วันเสาร์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2553

การเกิดนิกายครั้งแรก


ความขัดแย้งกันทางความคิด ก่อรูปก่อร่างขึ้นอีกเมื่อสมัยสังคายนาครั้งที่ 1 คือ เมื่อพระมหากัสสปะรวบรวมพระอรหันต์สาวก 500 รูป ประชุมทำการสังคายนาครั้งที่หนึ่งนั้น พระอานนท์ผู้ที่ใกล้ชิดพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่สุด และโดยเสด็จมาตลอดในวาระสุดท้ายของพระพุทธองค์ ได้เล่าเรื่องต่างๆ ที่พระพุทธองค์ตรัสกับท่านให้พระสงฆ์ฟัง หนึ่งในหลายเรื่องที่เล่าคือ พระพุทธองค์ตรัสว่า “ต่อไปภายหน้า ถ้าสงฆ์ปรารถนาจะยกเลิกสิกขาบทเล็กน้อยบ้างก็ได้”

ที่ประชุมสงฆ์ซักถามพระอานนท์ว่า สิกขาบทเล็กน้อยคือข้อใด พระพุทธองค์ตรัสบอกไหม พระอานนท์ตอบว่า มิได้บอก ที่ประชุมซักอีกว่า แล้วทำไมท่านไม่ทูลถาม พระอานนท์กล่าวว่า ตอนนั้นมัวแต่กังวลใจว่าพระพุทธองค์จะจากเราไปแล้ว จะทำอย่างไร เลยไม่มีกะจิตกะใจจะซักถามเรื่องต่างๆ

ที่ประชุมสงฆ์เลยตำหนิว่าพระอานนท์ไม่รอบคอบ ไม่ตำหนิเปล่า ถึงขั้นปรับอาบัติทุกกฎแน่ะครับ
เมื่อไม่ได้ความกระจ่าง พระสงฆ์ก็เลยแสดงความคิดเห็นแตกต่างกัน แบ่งเป็นพรรค เอ๊ย กลุ่มได้ 2 กลุ่ม

กลุ่มหนึ่งเห็นว่า ยกเว้นปาราชิก 4 และสังฆาทิเสส 13 นอกนั้นนับเป็นสิกขาบทเล็กน้อยหมด อีกกลุ่มเห็นว่า เฉพาะสิกขาบทเกี่ยวกับมรรยาทต่างๆ เท่านั้น เป็นสิกขาบทเล็กน้อย

เมื่อความคิดเห็นไม่ลงรอยกัน พระมหากัสสปะประธานที่ประชุม จึงขอมติที่ประชุมว่าจะยกเลิกหรือไม่ เสียงข้างมากบอกว่าไม่ยกเลิก มติเสียงข้างมากนี้เรียกว่า “เถรวาท” (วาทะหรือข้อตกลงของพระเถระทั้งหลายในที่ประชุมนั้น) ต่อมาคำนี้กลายมาเป็นชื่อนิกายหนึ่ง หลังจากมีนิกายแล้ว

เมื่อเสียงข้างมากออกมาอย่างนี้ ฝ่ายเสียงข้างน้อยก็ต้องยอมรับ ไม่มีปฏิกิริยาอะไร แต่ก็มี “ควันหลง” จนได้ ควันหลงนี้มิได้มาจากพระเถระที่เข้าประชุม มาจากพระผู้เฒ่ารูปหนึ่งนามว่า พระปุราณะ

พระปุราณะมิได้ถูกเลือก ให้เข้าประชุมกับเขา ได้รับทราบมติที่ประชุมดังนั้นก็กล่าวว่า ในส่วนตัวของท่านเห็นว่า เมื่อพระพุทธองค์ทรงมีพระพุทธาธิบาย (คือมีพุทธประสงค์) เช่นนี้ ก็ต้องยกเลิกได้สิ

ดังเช่นสมัยพุทธกาลเมื่อเกิดข้าวยากหมากแพงขึ้น พระพุทธองค์ยังทรงยกเลิกสิกขาบทบางข้อ เช่น อนุญาตให้พระสะสมอาหาร หรือหุงต้มกินเองได้

เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าได้ฟังมาจากพระพุทธองค์อย่างไร ก็จะยึดถือตามนั้น ไม่เชื่อมติที่ประชุม ว่าอย่างนั้นเถอะ

แต่ก็ยังไม่เกิดนิกาย มีเพียง “เค้า” ว่าจะเกิดเท่านั้น เวลาผ่านไป 100 ปี มี กลุ่มพระวัชชีบุตร เสนอให้แก้ไขสิกขาบท 10 ข้อ อันเรียกว่า “วัตถุ 10 ประการ” คือ

1. ตะวันบ่ายคล้อยไปประมาณ 2 องคุลี ฉันอาหารได้ (เทียบประมาณบ่าย 2 โมง)

2. เก็บเกลือไว้แล้วนำมาผสมกับอาหารอื่นฉันได้

3. ฉันอาหารในวัดแล้วเข้าบ้าน เขาถวายอีกฉันอีกได้

4. วัดใหญ่มีพระสงฆ์มาก จะแยกกันทำอุโบสถก็ได้

5. เวลาทำอุโบสถ แม้ยังไม่นำฉันทะของพระรูปที่ไม่เข้าประชุมมา สงฆ์จะทำอุโบสถก่อนก็ได้

6. ข้อปฏิบัติที่อุปัชฌาย์อาจารย์เคยประพฤติปฏิบัติมา แม้จะผิดก็ควรทำตาม

7. ฉันนมสดที่ยังไม่แปรเป็นนมส้มได้

8. ฉันสุราอ่อนๆ ได้

9. ผ้านิสีทนะ (ผ้าปูนั่ง) ไม่มีชายใช้ได้

10. รับเงินและทองได้

พระสงฆ์จำนวน 700 รูปได้ประชุมสังคายนา นำข้อเสนอทั้ง 10 ประการนั้นเข้าวินิจฉัย มติส่วนมากไม่ยอมรับ แต่กลุ่มภิกษุวัชชีบุตรไม่ยอมรับมติที่ประชุม คือแพ้แต่ไม่ยอมแพ้ จะให้มีการแก้ไขสิกขาบทตามที่พวกตนเสนอให้ได้ จึงแยกตัวออกไป แสวงหาสมัครพรรคพวกได้จำนวนมากกว่าเดิมอีก ตั้งนิกายใหม่ชื่อว่า “มหาสังฆิกะ” มีจุดยืนว่าสิกขาบทใดๆ ที่ไม่เหมาะกับยุคสมัยสามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้

เมื่อเกิดมีนิกายมหาสังฆิกะ พระสงฆ์ดั้งเดิมก็กลายเป็นนิกายหนึ่งนามว่า “เถรวาท” มีจุดยืนว่าสิกขาบทใดๆ ที่ตราไว้โดยพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องไม่แก้ไข ต้องรักษาไว้ตามเดิม

พระสงฆ์ที่เคยสมัครสมานสามัคคีกัน ไม่แตกก๊กแตกเหล่า ก็ได้แยกออกเป็นสองนิกาย คือ “นิกายมหาสังฆิกะ” และ “นิกายเถรวาท” ด้วยประการฉะนี้

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.100 ถ้านับแบบพม่าและลังกา ก็เป็น พ.ศ.101 ครับ

พระไตรปิฎกเกิดขึ้นครั้งแรก



ตั้งหัวเรื่องอย่างนี้ คล้ายจะบอกว่า พระไตรปิฎกเกิดขึ้นหลายครั้ง มีครั้งแรกครั้งที่สองด้วยอะไรประมาณนั้น ความจริงก็เกิดครั้งแรกครั้งเดียวเท่านั้น

เดิมทีเดียวพระไตรปิฎก ปรากฏอยู่ในรูปเป็น “พระธรรมวินัย” (ธมฺมวินย) หรือ “พรหมจรรย์” (พฺรหฺมจริย) สองคำนี้ใช้เรียกสิ่งเดียวกัน คือพระพุทธศาสนาทั้งหมด

พระพุทธเจ้าหลังตรัสรู้แล้ว ก็เสด็จไปประกาศเผยแผ่ให้ประชาชนได้รับทราบ สำนวนภาษาบาลีจึงกล่าวว่า “ทรงประกาศพระธรรมวินัย” บ้าง “ทรงประกาศพรหมจรรย์” บ้าง “ทรงประกาศพระพุทธศาสนา” บ้าง (ทานโทษเพื่อให้ชัด เดี๋ยวท่านผู้รู้จะทักท้วง ท่านใช้ “ศาสนา” เฉยๆ ต่อมาได้เติมคำว่า “พุทธ” นำหน้าเพื่อให้ชัดเจนว่า ศาสนาในที่นี้คือพระพุทธศาสนา)

ธรรมวินัย อันเป็นหลักคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น ในชั้นต้นๆ ก็มิได้รวบรวมเป็นหมวดเป็นหมู่แน่นอน จะมีบ้างที่ถูกเอ่ยถึงบ่อยๆ ก็คือแบ่งเป็น 9 หมวด เรียก “นวังคสัตุสาสน์” คือ (1) คำสอนประเภทร้อยแก้วล้วน (2) ประเภทร้อยกรองล้วน (3) ประเภทร้อยแก้วผสมร้อยกรอง (4) ประเภทอรรถาธิบาย (5) ประเภทคำอุทาน (6) ประเภทคำอ้างอิง (7) ประเภทเรื่องคุณวิเศษเฉพาะตนของพระพุทธเจ้าและพระสาวก (8) ประเภทนิทานชาดก เล่าถึงอดีตชาติของพระพุทธเจ้าขณะบำเพ็ญบารมีต่างๆ (9) ประเภทคำสนทนาถาม-ตอบเพื่อความรู้ยิ่งๆ ขึ้น

มีบ้างที่เอ่ยถึงการแบ่งเป็น “วรรค” เช่น ตอนเล่าเรื่องพระโสณกุฏิกัณณะ สวดธรรมที่อยู่ใน “อัฏฐกวรรค” และ “ปรายนวรรค” ให้พระพุทธเจ้าทรงสดับ

มีบ้างที่เล่าถึงพระสารีบุตรอัครมหาสาวก ได้รจนาพุทธวจนะเป็นหมวดหมู่เรียกว่า “สังคีติสูตร” และ “ทสุตตรสูตร” และเล่าไปถึงว่าเมื่อท่านพระสารีบุตรรจนาเสร็จแล้ว มีโอกาส present ให้ที่ประชุมสงฆ์ฟัง โดยพระพุทธานุญาต ณ สัณฐาคาร (รัฐสภา) ที่สร้างขึ้นใหม่ ของเหล่ามัลลกษัตริย์

ทั้งหมดนี้ยังไม่พบการเรียกคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า “พระไตรปิฎก” ในสมัยพุทธกาล แม้หลังพุทธปรินิพพานได้ 3 เดือน เมื่อพระมหากัสสปะเรียกประชุมพระสงฆ์ 500 รูปร้อยกรอง (สังคายนา) พระพุทธวจนะเป็นหมวดเป็นหมู่ ก็ไม่เอยคำว่า “พระไตรปิฎก” ยังคงใช้คำว่า “สังคายนาพระธรรมวินัย” อยู่

แม้พระพุทธศาสนาล่วงเลยมา 100 ปี หลังพุทธปรินิพพาน มีการสังคายนาครั้งที่สอง เพื่อวินิจฉัย “วัตถุ 10 ประการ” ที่กลุ่มภิกษุวัชชีบุตรนำเสนอ ก็ยังเรียกว่า “ธมฺมวินย วิสชฺชนา” (การวิสัชนาพระธรรมวินัย)

พระธรรมวินัยได้กลายมาเป็นพระไตรปิฎกเมื่อใด ไม่มีหลักฐานที่ไหนชัดแจ๋วแหววพอที่จะชี้ลงไปได้แน่นอน คงต้องสันนิษฐานเอาตามหลักฐานเท่าที่มีนำมาปะติดปะต่อกัน

เข้าใจกันว่า ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 2-3 คือหลังสังคายนาครั้งที่ 2 ถึงสังคายนาครั้งที่ 3 สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชนั้นเอง ได้เกิดคำว่า “ปิฎก” ขึ้นสำหรับเรียกพระธรรมวินัย โดย “ธรรม” ได้แตกออกเป็น พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก ส่วน “วินัย” เป็น พระวินัยปิฎก

หลักฐานที่สนับสนุนข้อสันนิษฐานนี้ก็คือ ใน “จารึกสาญจิสถูป” มีกล่าวถึงพระเถระพระเถรี ว่ามีความเชี่ยวชาญปิฎกต่างๆ หรือบางส่วนของปิฎก เช่น

เปฏกินฺ = พระเถระผู้ทรงจำปิฎกทั้งหลาย

สุตฺนฺตินี = พระเถรีผู้ทรงจำพระสูตร

ทีฆภาณิกา = พระเถระ/พระเถรีผู้สวดทีฆนิกาย

ปญฺจเนกายิกา = พระเถระ/พระเถรีผู้ทรงจำนิกายทั้ง 5

นอกจากนี้ เล่าถึงพระเจ้าอโศกมหาราชทรงแนะให้พระสงฆ์ศึกษาเนื้อหาของพระไตรปิฎกให้เข้าใจแจ่มแจ้ง เพื่อนำไปสอนประชาชน มีระบุถึง อริยวสานิ (ตรวจสอบแล้ว ปรากฏอยู่ใน ทีฆนิกาย สังคีติสูตร) อนาคตภยานิ (ปรากฏอยู่ใน อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต) มุนิคาถา (ปรากฏอยู่ใน ขุททกนิกาย สุตตนิบาต) โมเนยฺยสุตฺต (ปรากฏอยู่ใน อังคุตตรนิกาย และขุททกนิกาย อิติวุตตกะ) เป็นต้น

มีหลักฐานชิ้นหนึ่งว่า คัมภีร์กถาวัตถุ ได้แต่งขึ้นในสมัยสังคายนาครั้งที่ 3 โดยพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ และคัมภีร์นี้ได้ถูกผนวกเข้าเป็น 1 ในพระอภิธรรม 7 คัมภีร์ ทำให้เนื้อหาพระอภิธรรมปิฎกสมบูรณ์

จากหลักฐานเหล่านี้ ชี้ว่าพระธรรมวินัยได้แตกออกเป็น “พระไตรปิฎก” แล้วในช่วงนี้ จึงพอจะกล่าวได้อย่างกว้างๆ ว่า “พระไตรปิฎก” เกิดขึ้นครั้งแรกหลังพุทธปรินิพพาน ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 2 ถึงที่ 3 และไม่หลังสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชแน่นอน

......................

วันศุกร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2553

มหาภัยแห่งชีวิต


มงคลชีวิต หรือ การรักษาตนให้เป็นปกติ คือ
การรักษาตนให้เกิดสำนึกว่า สิ่งทั้งหลายกำลังเปลี่ยนแปลงไม่มีสิ่งใดยั่งยืนคงที่แน่นอน
เราเกิดมา เพื่อรอเวลาตาย
เราได้มา เพื่อรอเวลาเสีย
เรามี เพื่อรอเวลาหมด
เราเจอ เพื่อรอเวลาจาก
เราพบ เพื่อรอเวลาพลัดพรากจากกันไป
และเมื่อเวลานั้นมาถึงเมื่อใด ไม่มีใครทราบ แม้แต่ตัวเราเอง

ในการรักษาตนให้เกิดความปกติดังกล่าวนี้
ควรยึดหลักธรรม คือ หลักแห่งความถูกต้อง เพื่อวัดความถูกต้องที่แน่นอน ๔ ประการ คือ

๑. หมั่นระลึกความดีของท่านที่ทรงคุณความดีระดับสูงไว้เป็นประจำ

๒. หมั่นสร้างความรัก ความปรารถนาดีแก่คนและสัตว์ทั้งหลายเป็นประจำ

๓. หมั่นระลึกถึงว่า สิ่งทั้งปวงในโลกนี้ตามสภาพที่แท้จริง ไม่มีอะไรสวยงาม ไม่มีอะไรน่ารักใคร่หลงใหล
แต่มีลักษณะพึงรังเกียจ เพราะความปฏิกูลของมันตามสภาพที่เป็นจริง

๔. หมั่นระลึกถึงสิ่งที่เป็นจริง และความจริงประการสุดท้ายของชีวิต คือ ความตายไว้เป็นประจำ
เพื่อนำความสำนึกให้ทิศทางที่ประสงค์ คือ บารมี-อารมณ์-กรรมฐาน
ทางประเสริฐในการดำเนินชีวิตจึงได้แก่ การวางเฉยในอารมณ์ทั้งปวง คือ อุเบกขา
อารมณ์ที่น่ารักดีใจ ผ่านมาก็เฉย
อารมณ์ที่น่าตระหนกตกใจ ผ่านมาก็เฉย
โดยมีความสำนึกว่าอะไรจะเกิดไม่ว่าดี หรือไม่ดีมันก็ต้องเกิด
อะไรจะดับ จะดีหรือไม่ดีมันก็ต้องดับ
เราจะห้ามไม่ให้เกิด ไม่ให้ดับไม่ได้ เหมือนห้ามความร้อน ความหนาวไม่ได้
ฉะนั้นผล ก็คือ
๑. ไม่เสียโครงการของชีวิตที่สำคัญ
๒. ไม่ต้องเศร้าโศกเสียใจ
๓. ไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง
๔. ไม่ต้องปล่อยไปตามอารมณ์
นี่คือ ทางแห่งความสำเร็จชั้นยอดของมนุษยชน เป็นบารมีที่ใหญ่ยิ่ง เป็นยอดบารมี


ทางชีวิตที่ปลอดภัย
การปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยของชีวิต เป็นภารกิจที่มีความสูงสุดเพื่อชีวิต
ชีวิตที่ปลอดภัย เป็นชีวิตที่มีคุณประเสริฐสุด เพราะเป็นที่มาแห่งความสงบสุขอันเป็นยอดปรารถนา
ถึงปลอดภัยเมื่อใดก็เป็นอันถึงจุดหมายที่พึงประสงค์เมื่อนั้น เพราะความปลอดภัย คือ ความไร้ปัญหา

ภัยชีวิต ได้แก่
๑. ความเศร้าโศกเสียใจ
๒. ความร้องไห้บ่นเพ้อรำพัน
๓. ความลำบากกาย
๔. ความลำบากใจ
๕. ความคับแค้นใจ-ความช้ำใจ
ซึ่งแต่ละอย่างย่อมทำให้ชีวิตเดือดร้อน กระวนกระวาย
จึงนับเป็น “มหาภัยของชีวิต” เพราะเป็นที่หวาดกลัวของชีวิตยิ่งนัก


ภัยชีวิตทั้ง ๕ ย่อมมาจาก
๑. ความต้องพลัดพรากจากคนรัก จากของรัก และจากสิ่งที่รัก
๒. ความต้องคลุกคลีกับคนที่เกลียด ของที่เกลียด และสิ่งที่เกลียด
๓. ความผิดหวัง คือ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น ถ้า
- ไม่มีความรัก
- ไม่มีความเกลียด
- ไม่มีความหวัง

ภัยของชีวิตทั้ง ๕ ก็ไม่มี เพราะฉะนั้นทางที่ดี ก็คือ ป้องกัน
- ความรัก
- ความเกลียด
- ความหวัง
ไม่ให้เกิดขึ้นในความนึกคิด หรือความรู้สึกก็หมดภัยแน่

โดยศึกษาธรรมดาของสัตว์โลก ให้เกิดความเข้าใจโดยชัดเจนจนเกิดตัวปัญญาว่า
๑. สัตว์โลกถูกตัวชรานำไป ไม่ยั่งยืน ไม่แน่นอน ไม่คงที่
๒. สัตว์โลกไม่มีความเป็นใหญ่ในตัวเอง ไม่มีใครป้องกันตัว ต้องเจ็บต้องตายทั้งหมด
๓. สัตว์โลกไม่มีอะไรเป็นของตนเลย ต้องละทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างไปหมด
๔. สัตว์โลกพร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสของตัณหา ซึ่งท่านกำหนดไว้ว่าเป็น ธรรมมุทเทศ คือ
เป็นเครื่องนำไปสู่ความถูกต้อง หรือเป็นเครื่องชี้เครื่องกำหนดความถูกต้อง
ความรู้อย่างนี้เป็นความรู้ถูกต้อง ต้องเข้าใจอย่างนี้เป็นความเข้าใจถูกต้อง

คำว่า สัตว์โลก หมายถึง คนที่มีความเกี่ยวข้องอยู่กับโลกคือ ยังติดโลก ยังยึดโลก
โลก คือ สิ่งที่มีลักษณะเสื่อมโทรม
ติดโลก ก็คือ ติดความเสื่อมโทรม

ความเสื่อมโทรม คือ ภาวะที่เปลี่ยนแปลงปรวนแปร
อาการของความเปลี่ยนแปลงปรวนแปร ก็ปรากฎเป็น
๑. ความแก่
๒. ความเจ็บ
๓. ความตาย
๔. ความไม่มีอะไรเหลือในที่สุด
ซึ่งอาการเหล่านี้มีแก่สิ่งทั้งปวงในโลกนี้ทั่วถึงกัน เท่าเทียมกัน ไม่ยกเว้นใคร ไม่ยกเว้นสิ่งใด
ท่านจึงเรียกว่า สามัญลักษณะ ซึ่งแปลว่า ข้อกำหนดเป็นหลักเกณฑ์ว่า
๑. อนิจจัง ความไม่แน่นอน
๒. ทุกขัง ความไม่คงที่
๓. อนัตตา ความไม่ใช่ของเรา

เมื่อเกิดความรู้ ความเข้าใจอย่างนี้ เรียกว่า เห็นความจริงของโลกด้วยสิ่งประเสริฐ คือ ปัญญา
ผลที่ตามมา ก็คือว่า
๑. ไม่มีอะไรน่ารัก
๒. ไม่มีอะไร น่าเกลียด
๓. ไม่มีอะไรน่าหวัง

ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามสภาพธรรมดา เมื่อถึงคราวเกิดก็เกิด เมื่อถึงคราวดับก็ดับ
ไม่มีใครมาทำให้เกิด ไม่มีใครมาทำให้ดับ
ปัจจัยตามธรรมชาติ ทำให้เกิด…ทำให้ดับ ตามวาระของมันเอง ย่อมไม่มีความรู้สึกว่า
๑. จากคนรัก ของรัก และสิ่งรัก
๒. คลุกคลีกับคนที่เกลียด ของที่เกลียด สิ่งที่เกลียด
๓. ผิดหวัง

แล้วในที่สุด
๑. ไม่ต้องเศร้าโศกเสียใจ
๒. ไม่ต้องร้องไห้บ่นเพ้อรำพัน
๓. ไม่ต้องลำบากกาย
๔. ไม่ต้องลำบากใจ
๕. ไม่ต้องแค้นใจ ไม่ต้องช้ำใจ


เข้าใจสัจจะธรรมที่ว่า
๑. ภัยมีอยู่ตามสภาพ แต่คนที่ประสบภัยไม่มี เพราะไม่มีคนประสบภัย
๒. ความทะยานอยากมีอยู่ตามสภาพ แต่คนทะยานอยากไม่มี
เพราะไม่ทราบว่าจะทะยานให้ต้องชอกช้ำผิดหวังไปทำไม
เหมือนกระแสลม หรือแสงแดด ที่ปรากฎอยู่ตามภาวะ แต่ไม่มีใครมาสัมผัส ก็ไม่มีใครรู้สึกเย็น รู้สึกร้อนนั่นเอง
กระแสลมปรากฎความเย็นแก่คนสัมผัส
แสงแดดก็ปรากฎความร้อนแก่คนสัมผัส
ถ้าไม่มีคนสัมผัส ก็ไม่ปรากฎความเย็นความร้อนได้
นี่คือ ทางแห่งความปลอดภัยของชีวิต
ถ้าพิจารณาถึงชีวิตในอดีตที่ผ่านมา ก็พอจะพบทางดังว่านี้ได้
พวกเรา ยังเป็นสัตว์โลก เพราะความรู้สึกยังติดโลก ยังยึดโลกอยู่
บางคราวก็ติดมาก ยึดมาก
บางคราวก็ติดน้อย ยึดน้อย
บางคราวก็ดูเหมือนไม่ติด ไม่ยึดเลย
จึงทำให้ชีวิตมีภาวะแตกต่างกัน คือ คราวใดติดมาก ยึดมาก คราวนั้นก็มีเรื่องวุ่นวายมาก มีปัญหามาก คือมีภัยมาก
คราวใดติดน้อย ยึดน้อย คราวนั้น ก็มีเรื่องวุ่นวายน้อย มีปัญหาน้อย คือมีภัยน้อย
ในคราวที่รู้สึกดูเหมือนว่าจะไม่ติด ไม่ยึดอะไร ใครจะไปไหนมาไหนอย่างไร ก็ไม่ค่อยรู้สึกอะไร
จะได้อะไร จะเสียอะไร ก็เฉยๆ จะสบายไม่สบายอย่างไรก็เป็นธรรมดา ไม่อยากรักใคร ไม่อยากเกลียดใคร
ไม่มุ่งหวังสิ่งใด ไม่มุ่งหมายอะไรจากใคร ก็รู้สึกไม่มีเรื่องที่ต้องวุ่นวาย
ไม่มีปัญหาซึ่งเป็นสัญญานแห่งความไม่มีภัย
อดีตเป็นฉันใด ปัจจุบันก็เป็นฉันนั้น และอนาคตก็เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นบทเรียนชีวิตที่ดีที่สุด ก็คือ ชีวิตเราเอง
ชีวิตเราเป็นหลัก ชีวิตเขาเป็นส่วนประกอบ แต่เราต้องยอมรับความจริงในตัวเรา ได้ถูกต้องทุกประการ

พระพุทธเจ้าทรงประสบความสำเร็จในการตรัสรู้ ก็เพราะทรงรู้ที่พระองค์เอง
จะทรงรู้ทุกข์ที่ไหน ถ้าไม่ใช่ทุกข์ในพระองค์เอง
จะทรงรู้เรื่องเหตุให้เกิดทุกข์ ลักษณะความดับทุกข์ และทางให้ดับทุกข์ได้อย่างไร ถ้ามิได้ทรงรู้ด้วยพระองค์เอง
เราทั้งหลายก็เป็นอย่างนั้น
รู้เรื่องโลกพระจันทร์ โลกพระอังคาร ได้ประโยชน์คุ้มค่าหรือไม่
เราก็ไม่ทราบได้และก็ไม่แน่ใจว่ามีใครทราบหรือไม่

ทางที่มารหาไม่พบ


พระพุทธภาษิต
เตสํ สมฺปนฺนสีลานํ อปฺปมาทวิหารินํ สมฺมทญฺญา วิมุตฺตานํ มาโร มคฺคํ น วินฺทติ
คำแปล
มารย่อมหาไม่พบซึ่งทางของท่านผู้มีศีลสมบูรณ์, ผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาท ผู้หลุดพ้นเพราะรู้ชอบ

อธิบายความ ตามพระพุทธภาษิตนี้ ธรรมอันเป็นเหตุให้มาร ตามหาไม่พบ 3 ประการ คือ

1. ความมีศีลสมบูรณ์
2. การอยู่ด้วยความไม่ประมาท
3. ความหลุดพ้นเพราะรู้ชอบ


ในอุทเทส คือพระบาลีทั้งปวง เมื่อกล่าวถึงความเป็นผู้มีศีลของภิกษุก็จะให้ข้อความว่า
"เป็นผู้สำรวมในพระปาฏิโมกข์ (ศีลหลัก) เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยอาจาระและโคจร (ศีลส่วนปลีกย่อย หรือสมบัติผู้ดี)
มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย คือเห็นการล่วงสิกขาบทแม้เล็กน้อย เป็นสิ่งน่ากลัว
แล้วตั้งใจสำรวมอยู่ในสิกขาบทที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้"

อนึ่ง ในอุทเทสอื่นอีกเช่นใน อปริหานิยธรรมสูตร และสารานียธรรมสูตร
กล่าวถึงศีลอันบริสุทธิ์ ไม่ขาด ไม่ด่าง ไม่พร้อย วิญญูชนสรรเสริญอันตัณหาและทิฏฐิเข้าไปจับไม่ได้
และเป็นไปเพื่อสมาธิ คือทำให้เกิดสมาธิได้ง่าย

ความเป็นผู้มีศีลดีของภิกษุนั้น เป็นเหตุแห่งความเลื่อมใสของผู้ที่ยังไม่เลื่อมใส
ทำผู้เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสมั่นคงยิ่งขึ้น ทำปัจจัยที่ทายกถวายให้มีผลมาก เป็นอุบายรักษาพระศาสนาให้ยั่งยืน
ทำตนให้พ้นสังสารวัฏ และเป็นบันไดก้าวขึ้นสู่สวรรค์ และนิพพานอันเป็นสถานที่มารไม่สามารถหาให้พบได้

ความไม่ประมาท ได้อธิบายมามากแล้วในอัปปมาทวรรค
รวมความว่า การอยู่ด้วยความไม่ประมาทก็คือ อยู่ด้วยการมีสติอยู่ทุกเมื่อ ทุกอิริยาบถ

ความหลุดพ้นเพราะรู้ชอบ ความรู้ชอบนั้น คือรู้ตามเป็นจริงในสิ่งทั้งปวง ไม่ยอมให้สิ่งใดลวงได้
ตัวอย่างเช่น รู้สิ่งไม่เที่ยงว่าไม่เที่ยง รู้สิ่งอันเป็นทุกข์ว่าเป็นทุกข์ เป็นต้น
หากรู้แล้ววิปลาสไป เรียกว่ารู้ไม่ชอบ เมื่อรู้ชอบอยู่สม่ำเสมอย่อมหลุดพ้นได้

วิมุติ ความหลุดพ้นนั้น ท่านจำแนกไว้ 5 ประการ คือ
1. ตทังควิมุติ พ้นชั่วคราว เช่น จิตเป็นสมาธิชั่วคราว
2. วิขันภนวิมุติ พ้นด้วยอาการข่มไว้ เช่น ความพ้นของผู้ได้ฌาน
3. สมุจเฉทวิมุติ พ้นอย่างเด็ดขาด เช่น การพ้นของพระอริยบุคคล
4. ปฏิปัสสัทธิวิมุติ พ้นอย่างสงบระงับ (The Pacifier) เป็นความไปอย่างหนึ่ง
อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากสมุจเฉทวิมุติ ประการที่ 3 เหมือนไฟดับแล้วแต่ขี้เถ้ายังอุ่นอยู่
ส่วนประการที่ 4 นั้นคืออาการที่เป็นเสมือนขี้เถ้าซึ่งเย็นแล้ว
5. นิสสรณวิมุติ พ้นอย่างสลัดออก (The Departure) น่าจะหมายถึง การเสวยผลแห่งความหลุดพ้นไปจนตลอดชีวิต
ซึ่งก็เป็นผลของความหลุดพ้นประการที่ 4 นั่นเองสืบช่วงต่อกันลงมา
เปรียบให้เห็นอีกอย่างหนึ่ง สมุจเฉทวิมุติเหมือนอาการหายโรคเพราะยาเข้าไปตัด,
ปฏิปัสสัทธิวิมุติ เหมือนความเย็นกาย ความสบายของกายเพราะไม่มีโรคใดๆ เบียดเบียน
นิสสรณวิมุติ เหมือนการมีความสุขอันยั่งยืน เพราะไม่มีโรคใหม่ใดๆ เข้ามาเบียดเบียนอีก

อนึ่ง นิสสรณวิมุตินั้น น่าจะกินความไปถึงการดับขันธ์ของพระอริยบุคคลชั้นอรหันต์อีกด้วย
สลัดออกไปจากความทุกข์ทรมานในโลกนี้ทั้งปวง

วิมุติทั้ง 5 ประการนี้ 2 ประการแรกเป็นโลกียะ (mundane) ประการที่หนึ่งคนสามัญทั่วไปก็มีได้
ประการที่ 2 สำหรับท่านผู้ได้ฌาน ส่วน 3 ประการหลังเป็นโลกุตตระ (Supramundane) สำหรับพระอริยบุคคล

วิมุติทั้ง 5 นี้ บางทีเรียกว่า วิเวก (Seclusion) คำอธิบายเหมือนกันผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติ 3 ประการดังกล่าว
มารย่อมหาไม่พบ มารนั้นแปลว่า ผู้ล้างผลาญคุณความดี เช่น กิเลสมาร เป็นต้น


ในเรื่องนี้ พระศาสดาทรงปรารภการนิพพานของพระโคธิกะ แล้วมารเที่ยวตามหาวิญญาณของท่าน
มีเรื่องย่อดังนี้

เรื่องการนิพพานของพระโคธิกะ
สมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์
สมัยนั้น พระโคธิกะ ทำความเพียรอยู่ที่ถ้ำกาฬสิลา (หินดำ) ข้างภูเขาอิสิคิลิ
ท่านทำความเพียรจนได้เจโตวิมุติ (ความหลุดพ้น) เป็นครั้งคราวเช่น ตทังควิมุติ และวิขัมภนวิมุติ
แต่วิมุตินั้นต้องเลื่อนไปเพราะโรคอันเรื้อรังประจำสังขาร บางอย่างของท่าน, ถึงกระนั้นท่านก็พยายามเรื่อยไป
บางคราวยังฌานขั้นที่ 2 ที่ 3 ให้เกิดขึ้นแล้วเสื่อมไปอีกถึง 6 ครั้ง พอถึงครั้งที่ 7 ท่านคิดว่า
"เราเสื่อมจากฌานถึง 6 ครั้งแล้ว คติของผู้เสื่อมจากฌานเป็นของไม่แน่นอน
คราวนี้เราจะทำฌานให้เกิดขึ้น แล้วจักฆ่าตัวตายเพื่อมิให้ฌานเสื่อมไปเสียก่อน"
ดังนี้แล้ว นำมีดโกนมาวางไว้บนเตียงเพื่อจะตัดก้านคอ

มารเห็นอาการของพระโคธิกะเช่นนั้นจึงคิดว่า "ภิกษุนี้นำศัสตรามาเพื่อปลงชีวิตของตน
ภิกษุเช่นนี้ย่อมหมดอาลัยในชีวิต เธอเริ่มตั้งวิปัสสนาแล้ว อาจบรรลุอรหัตตผลได้
ถ้าเราจักห้ามเธอ เธอก็จะไม่เชื่อเรา อย่ากระนั้นเลย เราจักทูลให้พระศาสดาทรงห้าม"
ดังนี้แล้ว ปลอมตนเข้าไปเฝ้าพระศาสดา กราบทูลอย่างนี้ว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้แกล้วกล้า และมีบุญมาก ข้าพระองค์ขอถวายบังคมพระยุคลบาท
บัดนี้สาวกของพระองค์ชื่อโคธิกะ กำลังจะฆ่าตัวตาย ขอพระองค์ทรงห้ามเถิด
ข้าแต่พระองค์! สาวกนี้ของพระองค์เป็นผู้ยินดีในศาสนา ยังมิได้บรรลุธรรมอะไรเลย จะพึงทำกาละเสียกระไรอยู่
ขอพระองค์ทรงห้ามเถิด"

ขณะเดียวกันนั้น พระโคธิกะนำศัสตรามา ทำฌานให้เกิดขึ้นแล้วเจริญวิปัสสนา
ท่านได้บรรลุเป็นอรหัตน์พร้อมด้วยสิ้นชีวิต พระศาสดาทรงทราบโดยตลอด
และทรงทราบว่าผู้มาทูลพระองค์นั้นเป็นมาร จึงตรัสว่า
"ปราชญ์ทั้งหลายเป็นอย่างนี้ คือไม่อาลัยในชีวิต โคธิกะ ถอนตัณหาพร้อมทั้งรากขึ้นได้แล้ว ปรินิพพานแล้ว"

พระผู้มีพระภาคมีภิกษุสงฆ์เป็นอันมากแวดล้อม เสด็จไปสู่ที่อยู่ของพระโคธิกะ
ขณะนั้นมารเที่ยวแสวงหาวิญญาณของพระโคธิกะอยู่ว่า วิญญาณนั้นไปอยู่ที่ใด เมื่อไม่อาจแสวงหาให้พบได้
จึงแปลงเพศเป็นกุมารน้อยถือพิณสีเหลืองเข้ามาเฝ้าพระศาสดา และทูลถามว่า วิญญาณของพระโคธิกะอยู่ที่ใด

พระศาสดาตรัสตอบว่า
"ภิกษุชื่อโคธิกะ เป็นปราชญ์ มีศีลสมบูรณ์ ยินดีในฌาน มีความเพียรทั้งกลางวันกลางคืน ไม่ไยดีต่อชีวิต
ชนะเสนาแห่งมัจจุราชได้แล้ว ไม่มาสู่ภพนี้อีก เธอถอนตัณหาพร้อมทั้งรากได้แล้ว ปรินิพพานแล้ว"

มารได้ยินดังนั้น เสียใจเศร้าโศกหายไปแล้ว
พระศาสดาตรัสว่า "มารผู้ลามกต้องการอะไรด้วยวิญญาณของโคธิกะ
คนอย่างมารแม้ตั้งร้อยตั้งพันก็ไม่อาจแสวงหาที่เกิดของกุลบุตรเช่น โคธิกะได้" ดังนี้แล้วตรัสพระคาถาว่า
"เตสํ สมฺปนฺนสีลานํ" เป็นอาทิ มีนัยดังพรรณนามาแล้ว

การปฏิบัติธรรมเหมือนตัดไม้มีแก่น

พระพุทธเจ้า ประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน เมืองสาวัตถี
ได้ทรงแสดงสัญโญชน์ (กิเลสเครื่องร้อยรัด) เบื้องต่ำ ๕ คือ

๑. สักกายทิฐิ (ความเห็นเป็นเหตุยึดกายของตน)
๒. วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย)
๓. สีลัพพตปรามาส (การลูบคลำศีล)
๔. กามฉันทะ (ความพอใจในกาม)
๕. พยาบาท (ความคิดปองร้าย)

โดยทรงยกเอาตัวอย่างเด็กทารกนอนแบเบาะ มาเป็นตัวอย่างแห่งการเกิดสัญโญชน์ ซึ่งมองดูด้วยตาเปล่าไม่เห็น
แต่เป็นอนุสัย (กิเลสที่แฝงตัวตาม) มีอยู่ตลอดเวลา
ในตอนท้ายได้ทรงแสดงหนทางปฏิบัติ เพื่อละสัญโญชน์ ๕
เหมือนคนที่ต้องการตัดไม้แก่น แต่ต้องผ่านเปลือกและกะพี้ไม้ ก่อนที่จะถึงแก่นไม้ ไว้ดังนี้

“อานนท์! สัญโญชน์ ๕ เป็นของมีกำลัง ถ้าไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้รับคำแนะนำที่ดี ไม่มีอุบายที่ดี
ย่อมไม่สามารถจะละได้ ผู้ไม่อาศัยหนทางเพื่อละสัญโญชน์ ย่อมไม่อาจจะละได้

อานนท์! เปรียบเหมือนการตัดต้นไม้มีแก่น ต้องถากเปลือกและกะพี้ออกเสียก่อน จึงจะตัดแก่นไม้ได้ ฉันใด ?
ผู้ต้องการละสัญโญชน์เบื้องต่ำ ๕ ก็ต้องปฏิบัติไปตามลำดับขั้น ฉันนั้น”.

มหามาลุงโกยวาทสูตร ๑๓/๑๓๗


การปฏิบัติธรรมนั้น จะว่ายากก็เหมือนง่าย จะว่าง่ายก็เหมือนยาก คือถ้ามีอุบายที่ประกอบด้วยปัญญาแล้ว
การปฏิบัติธรรมก็ดูเป็นเรื่องง่ายดายไป แต่ถ้าขาดปัญญาเพียงตัวเดียว จะทำอะไรทุกสิ่งก็ดูมันจะยากไปหมด
นอกจากจะทำยากแล้ว บางทีก็อาจเกิดโทษเสียด้วย

พระสูตรตอนนี้ ทรงแสดงถึง “ขั้นตอน” แห่งการปฏิบัติธรรม เหมือนการตัดไม้ที่มีแก่น
ต้องผ่านเปลือกและกะพี้ไปตามลำดับ แล้วจึงจะเข้าถึงแก่นของไม้ได้ ฉันใด

ในการปฏิบัติธรรม เพื่อการดับทุกข์อย่างสิ้นเชิง ก็มีอุปมา ฉันนั้น
ทั้งนี้เพราะ กิเลสตัณหา ได้ถูกสะสมมานานจนกลายเป็น “สัญโญชน์” ไปแล้วนั่นเอง

แต่ไม่ว่ากิเลสประเภทใด ๆ ก็ตาม ถ้าคนเรามีความเพียรพยายามไม่ลดละ ก็ย่อมจะพิชิตมันแน่นอน
ต่างแต่ว่าจะช้าหรือเร็วเท่านั้น
สมตามพุทธภาษิตที่ตรัสตอบอาฬวกยักษ์ (๑๕/๒๙๘) ว่า คนจะล่วงพ้นความทุกข์ทั้งปวงได้เพราะความเพียร

เรื่องที่ควรพูดและไม่ควรพูด


พระพุทธเจ้า ประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน เมืองสาวัตถี ภิกษุหลายรูปประชุมกันที่หอฉัน
ต่างสนทนากันด้วยเรื่อง ดิรัจฉานกถา คือ ถ้อยคำที่ชักนำให้จิตตกต่ำ และขวางทางไปนิพพาน คือ
เรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่องการรบ เรื่องข้าว
เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องที่นอน เรื่องดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยาน เรื่องบ้าน เรื่องนิคม
เรื่องนคร เรื่องชนบท เรื่องสตรี เรื่องคนกล้าหาญ เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนตายไปแล้ว
เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่องทะเล เรื่องความเจริญ และเรื่องความเสื่อมฯ

เวลาเย็น พระพุทธองค์เสด็จไปที่หอฉัน จึงตรัสถามว่าพวกเธอกำลังคุยอะไรกันอยู่
พวกภิกษุกราบทูลว่า คุยกันด้วยเรื่อง ดิรัจฉานกถา
ทรงติเตียนว่า ไม่สมควรที่พวกเธอผู้ออกบวชด้วยศรัทธาจะสนทนากันด้วยเรื่องอย่างนี้

ครั้นแล้วทรงแสดง กถาวัตถุ คือ ถ้อยคำที่ควรนำมาพูดกันในวงของภิกษุ คือ

๑. อัปปิจฉกถา เรื่องความมักน้อย ถ้อยคำที่ชักนำให้ปรารถนาน้อย
๒. สันตุฏฐิกถา เรื่องความสันโดษ ถ้อยคำที่ชักนำให้มีความสันโดษ
๓. ปวิเวกกถา เรื่องความสงัด ถ้อยคำที่ชักนำให้มีความสงัดกายและใจ
๔. อสังสัคคกถา เรื่องความไม่คลุกคลี ถ้อยคำที่ชักนำให้ไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ
๕. วิริยารัมภกถา เรื่องการปรารภความเพียร ถ้อยคำที่ชักนำให้มุ่งมั่นทำความเพียร
๖. สีลกถา เรื่องศีล ถ้อยคำที่ชักนำให้ตั้งอยู่ในศีล
๗. สมาธิกถา เรื่องสมาธิ ถ้อยคำที่ชักนำให้ทำจิตให้ตั้งมั่น
๘. ปัญญากถา เรื่องปัญญา ถ้อยคำที่ชักนำให้เกิดปัญญา
๙. วิมุตติกถา เรื่องวิมุตติ ถ้อยคำที่ชักนำให้ทำใจพ้นจากกิเลสและความทุกข์
๑๐. วิมุตติญาณทัสสนกถา เรื่องความรู้ความเห็นในวิมุตติถ้อยคำที่ชักนำให้สนใจ และเข้าใจ
เรื่องความรู้ความเห็นในภาวะที่หลุดพ้นจากกิเลสและความทุกข์

วัตถุกถาสูตร ๒๔/๑๓๑


พระพุทธองค์ตรัสในอีกแห่งหนึ่งว่า
"ภิกษุทั้งหลาย! การที่พวกเธอออกบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธา นั่งสนทนาธรรมกันเป็นการสมควร
พวกเธอเมื่อนั่งประชุมกัน ควรทำกิจสองอย่าง คือ สนทนาธรรมะ หรือ นั่งนิ่งตามแบบพระอริยะ"

ปาสราสิสูตร ๑๒/๒๕๙


นักบวชเป็นผู้เว้นจากการงานแบบชาวบ้าน จึงมีเวลาที่ว่างมาก ถ้าไม่ศึกษาธรรม ไม่ปฏิบัติธรรม
ไม่มีการงานอันเหมาะสมกับสมณะ
เป็นภาระอยู่ประจำ ก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไร ก็เลยต้องบริหารปาก
ด้วยการยกเอาเรื่องต่าง ๆ อันไร้สาระมาพูดคุยเพื่อฆ่าเวลาให้หมดไปวัน ๆ

เมื่อมีการพูดมาก จิตใจก็ย่อมจะฟุ้งซ่านมาก เรื่องมาก มีปัญหามาก
พระพุทธองค์จึงทรงขีดวง ให้นักบวชได้พูดคุยอยู่ในกรอบของ "กถาวัตถุ ๑๐ ประการ"

ส่วนการ "นั่งนิ่งตามแบบพระอริยะ" นั้น ได้แก่
การเจริญสติ สมาธิ และ วิปัสสนา หรือการเจริญสติปัฏฐานสี่ อันเป็นการงานของจิตโดยตรงนั่นเอง

ถ้านักบวชรูปใดใส่ใจ สำรวมวาจาและใส่ใจให้อยู่ในหลักนี้ได้
ความเจริญงอกงามไพบูลย์ ในเพศของนักบวชก็ย่อมเกิดขึ้นแก่ตน อย่างไม่ต้องสงสัยเลย

ความต้องการเป็นอิสระ และ เป็นตัวของตัวเองนั้น
นับว่าเป็นสิ่งดี แสดงว่าจิตมีการพัฒนา
แต่จะต้องไม่ตกเป็นทางของสิ่งเสพติด อบายมุข กิเลสตัณหา และค่านิยมที่ผิด ๆ ด้วย
จึงจะถือว่าเป็นอิสระ และ เป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริง


พระไตรปิฎกฉบับพ้นทุกข์

การเห็นกายเนื้อของพระพุทธเจ้า


พระพุทธเจ้า เสด็จดำเนินทางไกล ระหว่างกรุงราชคฤห์กับเมืองนาลันทา พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่
ได้ตรัสเรื่องทิฐิ ๖๒ โดยพิสดาร ในตอนท้ายสูตร ได้ตรัสถึงการเห็นพระกายของพระองค์ ไว้ดังนี้

"ภิกษุทั้งหลาย! กายของตถาคตมีตัณหา อันจะนำไปสู่ภพขาดแล้ว ดำรงอยู่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
จักเห็นตถาคตชั่วเวลาที่กายของตถาคตยังดำรงอยู่
เมื่อกายแตกสิ้นชีพแล้ว เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย จักไม่เห็นตถาคต
เปรียบเหมือนพวกมะม่วง เมื่อขาดจากขั้วแล้ว ผลใดผลหนึ่งติดขั้วอยู่ ย่อมติดขั้วไป"

พรหมชาลสูตร ๙/๕๒


พระสูตรนี้ น่าจะเป็นหลักฐานที่ควรเชื่อได้อย่างดีว่า
การเห็นกายเนื้อ หรือ ร่างกายที่จะต้องเน่าเปื่อย ไปตามวัยนี้
ของพระพุทธเจ้ากับของคนทั่วไป ไม่มีอะไรแตกต่างกันเลย
แต่คุณธรรมต่าง ๆ ที่อาศัยร่างกายนี้เกิดขึ้นต่างหากเล่า ที่ทำให้คนเราแตกต่างกัน

มีสำนักปฏิบัติบางแห่ง สอนให้เพ่งดูรูปพระพุทธเจ้า หรือเพ่งให้เห็นทางมโนภาพ
นั่นก็เกิดจากการที่ต้องการให้ผู้ปฏิบัติมีศรัทธา และจิตรวมตัวเป็นสมาธิ
เพราะถ้าจิตไม่เป็นสมาธิ เพ่งอย่างไร เพ่งเท่าไร มันก็ไม่มีทางเห็นได้

ในเรื่องนี้พึงดูพระวักกลิเป็นตัวอย่าง พระวักกลิท่านบวชเข้ามาก็ด้วยเพียงอยากอยู่ใกล้
อยากเห็นพระพุทธเจ้าอยู่ตลอดเวลา อันนี้ก็ไม่ใช่ของแปลกประหลาด
เพราะพระพุทธเจ้าท่านเป็นลูกกษัตริย์ ทั้งมีบุญวาสนาสูงส่งมาก่อน ท่านจึงมีพระรูปงามกว่าคนธรรมดา

แต่เพราะพระวักกลิสนใจมองดูแต่ร่างกาย เพียงอย่างเดียว ไม่สนใจธรรมะเลย
จึงต้องถูกพระพุทธองค์ขับไล่ให้หนีไป ทำให้เกิดความเสียใจ ถึงกับจะกระโดดภูเขาตาย
ทรงเมตตาสั่งสอนว่า "ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นย่อมเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นย่อมเห็นธรรม"
พระวักกลิปฏิบัติตามจึงสามารถบรรลุธรรมขั้นต้นได้

นี่ก็แสดงว่า การเห็นธรรม ย่อมสำคัญกว่าการเห็นด้วยกายเนื้อ
เพราะทำให้หมดกิเลสตัณหา หรือสามารถดับทุกข์ได้


จาก พระไตรปิฏกฉบับ ดับทุกข์

พุทธวิธีแก้ความหวาดกลัว


พระพุทธเจ้า ประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน เมืองสาวัตถี
พราหมณ์ชาณุโสณี ได้เข้าไปเฝ้าและทูลถามปัญหาว่า
ภิกษุอยู่ในที่สงบสงัดในป่า หรือ ป่าเปลี่ยวและโดดเดี่ยว ยากที่จะอยู่ได้ หรือ ยากที่จะทำจิตให้เป็นสมาธิได้

พระพุทธเจ้าทรงเล่าความหลังของพระองค์ ครั้งเป็นพระโพธิสัตว์ก่อนที่จะได้ตรัสรู้ว่า
ทรงเคยอยู่ในป่าและป่าเปลี่ยวมาแล้ว แต่เพราะทรงมีกาย วาจา และใจ สะอาดสุจริต
มีราคะและนิวรณ์ ๕ สงบระงับแล้ว
จึงไม่มีความหวาดกลัวแล้ว หรือเกิดความหวาดกลัว เมื่ออยู่ในป่าหรือป่าเปลี่ยวเช่นกัน

ในตอนท้ายสูตร พระพุทธองค์ทรงเล่าเป็นเชิงแนะการแก้ความหวาดกลัวว่า

ถ้าความหวาดกลัวเกิดขึ้นในขณะที่กำลังเดินอยู่ จะไม่ทรงยืน ไม่ทรงนั่ง และไม่ทรงนอนเลย
จะทรงเดินจนกว่าความหวาดกลัวจะหายไป

ถ้าความหวาดกลัวเกิดขึ้นในขณะที่กำลังยืนอยู่ จะไม่ทรงเดิน ไม่ทรงนั่ง และไม่ทรงนอนเลย
จะทรงยืนจนกว่าความหวาดกลัวจะหายไป

ถ้าความหวาดกลัวเกิดขึ้นในขณะที่กำลังนั่งอยู่ จะไม่ทรงนอน ไม่ทรงยืน และไม่ทรงเดินเลย
จะทรงนั่งอยู่จนกว่าความหวาดกลัวจะหายไป

ถ้าความหวาดกลัวเกิดขึ้นในขณะที่กำลังนอนอยู่ จะไม่ทรงนั่ง ไม่ทรงยืน และไม่ทรงเดินเลย
จะทรงนอนอยู่จนกว่าความหวาดกลัวจะหายไป

ภยเภรวสูตร ๑๒/๒๖-๓๒


พระสูตรนี้ ทรงแสดงว่าผู้ที่ไม่มีความบริสุทธิ์ทาง กาย วาจา และใจ
เป็นผู้ทุศีล มีความปรารถนาลามก หวังลาภยศชื่อเสียง แล้วหลบเข้าไปอยู่ในป่าหรือป่าเปลี่ยว
เพื่อหวังความนิยมเป็นคนขลัง หรือเพื่อเรียกร้องศรัทธา

บุคคลประเภทนี้ ย่อมเรียกร้องความหวาดกลัว หรือภัยอันเกิดจากป่าและป่าเปลี่ยวได้ร้อยแปด

ส่วนผู้ที่มีจิตใจเสียสละ ลาภ ยศ สรรเสริญ ได้อย่างแท้จริงแล้ว ย่อมจะไม่มีความหวาดกลัวสิ่งใด ๆ เลย
แม้จะเกิดขึ้นบ้างบางครั้ง เพราะจิตยังไม่หลุดพ้น ก็สามารถจะระงับและข่มความหวาดกลัวได้
โดยอาศัยบารมีธรรมช่วย ที่ตนได้ประพฤติมาดีแล้ว เป็นต้น

การระงับความกลัว ด้วยวิธีหนามยอกเอาหนามบ่งคือ
เมื่อเกิดความหวาดกลัวขึ้นในอิริยาบถใด ๆ ก็ให้อยู่ในอิริยาบถนั้น ๆ จนกว่าจะหายหวาดกลัว
จึงค่อยเปลี่ยนไปอิริยาบถอื่น ถ้าไม่หายก็ไม่เปลี่ยน ผู้ที่มีความกลัวน่าจะลองเอาไปปฏิบัติดู

อันความกลัวใด ๆ ของมนุษย์ในโลกนี้ ที่จะยิ่งไปกว่าความตายเป็นไม่มีแล้ว
เมื่อคนเราสามารถปลงภาระในความตายของตนได้แล้ว ความกลัวในสิ่งอื่นย่อมจะหมดไปเอง
เพราะสิ่งใด ๆ ในโลกล้วนแต่สิ้นสุดลงที่ความตายทั้งสิ้น

ดังนั้น การเจริญมรณัสสติ คือการระลึกถึงความตาย
จึงเป็นอุบายหนึ่งในหลายอย่าง ที่จะช่วยบรรเทาความหวาดกลัวได้อย่างดี
ข้อสำคัญคือจะต้องทำให้จริงจัง และทำอยู่สม่ำเสมอ

เมื่อเรากำจัดความกลัวตายลงได้เพียงอย่างเดียว
ความกลัวสายอื่น ๆ ก็กลายเป็นเรื่องเล็กไปหมด เพราะความตายมันเป็นความสิ้นหวังของทุกสิ่งในโลก

ภิกษุอยู่รูปเดียว เป็นเหมือนพรหม
อยู่สองรูป เป็นเหมือนเทวดา
อยู่ด้วยกันมากกว่าสามรูปขึ้นไป เป็นเหมือนชาวบ้าน
ย่อมมีแต่ความโกลาหล มากขึ้น
ฉะนั้น ภิกษุจึงควรอยู่แต่ผู้เดียว

ยถา พฺรหฺมา ตถา เอโก ยถา เทโว ตถา ทุเว
ยถา คาโม ตถา ตโย โกลาหลํ ตตุตฺตรํ
ยโสชเถรคาถา ๒๖/๓๐๐

จาก พระไตรปิฏกฉบับ ดับทุกข์

การกีดกันใจจากอารมณ์โกรธเกลียดได้ เป็นความประเสริฐไม่น้อย


พระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนาว่า
ที่อยู่อาศัย หรือวิหารย่อมป้องกันหนาวร้อน สัตว์ร้าย เช่น งู ยุง และป้องกันฝนในฤดูฝน
นอกจากนี้ยังป้องกันลมแดดได้อีกด้วย

การถวายวิหารทาน แก่สงฆ์เพื่อให้ท่านได้หลีกเร้นอยู่
เพื่อความสุข เพื่อการเพ่งพิจารณา เพื่อความรู้แจ้งเห็นจริงนั้น พระพุทธเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่าเป็นทานอันเลิศ
ด้วยเหตุนี้ ผู้ฉลาดเล็งเห็นประโยชน์อยู่ พึงสร้างที่อยู่อันรื่นรมย์เพื่อภิกษุ ผู้เป็นพหุสูตจักได้อยู่อาศัย

อนึ่ง พึงมีใจเลื่อมใสถวายข้าวน้ำ ผ้าและเครื่องใช้อื่นๆ อันสมควรแก่สมณบริโภคแก่ภิกษุผู้มีความซื่อตรง
พวกเธอได้รับอุปการะอย่างนี้แล้วย่อมแสดงธรรม อันเป็นเครื่องบรรเทาทุกข์ทั้งปวงแก่เขา
เขารู้ทั่วถึงธรรมนั้นแล้ว จักเป็นผู้ไม่มีอาสวะ ปรินิพพาน

ท่านผู้เคารพในธรรม ยกเว้นพระศาสดาแล้ว จริยาของพระสารีบุตรนั้นไม่มีใครเสมอเหมือน
ท่านมิได้มีอหังการว่าเราเป็นอัครสาวก แต่เป็นผู้สันโดษและอ่อนน้อมถ่อมตนอยู่เป็นนิตย์
ดังได้กล่าวมาบ้างแล้วแต่หนหลัง

นอกจากความอ่อนน้อมถ่อมตนแล้ว พระสารีบุตรยังเป็นผู้มีความอดทนและให้อภัยแก่ผู้ประทุษร้าย
ดังเรื่องต่อไปนี้

คราวหนึ่ง เมื่อพระบรมศาสดาประทับ ณ เชตวันวิหาร พวกมนุษย์เป็นอันมากในที่แห่งหนึ่ง
ได้พากันกล่าวสรรเสริญคุณของสารีบุตรเถระ ว่า “พระผู้เป็นเจ้าของเราเป็นผู้มีคุณน่าอัศจรรย์
ประกอบด้วยกำลังคือขันติความอดทน เมื่อใครๆ ด่าก็ตาม ประหารท่าน ก็ตาม ความโกรธหาเกิดขึ้นแก่ท่านไม่”

คราวนั้นมีพราหมณ์มิจฉาทิฐิคนหนึ่ง ไม่เชื่อ และมีความประสงค์จะทดลองคุณของพระเถระ
เช้าวันหนึ่งเห็นพระเถระสารีบุตรเดินเข้าไปรับภิกษาหารในละแวกบ้าน จึงเดินตามไปข้างหลัง
เมื่อได้โอกาสก็ตีกลางหลังของท่านด้วยฝ่ามืออย่างแรง

พระอัครสาวกมิได้เหลียวดูเลย คงเดินไปเรื่อยๆ ด้วยอาการสงบ
เมื่อเป็นดังนั้น พราหมณ์ก็เกิดร้อนตัวขึ้นอย่างแรง คิดว่า
“โอ พระผู้เป็นเจ้าสมบูรณ์ด้วยคุณคือ ขันติอย่างที่คนทั้งหลายเล่าลือจริง”

เขาหมอบลงแทบเท้าของพระเถระ กล่าวขอขมา เมื่อได้รับอภัยโทษจากพระสารีบุตรผู้ทรงคุณแล้ว
กล่าวนิมนต์พระเถระ ให้ได้โปรดไปรับอาหารที่เรือนของตน พร้อมขอรับบาตรจากพระสารีบุตร
พาท่านไปยังเรือนของตน อังคาส เลี้ยงดูด้วยอาหารอันประณีต

แต่การที่พราหมณ์ลอบประหารพระสารีบุตรนั้น หาได้พ้นสายตาของมหาชนบางกลุ่มไปไม่
พวกเขาโกรธแค้น ถือท่อนไม้และก้อนดินยืนซุ่มอยู่ที่บริเวณประตูบ้านของพราหมณ์ จะรุมประทุษร้าย
แต่พระสารีบุตรกล่าวห้ามว่า

“พราหมณ์ได้ขออภัยโทษแล้ว เรื่องแล้วไปแล้ว พวกท่านทั้งหลายกลับกันไปเสียเถิด”
แล้วท่านก็ให้พราหมณ์กลับไปยังเรือนของตน ส่วนท่านเองกลับไปยังเชตวันวิหาร

ภิกษุทั้งหลายกล่าวยกโทษว่า “อะไรกัน พระสารีบุตรถูกพราหมณ์ประหารแล้วยังไปนั่งฉันอาหารที่เรือนเขาอีก
เมื่อเขาประหารพระเถระ เช่นพระสารีบุตรได้
ต่อไปก็จะเที่ยวประหารภิกษุอื่นๆ โดยไม่มีความละอายและความเกรงกลัว”

พระศาสดาเสด็จมายังธรรมสภา ทรงทราบเรื่องที่ภิกษุสนทนากันแล้วตรัสว่า
“พราหมณ์ประหารพราหมณ์นั้นไม่มี แต่พราหมณ์คฤหัสถ์อาจประหารสมณะได้
อนึ่ง ความโกรธย่อมถูกทำลายไปด้วยอนาคามีมรรค” ดังนี้แล้ว ตรัสต่อไปว่า

“พราหมณ์ไม่ควรประหารพราหมณ์ ไม่ควรจองเวรพราหมณ์ น่าติเตียนพราหมณ์ผู้ประหารพราหมณ์ด้วยกัน
น่าติเตียนพราหมณ์ผู้จองเวรยิ่งกว่าพราหมณ์ผู้ประหารก่อน
การกีดกันใจจากอารมณ์อันเป็นที่รักเป็นความประเสริฐไม่น้อย”

บุคคลที่สามารถกลับใจได้จากความคิดเบียดเบียนย่อมได้รับความสงบ

พระอรรถกถาจารย์ได้อธิบายข้อว่า “การกีดกันใจจากอารมณ์อันเป็นที่รักเป็นความประเสริฐไม่น้อย” ไว้ว่า
“ความเกิดขึ้นแห่งความโกรธ ชื่อเป็นอารมณ์ที่รักแห่งใจของผู้มักโกรธ”

ถือเอาความว่า อารมณ์อันเป็นที่รัก ในที่นี้ท่านหมายเอาความโกรธ การกีดกันความโกรธเกลียดได้
คือไม่ให้ความโกรธเกิดขึ้นเป็นความประเสริฐไม่น้อย


โดย อาจารย์วศิน อินทสระ

น้ำน้อยในรอยเท้าโคกับคนไข้หนัก


ทุกคนในโลกย่อมมีทั้งส่วนดีและไม่ดีปนกัน ยากที่ใครจะเลวไปหมดเสียทุกอย่าง
ในทางตรงกันข้าม เว้นพระพุทธเจ้าเสียแล้ว ก็ไม่มีใครเลยที่จะดีพร้อมไปหมดทุกอย่าง
ถ้าเราทำใจให้เป็นกลางไม่ลำเอียง แล้วพิจารณาคนที่เราโกรธให้ดี ก็จะพบเห็นความดีของเขาบ้าง
แม้เพียงเล็กน้อยก็ยังดี พระสารีบุตรสอนให้ระงับความโกรธในบุคคลเช่นนี้ โดยอุปมาว่า
เปรียบเหมือนน้ำเล็กน้อยมีอยู่ในรอยเท้าโค บุคคลผู้เดินทางร้อนอบอ้าวเหนื่อยอ่อน กระหายน้ำ
เขาพึงเกิดความคิดอย่างนี้ว่า น้ำเล็กน้อยมีอยู่ในรอยเท้าโคนี้ ถ้าเราจะกอบขึ้นดื่ม หรือใช้ภาชนะตักขึ้นดื่มไซร้
เราก็จักทำน้ำนั้นให้ไหวบ้าง ให้ขุ่นบ้าง ให้ไม่เป็นที่ควรดื่มบ้าง
ถ้ากระไร เราพึงคุกเข่าก้มลงดื่มน้ำอย่างโคดื่มน้ำแล้วหลีกไปเถิด

(ทุติยอาฆาตวินยสูตร ๒๒/๑๖๒)


อุปมาข้างบนนี้มีอธิบายว่า บุคคลผู้เดินทางร้อนอบอ้าวได้แก่ตัวเรา รอยเท้าโคคือ คนที่เราโกรธ
ความดีเล็กน้อยของบุคคลนั้นคือ น้ำนิดหน่อยในรอยเท้าโค
กิริยาอาการที่หมอบก้มลงดื่มน้ำอย่างโคหมายถึง สนใจเฉพาะความดีของเขา ไม่สนใจความไม่ดีของเขา
แล้วยังความโกรธให้ดับไป ด้วยการระลึกถึงความดีเพียงเล็กน้อยของเขานั้น

อาจมีบางคนไม่ว่าเราจะพยายามมองด้านไหน ก็ไม่พบความดีของเขาเลย
เป็นคนที่ไม่มีดีติดตัวแม้แต่นิดเดียว (สุดเลว) พระสารีบุตรได้สอนให้ระงับความโกรธในบุคคลเช่นนี้
โดยอุปมาว่า เปรียบเหมือนคนไข้หนัก มีความทุกข์ ขาดที่พึ่งพิง ต้องเดินทางไกลตามลำพัง
ขาดเสบียงอาหารและยา ขาดคนพยาบาลและคนนำทาง คนเดินทางไกลบางคนมาพบคนไข้หนักนั้นเข้า
ย่อมเกิดกรุณาสงสารว่า ขออย่าให้บุคคลที่น่าสงสารนี้ต้องมาตายอย่างอนาถาในที่เช่นนี้เลย
แล้วให้ความช่วยเหลือ นำเขาไปที่พัก ให้การรักษา ให้หยูกยาและอาหารที่สบายไม่แสลง

(ทุติยอาฆาตวินยสูตร ๒๒/๑๖๒)


เราคงไม่ใจจืดใจดำกับบุคคลที่น่าสงสารอย่างที่ท่านอุปมาไว้
จึงขอให้พยายามละความโกรธในคนที่ไม่มีดีติดตัวนี้ ด้วยกรุณาสงสารว่า ขออย่าให้เขาต้องไปสู่อบายภูมิเลย


เขามีส่วน เลวบ้าง ช่างหัวเขา จงเลือกเอา ส่วนที่ดี เขามีอยู่
เป็นประโยชน์ โลกบ้าง ยังน่าดู ส่วนที่ชั่ว อย่าไปรู้ ของเขาเลย
จะหาคน มีดี โดยส่วนเดียว อย่ามัวเที่ยว ค้นหา สหายเอ๋ย
เหมือนเที่ยวหา หนวดเต่า ตายเปล่าเลย ฝึกให้เคย มองแต่ดี มีคุณจริง
(พุทธทาสภิกขุ)

ขุมทรัพย์ใกล้ตัว


มีของใกล้ตัวอย่างหนึ่งที่เรามักใช้อย่างไม่คุ้มค่า และทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์
ทราบหรือไม่ว่าของที่ว่านั้นคืออะไร?

ถ้าตอบว่า น้ำ ไฟ กระดาษ ก็ขอบอกว่า "ผิด"

คำตอบคือ ลมหายใจ
พูดอย่างนี้ บางคนอาจสงสัยว่า ทุกวันนี้มีชีวิตอยู่ได้ก็เพราะอาศัยลมหายใจ เท่านี้ยังไม่พออีกหรือ?
จริงอยู่ ลมหายใจช่วยให้เราเป็นผู้เป็นคนอยู่ได้ แต่นี้ก็เป็นคุณอนันต์แล้ว แต่ลมหายใจยังมีคุณค่านอกเหนือจากนั้น
คุณค่าอย่างหนึ่งที่เรามักมองข้ามก็คือ ลมหายใจนั้นเป็นเพื่อนเตือนใจเราได้

เวลาเราโกรธใครสักคน ก่อนที่จะหลุดปากด่าว่าเขา
ลองหายใจเข้าลึก ๆ แล้วผ่อนออกมาช้า ๆ สัก ๕ เที่ยว ๑๐ เที่ยว
ความอัดอั้นเก็บกดอยากระบายโทสะหรือแผดเสียงใส่เขา จะลดลงไปมาก
สติที่เกือบจะหลุดหายไปจะกลับคืนมาอย่างรวดเร็ว ถึงตอนนั้น เราจึงจะนึกขึ้นมาได้ว่าหากเราหลุดปากไป
เราเองนั้นแหละจะเป็นฝ่ายเสียหายหลายแสน ไม่ใช่เขาคนนั้น

ยาสลายนิ่ว ยาละลายไขมันก็มีแล้ว ไม่สนใจ ยาสลายความโกรธบ้างหรือ
ลมหายใจนี่แหละเป็นยาสลายความโกรธชั้นดี
แถมยังมีสรรพคุณอเนกประสงค์ ใช้สลายความกลัวก็ได้ สลายความเครียดก็ยิ่งดีเข้าไปใหญ่

กายกับใจนั้นสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด เวลาเกิดโทสะขึ้นมาในใจหัวใจจะเต้นเร็ว ลมหายใจถี่กระชั้น
นี่เรียกว่าใจมีผลต่อกาย แต่ขณะเดียวกันกายก็มีผลต่อใจด้วย
ไม่เชื่อลองหายใจเร็ว ๆ สั้น ๆ สักพัก จะรู้สึกเครียด คนที่หายใจตื้นและถี่จะเป็นคนหงุดหงิดง่าย
ในทางตรงกันข้าม ถ้าหายใจเข้าลึก ๆ และหายใจออกยาว ๆ ใจจะเบาคลาย

ลองสังเกตดูเถิด เวลาเราโกรธ กลัว ประหม่า ลมหายใจจะถี่และตื้น
แต่ถ้าเรารู้ตัวหรือจับความรู้สึกของตัวเองทันท่วงที
รีบเอาลมหายใจมาใช้ให้เป็นประโยชน์ด้วยการกำหนดลมหายใจเข้าออกลึก ๆ
ความรู้สึกโปร่งโล่งจะเข้ามาแทนที่ความเร่าร้อนวุ่นวายใจ

คนที่เครียดบ่อย ๆ ลองหายใจแบบนี้ดูบ้าง จะรู้สึกสบายขึ้นมาก

ถ้าใช้ลมหายใจให้เป็น นอกจากลมหายใจจะเป็นเพื่อนเตือนสติ และเป็นยาคลายความเครียดชั้นดีแล้ว
เรายังจะพบต่อไปด้วยว่า ในลมหายใจนั้นมีทรัพย์ล้ำค่าที่ใช้เท่าไรก็ไม่มีวันหมด ทรัพย์ที่ว่าก็คือ ความสุขสงบ

คนเรามักแสวงหาความสุขนอกตัว เสียเงินเสียทองไปมากมายกับสิ่งเสพนานาชนิด
แต่แท้ที่จริงความสงบนั้นมีอยู่แล้วในลมหายใจของเรา

การหายใจเข้าออกช้า ๆ อย่างที่ว่ามา เป็นบันไดเบื้องต้นสู่ความสงบ

ถ้าอยากให้เกิดผลดียิ่งขึ้นก็ให้น้อมใจไปจดจ่ออยู่ที่ลมหายใจด้วย
ยิ่งจิตใจแนบชิดสนิทกับลมหายใจมากเท่าไร ก็ยิ่งดีมากเท่านั้น
หรือจะนับด้วยก็ได้ เช่น หายใจเข้านับ ๑ หายใจออกนับ ๑ จากนั้นหายใจเข้านับ ๒
หายใจออกนับ ๒ เรียงไปจนถึง ๕ หรือต่อไปถึง ๑๐ ก็ได้

ที่แล้วมาเราหายใจออกแบบทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ กันจนเป็นนิสัย ส่วนลมหายใจเข้าเราก็นึกว่ามีแต่ออกซิเจนเท่านั้น
แท้จริงลมหายใจเข้าและออกมี "ของดี" มากมายกว่านั้น

ในลมหายใจมีทั้งสติ มีทั้งความผ่อนคลายและความสุขสงบ
มีอะไรต่ออะไรมากมายที่ลมหายใจสามารถให้เราได้

ข้อสำคัญคือ เราต้องใส่ใจกับลมหายใจของเรา ให้มากกว่านี้
แทนที่จะละเลยจนลืมตัวบ่อย ๆ ว่าเรากำลังหายใจอยู่

มาร้ายไปดี


ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เย็นวันหนึ่ง คนเดินทางหมู่หนึ่ง
มาหยุดพักแถวเขตหน้าบ้านของครอบครัวมีอันจะกินครอบครัวหนึ่ง หัวหน้าครอบครัวมีจิตใจโอบอ้อมอารี
เห็นคนหมู่นั้นจะพักแรมในที่แจ้งเช่นนั้นกลัวว่าจะไม่ปลอดภัย เพราะสมัยนั้นมีสัตว์ร้ายชุกชุม
จึงเรียกให้เข้ามาพักบนบ้าน และสั่งคนในบ้านจัดอาหารมาเลี้ยงดูให้อิ่มหนำสำราญ
แล้วพูดสนทนาแสดงถึงไมตรีจิตอันดีของเจ้าบ้าน ซ้ำยังเชิญให้รับประทานอาหารเช้าก่อนออกเดินทางด้วย

พอรุ่งเช้า หมู่แขกก็ออกเดินทางไปแต่เช้าตรู่ยังไม่ทันสว่างดี พ่อบ้านสงสัยจึงไปดูในห้องที่ชายหมู่นั้นพัก
เห็นตัวหนังสือเขียนด้วยดินสอพองที่ข้างฝาว่า
ข้าขอลาท่านผู้ใจดีไปก่อน ข้าจะขอจดจำความดีของท่านตลอดไป

เจ้าของบ้านเห็นแล้วงง จึงซักถามคนในบ้าน ชายในบ้านคนหนึ่งนอนติดกับห้องของแขกแปลกหน้า
เล่าให้ฟังว่า ตอนดึกนอนไม่หลับได้ยินเสียงข้างห้อง เขาปรึกษากันถนัด
เสียงลูกน้องถามว่า เมื่อไหร่จะปล้น
ลูกพี่ตอบว่า เปลี่ยนใจแล้ว ทำไม่ลงเพราะเจ้าของบ้านต้อนรับเลี้ยงดูอย่างดี
แม้จะเคยปล้นมามาก ก็ล้วนแต่ปล้นคนชั่ว ถึงบาปก็ไม่หนักหนา
ถ้าปล้นคนดีบาปหนัก แถมยังถูกชาวบ้านสาปแช่งให้ฉิบหายตายโหง ต่อไปจะเลือกปล้นแต่คนที่ชั่วช้า
จากนั้นลูกพี่ก็เขียนหนังสือลาไว้ที่ข้างฝา แล้วพาพวกไปแต่เช้า

ประเด็นที่ควรกล่าวถึง มีดังนี้

๑. เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นข้อพิสูจน์ความจริงของพุทธภาษิตที่ว่า ผู้ให้ย่อมผูกไมตรีไว้ได้

๒. การให้อาหารและที่พักแก่บุคคลที่หิวโหยและเหน็ดเหนื่อย เป็นทานที่มีอานิสงส์มาก
เพียงได้เห็นบุคคลนั้นกำลังกินอาหารที่ให้อย่างเอร็ดอร่อย ผู้ให้ก็ปลื้มใจ (เป็นสวรรค์ในอก)
จัดเป็นบุญที่ให้ผลทันตาเห็นในชาตินี้ เดี๋ยวนี้ ไม่ต้องรอชาติหน้า

๓. แม้ไม่ได้ปล้น แต่พวกนั้นก็ได้ทำบาปแล้ว
เพราะการคิดปล้นเป็นบาป จัดเป็นมโนทุจริตคือ โลภอยากได้ของคนอื่นในทางมิชอบ

(กฎแห่งกรรม ของ ท. เลียงพิบูลย์ เล่ม ๓)

มองทุกข์ให้เห็น จึงเป็นสุข


ทุกข์เท่านั้นเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป

เรื่องของความสุขนั้นเป็นสิ่งที่เราต้องการกันทั้งนั้น ไม่มีใครเลยต้องการความทุกข์ความเดือดเนื้อร้อนใจ
แต่ว่าโดยธรรมะชั้นสูงของพระพุทธศาสนานี่

พระพุทธเจ้าท่านสอนให้เรารู้ว่าในโลกนี้ไม่มีความสุข มันมีแต่ความทุกทั้งนั้น ทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้น
ทุกข์เท่านั้นที่ตั้งอยู่ ทุกเท่านั้นที่ดับไป นอกจากทุกข์หามีอะไรไม่

พระพุทธศาสนาสอนเรื่องความทุกข์ สอนเหตุให้เกิดทุกข์ สอนเรื่องทุกข์เป็นเรื่องที่ดับได้
แล้วก็สอนวิธีว่า จะดับทุกข์ได้อย่างไร อันนี้เป็นสัจจะ เป็นความจริงที่มีอยู่ในโลก

ความสุขนั้นหามีไม่ มีแต่ความทุกข์ แต่เราก็เรียกว่ามีความสุข
ที่เรียกว่ามีความสุขก็เพราะว่า ทุกข์มันลดน้อยลงไป สมมติว่าเป็นตัวเลขว่า ทุกข์มัน ๑๐๐ ถ้าลดลงไปอีก ๕
เราก็เรียกว่าเป็นความสุขแล้ว เป็นความสุขเพียง ๕ เท่านั้นเอง แต่ว่าอีก ๙๕ นั้นยังเป็นความทุกข์อยู่
หรือถ้าลดลงไปอีกสัก ๑๐ เราก็มีทุกข์อยู่อีกตั้ง ๙๐
ลดลงไปอีก ๙๕ ก็ยังมีทุกข์อยู่อีกตั้ง ๕ มันก็ยังมีทุกข์อยู่นั่นเองมันเป็นอย่างนี้ โลกนี้มีแต่ความทุกข์
ถ้าทุกข์ลดลงไปหน่อย ก็เรียกว่า เป็นความสุขเท่านั้นเอง แต่ว่าท่านก็ไม่เรียกว่าเป็นความสุขอีกแหละ

ท่านเรียกว่านั่นคือ ที่สุดของความทุกข์
ใช้คำบาลีว่า "อันโต ทุกขัสสะ" แปลว่า นั่นเป็นที่สุดของความทุกข์
คือว่าทุกข์มันจบเพียงเท่านั้น หมดทุกข์ก็ถึงนิพพาน นิพพานก็คือการดับทุกข์ได้

ตราบใดที่ยังมีชีวิตถ้าจิตยังไม่ถึงปัญญา เราก็ยังจะต้องมีความทุกข์ที่จะต้องทนต่อไป ทนเรื่อยไป
จนกว่าเราจะมีปัญญารู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งนั้นตามสภาพที่เป็นจริง แล้วเราก็ไม่ต้องทนทุกข์อีกต่อไป
จิตของเราไปถึงจุดหมาย คือที่สุดของความทุกข์......

ตาต่อตา กรรมลิขิต


พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน สมัยนั้นมีเศรษฐีสองพี่น้อง คนพี่ชื่อมหาปาละ คนน้องชื่อ จุลปาละ
วันหนึ่งมหาปาละ นั่งฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า แล้วคิดว่า บุตรธิดาหรือโภคทรัพย์ติดตามผู้ไปสู่ปรโลกไม่ได้
แม้สรีระก็ไปกับตัวไม่ได้ ประโยชน์อะไรด้วยการครองเรือน
พอเทศนาจบ ก็เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าทูลขอบวช พระองค์ตรัสให้ไปลาญาติพี่น้องก่อน

เขากลับไปเรือนมอบทรัพย์ของตระกูลให้น้องชายดูแล แล้วบอกน้องชายว่าจะบวช น้องบอกให้รอบวชเมื่อแก่
เขาตอบว่า มือเท้าคนแก่ไม่มีแรง ไม่อยู่ในอำนาจ จะประพฤติธรรมได้อย่างไร แล้วก็ไปบวช

เมื่อมีพรรษาครบห้าก็ไปทูลขอพระกรรมฐานจากพระพุทธเจ้า แล้วถวายบังคมลาพร้อมด้วยภิกษุอีก ๖๐ รูป
เดินทางไปถึงตำบลแห่งหนึ่ง เข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน พวกชาวบ้านเลื่อมใสจึงนิมนต์ให้อยู่จำพรรษาในวัด
หมอคนหนึ่งได้ปวารณาว่า ถ้าเจ็บป่วยให้บอก จะทำยาถวาย

ในวันเข้าพรรษา พระมหาปาละคิดว่า ผู้ที่เรียนกรรมฐานจากสำนักของพระพุทธเจ้าไม่ควรประมาท
จึงอธิษฐานไม่นอนตลอดพรรษา เมื่อเวลาผ่านไปหนึ่งเดือน เกิดโรคตามีน้ำตาไหล พวกภิกษุเห็นเข้าจึงบอกหมอ
หมอได้ทำยาหยอดถวาย พระเถระก็นั่งหยอดยา เมื่อไปบิณฑบาตในบ้าน หมอถามอาการ ก็ตอบว่า ยังไม่หาย
หมอคิดว่า โรคควรหายด้วยการหยอดยาเพียงครั้งเดียว เกิดสงสัย จึงถามว่า ท่านนั่งหยอดหรือนอนหยอด
พระเถระก็นิ่งเฉย หมอจึงไปตรวจดูที่วัด เห็นแต่ที่จงกรมและที่นั่ง จึงมาเรียนถามอีก พระเถระก็นิ่งเสีย
หมออ้อนวอนว่า ท่านโปรดอย่าทำอย่างนั้น เมื่อร่างกายดีอยู่ก็อาจทำสมณธรรมได้ ขอท่านนอนหยอดเถิด
พระเถระตอบว่า ขอปรึกษาดูก่อน

ในที่นั้นไม่มีญาติอยู่เลย พระเถระจึงปรึกษากับตัวเองว่า ท่านจะเห็นแก่จักษุหรือเห็นแก่พระพุทธศาสนา
ท่านได้ผูกใจว่า จะไม่นอนตลอด ๓ เดือนนี้ ดังนั้นแม้จักษุของท่านฉิบหายหรือแตกเสียก็ตาม
ท่านจงทรงพระพุทธศาสนาไว้ อย่าเห็นแก่จักษุเลย จักษุที่ท่านถือว่าของตัวจงแตกไปเถิด หูก็แตกไปเถิด
แม้ร่างกายนี้ก็แตกไปเสียเถิด ปาลิตะ เหตุไฉน ท่านจึงประมาทอยู่

เมื่อพระเถระสอนตัวเองแล้ว ก็นั่งหยอดยาตามเดิม เมื่อไปบิณฑบาต หมอถามว่านั่งหรือนอนหยอด
ท่านก็นิ่งเหมือนเดิม หมอกลัวเสียชื่อจึงบอกเลิกรักษา พระเถระถูกหมอบอกเลิก ก็กลับไปวัด
เตือนตนไม่ให้ประมาท แล้วบำเพ็ญสมณธรรมต่อไป คืนนั้นเอง ทั้งดวงตาทั้งกิเลสของท่านแตกพร้อมกัน
ท่านเป็นพระอรหันต์สุกขวิปัสสก (ไม่มีฤทธิ์)

พระศาสดาตรัสเล่าบุพกรรมของพระเถระนี้ว่า ในอดีต ณ กรุงพาราณสี หมอผู้หนึ่งเที่ยวรักษาผู้คน
เห็นหญิงมีตาผิดปกติ ถามว่าเป็นอะไร หญิงนั้นตอบว่า ตามองไม่เห็น หมอก็ถามถึงค่ารักษา
หญิงนั้นว่า ถ้ารักษาหายนางและบุตรธิดาจะยอมเป็นทาส หมอจึงทำยาให้ ดวงตากลับเป็นปกติด้วยยาขนานเดียว
หญิงนั้นแกล้งทำเป็นยังไม่หายซ้ำยังปวดมากขึ้น หมอไม่พอใจแกล้งทำยาให้อีกขนาน
เมื่อหยอดแล้วหญิงนั้นก็ตาบอดทั้งสองข้าง หมอนั้นได้มาเกิดเป็นพระมหาปาละ

(อรรถกถาธรรมบท ภาค ๑ เรื่องจักขุปาลเถระ)


ต่อไปเป็นประสบการณ์ของพระมหากิมหลี อิสฺสรญาโณ ชาวอยุธยา เคยจำพรรษาที่วัดโสมนัส
ภายหลังย้ายไปจำพรรษาอยู่วัดอื่น ท่านต้องรับผลของบาปกรรมที่ทำไว้เมื่อครั้งเป็นวัยรุ่น เรื่องมีอยู่ว่า
สมัยที่ท่านยังไม่บวช และอยู่ในวัยรุ่น บ้านของท่านอยู่ติดกับคลอง มีกระไดท่าน้ำ
วันหนึ่งท่านกลับจากเที่ยวก็ไปล้างเท้าที่ท่าน้ำ เป็นเวลาที่มีปลาแขยงชุกชุม
เมื่อมีคนลงมาล้างเท้าพวกปลาก็พากันมาตอด ท่านโกรธมากตามประสาคนหนุ่มเลือดร้อน
คิดจะแก้เผ็ดที่เจ้าพวกปลาแขยงมาตอดเท้า จึงรีบขึ้นเรือนคว้าได้สวิงก็รีบลงไปตีนท่ากระทุ่มน้ำ ทำเป็นล้างเท้า
ฝูงปลาแขยงก็ว่ายเข้ามาตอดเท้า ท่านก็เอาสวิงช้อนปลาขึ้นมาได้ ๖-๗ ตัว
คิดว่าจะทุบตีให้มันตายก็ง่ายเกินไป ไม่สมแค้น จึงรีบวิ่งขึ้นเรือนหาได้เข็มรีบจัดแจงลงมาที่ท่าน้ำ
เอาเข็มแทงลูกนัยน์ตาทั้งสองข้างทุกตัว แล้วปล่อยลงน้ำไป

ต่อมา ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ศึกษาเล่าเรียนจนได้เป็นมหาเปรียญ ๓ ประโยค
ท่านก็เริ่มเจ็บตาข้างหนึ่ง แม้จะรักษาอย่างไรก็ไม่หาย เจ็บปวดแสนสาหัสแทบจะทนไม่ไหว
เมื่อให้แพทย์แผนปัจจุบันตรวจ ก็บอกว่าต้องผ่าจึงจะมีโอกาสหาย เมื่อผ่าแล้วก็ไม่หาย ตาจึงบอดลง
ท่านนึกรู้ได้ทันทีว่า บาปกรรมที่ทำกับปลาแขยงในสมัยวัยรุ่นนั้น บัดนี้ได้ติดตามมาทันแล้ว
ต่อมาไม่นานตาอีกข้างหนึ่งก็เกิดปวดขึ้นมาอย่างมาก เมื่อท่านไปหาแพทย์ๆ ก็บอกว่าต้องผ่าอีก ท่านก็ยอมเสี่ยง
ในที่สุดตาของท่านก็บอดสนิททั้งสองข้าง ท่านจึงนึกว่า โรคกรรมเวรนี้ หมอเก่งเพียงไรก็รักษาไม่หาย

(กฎแห่งกรรม ของ ท. เลียงพิบูลย์ เล่ม ๔)


ประเด็นที่ควรกล่าวถึงมีดังนี้

๑. บุคคลทั้งสองได้ทำบาปกรรมไว้คล้ายกันคือ เบียดเบียนคนอื่นสัตว์อื่น
และได้รับผลคล้ายกันคืออาพาธจนตาบอดทั้งสองข้าง ต้องดำรงชีวิตอยู่ด้วยความลำบาก

๒. พระมหากิมหลีอาจจะตาบอดเพราะแทงตาปลาแขยง หรือเพราะเคยทำให้คนอื่นตาบอดในชาติก่อนๆ
ถ้าท่านตาบอดเพราะกรรมเก่าตามมาให้ผล กรรมที่แทงตาปลาแขยงก็จะรอให้ผลในชาติต่อๆ ไป

๓. บางคนอาจคิดว่า พระมหาปาละตาบอดเพราะไม่นอนและไม่หยอดยา
พระมหาปาละถือธุดงค์ว่าด้วยการนั่งเป็นวัตร งดอิริยาบถนอน (นั่งหลับได้)
ถ้าการถือธุดงค์ทำให้เจ็บป่วย พระพุทธเจ้าคงไม่ทรงอนุญาตแน่ ในพระไตรปิฎก (๑๔/๓๘๕) กล่าวว่า
ตลอด ๘๐ พรรษา พระพักกุละถือการนั่งเป็นวัตรอย่างอุกฤษฏ์ ท่านมีอายุยืนมาก ไม่เคยเจ็บป่วย ไม่เคยฉันยา
ท่านมหากิมหลีไม่ได้ถือธุดงค์ แต่ตาก็เจ็บได้ แม้ทำตามคำสั่งหมอทุกอย่างก็ช่วยอะไรไม่ได้
สรุปว่าท่านทั้งสองตาบอดเพราะบาปกรรมที่ทำไว้

สายเกินไป


เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน ในกรุงสาวัตถี พระเจ้าโกศลมีพระโอรส ๒ พระองค์
กำลังมัวเมาในยศศักดิ์และความเป็นหนุ่ม ได้กระทำบาปกรรมคือคบหากับภรรยาของคนอื่น ทำกาละ (ตาย)
แล้วบังเกิดเป็นเปรตที่หลังคู ในเวลากลางคืน เปรตทั้งสองนั้นพากันรำพันด้วยเสียงอันน่าสะพรึงกลัว
ชาวบ้านได้ฟังเสียงนั้นพากันสะดุ้งกลัว คิดว่าการถวายมหาทานจะทำให้อวมงคลสงบ
จึงนิมนต์สงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน แล้วกราบทูลเรื่องนั้น

พระพุทธเจ้าตรัสว่า เพราะได้ยินเสียงนั้น อันตรายอะไรๆ ย่อมไม่มีแก่พวกท่าน
นั้นเป็นเสียงที่เปรตราชกุมารทั้งสอง ร้องประกาศกรรมชั่วที่กระทำไว้ในกาลก่อน ข้อความนั้นมีว่า

เมื่อบุคคลผู้สมควรรับของทำบุญมีอยู่เป็นอันมาก และไทยธรรมอันเขาจัดเตรียมไว้ให้ก็มีอยู่ในที่ใกล้
พวกเราไม่อาจทำบุญอันนำมาซึ่งความสุขต่อไป แม้เพียงเล็กน้อย แล้วทำตนให้ปลอดภัยได้
อะไรจะพึงลามกกว่ากาม อันเป็นเหตุให้พวกเราทำบาปกรรม
เมื่อจุติ (ตาย) จากราชสกุลจึงไปบังเกิดในเปรตวิสัย พรั่งพร้อมไปด้วยความหิวและความกระหาย
เมื่อก่อนเคยเป็นเจ้าของในที่ใด บัดนี้ย่อมไม่ได้เป็นเจ้าของในที่นั้นอีก
มนุษย์ทั้งหลายเจริญขึ้นแล้วกลับเสื่อมลง ย่อมตายเพราะความหิวและความกระหาย
บุคคลรู้โทษอันเกิดจากความถือตัว (ว่าเป็นใหญ่) อย่างนี้แล้ว
ละความมัวเมาในความเป็นใหญ่ได้แล้ว พึงไปสู่สวรรค์

(อรรถกถากุมารเปตวัตถุ)


สมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่ในพระเชตวัน พระเจ้าปเสนทิโกศลเกิดพอพระทัยในภรรยาของบุรุษผู้หนึ่ง
ทรงวางอุบายหมายจะฆ่าบุรุษนั้น โดยรับสั่งให้ไปเอาดินสีอรุณมาก่อนเวลาเย็น ถ้าไม่ทันจะลงอาญา
บุรุษนั้นนำดินสีอรุณกลับมาทัน แต่เข้าเมืองไม่ได้เพราะพระราชารับสั่งให้ปิดประตูเมืองแต่วัน
จึงหนีราชภัยไปนอนที่วิหาร คืนนั้นพระราชาไม่หลับตลอดคืน ทรงเร่าร้อนในกามเพราะหญิงนั้นเป็นเหตุ
ทรงดำริว่า พรุ่งนี้เราจักให้ฆ่าบุรุษนั้นเสีย แล้วนำหญิงนั้นมา

ตอนกลางดึกทรงได้ยินเสียงดังน่ากลัวว่า "ทุ สะ นะ โส" รุ่งเช้าทรงเล่าให้ปุโรหิตฟัง
ทั้งที่ไม่รู้ปุโรหิตทูลว่า ภัยจักมีแก่พระองค์ แล้วแนะนำให้พระราชาบูชายัญด้วย ช้าง ม้า และมนุษย์

พระนางมัลลิการู้ข่าวจึงทูลทัดทานว่า การได้ชีวิตตนเพราะการตายของคนอื่น พระองค์เคยเห็น ณ ที่ไหน
จากนั้นชวนพระราชาไปพระเชตวัน แล้วทูลถามพระพุทธเจ้าเรื่องเสียงที่ได้ยิน
พระพุทธเจ้าตรัสว่า อันตรายไม่มีแก่พระองค์ เสียงนั้นเป็นเสียงสัตว์นรก ๔ ตน อดีตเป็นเศรษฐีบุตรมีทรัพย์มาก
ต้องทุกข์ทรมานหมกไหม้ในอเวจีนรก ตลอดหนึ่งพุทธันดร ขณะนี้บังเกิดในโลหกุมภีนรก
ด้วยผลกรรมที่ประพฤติผิดในทางกามกับลูกเมียคนอื่น พวกเขาต้องการกล่าว (ตนละคาถา) ว่า

เมื่อโภคะทั้งหลายมีอยู่ พวกเราไม่ได้ถวายทาน ไม่ได้ทำที่พึ่งแก่ตน จัดว่ามีชีวิตอยู่อย่างชั่วช้า
เมื่อพวกเราพากันหมกไหม้ในนรก หกหมื่นปีเต็มบริบูรณ์ โดยประการทั้งปวง เมื่อไรที่สุดจักมี
ที่สุดไม่มี ที่สุดจักมีแต่ที่ไหน ที่สุดย่อมไม่ปรากฏ เพราะเรากับท่านได้กระทำบาปกรรมไว้มาก
เราพ้นไปจากที่นี่แล้ว ได้กำเนิดเป็นมนุษย์ จักเป็นผู้รู้ความประสงค์ของผู้ขอสมบูรณ์ด้วยศีล จักทำกุศลให้มาก

พระราชาฟังแล้วสลดพระทัย ทรงดำริว่า การละเมิดภริยาผู้อื่นเป็นกรรมหนัก
เพียงแค่คิดยังไม่อาจหลับตลอดคืนยันรุ่ง ชนทั้งสี่ต้องทุกข์ทรมานนานปานนี้ยังไม่พ้นบาปกรรม
นับแต่นี้ไปเราจะไม่ผูกความพอใจในภริยาชายอื่น

(อรรถกถาธรรมบท ภาค ๓ เรื่องบุรุษคนใดคนหนึ่ง)


ประเด็นที่ควรกล่าวถึงมีดังนี้
๑. อำนาจยศศักดิ์และทรัพย์เปรียบเหมือนดาบสองคมให้ทั้งคุณและโทษ
ราชกุมารทั้งสองมัวเมาในยศศักดิ์ถือตัวว่าเป็นใหญ่ ใช้อำนาจแสวงหากามสุขในทางผิดศีลธรรม
โดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของผู้อื่น เมื่อถึงชีพตักษัยก็บังเกิดเป็นเปรต เสวยผลแห่งบาปกรรมที่ทำไว้
เศรษฐีบุตรทั้งสี่ก็ใช้อำนาจทรัพย์เป็นเครื่องมือทำบาปกรรม ตายไปเกิดในนรกจัดเป็นอุปปัชชเวทนียกรรม
ส่วนพระราชาทรงโชคดีที่มีพระอัครมเหสีเป็นกัลยาณมิตรคอยตักเตือน
ประกอบกับได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าจึงทรงสำนึกผิดกลับตัวทัน

๒. สิ่งที่ราชกุมารทั้งสอง และเศรษฐีบุตรทั้งสี่เสียดายหรือเสียใจมากที่สุดคือ การที่ไม่ได้ทำบุญเลย
ทั้งที่ของทำบุญและบุคคลที่ควรแก่ของทำบุญก็มีอยู่พร้อม มาสำนึกได้ก็สายเกินไปแล้ว
แต่ก็เป็นนิมิตที่ดีแห่งภพชาติต่อไป

๓. การมีชีวิตอยู่โดยไม่ได้ทำความดีเลย จัดเป็นการมีชีวิตอยู่อย่างปล่าวประโยชน์
ดังนั้นเมื่อมีโอกาสทำความดีก็อย่าได้ละเลย จะได้ไม่ต้องมาเสียใจภายหลัง

อานุภาพแห่งบุญกุศล


บุญกุศล ย่อมอำนวยผลให้ตราบเท่าถึงชรา พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้
คือ มีศรัทธา เชื่อบุญ-บาป ตั้งใจบำเพ็ญบุญกุศล ก็จะทำให้ร่างกายปกติ แข็งแรง จิตใจตั้งมั่นไม่ทุกข์ร้อน
คนมีบุญใจไม่ร้อน ใจไม่ทุกข์
ลองสังเกตตัวเองว่าตั้งแต่ ตั้งใจทำดี ความโกรธ ความใจร้อน ความโมโหโทโสเบาลงหรือเปล่า
อันนี้ต้องพิจารณาเอง คนอื่นรู้ให้ไม่ได้ ตัวรู้ของตัว

บุญ บาป ทุกข์ มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยใจ ให้พากันรักษาจิตใจ ฝึกสติรักษาใจ ให้มากกว่าทรัพย์ภายนอก
ไม่เช่นนั้นกิเลสตัณหา ก็จะมาพาไป ดึงไปให้สุขอยู่กับความสุขในโลก อันไม่ยั่งยืน

ตัณหา คือ เหตุให้ทุกข์เกิด
สมุทัย คือ เหตุให้ทุกข์เกิด
นิโรธ คือ ความดับทุกข์ (เมื่อดับตัณหาได้ ทุกข์ในใจก็หมดลง)
ศีล-สมาธิ-ปัญญา คือ ทางปฏิบัติเพื่อความดับไปของทุกข์ทั้งปวง

การกิน การนอน การร่าเริงมหรสพต่างๆ เป็นเพียงสุขชั่วคราว ไม่ยั่งยืน ย่อมแตกดับไปเป็นธรรมดา
เพราะฉะนั้นทุกคนที่ปฏิบัติธรรม อย่าไปหลงไหลในความสุขชั่วคราวนั้น แต่ความสุขชั่วคราวนี้ ไม่มีก็ไม่ได้
เพียงแต่ว่าเมื่อมีมาแล้ว ก็ให้รู้เท่า ถ้าไม่รู้เท่า ก็จะเป็นทุกข์ พอมันหายไปทุกข์ใหญ่ก็จะเกิดขึ้น

สร้างเนื้อสร้างตัวให้เป็นฝั่งฝา อยู่เย็นเป็นสุข และอาศัยความสุข ชั่วคราวนี้เอง
ถ้ายังกินอาหารอร่อยอยู่ ยังไม่เบื่ออาหาร ความสุขใน การนอนหลับก็สุขชนิดหนึ่ง
ยังเป็นเครื่องบำรุงร่างกายกำลังให้แข็งแรง
ใครนอนไม่หลับ ๓ คืนก็แย่เลย โรยแรง ทำการงานก็อ่อนแอ ไม่เข้มแข็ง
ดังนั้น จึงต้องอาศัยความสุขชั่วคราวเหล่านี้
พยายามนอนให้หลับ ถ้ายังไม่หลับก็ไปหาหมอให้ตรวจเสีย เพื่อหมอจะได้แก้ไขให้นอนหลับได้

กายนี้เป็นอยู่แสนยากลำบาก
การมีชีวิตอยู่จนวันนี้นับเป็นวาสนา นาบุญที่ทำมาแต่หนหลัง ให้อยู่เย็นเป็นสุข ปราศจากโรคภัย ไม่เจ็บร้ายแรง

ผู้มีกุศลในใจ คือ มีบุญในใจ หนักแน่น ใครด่าว่าติเตียน ก็ไม่เสียใจ ไม่โกรธ ไม่เกลียด
เพราะว่าใจมีบุญเป็นเครื่องอยู่ ตรงกันข้ามกับใจที่มีกิเลสเป็นเครื่องอยู่

กิเลสอยู่ในใจใคร ก็มีแต่ปั่นจิตใจให้เดือดร้อนวุ่นวาย
ควรกำหนดละกิเลสให้เสมอ บรรเทาโกรธ พยายามเจริญเมตตาให้มาก ให้สัตว์ทั้งหลายมองเห็นเราเป็นเพื่อน
สัตว์ทั้งหลายเห็นเรา เป็นมิตรก็เลื่อมใสยินดี อยากผูกมิตร (นี่เป็นอานิสงส์แห่งการเจริญเมตตา)
ย่อมเป็นที่รักของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย แม้เทวดาแสนสูงในชั้นฟ้า ก็จะมีจิตเมตตาต่อผู้มีใจดีมีคุณธรรม
และให้การอารักขาไม่ให้มีอันตรายใด เพราะว่าเทวดาพร้อมด้วยเมตตาธรรมและคุณธรรม
จะเห็นว่า เทวดาไม่มีการทะเลาะเบาะแว้ง ต่างคนต่างเสวยผลบุญของตน
สวรรค์ไม่มีการค้าขาย ไม่สะสมเงินทองเพราะว่าสวรรค์ เป็นที่อยู่ของผู้มีบุญ

เพราะฉะนั้น ให้พากันอารักขาจิตใจทุกอิริยาบถ ยืนเดินนั่งนอน ให้ใจตั้งมั่นอยู่ในพุทธคุณ
ก่อนนอนให้ไหว้พระก่อน นั่งสมาธิ เอาสติเข้าไปตั้งอยู่ในใจ รวบรวมจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในบุญคุณ
มีสัมปชัญญะ คือ รู้ตัวเสมอ ว่าขณะนี้เรากำลังทำอะไรอยู่ ต้องกำหนดดูรู้ตัวเสมอ
เวลาเกิดอะไรก็ไม่ตกใจ ไม่หวั่นไหว เพราะว่ามีสติสัมปชัญญะตามรักษาจิตใจอยู่
แต่ถ้าปล่อยกิเลส ตัณหา ครอบงำจิตใจ เกิดอะไรขึ้นก็จะสะดุ้งกลัว

สัตว์ดุร้ายมีพิษไม่จำเป็นต้องไปฆ่าแกงเค้า
ที่แท้ไม่คิดว่าเราเองมีพิษยิ่งกว่าพิษงู เช่น โกรธใครก็ใช้วาจาทิ่มแทงเค้า ให้เจ็บอกเจ็บใจยิ่งกว่าโดนพิษงูกัด
เพราะว่าเจ็บที่ใจไม่ใช่ เจ็บที่กาย
โบราณจึงบอกว่า "เจ็บอื่นหมื่นแสน… เจ็บจนตายเพราะพูดเหน็บให้เจ็บใจ
อันอ้อยตาลหวานลิ้นแล้วสิ้นซาก แต่ลมปากหวานหูไม่รู้หาย เจ็บจนตายเพราะพูดเหน็บให้เจ็บใจ"

เคยไหม ว่าใครให้เจ็บใจ ผู้ปฏิบัตินั้นใครทำเราเราให้อภัยไป ไม่ผูกเวรผูกกรรม ขอให้ต่างอยู่เย็นเป็นสุข
รักษาตนให้พ้นจาก ทุกข์ภัยทั้งปวงเถิด ทำอย่างนี้ รักษาบุญไว้ในใจ บุญก็รักษาใจเราให้ไม่ดุร้าย
จิตใจก็สม่ำเสมอ เบิกบานด้วยบุญกุศล ไม่อ่อนแอท้อแท้ จากหนุ่มตราบเฒ่าชรา

บุญ ย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม บุญ กุศล ตราบเฒ่าชรา

สมาธิ 3 แบบ


การคิด เพ่ง และปล่อยเพื่อให้เกิดสมาธิ

การคิด
การคิดที่จะให้เกิดสมาธิ เราต้องคิดในเรื่องเกี่ยวกับธรรมะ เช่น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
คือ คิดอยู่ว่า อนิจจังซึ่งแปลว่า ไม่เที่ยง มันเป็นอย่างไร ในขณะที่คิดต้องมีสติสัมปชัญญะ มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมอยู่
อย่าให้จิตไปคิดเรื่องอื่น เมื่อจิตใจจดจ่ออยู่แต่เรื่องอนิจจังที่เราคิด จิตก็จะเป็นสมาธิขึ้นมาเอง
คือ เมื่อสมาธิเกิดแล้วก็จะสิ้นสงสัยในเรื่องที่คิดนั้นได้


การทำสมาธิแบบเพ่งหรือพิจารณา
คือ น้อมจิตมาเพ่งดู กาย เวทนา จิต อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้หรือจะเพ่งดูลมหายใจ เข้าออกก็ได้
เพราะลมหายใจเข้าออกก็จัดเป็นกายสังขาร เพราะปรนเปรอร่างกายให้เป็นอยู่
การเพ่งดูลมหายใจ เพื่อให้เกิดสมาธิ ให้ตั้งสติไว้ที่ลมกระทบในรูจมูกของเรา
เพ่งดูอยู่ที่เดียวก่อน ถ้าจิตมันแลบออกไป ก็พยายามดึงกลับมาอยู่กับลมหายใจเข้าออก
ถ้าจิตฟุ้งซ่านมาก สูดลมเข้าไปในปอดลึก ๆ หรือในทรวงอกลึก ๆ แล้วปล่อยลมให้ซึมซาบไปทั่วกาย
ปล่อยความรู้สึกของกระแสใจให้ไหลเวียนลงในกาย แผ่ใจให้ทั่วกายเหมือนมีตารอบตัว เห็นทั่วร่างกาย อย่างหลับตา

การทำสมาธิโดยวิธีธรรมชาติไม่ต้องหลับตา เมื่อลมหายใจละเอียดความอิ่มใจกายจะค่อย ๆ เกิดขึ้น
จะรู้สึกว่า ทั้งร่างกายและจิตใจมันจะผสมผสานกลมกลืนเป็นอันเดียว จะมีความรู้สึกเยือกเย็นทั้งกายใจ ทั้งภายในภายนอก


การปล่อย
ในที่นี้ หมายถึงการปล่อยวางความคิด ปรุงแต่งในเรื่องอดีต อนาคต และปล่อยอารมณ์ปัจจุบันอื่น ๆ เสียให้สิ้น
เพ่งดูลมหายใจเข้าออกเพียงอย่างเดียว ทำอย่างนี้จนจิตไม่ซัดส่ายไปมา สงบนิ่งอยู่ ณ ศูนย์ที่กำหนดไว้แล้ว
จะมีความอิ่มเอิบใจแปลก ๆ เกิดขึ้นเป็นอย่าง ๆ เช่น มีอาการขนลุก น้ำตาไหล มีอาการเสียวแปลบปลาบบ้าง
และมีแสงโชติช่วงดังฟ้าแลบ ทำให้รู้สึกซ่า ๆ คล้ายคลื่นกระทบฝั่ง ทำให้กายฟูเบาเลื่อนโลดลอยไป ทำให้รู้สึกซาบซ่านทั่วกาย
นี้เป็นอาการของปิติทั้ง ๕ และถ้าเกิดพร้อมกันทำให้รู้สึกว่าเนื้อตัวเติบโตอ้วนใหญ่ขึ้น ถึงไม่กินอาหารเลยก็อาจอยู่ได้หลายวัน

การทำสมาธิแบบปล่อยวางหรือวิธีธรรมชาติ ไม่ต้องเข้าไม่ต้องออกจากสมาธิ คือ เขาเป็นเองเกิดเอง
ถ้าจิตของเราว่างจากอารมณ์ บางคราวอ่านหนังสืออยู่เพลิน ๆ จิตก็รวมตัวมีอารมณ์เป็นหนึ่งได้
หรือ บางคราวขณะรับประทานอาหารอยู่จิตก็รวมตัว มีอารมณ์เป็นหนึ่งได้เหมือนกัน

การปฏิบัติธรรมที่ให้ผลต่างกัน


พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน เมืองสาวัตถี ได้ตรัสกะภิกษุทั้งหลาย
ถึงการปฏิบัติธรรมะ ที่ได้รับผลต่างกัน ทั้งในปัจจุบันและอนาคต พอสรุปใจความได้ว่า

๑. การปฏิบัติธรรม มีสุขในปัจจุบัน แต่มีทุกข์เป็นผลต่อไป คือ
ผู้ที่ไม่เห็นโทษของกาม ย่อมดื่มด่ำในกาม เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงนรก ได้รับทุกข์เผ็ดร้อนสาหัส

๒. การปฏิบัติธรรม มีทุกข์ในปัจจุบัน และมีทุกข์เป็นผลต่อไป คือ
ผู้ที่ประพฤติตนทรมานกายด้วยประการต่าง ๆ อย่างพวกเดียรถีย์ เป็นต้น
เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงนรก ได้รับทุกข์เผ็ดร้อนสาหัส

๓. การปฏิบัติธรรม มีทุกข์ในปัจจุบัน แต่มีสุขเป็นผลต่อไป คือผู้ที่มีราคะแรงกล้า มีโทสะแรงกล้า มีโมหะแรงกล้า
แต่ต้องอดกลั้นอดทนเมื่อกระทบกับความทุกข์นั้น ต้องร้องไห้ น้ำตานองหน้า
แต่รักษาศีลรักษาพรหมจรรย์ไว้ได้ อย่างบริสุทธิ์บริบูรณ์ เมื่อตายไปย่อมไปสู่สุคติ โลก สวรรค์

๔ การปฏิบัติธรรม มีสุขในปัจจุบันและมีสุขเป็นผลต่อไป คือ
ผู้ที่มีราคะไม่แรงกล้า มีโทสะไม่แรงกล้า มีโมหะไม่แรงกล้า ไม่ต้องได้รับทุกข์เวทนาในการประพฤติธรรม
การปฏิบัติธรรม ก็ก้าวหน้าโดยลำดับ เมื่อตายไปย่อมไปสู่สุคติ โลก สวรรค์.

จูฬธรรมสมาทานสูตร


พระสูตรนี้ เป็นหลักฐานแสดงว่า การปฏิบัติธรรมของแต่ละคนไม่เหมือนกัน
ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับผลกรรม ทั้งในอดีตและปัจจุบัน หรือที่เรียกว่า “บารมี” ที่อบรมบ่มนิสัยมาไม่เท่ากัน
แต่จุดหมายปลายทางของผู้ปฏิบัติ ที่ได้รับผลแล้วก็ย่อมเท่ากัน คือละกิเลสตัณหาได้ พ้นทุกข์ได้เท่ากัน

ดังนั้น ผู้ปฏิบัติจึงไม่ควรท้อถอย ไม่ควรเปรียบเทียบกับคนที่เขามีบารมีสูงกว่า
ถ้าจะเปรียบเทียบ ก็ควรจะเปรียบเทียบกับคนที่มีบารมีต่ำกว่าเรา
แต่เขาสามารถเอาชนะอุปสรรค หรือสิ่งชั่วร้ายจนปลอดภัยมาได้

เมื่อเราได้ยินหรือได้เห็นแล้ว ก็จะเกิดกำลังใจ ในการทำความดียิ่ง ๆ ขึ้นไป
เพราะนอกจากเราจะเกิดกำลังใจที่เข้มแข็งแล้ว การทำดีของเรายังจะเป็นแบบอย่างที่ดีแก่อนุชนอีกด้วย.


พระไตรปิฏกฉบับ ดับทุกข์
โดย ธรรมรักษา

อุปกิเลสของสมาธิ


สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่ป่า ชื่อว่า ปาจินวังสะทายวัน แขวงเมือง โกสัมพี ณ ที่นั้น ภิกษุ ๓ รูป
คือ พระอนุรุทธะ พระนันทิยะ และพระกิมพิกะ ได้กราบทูล พระพุทธองค์ว่า
ข้าพระองค์ทั้งสาม พยายามกำหนดเห็นแสงสว่าง แล้วเห็นรูปทั้งหลาย
แต่ แสงสว่างและรูปนั้นเห็นอยู่ไม่นาน ก็หายไป ข้าพระองค์ทั้งสามไม่ทราบว่า เป็นเพราะเหตุไร?

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ตรัสกับภิกษุเหล่านั้น ดังต่อไปนี้
"อนุรุทธะทั้งหลาย (ตรัสแก่ภิกษุทั้งสามองค์ แต่ทรงเรียกอนุรุทธะเป็นองค์แรก)
แม้ เราเองครั้งก่อนแต่ตรัสรู้ ยังไม่ได้ตรัสรู้ ยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ กำหนดเห็นแสงสว่างได้
และ เห็นรูปทั้งหลาย แต่ไม่นานเท่าไร แสงสว่างและการเห็นรูปนั้นก็หายไป
เราก็เกิดความสงสัยว่า อะไรหนอเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้แสงสว่างและการเห็นรูปนั้นหายไป
เราก็คิดได้ว่า อุปกิเลส เหล่านี้เป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้แสงสว่างและการเห็นรูปนั้นหายไป

อุปกิเลสเหล่านี้ คือ

๑. วิจิกิจฉา ความลังเลหรือความสงสัย
๒. อมนสิการ ความไม่ใส่ใจไว้ให้ดี
๓. ถีนมิทธะ ความท้อและความเคลิบเคลิ้มง่วงนอน
๔. ฉิมภิตัตตะ ความสะดุ้งหวาดกลัว
๕. อุพพิละ ความตื่นเต้นด้วยความยินดี
๖. ทุฏจุลละ ความไม่สงบกาย ความคะนองหยาบ
๗. อัจจารัทธวิริยะ ความเพียรจัดเกินไป
๘. อติลีนวิริยะ ความเพียรย่อหย่อนเกินไป
๙. อภิชัปปา ความอยาก
๑๐. นานัตตสัญญา ความนึกไปในสิ่งต่างๆ
(เรื่องราวต่างๆ ที่เคยผ่านมา หรือเคย จดจำไว้ มาผุดขึ้นในขณะทำสมาธิ)
๑๑. รูปานัง อตินิชฌายิตัตตะ ความเพ่งต่อรูปจนเกินไป.

อนุรุทธะทั้งหลาย เมื่ออุปกิเลสเหล่านี้ แม้อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นแก่เราแล้ว
สมาธิ ของเราก็เคลื่อนไป เพราะอุปกิเลสเหล่านี้เป็นต้นเหตุ
เมื่อสมาธิเคลื่อนแล้ว แสงสว่างและการเห็นรูปก็หายไป
ฉะนั้น เราพยายามสอดส่องดูว่า วิธีใดจะทำให้อุปกิเลสเหล่านี้เกิดขึ้นไม่ได้ เราก็ทำใจไว้โดยวิธีนั้น
อนุรุทธะทั้งหลาย เรารู้ชัดว่า วิจิกิจฉา เป็นต้นเหล่านี้ เป็นอุปกิเลสของจิต จึงได้ละเสีย"


เหตุของการไม่เห็นแสงสว่างและรูป

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสกับภิกษุเหล่านั้นต่อไปอีกว่า
อนุรุทธะทั้งหลาย เราทั้งที่ไม่ประมาท มีความเพียรประคองจิตไว้ในสมาธิอยู่
บาง ครั้งก็เห็นแต่แสงสว่างไม่เห็นรูป บางครั้งก็เห็นแต่รูปไม่เห็นแสงสว่าง
เป็นดังนี้ทั้งคืนบ้าง ทั้ง วันบ้าง ทั้งคืนและทั้งวันบ้าง
เราจึงเกิดความสงสัยว่า อะไรหนอ เป็นเหตุเป็นปัจจัย ให้เป็นเช่นนี้.

อนุรุทธะทั้งหลาย เราคิดได้ว่า
ขณะใด เราไม่นึกถึงรูป นึกถึงแต่แสงสว่าง ขณะนั้นเราก็เห็นแต่แสงสว่างไม่เห็นรูป
ขณะใดเราไม่นึกถึงแสงสว่าง นึกถึงรูป ขณะนั้นเราก็เห็นแต่รูป ไม่เห็นแสงสว่าง
เป็น ดังนี้ ทั้งคืนบ้าง ทั้งวันบ้าง ตลอดทั้งคืนและทั้งวันบ้าง.

อนุรุทธะทั้งหลาย เราเมื่อไม่ประมาท มีความเพียร ประคองจิตไว้ในสมาธิอยู่
บางครั้งเห็นแสงสว่างนิดเดียว เห็นรูปนิดเดียว บางครั้งเห็นแสงสว่างมาก เห็นรูปมาก
เป็นดังนี้ ตลอดทั้งคืนบ้าง ตลอดทั้งวันบ้าง ตลอดทั้งคืนทั้งวันบ้าง
เราจึงเกิดสงสัยว่าอะไรหนอเป็นเหตุ เป็นปัจจัย ให้เป็นเช่นนี้

อนุรุทธะทั้งหลาย เราคิดได้ว่า ขณะใด สมาธิของเราน้อย ขณะนั้นจักษุก็มีน้อย

ด้วยจักษุอันน้อยนั้น เราจึงเห็นแสงสว่างน้อย เห็นรูปก็น้อย ขณะใดสมาธิของเรามาก ขณะนั้น จักษุก็มีมาก
ด้วยจักษุอันมากนั้น เราจึงเห็นแสงสว่างมาก เห็นรูปก็มาก
เป็นดังนี้ทั้งคืนบ้าง ทั้ง วันบ้าง ตลอดทั้งคืนและทั้งวันบ้าง.

ลักษณะของ โลภะ โทสะ โมหะ



โลภะ

ลักษณะของโลภะ
..... โลภะมีอันยึดซึ่งอารมณ์ เป็นลักษณะดุจลิงติดตัง
มีความข้องเฉพาะเป็นรสดุจชิ้นเนื้ออันเขาทิ้งไปที่กระเบื้องร้อน มีอันไม่สละเป็นเครื่องปรากฏ
ดุจน้ำย้อมเจือน้ำมันสำหรับหยอด มีอันเห็นความแช่มชื่นในสังโยชนิยธรรมเป็นปทัฏฐาน

พึงเห็นว่าเมื่อโลภะเจริญอยู่โดยความเป็นแม่น้ำ คือ ตัวตัณหาย่อมพาไปสู่อบายถ่ายเดียว
ดุจแม่น้ำมีกระแสเชี่ยวพัดพาไปสู่มหาสมุทรฉะนั้นฯ

ที่มา วิสุทธิมัคค์ขันธนิทเทส


คนส่วนมากรู้ว่าเป็นโลภะก็ต่อเมื่อเป็นโลภะที่แรงกล้า แต่ไม่รู้เมื่อเป็นโลภะที่ไม่รุนแรง
เช่น เราอาจจะรู้ว่าเป็นโลภะ เมื่ออยากจะรับประทานอาหารที่อร่อยมากๆ หรือขณะที่อยากดื่มเหล้า หรือสูบบุหรี่

เรามีความผูกพันยึดมั่นในบุคคล และเป็นทุกข์เมื่อผู้เป็นที่รักตายจากไป
เมื่อนั้นเราก็จะรู้ว่าความผูกพันทำให้เกิดความทุกข์

บางครั้งความผูกพันยึดมั่นก็เห็นได้ชัด แต่โลภะก็มีหลายระดับขั้น โดยมากเราไม่รู้ว่าเรามีโลภะ

จิตเกิดดับอย่างรวดเร็วมาก
และเราอาจไม่รู้ว่าโลภะ เกิดขณะที่สภาพธรรมปรากฏทางทวารใดทวารหนึ่งใน ชีวิตประจำวัน
โดยเฉพาะเมื่อเป็นโลภะที่ไม่แรงกล้าถึงขั้นที่เป็นราคะหรือตันหา
ขณะใดที่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่าพอใจปรากฏ ขณะนั้นโลภะย่อมเกิดขึ้น

วันหนึ่งๆ โลภะเกิดขึ้นนับครั้งไม่ถ้วน
โลภะ ความผูกพันยึดมั่น ทำให้เกิดความทุกข์โทมนัส ถ้าเข้าใจความจริงข้อนี้อย่างถ่องแท้
เราคงปรารถนาที่จะกำจัดโลภะให้หมดไป แต่โลภะจะหมดไปในทันทีทันใดไม่ได้
เราอาจจะระงับโลภะได้เพียงชั่วคราว แต่โลภะก็จะเกิดอีกเมื่อมีเหตุปัจจัยที่ทำให้โลภะเกิดขึ้น

แม้จะรู้ว่าโลภะทำให้เกิดทุกข์โทมนัส โลภะก็ย่อมเกิดครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ก็มีวิธีที่จะกำจัดโลภะให้หมดไปได้
นั่นคือ ด้วยการอบรมเจริญปัญญาซึ่งประจักษ์สภาพธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริง

เมื่อ ศึกษาเรื่องจิตละเอียดขึ้น ก็จะทำให้เรารู้จักตัวเอง
เราไม่ควรรู้เพียงแต่โลภะขั้นหยาบเท่านั้น แต่ควรรู้โลภะขั้นต่างๆ ที่ละเอียดขึ้น

เราควรรู้โลภะที่ละเอียดขึ้นเมื่อชื่นชอบกลิ่นหอมหรือดนตรีเพราะๆ ด้วย
ดูเหมือนกับว่าจิตไม่เป็นอกุศลเมื่อไม่ได้ทำร้ายใคร แต่โลภะที่ละเอียดๆ ก็เป็นอกุศลด้วย

โลภะต่างกับอโลภะซึ่งเป็นกุศล เราไม่สามารถบังคับตัวเองไม่ให้มีโลภะ
แต่เราก็สามารถรู้ลักษณะโลภะได้ เมื่อโลภะเกิดปรากฏ

โลภะทุกระดับขั้น ไม่ว่าหยาบหรือละเอียด ย่อมเป็นเหตุของทุกข์
เราเป็นเหมือนทาส ตราบใดที่ยังเพลิดเพลินมัวเมาหลงติดในอารมณ์ที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
เราไม่เป็นอิสระเลย ถ้าความสุขของเราขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่เกิดกับเรา และการกระทำของคนอื่นต่อเรา

คนอื่นอาจดีกับเราขณะหนึ่ง แต่อีกขณะหนึ่งก็อาจไม่ดีก็ได้
ถ้าเรายึดถือในความชอบพอ รักใคร่ที่คนอื่นมีต่อเราอย่างมากมายเหลือเกินแล้ว
จิตก็จะหม่นหมองได้ง่ายและตกเป็นทาสของอารมณ์และความรู้สึกต่างๆ

เราจะเป็นอิสระขึ้นได้ ถ้ารู้ความจริงว่าทั้งตัวเราเองและคนอื่น
เป็นเพียง นามธรรมและรูปธรรมซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป

เมื่อใครพูดคำที่ไม่น่าฟังกะเรา ก็เพราะมีเหตุปัจจัยทำให้เขาพูดอย่างนั้น
และก็มีเหตุปัจจัยที่ทำให้เราได้ยินคำเหล่านั้น

การกระทำของคนอื่นและปฏิกิริยาของเราต่อการกระทำนั้นๆ
ล้วนเป็นสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยและไม่เที่ยง
ขณะที่กำลังคิดถึงสภาพธรรมเหล่านี้ สภาพธรรมเหล่านี้ก็ดับไปแล้ว
การอบรมเจริญปัญญาเป็นทางที่จะทำให้ ละคลายการยึดมั่นในการเปลี่ยนแปลงที่ เกิดขึ้นในชีวิต
เมื่อสติระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังเกิดปรากฏ การถือว่าการกระทำของคนอื่นต่อเราก็สำคัญน้อยลง

เมื่อโลภะฝังลึกในจิตอย่างเหนียวแน่นถึงเพียงนี้ การละโลภะต้องเป็นไปตามลำดับขั้น
มิจฉาทิฏฐิต้องดับหมดก่อน แล้วโลภะอื่นๆ จึงจะดับหมดสิ้นได้

พระโสดาบันบุคคล (บุคคลที่บรรลุโลกุตตธรรมขั้นที่หนึ่ง) ดับมิจฉาทิฏฐิเป็นสมุจเฉท
ท่านอบรมเจริญปัญญาซึ่งรู้ชัดว่า สภาพธรรมทั้งหลายเป็นนามธรรมและรูปธรรม ไม่ใช่ตัวตน
เพราะเหตุที่พระโสดาบันบุคคลละมิจฉาทิฏฐิได้แล้ว โลภมูลจิตซึ่งเกิดร่วมด้วยมิจฉาทิฏฐิจึงไม่เกิดอีกเลย

ดังที่ได้ศึกษาแล้วว่า โลภมูลจิต 4 ดวง เกิดร่วมด้วยมิจฉาทิฏฐิ (ทิฏฐิคตสัมปยุตต์)
และโลภมูลจิต 4 ดวง ไม่เกิดร่วมกับมิจฉาทิฏฐิ (ทิฏฐิคตวิปปยุตต์)
โลภมูลจิตที่ไม่เกิดร่วมกับมิจฉาทิฏฐิยังคงเกิดกับพระโสดาบันบุคคล
เพราะพระโสดาบันบุคคลยังไม่ได้ดับโลภะทั้งหมด พระโสดาบันบุคคลยังมีมานะ

มานะเกิดกับโลภมูลจิต 4 ดวงที่ไม่เกิดร่วมกับมิจฉาทิฏฐิ (ทิฏฐิคตวิปปยุตต์)
เมื่อเปรียบเทียบตัวเรากับคนอื่น ขณะนั้นเป็นมานะ เช่น ขณะที่คิดว่าเรามีปัญญามากกว่าคนอื่น เป็นต้น
เมื่อถือว่าตนเอง ดีกว่า เสมอกัน หรือ ด้อยกว่า คนอื่น นั่นเป็นการสำคัญตน
ขณะนั้นจึงเป็นมานะ ขณะที่คิดว่าตนเองด้อยกว่าคนอื่นนั้น ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นกุศล
อาจเป็นอาการหนึ่งของการถือตน
ฉะนั้นจึงเป็นมานะ มานะฝังลึกในจิตซึ่งจะดับหมด เป็นสมุจเฉทก็ต่อเมื่อบรรลุเป็นพระอรหันต์


โทสะ

ลักษณะของโทสะ
โทสะมีหลายขั้น อาจเป็นความขุ่นใจเล็กน้อยหรือรุนแรงขึ้นจนถึงกับโกรธเคือง
เรารู้จักโทสะขั้นหยาบ แต่เรารู้จักโทสะอย่างบางเบาบ้างไหม

การศึกษาพระอภิธรรมทำให้รู้ลักษณะของโทสะมากขึ้น โทสะ เป็น อกุศลเจตสิก เกิดร่วมกับอกุศลจิต
จิตที่มีโทสะเป็นมูล ภาษาบาลีเรียกว่า โทสมูลจิต ลักษณะของโทสะต่างจากลักษณะของโลภะ

โลภะ เกิดขณะใด จิตพอใจอารมณ์ขณะนั้น แต่ โทสะ เกิดขณะใด จิตไม่พอใจอารมณ์ขณะนั้น
ขณะ ที่โกรธใครๆ และกล่าวคำที่ไม่น่าฟังกับใครนั้น เรารู้ว่าเป็นโทสะ
แต่เวลากลัวอะไรก็เป็นโทสะเหมือนกัน เพราะไม่ชอบอารมณ์ที่เรากลัวนั้น
เรากลัวหลายอย่างในชีวิต กลัวอนาคต กลัวเจ็บป่วย กลัวอุปัทวเหตุและกลัวตาย
เราแสวงหาทางที่จะทำให้หายกลัว แต่ทางเดียวก็คือ อบรมเจริญปัญญาที่ดับโทสะได้หมดสิ้น

โลภะเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดโทสะ เราไม่อยากสูญเสียสิ่งซึ่งเป็นที่รัก
และเมื่อใดที่สูญเสียเราก็โศกเศร้า ความเศร้าโศกเป็นโทสะ เป็นอกุศล

เมื่อไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็ย่อมเห็นว่าคนและสิ่งต่างๆ ยั่งยืน
แต่คนและสิ่งต่างๆ นั้น เป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดแล้วก็ดับไปทันที
ชั่วขณะต่อมาสภาพธรรมนั้นๆ ก็เปลี่ยนแปลงไปแล้ว
เมื่อรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงก็จะคลายความเศร้าโศกลง
ไม่มีประโยชน์เลยที่จะโศกเศร้าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นและดับไปแล้ว

มี อกุศลเจตสิกอื่นๆ อีกซึ่งเกิดร่วมกับโทสมูลจิต ความเสียดาย หรือ ความกังวล ซึ่งภาษาบาลีเรียกว่า กุกกุจจะ
ก็เป็นอกุศลเจตสิก ซึ่งเกิดร่วมกับโทสมูลจิตขณะที่ได้กระทำสิ่งที่ไม่ดีหรือ ไม่ได้ทำสิ่งที่ดี
ขณะที่เสียใจนั้น เป็นขณะที่คิดถึงอดีตแทนที่จะระลึกถึงขณะปัจจุบัน
เมื่อได้กระทำผิดพลาดไปแล้ว ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะกังวลใจ

ความริษยา (อิสสา) เป็นเจตสิกอีกดวงหนึ่งที่เกิดกับโทสมูลจิต
เวลาไม่อยากให้ใครได้รับสิ่งที่น่ายินดีพอใจนั้น เป็นความริษยาขณะนั้นจิตไม่พอใจอารมณ์นั้น
ควรจะสังเกตว่าความริษยาเกิดบ่อยเพียงใด แม้ว่าเป็นความริษยาเพียงเล็กน้อยก็ตาม
นี่เป็นวิธีที่จะรู้ว่าเราใส่ใจคนอื่นหรือไม่ หรือว่าเราคิดถึงแต่ตัวเองเมื่อคบหาสมาคมกับคนอื่น

ความตระหนี่ (มัจฉริยะ) เป็นอกุศลเจตสิกอีกดวงหนึ่งซึ่งเกิดกับโทสมูลจิต
ขณะที่ตระหนี่นั้นมีโทสะด้วย ขณะนั้นไม่อยากให้คนอื่นมีส่วนในสมบัติที่เรามี

โทสะเกิดร่วมกับ ความรู้สึกไม่สบายใจ (โทมนัสเวทนา) เสมอ
คนส่วนมากไม่อยากมีโทสะเพราะไม่ชอบความรู้สึกที่ไม่สบายใจ
ขณะที่อบรมเจริญปัญญารู้สภาพธรรมมากขึ้นนั้น ก็ใคร่จะละโทสะ
ทั้งนี้โดยไม่ใช่เพราะไม่ชอบโทมนัสเวทนา แต่เพราะเห็นโทษภัยของอกุศล

โทสะเกิดขึ้นได้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
โทสะ เกิดได้เมื่อเห็นสิ่งที่ไม่น่ายินดีพอใจ ได้ยินเสียงหยาบกระด้าง ได้กลิ่นที่ไม่ดี ลิ้มรสที่ไม่ถูกปาก
กระทบสัมผัสสิ่งที่ทำให้กายเจ็บปวด และคิดนึกเรื่องที่ไม่พอใจ
เมื่อใดที่รู้สึกไม่สบายใจไม่ว่าจะเล็กน้อยเพียงใดก็ตาม ก็แสดงว่าขณะนั้นเป็นโทสะ
โทสะอาจจะเกิดบ่อยเมื่อกระทบอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ เช่น อากาศร้อนหรือเย็นเกินไป
เมื่อมีความรู้สึกที่ไม่สบายกายเพียงนิดเดียว โทสะก็เกิดได้แม้ว่าจะเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเอง

โทสะเกิดเมื่อมีเหตุปัจจัย โทสะเกิดได้เสมอตราบใดที่ยัง ติดข้อง ในกามอารมณ์ 5 ที่ปรากฏทางปัญจทวาร
ทุกคนอยากจะมีแต่อิฏฐารมณ์เท่านั้น และเมื่อไม่ได้อิฏฐารมณ์อีก โทสะก็จะเกิด

ปัจจัยอีกอันหนึ่งที่ทำให้โทสะเกิดก็คือ ความไม่รู้ไม่เข้าใจธรรม ถ้าไม่รู้เรื่องกรรม วิบาก เหตุและผล
โทสะอาจเกิดได้ง่ายๆ เมื่อกระทบกับอารมณ์ที่ไม่น่ายินดีพอใจทางทวารใดทวารหนึ่ง
ฉะนั้น โทสะจึงสะสมเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ ขณะประสบอารมณ์ที่ไม่น่ายินดีพอใจทางทวารใดทวารหนึ่งนั้น
เป็นอกุศลวิบากซึ่งเป็นผลของอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว
เช่น เมื่อขณะที่ได้ยินคำพูดที่ไม่น่ายินดีพอใจก็อาจโกรธคนที่พูด

แต่คนที่ศึกษาธรรมแล้วย่อมรู้ว่า การที่ได้ยินสิ่งที่ไม่น่ายินดีพอใจนั้น
เป็นอกุศลวิบากซึ่งไม่ได้เกิดจากการกระทำของคนอื่น แต่เป็นผลของอกุศลกรรมที่ตนได้กระทำแล้ว
วิบากจิตเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปทันทีไม่ดำรงยั่งยืน แต่เราก็มักจะครุ่นคิดถึงสิ่งที่ไม่ดีนั้นอยู่อีกไม่ใช่หรือ
ถ้าสติระลึกรู้สภาพธรรมขณะนี้ ก็จะคลายการคิดถึงอกุศลวิบากด้วยโทสะลงได้

บางครั้งเรารู้สึกว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะมีเมตตาแทนโทสะ เช่น
เมื่อคนอื่นทำไม่ดีกับเรา เราก็ไม่สบายใจและครุ่นคิดแต่เรื่องไม่สบายใจนั้น
เมื่อโทสะยังไม่ดับเป็นสมุจเฉท ก็ยังมีปัจจัยที่โทสะจะเกิดอีก
ขณะที่สติระลึกรู้สภาพธรรมทั้งหลายที่ปรากฏ ปัญญาจึงจะเจริญขึ้นจนสามารถดับโทสะได้

การละโทสะนั้นเป็นไปตามลำดับขั้น พระโสดาบันบุคคล (ผู้ที่บรรลุอริยสัจจธรรมขั้นต้น) ยังละโทสะไม่ได้

การบรรลุอริยสัจจธรรมขั้นต่อมาคือ ขั้นพระสกทาคามีบุคคล ก็ยังดับโทสะเป็นสมุจเฉทไม่ได้
ผู้บรรลุอริยสัจจธรรมขั้นที่สามคือ พระอนาคามีบุคคล ดับโทสะได้เป็นสมุจเฉท ไม่มีปฏิฆานุสัยกิเลสอีกเลย

แม้ว่ายังดับโทสะไม่ได้ แต่เมื่อโทสะเกิด สติก็สามารถระลึกรู้ลักษณะของโทสะว่าเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง
ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แต่เมื่อสติไม่เกิด ก็ดูราวกับว่าเกิดโทสะอยู่นาน และยึดมั่นโทสะว่าเป็นตัวตน
และไม่ได้สังเกตรู้นามธรรมและรูปธรรมอื่นๆที่ปรากฏ
การเจริญสติระลึกรู้สภาพนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏแต่ละขณะนั้น
จะทำให้รู้ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรมซึ่งไม่เที่ยง
และรู้ว่าโทสะเป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ไม่ใช่ตัวตน

เมื่อมีความรู้ความเข้าใจในสภาพธรรมต่างๆ ชัดแจ้งขึ้น ก็จะครุ่นคิดถึงอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจน้อยลง
เพราะเป็นเพียงนามธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเกิดแล้วก็ดับไป
และจะใส่ใจในขณะปัจจุบันมากขึ้น แทนที่จะคิดถึงอดีตหรืออนาคต

เราจะเล่าเรื่องร้ายๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเราให้คนอื่นฟังน้อยลง
เพราะรู้ว่าจะเป็นปัจจัยให้ทั้งตนเองและคนอื่นสะสมโทสะมากขึ้น
เมื่อคนอื่นโกรธเรา เราก็จะเข้าใจสภาพของเขาดีขึ้น เขาอาจจะเหนื่อยหรือไม่สบายก็ได้
คนที่ไม่ดีต่อเรานั้นสมควรได้รับความเมตตา เพราะเขาทำตนเองให้เป็นทุกข์

ความเข้าใจในสภาพธรรมต่างๆ จะทำให้เรามีเมตตากรุณาต่อคนอื่นมากกว่าอื่นใด แทนที่จะเกิดโทสะ


โมหะ

ลักษณะของโมหะ
โมหมูลจิตดวงที่สองเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนาประกอบด้วยอุทธัจจะ
โดยศัพท์ อุทธัจจะ หมายถึง สภาพไม่สงบ หรือ ฟุ้งซ่าน อุทธัจจะเกิดกับอกุศลจิต ทุกประเภท (ดวง)
ขณะใดที่จิตมีอุทธัจจะขณะนั้นไม่มี สติ สติเกิดกับโสภณจิตทุกดวง สติระลึกถึงสิ่งที่ดีงาม
สติไม่ได้เกิดเฉพาะกับวิปัสสนาเท่านั้น

ขณะให้ทาน รักษาศีล ศึกษาพระธรรม แสดงพระธรรม หรือเจริญสมถภาวนานั้น สติก็เกิดร่วมด้วย
แต่สติในการเจริญวิปัสสนาภาวนานั้น ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม

โมหะเป็นโทษเพราะเป็นมูลของอกุศลธรรมทั้งปวง
เมื่อไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง อกุศลก็จะสะสมมากขึ้น

โมหะเป็นปัจจัยให้เกิดให้เกิดโลภ
เมื่อไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็ย่อมเพลิดเพลินไปในอารมณ์ทั้งหลายที่ปรากฏทางทวารต่างๆ

โมหะเป็นปัจจัยให้เกิดโทสะด้วย เมื่อไม่รู้สภาพธรรมก็ย่อมจะโกรธเมื่อประสบกับอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ

โมหะเกิดกับอกุศลจิตทุกดวง และเป็นเหตุให้กระทำอกุศลกรรมบถ 10 ทางกาย วาจา ใจ

ขณะใดที่สติระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏทางทวารหนึ่งทวารใดใน 6 ทวารเท่านั้น
ปัญญาจึงจะเจริญขึ้นจนสามารถดับโมหะได้เป็นสมุจเฉท

อวิชชา ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง
ไม่รู้อริยสัจจ์ 4 เพราะอวิชชาจึงไม่รู้ในอริยสัจจ์ข้อที่หนึ่ง คือ ทุกข์อริยสัจจ์
ไม่ประจักษ์ว่านามธรรมและรูปธรรมไม่เที่ยงและเป็นทุกข์
ไม่รู้อริยสัจจ์ข้อที่สอง คือ ตัณหา ซึ่งเป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์
เพราะ ติดข้องในนามและรูป สังสารวัฏฏ์ จึงไม่สิ้นสุด ทุกข์จึงไม่สิ้นสุด
ไม่รู้อริยสัจจ์ข้อที่สาม คือ พระนิพพาน ซึ่งเป็นธรรมที่ดับทุกข์
ไม่ รู้อริยสัจจ์ข้อที่สี่ คือ อริยมรรคมีองค์ 8 ซึ่งเป็นหนทางปฏิบัติที่นำไปสู่ความดับทุกข์

อริยมรรคมีองค์ 8 จะเจริญขึ้นในการเจริญวิปัสสนาภาวนา

การตั้งจิตอยู่ในมรณสติ




หัวข้อที่ตั้งไว้ว่า มรณสติ ต้องมีคำว่าสติด้วย อีก 1 คำ จึงจะครบถ้วนบริบูรณ์

คำว่า มรณสติ หมายถึง ความมีสติระลึกเป็นความตาย
เพื่อความไม่ประมาท มรณสติ เป็นอนุสติ 1 ในอนุสติ 10 มีพุทธานุสสติ เป็นต้น

มีเรื่องเล่าไว้ในธรรมบทภาค 6 เรื่องการเจริญมรณสติของธิดาของนายช่างหูก ดังนี้

วันหนึ่งพวกชาวเมืองอาฬวี เมื่อพระศาสดาถึงเมืองอาฬวีแล้ว ได้ทูลนิมนต์ถวายทานแล้ว
พระศาสดาเมื่อจะทรงทำอนุโมทนาในเวลาเสร็จภัคกิจจึงตรัสว่า

“ ท่านทั้งหลายจงเจริญมรณสติ ดังนี้ว่า
ชีวิตของเราไม่ยั่งยืน ความตายของเราแน่นอน เราพึงตายแน่แท้ ชีวิตของเรามีความตายเป็นที่สุด
ชีวิตของเราไม่เที่ยงความตายเที่ยง ก็มรณะอันชนทั้งหลายใดไม่เจริญแล้ว
เมื่อกาลแห่งความตายมาถึง ชนเหล่านั้นย่อมสะดุ้ง หวาดกลัวตาย เหมือนผู้เห็นอสรพิษแล้วกลัวฉันนั้น
ส่วนบุคคลที่เจริญมรณสติเสมอแล้ว เมื่อความตายมาถึงย่อมไม่สะดุ้งกลัว
เหมือนผู้นั้นเห็นอสรพิษแต่ไกล แล้วก็เอาท่อนไม้เขี่ยทิ้งไปยืนอยู่ฉะนั้น เพราะฉะนั้นจึงควรเจริญมรณสติไว้

ในชนทั้งหลายที่ฟังธรรมเทศนาในวันนั้น มีธิดาของนายช่างหูกอายุ 16 ปีคนหนึ่งคิดว่า
ธรรมดาด้วยคำของพระพุทธเจ้าทั้งหลายอัศจรรย์
เราจึงควรเจริญมรณสติ แล้วก็เจริญมรณสติอย่างเดียวตลอดเวลา 3 ปีผ่านมา

วันหนึ่งธิดาของนายช่างหูกผู้นี้เข้าในข่ายพระญาณของพระองค์
ทรงทราบว่านางจะได้ประโยชน์จากการเสด็จแสดงธรรมของพระองค์
จึงเสด็จพร้อมภิกษุ 500 เป็นบริวารจากพระเชตวันไปสู่อัคคาฬววิหาร ชาวเมืองอาฬวี ทูลนิมนต์แล้ว
ฝ่ายนางธิดา ของนายช่างหูกก็ทราบการเสด็จมาด้วยความปิติเช่นเดียวกัน

ฝ่ายบิดาของนาง ก็ใช้ให้นางกรอด้ายหลอดให้ เพราะจะต้องทอผ้าที่ค้างอยู่ให้เสร็จ
นางจึงต้องกรอด้ายให้บิดาก่อน แล้วค่อยไปเข้าเฝ้าพระศาสดา
ฝ่ายชาวเมืองอาฬวี เมื่อเสร็จการถวายภัตตาหารแล้ว รออยู่เพื่อต้องการอนุโมทนา
พระศาสดาประทับนิ่งอยู่ ด้วยทรงปรารภการมาของธิดาช่างหูกนั้นอยู่

เมื่อธิดาช่างหูกกรอด้ายเสร็จใส่กระเช้า เพื่อนำไปให้บิดา ผ่านที่ท้ายสุดของชนทั้งหลายที่ประชุมกันอยู่
พระศาสดาทรงชะเง้อทอดพระเนตรนางนั้น นางจึงทราบโดยอาการของพระศาสดา
จึงวางกระเช้าด้ายหลอดเข้าไปสู่ระยะที่ใกล้ ถวายบังคมแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรข้างหนึ่ง

พระศาสดาตรัสถามนางว่า “ กุมาริกา เธอมาจากไหน ?
นางกุมาริกา ตอบว่า “ ไม่ทราบ พระเจ้าข้า ”
พระศาสดาตรัสถามอีกว่า “ เธอจักไปที่ไหน ?
นางกุมาริกา ตอบว่า “ ไม่ทราบ พระเจ้าข้า ”
พระศาสดาตรัสถามว่า “ เธอไม่ทราบหรือ ?
นางกุมาริกา ตอบว่า “ ทราบ พระเจ้าข้า ”
พระศาสดาตรัสถามว่า “ เธอทราบหรือ ?
นางกุมาริกา ตอบว่า “ ไม่ทราบ พระเจ้าข้า ”

พระศาสดาตรัสถามปัญหา 4 ข้อแก่นางกุมาริกานั้น
ขณะนั้นมหาชนทั้งหลาย โพทนา โวยวาย ตำหนิ ธิดานายช่างหูกนั้นว่า ตอบปัญหาอันไม่สมควรกับพระศาสดา
พระศาสดาทรงกระทำมหาชนให้เงียบเสียงแล้ว จึงตรัสถามนางว่า
“ กุมาริกา เมื่อเรากล่าวว่า มาจากไหน เพราะเหตุไร เธอจึงตอบว่า ไม่ทราบ

นางกุมาริกา ตอบว่า พระเจ้าข้า พระองค์ย่อมทราบความที่หม่อมฉันมาจากเรือนช่างหูก
เมื่อพระองค์ตรัสถามว่า เธอมาจากไหนนั้น ย่อมตรัสถามว่า เธอมาจากที่ไหน จึงเกิดแล้วในที่นี้
แต่หม่อมฉันไม่ทราบว่า มาแล้วจากไหนจึงมาเกิดในที่นี้....

พระศาสดาจึงประทานสาธุการเป็นครั้งแรกว่า ....ดีแล้ว.... ดีแล้วปัญหาอันเราถามแล้ว เธอได้แก้แล้ว
แล้วตรัสถามต่อไปว่า เมื่อเราถามว่า เธอจักไป ณ ที่ไหน เพราะเหตุไรจึงกล่าวว่า “ ไม่ทราบ ”

นาง กุมาริกา ตอบว่า พระเจ้าข้า พระองค์ย่อมทราบหม่อมฉันผู้ถือกระเช้าด้ายหลอด เดินไปยังโรงของช่างหูก
พระองค์ย่อมตรัสถามว่า ก็เธอไปจากโลกนี้แล้ว จักเกิดในที่ไหน
ก็หม่อมฉันจุติจากโลกนี้แล้ว ย่อมไม่ทราบว่า จักไปเกิดในที่ไหน ......

พระศาสดา ประทานสาธุการแก่นางเป็นครั้งที่ 2 ว่าปัญหาอันเราถามแล้วเธอได้แก้แล้ว
แล้วตรัสถามต่อไปว่า เมื่อเราถามว่า เธอไม่ทราบหรือ เพราะเหตุไรจึงตอบว่า “ ทราบ ”

กุมาริกา ตอบว่า
พระเจ้าข้า หม่อมฉันย่อมทราบภาวะ คือ ความตายของหม่อมฉันเท่านั้น เหตุนั้นจึงกราบทูลอย่างนั้น

พระศาสดา ประทานสาธุการแก่นางเป็นครั้งที่ 3 ว่าปัญหาอันเราถามแล้วเธอได้แก้แล้ว แล้วตรัสถามต่อไปว่า
เมื่อเป็นเช่นนั้น เมื่อเราถามว่า เธอย่อมทราบหรือ เพราะเหตุไรจึงพูดว่า “ ไม่ทราบ ”

กุมาริกา ตอบว่า หม่อมฉันย่อมทราบแต่ภาวะ คือ ความตายของหม่อมฉันเท่านั้น พระเจ้าข้า
แต่ย่อมไม่ทราบว่า จักตายในเวลา กลางคืน กลางวัน หรือ เวลาเช้า ในกาลชื่อโน้น เป็นต้น
เพราะเหตุนั้นจึงกราบทูลอย่างนั้น.........

พระศาสดา ประทานสาธุการแก่นางเป็นครั้งที่ 4 ว่าปัญหาอันเราถามแล้วเธอได้แก้แล้ว
แล้วตรัสเตือนบริษัทชุมชนทั้งหลายในที่นั้นว่า
พวกท่านย่อมไม่ทราบถ้อยคำชื่อมีประมาณเท่านี้ ที่นางกุมาริกานี้กล่าวแล้วย่อมโพทนาอย่างเดียวเท่านั้น

“ เพราะจักษุ คือ ปัญญาของชนเหล่าใดไม่มี ชนเหล่านั้นเป็นดุจคนตาบอดทีเดียว
จักษุ คือ ปัญญาของชนเหล่าใดมีอยู่ ชนเหล่านั้นเป็นผู้มีจักษุ ” ตรัสพระคาถานี้ว่า

“ สัตว์โลกนี้เป็นเหมือนคนบอด ในโลกนี้น้อยคนจะเห็นแจ้งได้
น้อยคนจะไปในสวรรค์เหมือนนกหลุดแล้วจากข่าย (ของนายพราน) มีน้อยฉะนั้น. ”

เมื่อธรรมเทศนาจบลง
นางธิดาของนายช่างหูกตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล มหาชนเป็นอันมาก ก็ตั้งอยู่ในประโยชน์แห่งตน

นางธิดาของนายช่างหูก ถือกระเช้าด้ายหลอดไปให้บิดา กระเช้าหลอดด้ายกระทบที่สุด ฟึมทำเสียงดัง
บิดาซึ่งกำลังหลับสะดุ้งตื่นก็ฉุดที่สุดฟึม (ฟึม = อุปกรณ์ทอผ้า)
ทำให้ที่สุด ฟึมนั้นมากระแทกที่หน้าอกของนาง กุมาริกาถึงแก่ความตายทันที บังเกิดในดุสิตภพ
บิดาของนางเห็นร่างนางมีแต่เลือดล้มลงตาย ก็เศร้าโศกมาก จึงไปหาพระศาสดากราบทูลเรื่องราวให้ทรงทราบ
พระศาสดาทรงปลอบเขาแล้วตรัสว่า
“ ท่านอย่าโศกเลย เพราะน้ำตาที่ไหลออกเพราะความตายแห่งธิดาของท่าน
ในสังสารวัฎอันหาที่สุดไม่ได้นี้มากกว่าน้ำในมหาสมุทรทั้ง 4 ทรงแสดงธรรมแก่เขา ทำให้มีความโศกเบาบาง
ทูลขอบรรพชากะพระศาสดา ได้อุปสมบทต่อมาไม่นานก็ได้บรรลุอรหัตตผล

จบเรื่องธิดาของนายช่างหูก จะกล่าวถึงการเจริญมรณสติจากวิสุทธิมัคโดยสังเขปดังนี้


บุคคลทั้งหลาย พึงระลึกถึงความตายโดยอาการ 8 อย่าง

1. โดยปรากฏดุจเพชฌฆาตที่ถือดาบจ่อที่คอยืนประชิดตัวอยู่ฉันใด ความตายก็ปรากฏฉันนั้นเหมือนกัน
เพราะความตายมันมาพร้อมกับความเกิด คือ สัตว์เมื่อเกิดมาก็เริ่มบ่ายหน้าไปสู่ความตาย

2. วิบัติแห่งสมบัติทั้งหลายในโลกนี้ จะงดงามอยู่ก็ชั่วเวลาที่ยังไม่วิบัติ
• ความไม่มีโรคทั้งปวง ย่อมมีความเจ็บไข้เป็นที่สุด
• ความหนุ่มสาว มีความแก่เป็นที่สุด
• ความเป็นอยู่ทั้งปวง มีความตายเป็นที่สุด

3. โดยการเปรียบเทียบตนกับคนที่ตายไปแล้ว โดยมียศมาก มีบุญมาก มีแรงมาก มีฤทธิ์มาก มีปัญญามาก
เช่น พระปัจเจกพระพุทธเจ้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นต้น

4. โดยอายุ (ชีวิต) เป็นของอ่อนแอของสัตว์ทั้งหลายผูกพันอยู่กับลมหายใจเข้าออก
อยู่กับอิริยาบถ ความเย็น ร้อน อาหาร จึงอ่อนแอ ดังนี้

5. ชีวิตหานิมิตไม่ได้ในธรรม 5 อย่าง
• ไม่รู้ว่าจะตาย เมื่อใด
• ไม่รู้ว่าจะตาย ด้วยโรคอะไร
• ไม่รู้ว่าจะตาย ในเวลาเช้า สาย บ่าย เย็น ค่ำ
• ไม่รู้ว่าจะตาย ที่ไหน
• ไม่รู้ว่าตายแล้วจะไปเกิดที่ไหน

6. โดยร่างกายเป็นสาธารณะแก่สัตว์และปัจจัยแห่งความตายมากมาย
เป็นสาธารณะแก่หมู่หนอน 80 พวก ที่อาศัยผิว หนัง เนื้อ กระดูก เยื่อในกระดูก กัดกิน
เหมือนบ้านเกิด โรงพยาบาล สุสาน ส้วมของพวกหนอนเหล่านั้น โรคอีกหลายร้อยอย่าง อาวุธจากภายนอก

7. โดยชีวิตมีกำหนดกาลอันเล็กน้อยเพียง 100 ปี หรือน้อยกว่านี้

8. โดยชีวิตมีขณะอันเล็กน้อยเพียงชั่วความเป็นอยู่ของอีกขณะเดียว จิตดวงเดียว
เมื่อดับไปย่อมกล่าวได้ว่า “ ดับไปแล้ว ” ดังนี้.


อานิสงส์ของมรณสติ

ผู้ประกอบเนือง ๆ ซึ่งมรณสติ ย่อมได้อานิสงส์ดังนี้
1. ย่อมเป็นผู้ไม่ประมาทเป็นนิตย์
2. ได้ความสำคัญในภพทั้งปวงว่าไม่น่ายินดี
3. ละความใคร่ในชีวิตได้
4. เป็นผู้ติเตียนบาป
5. ไม่ยากไปด้วยการสะสม
6. ปราศจากความตระหนี่อันเป็นมลทิน
7. ย่อมเสพคุ้นในอนิจจสัญญา แม้ทุกขสัญญา และอนัตตสัญญา ก็ย่อมปรากฏตามแนวอนิจจสัญญา
8. ย่อมเป็นผู้ไม่กลัวไม่หลง เมื่อใกล้ตาย
9. หากไม่ได้สำเร็จอมตธรรมในอัตตภาพนี้ เมื่อตายย่อมมีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า

เพราะเหตุนั้น ผู้มีปัญญาพึงทำความไม่ประมาทในมรณสติ อันมีอานุภาพมากอย่างนี้ทุกเมื่อเทอญ

จบธรรมโอสถในหัวข้อเรื่อง มรณสติ แต่เพียงนี้

วันพฤหัสบดีที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2553

เคล็ดลับสู่ความสำเร็จ 19 ประการ

มนุษย์ต้องการความประสบความสำเร็จ ตามความฝันนี่เรา ๆ ท่าน ๆ ที่พยายามก้าวเดินไปตามถนนแห่งความฝันที่ตั้งใจไว้ ไม่ว่าความฝันนั้นจะดูยิ่งใหญ่น่าตกใจหรือตั้งไว้เล็กมาก จนแทบไม่น่าเชื่อ แต่ในที่สุดก็สรุปได้ว่าฝันของเขาก็แค่อยากให้ชีวิตมีความสุขกับรูปแบบชีวิตที่เรียบง่าย

เคล็ดลับสู่ความสำเร็จ 19 ประการมีดังนี้

1.สุขภาพดีมีชัยไปกว่าครึ่ง
ผู้มีสุขภาพดีย่อมทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพหากร่างกายมีสุขภาพไม่ดีร่างกายมีปัญหา ก็ควรใส่ใจต่อสุขภาพ
การดูแลสุขภาพโดยการไม่ทำลายสุขภาพของตนเองโดยการดื่มเหล้าเป็นอาจิณติดบุหรี่งอมแงม
จงดูแลสุขภาพโดยการหาอากาศดี ๆ หายใจ ห่างไกลจากควันไฟ ควันบุหรี่ ฝุ่น
จงกินเพื่ออยู่ ไม่ใช่อยู่เพื่อกิน แล้วเลือกอาหารดี ๆต่อสุขภาพมารับประทาน และจงกินแต่พอดี ๆ
ออกกำลังกายวันละเล็กละน้อย สม่ำเสมอ เป็นยาอายุวัฒนะหาวิธีการเดินบ้าง แทนการใช้รถ การขึ้นบันไดแทนการขึ้นลิฟท์
นอนพักผ่อนให้เพียงพอ
หาหนังสือมาอ่าน หรือกินนมอุ่น ๆ ก่อนนอน จำให้หลับสบายเพื่อหลีกเลี่ยงการกินยานอนหลับ
ทำงานด้วยใจรัก และเป็นสุข ในขณะทำงานจะเหมือนเป็นการพักผ่อนหย่อนใจไปด้วย
แบ่งเวลามาทำงานอดิเรกบ้าง ทำในสิ่งที่ชอบและมีความสุขขณะทำ
พบเพื่อนฝูงที่ถูกใจ สนุกสนานเป็นกันเองในขณะคุยต่อชีวิตเพื่อเป็นแนวทางสร้างสุข
ศึกษาธรรมมะและปรัชญาอะไรก็ได้ ที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตเพื่อเป็นแนวทางสร้างสุข
ทำใจให้มีจิตใจเบิกบาน สร้างความกลมกลืนวิถีชีวิต ไม่ตึงเครียดเหมือนเครื่องจักรที่ได้รับการหล่อลื่นอย่างดี

2.พูดแบบไหนถูกใจคน
ใช้หนังสือเป็นคู่มือ ใช้พจนานุกรมเพื่อให้รู้ความหมาย แล้วใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้อง
พกสมุดโน๊ตติดตัว พบคำใหม่ หรือสำนวนใหม่ที่พบแล้วหาเวลาว่าง ๆ มาอ่าน แล้วนำไปใช้ในการสนทนา
จัดเรียงรูปประโยคที่พูดออกมาให้สละสลวย

3.เพิ่มพลังให้การรวบรวมความคิด
การรวบรวมกำลังความคิด จะทำให้อยู่เหนือสถานการณ์สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้โดยง่าย หากกำลังนั่งใจลอย ก็เรียกสติกลับมาห้ามเบื่อหน่ายในสิ่งที่กำลังทำ เวลาทำงานก็มีหยุดพักกลางวันบ้างเพื่อไม่ให้เกิดความล้า

จงกระตุ้นตนเองโดยให้มองถึงจุดหมายในชีวิตจะได้มีพลังห้ามอ้างว่าไม่มีเวลาผลัดกันประกันพรุ่งห้ามคิดว่าผมทำไม่ได้ จงกำหนดเวลาแล้วเสร็จ ไม่ปล่อยไปอย่างเอ้อระเหย ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นที่คุณไม่พอใจหรือมีผลต่อชีวิตเพียงใด ก็จะไม่ท้อถอยหรือยอมแพ้ จงเชื่อว่าทุกอย่างแก้ไขได้

4. พัฒนาความจำของตนเอง
จงจำให้ได้ เพื่อให้หลุดพ้นต่อความตื่นเต้น ความกระวนกระวายจนขาดความมั่นใจในตัวเอง จงอย่าให้สมองจำสิ่งที่ไม่ควรจำ จนเป็นความจำที่เลวร้ายจงพยายามจดจำแค่เรื่องที่ดี ๆ มองโลกในแง่ดี สามารถมีความสุขกันทุกวันที่ผ่านมา
จงเลิกพูดถึงความทรงจำที่เลวร้าย จงหาทางล้างความทรงจำเก่า ๆที่ไม่มีประโยชน์กับตัวเอง เพื่อให้เหลือที่ว่างไว้ใส่ความทรงจำดี ๆ ใหม่ ๆที่ได้เจออาจทำโดยทบทวนสิ่งต่าง ๆที่เกิดขึ้น และนำมาจดจำเป็นพิเศษก่อนจะนอน และหลังตื่นนอนทุกวัน

จงไว้วางใจกับสมองของตนเองว่า สามารถจำได้
จงสนใจที่จะจำชื่อคน หรือทบทวนความจำโดยการพูดดัง ให้ตัวเองได้ยิน ทำบ่อย ๆ ก็จะจำได้สรุปทั้งหมดดีกว่ามองแบบผ่าน ๆ
จงเชื่อมโยงความรู้ใหม่ ๆ ให้ประสานต่อเนื่องกับความรู้เดิมที่มีอยู่ด้วย

5.อารมณ์ที่ดีขึ้น
จงปัดกวาดทำความสะอาดอารมณ์ หากมองโลกในแง่ร้ายทุกอย่างก็เป็นศัตรูหมดเวลาที่ใจท้อแท้ เสียงพูดหน้าตาก็ดูสิ้นหวัง จงหยุดมองโลกในแง่ร้ายหยุดด่าทอตัวเอง จงขับไล่อารมณ์ที่สิ้นหวังออกไป อย่าให้ความรู้สึกในแง่ร้ายเกิดจากความโลภขณะที่ปีนขึ้นยอดผาจงหยุดมองทัศนียภาพรอบข้างเป็นระยะ ๆ ไม่ใช่ก้มหน้าก้มตาเดินไป พอถึงยอดผาก็จะมีคนรอบข้างเข้ามาห้อมล้อมท่ามกลางความโล่งอก

จงมองมิตรภาพให้เพื่อน ๆ รอบตัวโดยที่ไม่จำเป็นต้องไปซื้อหาด้วยเงินทอง จงมอบรอยยิ้มและคำทักทายมอบให้กับคนกวาดถนน บุรุษไปรณีย์ คนทำความสะอาดที่ทำงาน คนเก็บขยะ เพราะวันหนึ่งเราอาจจะต้องขอความช่วยเหลือจากเขาก็ได้

กระจกที่ขุ่นมัวจากคราบสกปรก คงสดใสไม่ได้หากไม่ได้รับการทำความสะอาด จิตใจก็เช่นกัน

6.เสียงที่มีเสน่ห์และการพูดที่ชัดเจน
การพูดดีย่อมปูทางที่ดี การพูดดีต้องพูดอย่างมีประสิทธิภาพคนแต่งตัวธรรมดา พูดทุกคำมีคุณค่า เขาย่อมได้รับการยอมรับจากผู้ฟัง ตรงข้ามคนแต่งตัวดีพูดเรื่องน่าเบื่อไร้สาระย่อมหาคนฟังได้ยาก

การฝึกพูดบ่อย ๆ จะทำให้การพูดมีประสิทธิภาพการพูดที่มีเสน่ห์ ต้องมีเสียงลักษณะอ่อนโยน น่าสนใจ นุ่มนวลจริงใจ ตั้งใจ และประทับใจ

การพูดเร็ว ๆ น้ำเสียงที่เชี่ยวกราด ย่อมไม่มีเสน่ห์หากหมั่นฝึกพูดด้วยน้ำเสียงที่น่าเกลียด และคำพูดที่หยาบกระด้าง

การออกกำลังกายมีผลต่อการพัฒนาการพูดเพราะทำให้กล้ามเนื้อที่เกี่ยวกับการออกเสียงแข็งแรง

7.ไหวพริบที่ดีสร้างพรุ่งนี้ให้คุณ
ไหวพริบที่ดีจะช่วยประสานระหว่างงานที่เราทำกับชีวิตครอบครัวเพื่อไม่ให้เกิดการแตกหักขัดแย้งกัน โดยแก้ปัญหาให้ชีวิตราบรื่น และกลมกลืนได้ตลอดไป

การกระทำที่ไม่ฉลาดในบางช่วงชีวิต ด้วยความหุนหันพลันแล่นพลั้งเผลอไป อาจต้องมานั่งเสียใจตลอดทั้งชีวิต เป็นสิ่งสำคัญ แต่ไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิตจงจำไว้ง่าย ๆ คือ จงทำในสิ่งที่ควรทำ และไม่ทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ ทั้ง ๆที่รู้อยู่แก่ใจว่าไม่ควรทำแต่ยังทำจนได้ แสดงว่าความคิดของคุณถูกอารมณ์ควบคุมไว้ ทำให้พฤติกรรมไม่ไปตามความคิด

หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่จะเกิดผลลบกับตัวเอง มีดังนี้การดูถูกผู้อื่น การล่วงละเมิดชีวิตส่วนตัวของผู้อื่น การชมตัวเองให้ผู้อื่นฟัง (ยกตนข่มท่าน)สอนคนอื่นในงานของเขาเพราะเขาภูมิใจมากที่สุดในอาชีพเขา

จงเพิ่มไหวพริบให้กับตัวเอง โดยคิดว่าหากเราเป็นเขาเราควรจะทำอย่างไร (เอาใจเขามาใส่ใจเรา) ผลงานธรรมดา แต่ลีลาเป็นต่อ

8.สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับหัวหน้า
นายจ้างทุกคนย่อมต้องการใช้เงินของเขาอย่างเต็มคุณค่าที่สุดในธุรกิจที่เขาสร้างขึ้นมา จงมาสร้างความประทับใจให้กับนายจ้าง

สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง มีการมาสายเป็นประจำใช้ทรัพย์สินของบริษัทไปโดยเปล่าประโยชน์ ปล่อยเวลาให้เวลาผ่านไปอย่างไร้ค่า และทำงานไม่เต็มที่

จงพัฒนาตัวเองด้าน ทำงานประณีต สะอาดสุดแม้จะยาก พัฒนาการพูดถึงงานและนายจ้างได้อย่างน่าประทับใจ

สร้างความสนใจในงานของตัวเอง จงค้นหางานที่ทำด้วยอะไรคือที่มาของงาน ขอบเขตหน้าที่ ภาพการพัฒนางานในอนาคต ความสัมพันธ์กับเป้าหมายการผลิต ผลผลิตขั้นสุดท้ายสัมพันธ์กับงานส่วนอื่น จงตั้งคำถามต่าง ๆในงานของคุณจงฝันถึงความก้าวหน้าของตนเองด้วย

จงตั้งใจทำงาน เบิกบานใจในการทำงาน สร้างมนุษย์สัมพันธ์ทำงานด้วยความรู้สึกสบายใจและจงพึงพอใจในงาน

9.พัฒนาอุดมการณ์ของตนเอง
คนมากมายใช้ชีวิตแพล่องลอยไร้แก่นสาร เพราะดำเนินชีวิตแบบขาดมาตรฐานและไร้อุดมการณ์ อุดมการณ์อย่างง่าย
ก็คือรักษาสุขภาพให้แข็งแรงสมบูรณ์ที่สุด จงหลีกเลี่ยงหลีกหนีเป็นคนที่น่าสงสารที่สุด จงเคารพตัวเองสร้างอุดมการณ์ของชีวิตที่จะก้าวเดินไป

10.สร้างเป้าหมายชีวิตให้สมบูรณ์
จงสร้างเป้าหมายที่แน่นอนที่สมบูรณ์แบบในชีวิตที่อยากมีชื่อเสียง เป็นคนดีของชาติครูมักจะถามว่าโตขึ้นหนูอยากจะเป็นอะไร
พอโตขึ้นก็เริ่มรู้สึกว่าเป็นไปไม่ได้ จึงปลุกขวัญตัวเองว่า เราต้องทำได้ความกลัวเป็นอุปสรรคต่อความฝัน จึงกระโดดออกมาจากความฝันเนื่องจากฝังใจอยู่กับความเจ็บปวดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่สร้างอุปทาน

จงอย่าเชื่อถือโชคลาง เพราะจะทำให้เป็นคนฟุ้งซ่านงมงายขาดอิสระในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องตามอุดมการณ์ของตัวเอง จงอย่าคิดว่าตนเองเป็นคนโง่เขลาเพียงแต่เรายังไม่รู้เท่านั้น จงยอมรับความคิดว่าเรายังไม่รู้ เพิ่งเริ่มต้นเรียนรู้สิ่งนั้นจงอย่ากลัว จงอดกลั้นและใจเย็น จงพิจารณาปัญหาให้เห็นทางแก้ไขปัญหา อย่าไปหวาดหวั่น จงไม่ลำเอียงอคติ จงสร้างความมั่นคงให้กับตัวเอง จงไว้วางใจตัวเอง จงเบิกบานใจและหลีกเลี่ยงการมองโลกในแง่ร้าย

11.การสื่อสารที่ดี
จงพัฒนาการสื่อสารให้มีคุณภาพ
จงนับถือตัวเองว่าตัวเองมีค่าการสนทนาจะดูงดงาม อีกทั้งต้องมีจิตใจที่มั่นคงไม่โดนกระทบจากคำพูดหรือคำไม่สุภาพจากคนอื่น จงพัฒนาน้ำเสียงการพูดและน้ำเสียงที่น่าฟัง ทุกครั้งที่มีการสนทนา
จงทำให้สมองว่างเพื่อทำให้สามารถเติมความรู้เข้ามาในสมองได้
จงหลีกเลี่ยงการพูดถึงความผิดและจุดด้อยของตัวเองและของคนอื่นด้วย

อย่าผูกขาดการสนทนาแต่เพียงผู้เดียว จงเป็นทั้งผู้พูดและผู้ฟังที่ดีตลอดการสนทนา สังเกตด้วยว่าผู้ฟังกำลังสนใจฟังเรื่อที่เราพูด หากไม่ก็ควรเปลี่ยนหัวเรื่องสนทนา

จงแสดงความห่วงใยผู้ฟังด้วยในทุกข์สุขดิบ แต่อย่ามากจนเป็นซักฟอกเรื่องส่วนตัวมากเกินไป

แสดงความเป็นกันเอง เพื่อไม่ให้เกิดการอึดอัดในการร่วมสนทนาเพื่อให้การสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จบการสนทนาควรจบด้วยถ้อยคำที่ทำให้คู่สนทนาอยากกลับมาคุยกันอีก

12.อ่านมากรู้มาก
คนฉลาดจะหาหนังสือมาอ่านอยู่เสมอหนังสือมีเลือดและชีวิตซ่อนอยู่ทุกตัวอักษร ขึ้นอยู่กับว่าจะสัมผัสได้มากน้อยแค่ไหน หนังสือไม่เคยไร้คุณค่าหนังสือช่วยย่นระยะทางในการค้นหาประสบการณ์ หนังสือคือสิ่งที่เติมเต็มในช่องว่างของความฉลาดและไหวพริบ

จงอ่านหนังสือให้เป็นวินัยแลกเปลี่ยนหนังสือกันอ่านเลือกหนังสืออย่างไรจึงจะหลักแหลม จงรู้ว่าสิ่งที่ขาดคืออะไร อย่าหาข้อผิดพลาดในวรรณกรรมเพราะจะทำให้สูญเสียสิ่งที่มีคุณค่า อย่าสร้างเงื่อนไขในการเลือกรับรู้การอ่านเร็วเพื่อหาเนื้อหาโดยภาพรวม โดยวิธีการกวาดสายตาอย่างไรก็ตามอ่านตามวิธีการที่ถนัดกับตัวเองเพื่อให้การรับการถ่ายทอดเนื้อหาจากผู้เขียนได้อย่างลึกซึ้ง

13.ปัญหาทุกอย่างแก้ไขได้
ทุกชีวิตมีปัญหา หากงานมีปัญหา ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้การแก้ปัญหาจึงเป็นส่วนหนึ่งของวิถีวิชีวิต มีปัญหาก็แก้ปัญหาไป
จงเป็นเหมือนจุกไม้ก๊อกที่ลอยอยู่ในทะเล แม้ว่าคลื่นจะพัดกระหน่ำแค่ไหน จุกไม้ก๊อกก็ไม่มีวันจม

จงเผชิญหน้ากับปัญหารวบรวมข้อมูลที่ตรงประเด็นให้มากที่สุดศึกษาความเป็นไปได้ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นบวกหรือลบกับคุณกันแน่จำกัดวงของปัญหาให้แคบที่สุดเท่าที่คุณจะสามารถทำได้ รวมพลังฝ่าฟันปัญหาออกไป โดยใช้เวลาให้น้อยที่สุด
จงแก้ปัญหาด้วยใจสงบ โดยปราศจากอารมณ์ฉุนเฉียวหรือกล่าวโทษผู้อื่น รวบรุมสติแก้ไข จงแก้ปัญหาในขณะที่มันยังเล็กอยู่ ปล่อยไปมันจะเป็นปัญหาใหญ่แล้วแก้ยาก

14.เพิ่มความสุขให้ตัวคุณเอง
เมื่อคุณมองบางสิ่งที่เป็นความสุขให้บางคนโดยปราศจากความใจแคบคุณจะพบกับความสุขอันแท้จริง จงหาโอกาสช่วยเหลือผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ตกยาก กำพร้าขาดความรักและความอบอุ่น คนชราไร้คนเหลียวแล
ให้มีงานอดิเรกเพื่อผ่อนคลาย เรียนรู้ที่จะชอบงานของตนเองจงหาวิธีให้มีความสุขจาการทำงาน สนุกกับงาน และสร้างบ้านที่อยู่ให้เป็นสุข สังสรรค์พูดคุยกับคนอื่น และหาปรัชญาชีวิต เอาไว้เป็นหลักด้วย

15.วิสัยทัศน์ที่กว้างไกล
เข้าห้องสมุดอ่านสารานุกรม เพื่อให้รู้กว้างและเยี่ยมพิพิธภัณฑ์ ย้อนดูอดีต เข้าฟังการบรรยายต่าง ๆ บ้างก็ดี จงอ่านหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หนังสือแล ธรรมมะ ชาดก กีฬาวิทยาศาสตร์ พร้อมเปิดโลกกว้างด้วยการชมทีวี และวีดีโอ

16.มากกว่าที่คุณคิด (พัฒนาความคิด)
จงพัฒนาพลังความคิดของตนเอง จงอ่านเพื่อให้มีข้อมูลมากขึ้นเข้าร่วมถกปัญหาพยายามค้นหาคำตอบ จากการที่มีคนถาม

17.โครงการแล้วโครงการเล่า
ให้มีโครงการใหม่อยู่ตลอดเริ่มคิดแผนการเตรียมไว้เสมอก่อนงานที่ทำอยู่กำลังจะสิ้นสุดจบลง วิธีนี้จะทำให้คุณไม่มีเวลาคิดถึงความทุกข์หงอยเหงา

ความยุ่งไม่ใช่ตัวทำลายความสงบใจ แต่ความเกียจคร้านและการผลาญเวลาที่เป็นสาเหตุของความเบื่อหน่าย และสร้างปัญหาในอนาคตอันใกล้

จงสร้างสุขภาพให้ดี จะได้ทำงานได้ดีจงเตรียมพร้อมอยู่เสมอตั้งแต่การวางแผน การลงมือปฏิบัติ และสุดท้ายจงมีชีวิตอยู่ได้อย่างเรียบง่าย

18.ความสงบเงียบในทั้งหมด
คนที่เยือกเย็นจะสงบกับชีวิตมากกว่าคนที่ชอบตีโพยตีพายและมีชีวิตอยู่อย่างร้อนรน

จงเรียนรู้ตัวเอง ให้คุณค่าชีวิตตนเอง เรียนรู้ประวัติศาสตร์เรียนรู้ที่จะทำตัวตามสบาย ล้างความเครียดและความกังวล

19.ถึงเวลาสร้างฝันให้เป็นจริงแล้ว
ปรับเข้าสู่ความสวยงาม สนุกกับความจำเป็น ทำไมต้องกินต้องดื่มทำไมต้องใช้เวลาถึงสองในสามเพื่อสร้างความร่ำรวยให้ชีวิต
บางคนคิดว่าตัวเองจำเป็นต้องทำงานเพื่อความอยู่รอด ทำให้ไม่มีเวลาที่จะทำหลาย ๆ สิ่งที่คุณสนใจคุณอาจเบื่อหน่ายกับการต้องทำงานหนักในขณะที่ต้องการประสบความสำเร็จในอาชีพ

อย่าทำงานเพื่ออยู่ อย่าอยู่เพื่อทำงาน
จงสร้างความคิดให้กับตัวเองโดยการฝึกพูด
หลีกเลี่ยง คำว่า "ทำไม่ได้" หรือปฏิเสธอยู่เป็นประจำ จงพูดว่า"ฉันทำได้ " "ฉันจะพยายาม "


20.บทส่งท้าย

ทุกคนต้องการความสำเร็จ หากดำเนินการตามเคล็ดลับสู่ความสำเร็จ 19 ประการ
แล้ว เชื่อว่าจะประสบความสำเร็จแน่นอน ดังนี้

สุขภาพดี สุนทรีย์วาจา
นำพาพลังความคิด

พิชิตความจำ
ทำให้อารมณ์ดี เสียงดี
มีเสน่ห์

ทำเท่ห์ไหวพริบ ใกล้ชิดหัวหน้า
พัฒนาอุดมการณ์

เป็นพรานล่าเป้าหมาย แพร่งพรายสื่อสาร
อ่านนานรู้มาก

ไม่ลำบากเราแก้ไขได้ สร้างใจให้สุข
สนุกกับความฝัน

นวัตกรรมพัฒนา หรรษางานต่องาน
สืบสานความสงบ

พานพบฝันให้เป็นจริง



ที่มา : 19 เคล็ดลับสู่ความสำเร็จ โดย อาภาภรณ์ โชติกเสถียร