในคุก คนอกหัก ผู้ที่ประสบภัยต่างๆ
ซึ่งในขั้นนี้ ต้องใช้วิธีระงับทุกข์ เสมือนกินยาแก้ปวดบรรเทาไว้ก่อน แล้วค่อยแก้สมุฎฐาน ที่แท้จริง

วิธีระงับทุกข์ทางพุทธศาสนา เป็นการแนะนำชี้แจง ให้ผู้ทุกข์เกิดปัญญารู้จริงเห็นแจ้งในหลักธรรมดา เช่น
นักโทษที่กำลังทนทุกข์ในเรือนจำ เราก็แนะนำว่า เขาได้ทำกรรมชั่วมาแล้ว ขณะนี้กำลังใช้กรรมชั่ว
ใช้ไปทุกวันไม่ช้าก็หมดกรรม กลับเป็นอิสระได้อีก
ขณะที่กำลังใช้หนี้อาจจะเป็นทุกข์ แต่ก็ดีกว่าจะต้องเป็นหนี้ตลอดไป เขาก็จะยอมรับโทษด้วยใจชื่นบาน

ส่วนคนอกหัก เราก็สอนให้เขาเข้าใจหลักอนิจจัง ว่า โลกนี้ไม่มีอะไรแท้เที่ยง ล้วนเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดา
อย่าไปหลงจริงจังในสิ่งต่างๆ แม้ความทุกข์ที่กำลังเผชิญอยู่นี้ก็เป็นอนิจจัง ไม่นานก็จะลดลงและหายไปในที่สุด
จงมีขันติความอดทน เขาจะได้ไม่คิดสั้น เพราะมีความหวังว่าความทุกข์จะต้องคลี่คลายหมดไปในที่สุดนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ถูกความทุกข์ครอบงำแล้ว ยากที่จะเกิดปัญญารู้จริงเห็นแจ้ง
ฉะนั้น พระพุทธศาสนาจึงนิยมใช้วิธีกัน มากกว่าวิธีแก้


2. วิธีป้องกัน
ในการป้องกันโรคทางกาย เราจะเลือกอยู่ในที่ถูกสุขลักษณะ เลือกคบคนที่ไม่มีโรคติดต่อ เว้นอาหารที่มีโทษ
กินเฉพาะที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเพิ่มภูมิต้านทานโรค เป็นต้น
ส่วนการป้องกันโรคทางใจ พระพุทธเจ้าสอนให้เลือกอยู่ในปฏิรูปเทศ ที่ซึ่งมีเหตุปัจจัยส่งเสริมให้เจริญในธรรม
เว้นจากการคบคนพาล ให้คบบัณฑิต
งดเว้นจากการประพฤติชั่วทุกทาง ด้วยการรักษาศีล จะได้ไม่ต้องหวาดสะดุ้ง ทำให้เสียสุขภาพจิต


3. วิธีบำรุงส่งเสริมสุขภาพจิต
อาหารบำรุงใจ คือ การทำความดี เช่น การให้ทาน การบำเพ็ญประโยชน์แก่ผู้อื่น
เรียกว่า อัตถจริยา การพูดดีต่อผู้อื่น เรียกว่า ปิยวาจาการเจริญเมตตา แผ่ไมตรีจิตและความปรารถนาดีไปยังผู้อื่น
เมื่อกระทำความดีทางกาย วาจา ใจ แล้ว ผลที่ได้รับ คือ ความอิ่มเอิบใจ สงบสุข ร่าเริงเบิกบานแจ่มใส มีเสน่ห์
ปลอดโปร่งใจเป็นอิสระ เป็นที่รักของคนทั่วไป ฉะนั้น การทำความดีจึงเป็นการส่งเสริมสุขภาพจิตโดยตรง


4. การบริหารจิต
ในการออกกำลังกายต้องเคลื่อนไหว ตรงข้ามกับการบริหารจิต ซึ่งต้องพยายามควบคุมให้อยู่นิ่ง
เพราะตามธรรมดาจิตจะวิ่งวุ่นปรุงแต่ง

การทำให้จิตนิ่ง ทางพุทธศาสนา เรียก สมถะ หรือสมาธิภาวนา ซึ่งมีหลายวิธี เช่น
เอาใจไปจดจ่ออยู่กับลมหายใจเข้าออก เรียก อานาปานสติ หรือ การใช้คำบริกรรมให้จิตสงบ
การพิจารณากายเคลื่อนไหว หรือ พิจารณาความรู้สึกทางจิตและคุณภาพของใจ
หรือ การเอาจิตไปจดจ่อกับสภาพใดสภาพหนึ่งที่เรียกว่า กสิณ เป็นต้น
ซึ่งแต่ละวิธีมีผลทำให้ จิตนิ่งได้ เป็น ขณิกสมาธิ หรืออาจพัฒนานิ่งนานขึ้น
เป็น อุปจาระสมาธิ และ อัปปนาสมาธิ ตามลำดับ
ถ้าสามารถสงบจิตได้นานตามต้องการ และมีประสบการณ์ทางจิตต่างๆ เกิดขี้นเป็นระยะๆ ตามที่ท่านกล่าวไว้
เรียกว่า ฌาน

มีคำถามว่า การข่มจิตให้สงบนิ่งนานๆ มีประโยชน์อันใด
คำตอบ คือ ถ้าจิตเป็นสมาธิถึงขั้นอัปปนาสมาธิแล้ว สนิมใจบางอย่างจะหายไป คือ กามฉันทะความยินดีพอใจ
พยาบาท ความแค้นเคืองใจ ถีนมิทธะ ความง่วงเหงาซึมเซา อุทธัจจะ กุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ
วิจิกิจฉา ความสงสัยลังเล

เมื่อสนิมใจทั้ง 5 ประการ นี้ ดับไป ก็เหลือแต่ใจที่สะอาด บริสุทธิ๋ สงบนิ่ง มีคุณธรรม มีปัญญารู้แจ้งแจ่มชัด
เปรียบเหมือนน้ำนิ่งใสเป็นกระจกสะท้อนเห็นเงาหน้าได้
หรือ เปรียบเหมือนคนหยุดอยู่กับที่ ย่อมเห็นอะไรได้ชัดเจนกว่าคนที่กำลังวิ่ง
หรือแสงแดดเมื่อกระจายอยู่ย่อมมีพลังอ่อน แต่ถ้าใช้กระจกรวมแสงให้อยู่จุดเดียวย่อมมีแสงสว่างมาก
มีความร้อนมาก
จิตใจก็เช่นกัน เมื่อรวมนิ่งเป็นสมาธิ ย่อมทำงานได้ดีเป็นพิเศษ ซึ่งสามารถนำไปใช้งานในขั้นที่ 5 ต่อไป


5. การใช้พลังจิตทำลายเชื้อโรคทางจิต
คือ เมื่อจิตใจใสสะอาดบริสุทธิ์ มีพลังก็นำไปใช้ในการพิจารณาความจริงของชีวิต จนเห็นแจ้งชัดในอนิจจัง
ความไม่เที่ยงแท้แน่นอน ทุกขัง ความทุกข์
อนัตตา ความไม่มีตัวตนที่แท้จริง เห็นชัดใน อริยสัจ 4 คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
เมื่อเห็นชัดด้วยปัญญาอันยอดเยี่ยม ก็จะเกิด อาสาวักขยญาณ
ทำลาย อาสวะ กิเลสละเอียด คือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ให้หมดสิ้นไปจากจิตใจ
ต่อจากนั้น ใจก็จะบริสุทธิ์สมบูรณ์ มีสุขภาพจิตดี พ้นทุกข์ได้
นี้คือจุดมุ่งหมายสูงสุดในทางพุทธศาสนา

พระพุทธศาสนากล่าวว่า คนทุกคนมีโรคจิต คือ กิเลสต่าง ๆ เจืออยู่ในจิต
ทำให้มีพฤติกรรมที่เป็นอันตรายต่อตนเอง และสังคม มากน้อยต่างกันตามภูมิคุ้มภัย คือ อำนาจใจที่ตนมี

คนที่มีกำลังใจเข้มแข็งสามารถจำกัดขอบเขตของโรคกิเลสไว้ได้
ไม่แสดงกรรมชั่ว ทางกาย วาจา ใจ ก็จะทุกข์กับชีวิตน้อย

ในสังคมด้อยพัฒนา คนเป็นโรคทางกายมาก แต่เป็นโรคทางจิตน้อย
ส่วนผู้ที่อยู่ในสังคมพัฒนาทางวัตถุมาก จะประสบปัญหาทางจิตสูง ต้องการการเยียวยาแก้ใขพระพุทธศาสนา
จึงเป็นหลักที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ถือปฏิบัติตามคำสอนอย่างเคร่งครัด ซึ่งจะเห็นผลดีมีสุขในชีวิตด้วยตนเองได้

จงหันมาเป็นจิตแพทย์เยียวยารักษาโรคจิตในตนและคนข้างเคียงกันเถิด ด้วยการใช้ธรรมะ เป็นโอสถของชีวิต


โดย ศจ.แสง จันทร์งาม

ผลของการ ประทุษร้าย ต่อผู้ไม่ประทุษร้าย มีโทษ 10 ประการ

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพยากรณ์โทษของการประทุษร้าย ผู้ที่ไม่ประทุษร้ายตอบ ว่า ย่อมประสบความวิบัติทันตาเห็น 10 ประการ ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง ดังนี้

1. พึงได้เวทนาอันหยาบ (ทุกข์หนัก) ทุกขเวทนาอย่างแรงกล้า เช่น โรคปวดศรีษะอย่างรุนแรง
2. เสื่อมจากลาภ ยศ ทั้งปวง ความเสื่อมสิ้นทรัพย์สินที่มีอยู่
3. ถูกทำร้ายร่างกาย เช่น ถูกตีหัว หรือถูกผ่าตัด
4. เจ็บไข้ได้ป่วยอย่างหนัก เจ็บหนัก เช่น เป็นอัมพาต
5. ถึงความฟุ้งซ่านแห่งจิต ถึงความเสียสติ เป็นบ้า
6. ขัดข้องด้วยพระราชา (ถูกลงโทษ) ถูกกฎหมายลงโทษ เช่น ถูกปลดและลดตำแหน่ง
7. ถูกกล่าวหาอย่างสาหัส ถูกกล่าวหาอย่างร้ายแรง
8. เกิดความเสื่อมในหมู่ญาติ (แยกครอบครัว) ไร้ญาติขาดพี่น้อง
9. ไฟไหม้บ้านเรือน โภคทรัพย์ เช่น เรือกสวนไร่นา ฉิบหาย
10. เมื่อละสังขารย่อมเข้าถึงนรก ตายแล้วไฟนรกเผาผลาญซ้ำอีก